สนส. ร่วมกิจกรรมแถลงข่าวรณรงค์ “เข้าชื่อ 50000 ชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ” กับ iLaw และภาคประชาสังคม

สนส. ร่วมกิจกรรมแถลงข่าวรณรงค์ “เข้าชื่อ 50000 ชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ” กับ iLaw และภาคประชาสังคม

สนส. ร่วมกิจกรรมแถลงข่าวรณรงค์ “เข้าชื่อ 50000 ชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ” กับ iLaw และภาคประชาสังคม

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ “เข้าชื่อ 50000 ชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ” จัดตั้งโดย iLaw ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ประสงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ระบุใน มาตรา 256 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ณ บริเวณลานคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา

 

จอน อึ้งภาภรณ์ กล่าวเปิดว่า เป็นเวลา 6 ปีกว่าแล้ว ภายใต้การปกครองเผด็จการทหาร แม้จะมีการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่เป็นการเลือกตั้งที่ออกแบบตามรัฐธรรมนูญของ คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. มีการข่มขู่คุกคาม และบังคับให้สูญหายไม่ต่างกับยุคคสช. รัฐธรรมนูญนี้จึงไม่เป็นไปเพื่อประชาชน แต่เพื่อชนชั้นปกครองที่ครองประเทศไทยอยู่ตอนนี้ เพราะฉะนั้นสังคมทุกส่วนที่ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ต้องผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการรณรงค์ครั้งนี้ว่า วันนี้เป็นวันครบรอบการทำประชามติ 4 ปี จากการทำประชามติครั้งนั้น ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ คสช. โดยตลอดกระบวนการร่างไม่มีขั้นตอนให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลย เราจึงสิ่งที่เป็นเสนอรูปธรรมที่สุดคือ รื้ออำนาจ คสช. ออกก่อน เพื่อเปิดทางให้เกิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ คสช. จะเปลี่ยนระบบกฎหมายมาไกลมากจนยากจะแก้ไข แต่ถ้าไม่ทำอะไร เราก็จะต้องอยู่กับระบอบนี้ต่อไป เราจึงขอรวบรวมรายชื่อประชาชนห้าหมื่นรายชื่อเพื่อร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ ศุภมาศ กัญญาภัคโภคิน ตัวแทนจาก สนส. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ มีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมีพึงได้ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นฐานในการใช้อำนาจรัฐคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ในสังคมประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ดีจึงต้องตอบโจทย์ของประชาชนทุกภาคส่วน มีกลไกที่ปกป้องอำนาจของประชาชน ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้จริง มีคุณภาพ และที่สำคัญต้องมาจากประชาชน

 

สำหรับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ที่ สนส. ผลักดันอยู่ เดิมทีเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม สิทธิในการมีทนายความ และหลักผู้พิพากษาต้องสัมผัสพยาน ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น หลักการเหล่านี้บางข้อหายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และบางสิทธิถูกย้ายไปเป็นหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่มีกรอบที่จะกำกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าต้องดำเนินการในระดับใด ซึ่งหากเป็นเรื่องสิทธิคือการให้อำนาจประชาชน ประชาชนจึงต้องมีสิทธิ และรัฐมีหน้าที่รับรอง และคุ้มครองเพื่อให้สิทธินั้นเกิดขึ้นจริง

ประการหนึ่งคือ การที่สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ถูกเขียนไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่สามารถแก้ไขกฎหมายใดให้ขัดแย้งต่อสิทธิของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ส่วนของการปกป้องสิทธิมนุษยชน หากกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่ได้ประกันสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างเพียงพอ ประชาชนก็สามารถรณรงค์ หรือเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายนั้นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญได้ การเขียนหรือกำหนดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งในสร้างหลักประกันแห่งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ สนส. ยังเข้าร่วมกับกลุ่ม People Go เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ผลักดันหลายประเด็น เช่น ประเด็นรัฐสวัสดิการ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งถูกนำมาพูดถึงในงานแถลงข่าวด้วยเช่นกัน โดย สนส. เป็นตัวแทนของเครือข่ายนักกฎหมายในการพูดถึงประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ หลังงานแถลงข่าวเปิดตัวรณรงค์ดังกล่าว iLaw ยังเปิดบูธให้ประชาชนร่วมลงชื่อได้ภายในงาน และตามเวทีชุมนุมต่างๆ อีกทั้งเปิดรับรายชื่อจากทางบ้าน หากท่านใดสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://ilaw.or.th/50000Con