สิทธิของเยาวชน บทกฎหมายที่รัฐละเลย

สิทธิของเยาวชน บทกฎหมายที่รัฐละเลย

จากกรณีที่เยาวชนออกมาร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้มีการละเมิดบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมจนเกินจำเป็น การละเมิดสิทธิของเยาวชนที่ตกเป็นผู้ต้องหา และการดำเนินคดีต่อเยาวชนในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติ


ตั้งแต่ปี 2563 เยาวชนจำนวนมากได้ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆในสังคม โดยข้อเรียกร้องหลัก คือ การเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี การเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงยังมีการเรียกร้องถึงการปฏิรูประบบการศึกษาในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่ได้รับคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐกลับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับเยาวชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพโดยชอบตามกฎหมาย ตามสถิติที่จัดทำโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงพฤษภาคม 2564 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 43 คน 44 คดี โดยมีทั้งการดำเนินคดีด้วยข้อหาที่ร้ายแรง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 รวมไปถึงการดำเนินคดีตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น จากการดำเนินคดีของรัฐต่อเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางนั้น จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า สิทธิของเยาวชนได้รับการคุ้มครองมากน้อยเพียงใดในบริบทของการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้มีการรับรองเสรีภาพในการชุมนุม โดยตามความเห็นทั่วไปหมายเลข 37 และความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ รัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องประกันเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบของเยาวชน โดยรัฐจะต้องให้ความคุ้มครองแก่เยาวชน รวมไปถึงต้องไม่ใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นการดำเนินคดีกับเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุม หรือเข้าจับกุมเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมนั้นตามอำเภอใจ ทั้งนี้ หากรัฐจะทำการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าว การจำกัดเสรีภาพนั้นจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์โดยชอบ เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม เป็นต้น โดยการจำกัดเสรีภาพนั้นจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ได้สัดส่วน และต้องไม่เป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจจนเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร

นอกจากนี้ ในกรณีที่เยาวชนถูกจับกุม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้มีการรับรองสิทธิของเยาวชนที่ถูกจับกุม โดยรัฐจะต้องคุ้มครองสิทธิของเยาวชนที่ตกเป็นผู้ต้องหา ไม่ดำเนินคดีในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติและเคารพความเป็นส่วนตัวของเยาวชน ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกจับกุม ไม่บังคับให้ผู้ที่ถูกจับกุมให้การหรือสารภาพผิด และต้องคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงทนายความ โดยการดำเนินการของเจ้าหน้าที่จะต้องอยู่ภายใต้หลัก “สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นบริสุทธิ์” เป็นสำคัญ

ในส่วนของกฎหมายภายในประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเอาไว้ในมาตรา 44 โดยมาตรา 44 วรรคสอง การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการจำกัดโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย “เพื่อรักษาความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น” ทั้งนี้ เมื่อไทยเป็นรัฐภาคีของ ICCPR และ CRC การคุ้มครองและการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนั้นก็จะต้องเป็นไปตามมาตราการที่กำหนดในกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนถูกดำเนินคดีนั้น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวได้มีการกำหนดกลไกในการคุ้มครองสิทธิของเด็กหรือเยาวชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาไว้ด้วย กล่าวคือ เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิของผู้ต้องหาให้ผู้ที่ถูกจับกุมทราบ ต้องนำตัวไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่ถูกจับแล้วจึงค่อยส่งตัวไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกจับกุม โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงทนายความและญาติ และจะต้องปฏิบัติกับผู้ที่ถูกจับกุมตามหลัก “สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นบริสุทธิ์”

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ มีการนิยามแยกระหว่างเด็กและเยาวชนออกจากกัน โดยตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 4 “เด็ก” หมายถึง บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ และ “เยาวชน” หมายถึง บุคคลที่อายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ การแยกนิยามดังกล่าวนั้นทำให้กระบวนการสอบสวนทางอาญามีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ สาระสำคัญของกลไกในการคุ้มครองสิทธิของเยาวชนหรือเด็กที่ตกเป็นผู้ต้องหายังคงเหมือนกัน ทั้งนี้ ในการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติต่อเยาวชนหรือเด็กที่เป็นผู้ถูกจับกุมอย่างละมุนละม่อม ต้องควบคุมตัวเท่าที่จำเป็น ควบคุมตัวแยกออกจากผู้ใหญ่ และห้ามใช้เครื่องพันธนาการใดๆ เว้นแต่จะมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ถูกจับกุมหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของผู้ถูกจับกุมหรือของผู้อื่นเท่านั้น

เมื่อพิจารณาภาพรวมของบทบัญญัติของกฎหมายภายในของไทยจากที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติกฎหมายของไทยไม่ได้ให้ความคุ้มครองน้อยไปกว่ากฎหมายระหว่างประเทศเลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน คือ การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีมาตรฐานที่ลดลงและไม่สอดคล้องกับกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยสามารถแบ่งออกมาพิจารณาได้ ดังนี้

ประการแรก เจ้าหน้าที่รัฐมักใช้กฎหมายลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมของเยาวชนโดยไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อหาร้ายแรงเกินความเป็นจริงหรือตั้งข้อหาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม “ตามหานาย” ที่บริเวณกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งไม่ควรจะปรับใช้ร่วมกันแม้ในขณะนั้นข้อกำหนดตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินจะกำหนดให้ใช้พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะก็ตาม เนื่องด้วยเป็นการสร้างความสับสนให้กับผู้จัดการชุมนุมและเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมเกินสมควร การตั้งข้อหาตามมาตรา 112 กับเยาวชนที่ใส่เสื้อครอปท็อปในการชุมนุม “รันเวย์ของประชาชน” ที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 หรือการตั้งข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามมาตรา 116 กับเยาวชนที่ร่วมชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐจะต้องให้ความคุ้มครองแก่เด็กหรือเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุม เช่น กรณีการสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมโดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งในวันนั้นมีเยาวชนจำนวนมากเข้าร่วมชุมนุมและมีเด็กอายุ 5 ปีได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ด้วย เป็นต้น

ประการต่อมา การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการจับกุมและดำเนินคดีกับเยาวชนในหลายกรณีไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว โดยมีทั้งกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมและทำร้ายเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุม เช่น กรณีการจับกุมเยาวชนที่บริเวณสะพานวันชาติภายหลังจากมีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังทำร้ายร่างกายเยาวชน 1 คนจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล ทั้งยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำการควบคุมตัวเยาวชนไปยังสถานที่ที่ไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่ถูกจับกุมหรือที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีและมีการใช้เครื่องพันธนาการผู้ถูกจับกุมที่เป็นเยาวชนในหลายๆกรณี เช่น กรณีการเข้าจับกุมกลุ่มการ์ด Wevo ที่จัดกิจกรรมขายกุ้งที่สนามหลวงและแยกคอกวัวเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยมีรายงานว่ามีเยาวชน 2 คนถูกควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี เป็นต้น

นอกจากนี้ ในกรณีที่เยาวชนถูกควบคุมไปตชด. นั้น ยังพบว่าเยาวชนที่ถูกจับกุมนั้นไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงทนายความและญาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้มีการจัดห้องแยกระหว่างผู้ถูกจับกุมที่เป็นเยาวชนและผู้ใหญ่ไว้อย่างเป็นสัดส่วน โดยเจ้าหน้าที่มักใช้เพียงเชือกฟางกั้นระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ หรือให้แยกนั่งเป็นกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวอีกด้วย

นอกจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิของเยาวชนแล้ว เยาวชนยังพบกับอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยศาลมักเป็นผู้สร้างอุปสรรค แทนที่จะอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความเป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธินั้นของเยาวชน กล่าวคือ ในชั้นตรวจสอบการจับกุม ศาลมักไม่ตรวจสอบถึงกระบวนการเข้าจับกุมเยาวชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ที่ปรึกษาของเยาวชนจะได้คัดค้านไว้แล้วว่าการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีการพิจารณาเนื้อหาแห่งคดีไปก่อน แม้จะอยู่ในชั้นตรวจสอบการจับกุมก็ตาม นอกจากนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนไปขออำนาจศาลฝากขัง การเข้าถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวก็เป็นเรื่องยาก โดยศาลมักเรียกเงินประกันกับเยาวชน หรือตั้งเงื่อนไขให้เยาวชนต้องมีนายประกันที่เป็นเครือญาติเพื่อประกันตัวผู้ต้องหาแทนการวางเงินสดเป็นหลักประกัน ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเยาวชนที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับญาติของตนในเวลาที่ถูกจับกุมหรือมีความขัดแย้งกับบุคคลในครอบครัวจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น

ประการสุดท้าย การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีปัญหาในแง่ที่ว่ามีการดำเนินคดีกับเยาวชนที่เป็นผู้ชุมนุมในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ เยาวชนที่ออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ฝั่งสนับสนุนรัฐบาลไม่เคยถูกดำเนินคดีใดๆที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเลย เช่น กรณีเยาวชนรายหนึ่งร่วมชุมนุมกับกลุ่มไทยภักดี พร้อมทั้งขึ้นพูดและร้องเพลงบนเวทีการชุมนุมที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ซึ่งในขณะนั้นมีการบังคับใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินและพ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะควบคู่กันด้วย พบว่าไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมเลย เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน เยาวชนที่ออกมาร่วมชุมนุมในฝั่งที่ต่อต้านรัฐบาล ดังเช่นกรณีของเยาวชนที่ร่วมชุมนุมในม็อบ “ตามหานาย” หรือกรณีของเยาวชนที่ร่วมชุมนุมในม็อบ #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง

การที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายภายในและหลักเกณฑ์ในกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเยาวชนผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของตนโดยชอบและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอันไม่สอดคล้องกับการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นการสร้างความกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายจิตใจ และอนาคตของเยาวชน เนื่องจากมีการบันทึกประวัติอาชญากร และปิดกั้นโอกาสของเยาวชนในการพัฒนาตนเองเป็นพลเมืองตื่นตัว หรือ Active Citizen ที่กล้าแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นสังคมต่างๆ ซึ่งจะเป็นพลเมืองกลุ่มสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาของสังคมและส่งเสริมความเข้มแข็งของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้จึงไม่ควรดำเนินต่อไป และเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงเคารพบทบัญญัติของกฎหมาย และปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ เพื่อคุ้มครองสิทธิของเยาวชนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของประเทศต่อไปในอนาคต

 

อ้างอิง

  1. Committee on the Rights of the Child, Comment on Human Rights Committee’s Revised Draft General Comment No. 37 on Article 21 (Right of Peaceful Assembly) of the International Covenant on Civil and Political Rights, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564, https://www.ohchr.org/Documents/HRBodies/CCPR/GCArticle21/EXPERTS_CRC.pdf
  2. Human Rights Committee, General Comment No.37 (2020) on the Right of Peaceful Assembly (Article 21), (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564, https://digitallibrary.un.org/record/3884725?ln=en
  3. ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาฬสินธุ์, ศาลเยาวชนฯกับมาตรการพิเศษ
  4. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายพัฒนากฎหมาย, สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564, https://bit.ly/3gnTf9G
  5. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ภาพรวมคดีทางการเมืองของ “เยาวชน”: ยอดผู้ถูกดำเนินคดีพุ่งไปกว่า 43 รายแล้ว, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564, https://tlhrcom/archives/30409
  6. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมปี 2563-64, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564, https://tlhr2014.com/archives/24941
  7. Jiratchaya Chaichumkhun, รวมปรากฎการณ์ของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม และม. 112 หลังเคลื่อนไหวทางการเมือง, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564, https://thematter.co/quick-bite/section-112-juvenile/138626
  8. iLaw, การชุมนุมภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า แต่ต้องไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564, https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10163902182945551/
  9. iLaw, “พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558…”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564, https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10164128677660551/
  10. ประชาไท, เยาวชนนักเคลื่อนไหวชี้ถูกคุกคามต่อเนื่อง จี้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองไม่ใช่คุกคาม, (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564, https://prachatai.com/journal/2020/12/90871
  11. BBC, ชุมนุม 16 ตุลา: ปฏิบัติการสลายพลังเยาวชนคนหนุ่มสาวหลังนายกฯถาม “ผมผิดอะไร”, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-54568639
  12. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ศาลอาญาให้ประกันตัว 16 ผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ20มีนา หลังถูกแจ้ง 6 ข้อกล่าวหา, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564, https://tlhr2014.com/archives/27246
  13. Sanook, “ยูเอ็น” ไม่เห็นด้วยไทยใช้กำลังสลายการชุมนุม ชี้รัฐต้องเจรจา ไม่ใช่ปราบปราม!, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564, https://www.sanook.com/news/8276678/
  14. ข่าวสด, หามคนเจ็บส่งโรงพยาบาลหลังโดนน้ำแรงดันสูง เด็กโดนด้วย!, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564, https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_5126903
  15. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ตร. ไม่ให้ประกันหลังจับ 16 ปชช. ร่วมกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง ควบคุมตัวที่ บก. ตชด. ภาค1 ส่งฝากขัง 2 ม.ค., (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564, https://tlhr2014.com/archives/24645
  16. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สภ. เมืองนนทบุรี แจ้งข้อหา ม.116 “ธนกร” เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีรายแรก เหตุชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564, https://tlhr2014.com/archives/23842
  17. อมรินทร์, เปิดใจพ่อเด็ก 5 ขวบเจอน้ำสีฟ้าจากรถตำรวจแยกปทุมวัน พาลูกเดินม็อบไม่นึกรุนแรง (คลิป), (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564, https://www.amarintv.com/news/detail/50434
  18. ธนกร วงศ์ปัญญา, หมอวรงค์ นำไทยภักดีประกาศจุดยืน หวั่นลูกหลานเป็น ‘ยุวชนชังชาติ’ เรียกร้องมหาวิทยาลัยปิดพื้นที่นักวิชาการชังชาติ ขอนักการเมืองปฏิรูปตนเอง, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน https://thestandard.co/thai-pakdee-group-rally-310863/
  19. Voice Online, ‘ไทยภักดี’ โชว์พลังปลุกอุดมการณ์ปกป้องสถาบัน ปัดจัดม็อบชนม็อบ – ‘คชโยธี’ ซัดกลุ่มหนักแผ่นดิน, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564, https://voicetv.co.th/read/2coTDsV54
  20. BBC, โควิด-19: ครบ 1 ปีประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คุมโรคระบาดหรือจำกัดการชุมนุมทางการเมือง, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-56534501
  21. BBC, คณะราษฎร 2563 : ฟังเหตุผลของคนทีตั้งคำถามต่อการชุมนุมและ 3 ข้อเรียกร้อง, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-54655786
  22. Karoonp Chetpayark, “ห้องเรียนประชาธิปไตยไม่ได้อยู่แต่ในวิชาหน้าที่พลเมือง” คุยกับผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564, https://thematter.co/social/active-citizen/24144
  23. Voice Online, ‘สายน้ำ’ เยาวชนแต่งครอปท็อป ไม่กังวลแม้โดนคดี 112, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564, https://www.voicetv.co.th/read/dSxB2zFG8
  24. Cross Cultural Foundation, การควบคุมตัวสตรีและเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในการกักตัวและก่อนการดำเนินคดี, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564, https://bit.ly/3zADWSq
  25. ประชาไท, ทำร้าย ตัดเงิน ไล่ออกจากบ้าน สิ่งที่นักเรียนต้องเจอเมื่อเคลื่อนไหวการเมือง, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564, https://prachatai.com/journal/2020/09/89660
  26. ฐานเศรษฐกิจ, เลิกใช้ “พ.ร.ก. ฉุกเฉิน” คุมม็อบ งัด “พ.ร.บ. ชุมนุมฯ” แทน เช็กรายละเอียดได้ที่นี่, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564, https://www.thansettakij.com/content/politics/442918
  27. ILaw, ข้อห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯที่ไม่ชัดเจน ปราบโรคไม่อยู่ ปราบชุมนุมด้วยกำลัง, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564, https://freedom.ilaw.or.th/node/902
  28. MGR Online, มติ ศบค. ขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่ออีก 1 เดือน ถึง 30 ก.ย., (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564, https://mgronline.com/politics/detail/9630000085790