เบื้องหลังการหายไปมีเรื่องราว : การหายไปของบิลลี่และจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่ปลิดปลิว

เบื้องหลังการหายไปมีเรื่องราว : การหายไปของบิลลี่และจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่ปลิดปลิว

ทำไมเราต้องรำลึกถึงคนที่หายไป เหตุผลก็อาจเป็นเพราะยังไม่มีใครได้กลับมา และยังมีคนที่เฝ้ารออยู่…

ในทุกรอบปีของวันที่มีคนหายไป หรือทุกรอบปีของวันคนหายสากล ครอบครัวของคนที่หายไปยังคงเฝ้ารำลึกถึงคนหาย รำลึกถึงอย่างภูมิใจปนทรมานใจในการต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อสังคมที่ดีขึ้น ทุกคนหวังว่าความเป็นธรรมจะเกิดขึ้น กฎหมายจะปกป้องผู้คนจากเหตุการณ์เหล่านี้ หวังว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับผู้ใดอีก และหวังว่าหากมีผู้ใดต่อสู้ พวกเขาจะชนะ และไม่หายไปตลอดกาล

เบื้องหลังของทุกคนที่ถูกบังคับให้สูญหายไป ต่างมีเรื่องราวการต่อสู้เพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมทั้งของตนเองและผู้อื่น หรือการต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งหมดนั้นเป็นการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ประชาชนควรได้รับทั้งสิ้น และการต่อสู้เหล่านั้นไม่สมควรที่จะทำให้บุคคลเหล่านั้นหายไป ประเทศไทยมีเหตุการณ์การถูกบังคับให้สูญหายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ทั้งเหตุการณ์ที่มีผู้ให้ความสนใจ และเหตุการณ์ที่เงียบหายไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น เช่น กรณีคุณทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน เป็นผู้ต่อสู้เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และหายไปวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ก่อนวันที่จะเดินทางไปเป็นผู้แทนคนงานไทยในประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่นครเจนีวา หรือ กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานช่วยเหลือทางคดีความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อให้ผู้คนในพื้นที่เข้าถึงความยุติธรรมท่ามกลางสภาวะที่รัฐมีอำนาจล้นเกิน ก็ถูกทำให้หายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 หรือกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ที่ถูกบังคับให้สูญหายไป เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งในช่วงนั้นบิลลี่กำลังต่อสู้เพื่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และเข้าเป็นพยานปากสำคัญในคดีไล่รื้อเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เป็นต้น

กรณีของบิลลี่ยังเป็นกรณีที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน ครอบครัวยังคงติดตามความคืบหน้าของคดีจากหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อให้สามารถนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้จงได้

บิลลี่เป็นคนหนุ่มที่มีความหวังจะสืบทอดวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานให้แก่ทายาท และคงรักษาวัฒนธรรมและถิ่นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงไว้ให้แก่คนรุ่นหลังสืบทอดต่อไป แต่ความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานก็เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2509 เมื่อเขื่อนแก่งกระจานได้สร้างเสร็จอย่างเป็นทางการ และเริ่มมีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกดดันปราบปรามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฯ และแนวร่วมอย่างหนักระหว่างปี พ.ศ.2508-2514 ชาวบ้านกระเหรี่ยงจึงอพยพโยกย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตป่าบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี ห้วยแม่ประโดน ห้วยแม่เพรียง แม่น้ำบางกลอย แต่วิถีการดำรงชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากไม่สามารถใช้วิถีชีวิตในการหาปลูกพืช การหาอาหารเป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งพื้นที่ในการเพาะปลูกก็มีจำกัด จนกระทั่งมีการกดดันให้ชาวบ้านกระเหรี่ยงออกจากป่าอย่างจริงจัง และในเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554  เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง มีการเผาบ้านและเผายุ้งฉางจำนวนกว่า 20 ครอบครัว ตาม “โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” เพื่อขับไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่ (อ่านเพิ่มเติมคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน : https://naksit.net/2018/06/คำพิพากษาศาลปกครองสูงส/ )

จากเหตุการณ์รื้อเผาบ้านชาวบ้านกระเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยนี้เอง บิลลี่ได้เข้ามาเป็นปากเป็นเสียงสำคัญของชุมชนชาวกะเหรี่ยงยื่นฟ้องต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำเลยที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 2 ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 การฟ้องร้องในครั้งนี้นอกจากบิลลี่จะเข้ามาเป็นพยานปากสำคัญในคดีแล้วนั้น บิลลี่ยังเป็นแกนนำในการยื่นฟ้องคดี และเป็นผู้ช่วยทนายความในคดีอีกด้วย นอกจากนั้นบิลลี่ยังเตรียมตัวที่จะถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วยในวันที่เขาหายไป

และเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่เดินทางออกมาจากบ้านบางกลอย หลังจากกลับจากเยี่ยมแม่ และมีข้อมูลว่าเขาจะนำฎีการ้องทุกข์ของชาวกะเหรี่ยงไปยื่น แต่เมื่อรถจักรยานยนต์ของเขาเคลื่อนผ่านด่านเขามะเร็ว ซึ่งเป็นด่านตรวจของอุทยาน ซึ่งเป็นเหมือนประตูของการเข้าออกหมู่บ้านบางกลอย บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเรียกให้หยุดและถูกควบคุมตัว โดยอ้างว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองเป็นจำนวน 6 ขวด ซึ่งการครอบครองน้ำผึ้งป่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงควบคุมตัวบิลลี่ไว้ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่เจอตัวบิลลี่อีกเลย  แม้เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ได้ว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่ไปจริงหรือไม่ ในวันนั้นเอง บิลลี่หายไประหว่างการต่อสู้เพื่อเรียกคืนความเป็นธรรมแก่บ้านเกิดของตนเอง และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

ซึ่งปมปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การไล่รื้อเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน หรือการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของบิลลี่ ภายหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวนั้น ส่งผลให้ประเทศไทยถูกปฏิเสธการยื่นขอเสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกมาเป็นระยะเวลาหลายปี และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 โดยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน มีข้อสรุปว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานยังคงไม่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในครั้งนี้ โดยให้ประเทศไทยกลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงประเทศไทยยังต้องสะสางข้อห่วงกังวลปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย หากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานนี้ได้ ก็มีแนวโน้มว่าในการประชุมครั้งถัดไป กลุ่มป่าแก่งกระจานก็คงจะไม่สามารถถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ เพราะคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนยังคงถูกละเมิด และวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานยังคงถูกกัดกร่อนทำลายอยู่

เมื่อกฎหมายไม่เอื้อให้ตามหาคนหาย

ในช่วงแรกที่บิลลี่หายไป ครอบครัวของบิลลี่ได้ยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี  ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้วยความเชื่อว่าศาลจะช่วยให้ทราบได้ว่าบิลลี่อยู่ที่ไหน หากเจ้าหน้าที่อุทยานฯยังควบคุมตัวไว้โดยที่ไม่มีอำนาจควบคุม ก็ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกมา แต่ผลปรากฎว่าทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาต่างยกคำร้องเนื่องจากศาลเห็นว่าคำร้องไม่มีมูล

ครอบครัวของบิลลี่ดำเนินการติดตามคดีเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหาบิลลี่ และสืบเอาความจริงจากเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวบิลลี่ไปในวันที่บิลลี่หายไป ติดตามไปทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งมีมติรับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 แต่ในปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ เหตุการณ์เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว ก็ไม่ง่ายที่พยานหลักฐานต่างๆ จะยังคงอยู่ในสภาพเดิม อีกทั้งครอบครัวของบิลลี่ยังติดตามความคืบหน้าคดีการกระทำความผิดของเจ้าหน้าอุทยานฯ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) ซึ่งได้เข้าพูดคุยกับเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ครั้งแรกในวันที่ 21 สิงหาคม 2561 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 21 สิงหาคม 2562 และได้ความสรุปว่าทางคณะกรรมการจะมีประชุมเพื่อมีมติชี้มูลในกรณีนี้ในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 และถ้ามีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทางครอบครัวทราบโดยเร็ว

และในปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่บิลลี่ถูกบังคับให้สูญหายไป ซึ่งตามกฎหมาย ทางครอบครัวสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 และทางครอบครัวได้ดำเนินการยื่นคำร้องดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ณ ศาลจังหวัดเพชรบุรี และศาลมีกำหนดนัดไต่สวนในวันที่ 28 ตุลาคม 2562 เวลา 09.00 น. และเมื่อศาลมีคำสั่ง บิลลี่จะถือว่าเป็นบุคคลที่ตายแล้วโดยผลของกฎหมาย

ครอบครัวของบิลลี่และครอบครัวคนหายคนอื่นๆ ยังต้องพบกับความยากลำบากในการตามหาคนสูญหาย และในปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญา ทำให้ไม่มีมาตรการที่เอื้อต่อการติดตามหาตัวคนหาย นำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์บังคับให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอีก

การที่ครอบครัวคนหายต้องรอคอยถึง 5 ปี เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญซึ่งถือว่าได้ถึงแก่ความตายโดยผลของกฎหมายนั้น เป็นเพียงการดำเนินการทางนิตินัยเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะไม่ตอบสนองต่อปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหายแล้ว อุปสรรคและปัญหาในการรวบรวมพยานหลักฐานและการฟ้องร้องคดีและนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษก็ยังคงมีอยู่ อีกทั้งครอบครัวของผู้สูญหายก็ยังคงไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา ดังนั้นประเทศไทยจึงควรออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการบังคับให้บุคคลสูญหายอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหายที่ยังคงไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐเท่าที่ควรในปัจจุบัน