มองคดี “เดิน..เทใจให้เทพา” ผ่านคดี “ท่อก๊าซไทย-มาเล” ว่าด้วยด้ามธง ต่อสู้ขัดขวาง ปิดทางจราจร และการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

มองคดี “เดิน..เทใจให้เทพา” ผ่านคดี “ท่อก๊าซไทย-มาเล” ว่าด้วยด้ามธง ต่อสู้ขัดขวาง ปิดทางจราจร และการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ตลอดเดือนสิงหาคม ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 17 คน ต้องเดินทางแวะเวียนมาขึ้นศาลแทบทุกอาทิตย์  พวกเขาเหล่านี้ตกเป็นจำเลยจากการจัดกิจกรรมที่เรียกสั้นๆว่า “เดิน…เทใจให้เทพา” เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2560

“เดิน…เทใจให้เทพา” เป็นการเดินเท้าจากชุมชนบางหลิง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเริ่มต้นเดินตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อมายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม. สัญจร ที่จัดขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ณ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ที่มาคดีเดินเทใจให้เทพา

ในวันแรกของการเดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่าการทำกิจกรรมของพวกเขาเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทันที่ที่ทราบเรื่องดังกล่าวเครือข่ายก็ได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพาในวันเดียวกันนั้น และได้ยื่นหนังสือขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาในวันถัดมาคือ 25 พฤศจิกายน 2560  อย่างไรก็ดีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้ออกประกาศฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ให้เครือข่ายฯเลิกเดินภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทางเครือข่ายเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นการใช้สิทธิที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว พวกเขาจึงดำเนินกิจกรรมต่อไป

พวกเขายังเดินต่อไปได้  แต่ตลอดเส้นทางของการเดิน มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขบวนอยู่เป็นระยะ จนกระทั้งวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 พวกเขาเดินเข้าสู่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มาถึงบริเวณหน้าประตู 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  กลุ่มผู้ชุมนุมพบกับกองร้อยควบคุมฝูงชน  กำลังเจ้าหน้าที่ทหาร  และอาสาสมัครรักษาดินแดน  ซึ่งตั้งกำลังขวางไว้ไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเข้าไปในเขตเทศบาลนครสงขลา  ระหว่างนั้นมีการพยายามเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ชุมนุมจึงนั่งและนอนลงกับพื้นถนน

จนเวลาประมาณ 14.50 น.  มีผู้ชุมนุมเป็นลม จากนั้นไม่นานผู้ชุมนุมเริ่มลุกขึ้นและประกาศว่าจะเดินไปกินข้าวและเริ่มผลักดันกับเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่  กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถผลักดันจนทะลุแนวกั้นเจ้าหน้าที่ไปได้ และได้ไปรวมตัวกันเพื่อกินข้าวกลางวันที่โรงพยาบาลจิตเวช  ต่อมาเวลา 15.30 น.  กลุ่มแกนนำได้นำพาผู้ชุมนุมเดินทางต่อไปมุ่งหน้าถนนชลาทัศน์  ตำบลบ่อยาง  อำเภอเมือง  จังหวัดสงขลา  จุดนี้ผู้ชุมนุมต้องพบกับจุดสกัดของตำรวจ  ทหาร  และอาสาสมัครรักษาดินแดนอีกครั้ง  เจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นปิดล้อมควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม  เกิดการกระทบกระทั้งกัน  เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 16 คน  หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนชายวัย 16 ปี โดยยึดของกลาง เป็นไม้ปลายแหลมติดธง จำนวน 14 อัน ต่อมาปรากฎในคำฟ้องเป็น 34 อัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา  มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ชุมนุมรวม 17 คน เป็นผู้ใหญ่ 16 คนและเยาวชน 1 คน พวกเขาถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา ดังต่อไปนี้

  1. มีผู้ชุมนุม 4 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และไม่แจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผัน ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
  2. มีผู้ชุมนุม 4 คน ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่ปฏิบัติการดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ทางสาธารณะ ตลอดจนดูและและรับผิดชอบผู้ร่วมชุมนุมให้ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามกฎหมาย และไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
  3. ผู้ชุมนุมทั้ง 17 คนกับพวก ได้ใช้พื้นที่ช่องทางจราจรเป็นที่ชุมนุมสาธารณะ และได้ร่วมกันพาอาวุธ (ธงติดด้าม) และเป็นสิ่งที่อาจนำมาใช้ได้อย่างอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต และขัดขวางหรือกระทำการใดๆอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
  4. ผู้ชุมนุมทั้ง 17 คนกับพวกถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันพาไม้ยาวประมาณ 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร จำนวนหลายอัน  ซึ่งติดธงแผ่นผ้ามีข้อความตัวอักษร และมีปลายแหลม ซึ่งได้ใช้และเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ ไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยเปิดเผยและไม่มีเหตุอันสมควร
  5. ผู้ชุมนุมทั้ง 17 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันกระทำการปิดกั้นถนนสาธารณะ ซึ่งได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว ด้วยการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมเป็นขบวนล้ำเข้าไปในช่องการจราจร และมีการนั่ง นอนลงบนช่องการจราจรของถนนสายดังกล่าว ในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานการจราจร
  6. ผู้ชุมนุมทั้ง 17 คนกับพวก ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และร่วมกันใช้ไม้ติดธงปลายแหลมเป็นอาวุธ ตี ทิ่มแทง และใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย ผลัก ถีบเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่ 4 คนได้รับบาดเจ็บ

การดำเนินคดีกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนโดยรัฐนั้น มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร มีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินคดีต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีต่อชุมนุมทางการเมืองเรื่องอำนาจรัฐ เช่น การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ฯลฯ หรือการชุมนุมทางการเมืองเรื่องนโยบายสาธารณะ เช่น กรณีเดินเทใจให้เทพา หรือ we walk เดินมิตรภาพ ฯลฯ

นอกจากข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบันแล้ว ข้อหาเด่นๆที่มักจะมีการนำมาใช้ทุกยุคทุกสมัย ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา อย่างเช่น ยุยงปลุกปั่น มั่วสุมก่อความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน หรือแม้แต่ข้อหาตามกฎหมายอื่นๆ เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พระราชบัญญัติทางหลวง ฯลฯ ก็มักจะเป็นข้อหาสุดฮิตที่รัฐนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนที่มาใช้เสรีภาพในการชุมนุมเช่นเดียวกัน

ย้อนดูคดีชุมนุมท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย

ย้อนเมื่อกว่า 16 ปีที่แล้ว วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2545 มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งราว 1,500 รวมตัวกันที่หน้าโรงแรมเจ บี จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมคณะรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนโครงการท่อแก็สไทย-มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพราะเห็นว่าโครงการจะทำลายธรรมชาติกิจการประมง รวมถึงวิถีชีวิตชุมชนด้านอื่นๆ ในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังสลายการชุมนุม เกิดการปะทะกัน  ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และมีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง[1]

ชาวบ้าน 32 รายถูกรัฐฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้าย ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน มีการต่อสู้คดีกันถึงสามชั้นศาล  ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และสุดท้ายศาลฎีกาต่างก็พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยยืนยันว่าการชุมนุมของชาวบ้าน เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 44

และเหตุการณ์นี้ ถือเป็นครั้งแรกๆที่ฝ่ายชาวบ้านฟ้องกลับรัฐ  เป็นการฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัดสงขลา และกระทรวงมหาดไทยต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา (คดีหมายเลขแดงที่ อ.711/2555) ออกมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 คำวินิจฉัยดังกล่าวได้วางบรรทัดฐานการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธและการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวไว้ค่อนข้างดี

 “…เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญ เพราะมีที่มาจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นการถกเถียงกันด้วยสติปัญญา เพื่อนำมาซึ่งวิธีการแก้ปัญหาหรือยุติข้อขัดแย้งของสังคมในระบอบเสรีประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย แสดงออกซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม ทั้งยังช่วยให้รัฐมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ชัดเจนขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสรีภาพในการชุมนุมจะมีความสำคัญ แต่เสรีภาพในการชุมนุมก็ถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นเองว่า ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ….”  ตอนหนึ่งของคำวินิฉัยศาลปกครองสูงสุด

หลายประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้เกี่ยวพันกับบางประเด็นในคดีเดินเทใจให้เทพาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดสงขลาในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ด้ามธงปลายแหลม” “การต่อสู้ขัดขวางทำร้ายเจ้าพนักงาน” “การปิดกั้นถนน” เป็นต้น

นอกจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว ผู้เขียนจะข้อนำคำวินิจฉัยในส่วนของศาลยุติที่รัฐดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในเหตุการณ์เดียวกันนั้นมาลงไว้ด้วย  ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกา (คำพิพากษาฎีกาที่ 12635-12661/2556) ที่ได้พิพากษายกฟ้องกลุ่มผู้ชุมนุมท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย

หากตอนแรกไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ยั่วยุหรือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงหรือก่อให้เกิดการจลาจล แต่ความวุ่นวาย และการทำร้ายเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้สกัดกั้นผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ยังถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ

ข้อกล่าวหาหนึ่งที่รัฐมักจะนำมาใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็คือ มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ทำร้ายเจ้าพนักงาน ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในคดีชุมนุมท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ก็มีข้อกล่าวหาดังกล่าวเช่นกัน โดยในคดีที่รัฐฟ้องผู้ชุมนุม  ศาลฏีกาได้นำวัตถุประสงค์อันเป็นความชอบธรรมของการชุมนุมมาประกอบการพิจารณาพิพากษา โดยมีใจตอนหนึ่งว่า “…สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการชุมนุม  เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นต่างได้รับผลกระทบจากโครงการท่อส่งก๊าซและโครงการแยกก๊าซธรรมชาติ  ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่สภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง  หาใช่เป็นการชุมนุมเพื่อขัดขวางการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรตามที่พันตำรวจเอกสุรชัยกับพยานโจทก์ปากยื่นเบิกความไม่..”

และมีอีกส่วนหนึ่งที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงประเด็นการต่อสู้ขัดขวางและการทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานของผู้ชุมนุม มีใจความตอนหนึ่งว่า “…เจ้าพนักงานตำรวจเป็นฝ่ายใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก่อน  เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางคนลุแก่โทสะ  จึงได้ใช้กำลังทำร้ายตอบโต้ไปบ้าง  ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า  โดยจำเลยไม่ได้คาดหมายมาก่อน  การชุมนุมของจำเลยกับผู้กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2540 มาตรา 44 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ …”

สำหรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ก็ได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นทำนองเดียวกันนี้ตอนหนึ่งว่า “…เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงถนนจุติอนุสรณ์  บริเวณวงเวียนน้ำพุแล้ว  กลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินทางต่อไปได้  เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจได้จัดวางกำลังและแผงเหล็กตั้งวางขวางกั้นบนสะพานจุติบุญสูงอุทิศ  กลุ่มผู้ชุมนุมจึงหยุดอยู่บนถนนจุติอนุสรณ์  โดยผู้ชุมนุมบางส่วนนั่งล้อมวงอยู่ใกล้แผงเหล็ก  บางส่วนนั่งหรือยืนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ชุมนุม  และบางส่วนที่นับถือศาสนาอิสลามก็ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  และก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเดินอ้อมแผงเหล็กเข้าไปตั้งแถวในบริเวณที่กลุ่มผู้ชุมนุมจากกลุ่มอยู่นั้น  ก็ไม่ปรากฏว่าผู้กลุ่มผู้ชุมนุมได้กระทำการใดหรือมีพฤติการณ์ใดๆที่แสดงให้เห็นว่าจะใช้ความรุนแรงหรือมีการฝ่าแนวแผงเหล็กของเจ้าพนักงานตำรวจ  เพื่อจะเข้าไปยังบริเวณสวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถโรงแรมเจ.บี นอกจากนั้นยังไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ดำเนินการชุมนุมในลักษณะยั่วยุหรือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงหรือก่อให้เกิดการจราจล  รวมถึงก่ออันตรายโดยตรงต่อชีวิตร่างกายของประชาชนแต่อย่างใด  ดังนั้น  การชุมนุมของผู้ฟ้องคดีและกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย  จึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ…”

และยังมีอีกตอนหนึ่งในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า “…การที่ผู้ชุมนุมต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายคน  รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการที่อยู่ในบริเวณที่ชุมนุมถูกทำลายได้รับความเสียหายหลายรายการ  ก็เกิดจากการที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้กำลังเข้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจนเกิดความวุ่นวายขึ้น  มิได้เกิดจากการก่อเหตุของกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด  จึงไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบและมีอาวุธ…”

หากอาวุธที่พบไม่ได้เกิดจากการตระเตรียมหรือวางแผนของกลุ่มแกนนำ และอาวุธที่พบมีจำนวนน้อยมากหากเทียบกับผู้ชุมนุมทั้งหมด ยังถือเป็นว่าชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ในประเด็นเรื่องปราศจากอาวุธ ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในตอนหนึ่งว่า “…ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่มแกนนำของผู้ชุมนุมได้มีการตระเตรียมหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีการสะสมอาวุธหรือวางแผนที่จะใช้กำลังในการชุมนุมแต่อย่างใด  ส่วนอาวุธของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้นั้น ปรากฏว่ามีเพียงหนังสติ๊กด้ามไม้  จำนวน 7 อัน พร้อมลูกตะกั่วถ่วงอวน จำนวน 82 ลูก และมีดสปาตา จำนวน 1 เล่ม เท่านั้นที่เป็นอาวุธโดยสภาพ ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงเชื่อได้ว่าเป็นการพกพาอาวุธมาโดยส่วนตัวเท่านั้นมิได้เกิดจากการเห็นพ้องต้องกันของแกนนำและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่..”

เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ระบุตอนหนึ่งว่า “…มีดพกปลายแหลม 1 เล่ม หนังสติ๊ก 2 อัน  กับลูกตะกั่วสำหรับถ่วงอวน 32 ลูก  ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้หลังจากสลายการชุมนุมแล้ว  แม้นำมารวมกับหนังสติ๊ก 5 อัน  ลูกตะกั่วสำหรับถ่วงอวน 1 ถุง มีดพกปลายแหลม 1 เล่ม กรรไกร 1 อัน  ที่ยึดได้ที่ด่านตรวจอำเภอนาหม่อม  ก็เห็นได้ว่าอาวุธดังกล่าวมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชุมนุมซึ่งมีจำนวนนับพันคน  หากผู้ชุมนุมได้กำหนดนัดหมายและการเตรียมซ่องสุมอาวุธมาในการชุมนุมตามที่โจทก์ฎีกา  ย่อมเห็นได้ว่าอาวุธที่จะเตรียมมาต้องมีจำนวนมากกว่าที่ปรากฏอย่างแน่นอน  ตามพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนน้อยลอบนำอาวุธดังกล่าวติดตัวมาโดยไม่แพร่งพรายให้จำเลย กับผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ทราบ  จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลย กับกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นมีส่วนร่วมในการพาอาวุธติดตัวไปในการชุมนุมด้วย  การชุมนุมของจำเลยดังกล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อก๊าซจึงเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ”

ไม้ไผ่คันธง ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ หากพิสจน์ไม่ได้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมนำมาใช้เป็นอาวุธตั้งแต่แรก ก็ไม่ถือว่าเป็นอาวุธ

ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดระบุตอนหนึ่งว่า “…ไม้ไผ่คันธง จำนวน 175 อัน มิใช่อาวุธโดยสภาพ และข้อเท็จจริงปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ไม้ไผ่เป็นคันธงเพื่อถือนำขบวนมาชุมนุม มิใช่เพื่อประโยชน์ที่จะเป็นอาวุธตั้งแต่แรก แต่ได้ใช้เป็นอาวุธภายหลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ใช้กำลังเข้าผลักดันเพื่อสลายการชุมนุมแล้ว จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นของผู้ชุมนุมแต่ละคนเท่านั้น แต่การที่ผู้ชุมนุมต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายคน  รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการที่อยู่ในบริเวณที่ชุมนุมถูกทำลายได้รับความเสียหายหลายรายการ  ก็เกิดจากการที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้กำลังเข้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจนเกิดความวุ่นวายขึ้น  มิได้เกิดจากการก่อเหตุของกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด  จึงไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบและมีอาวุธ…”

ส่วนในคำพิพากษาศาลฎีกามีการวินิจฉัยถึงด้านธงปลายแหลมตอนหนึ่งว่า “…ที่โจทก์ฎีกาว่ามีการเสี้ยมไม้ด้ามธงให้แหลมอย่างอาวุธ  ทั้งจำเลยกับกลุ่มผู้ชุมนุมต่างนำติดตัวมาเพื่อใช้ประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจให้ได้รับอันตรายสาหัสอย่างอาวุธนั้น  … เห็นว่าไม้ด้ามธงเหล่านั้นมีบางท่อนที่เสี้ยมปลายแหลม  แต่ไม่ได้เสี้ยมปลายให้แหลมทั้งหมด  ส่วนที่ปลายธงมองไม่เห็นว่ามีตะปูตอกติดอยู่หรือไม่ และเห็นว่าไม้ด้ามธงที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้มีการตัดอย่างธรรมดาของการตัดเป็นไม้ท่อน  ไม่มีการเสี้ยมให้ปลายแหลมเพื่อจะใช้เป็นอาวุธ พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังว่าจำเลย กับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซเตรียมจะใช้ด้ามธงเป็นอาวุธประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจให้ได้รับอันตรายสาหัสตามที่โจทก์ฎีกา”

กรณีเจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งจุดสกัดไว้ ย่อมถือว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีเจตนาที่จะปิดกั้นการจราจร

ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดระบุตอนหนึ่งว่า “…การที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องชุมนุมกันอยู่บนถนนจุติอนุสรณ์ เป็นเพราะไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งจุดสกัดบนสะพานจุติบุญสูงอุทิศ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงมิได้มีเจตนาที่จะปิดกั้นการจราจรบริเวณถนนจุติอนุสรณ์จากบริเวณวงเวียนน้ำพุจนถึงสะพานจุติบุญสูงอุทิศ ประกอบกับการสัญจรโดยใช้ถนนจุติอนุสรณ์ไม่อาจทำได้แต่แรกแล้ว  เพราะเจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งจุดสกัดบนสะพานจุติบุญสูงอุทิศ  ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า  การที่เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมบนถนนจุติอนุสรณ์  บริเวณเชิงสะพานจุติบุญสูงอุทิศ  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนใช้เส้นทางสัญจรบนถนนจุติอนุสรณ์  หากแต่รับฟังได้ว่า  การสลายการชุมนุมดังกล่าวเพื่อเปิดเส้นทางเข้าออกโรงแรมเจ.บี  ให้แก่คณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุมในวันที่ 21 ธันวาคม 2545 เนื่องจากถนนจุติอนุสรณ์เป็นเส้นทางเดียวที่เจ้าพนักงานตำรวจเปิดให้ใช้เป็นเส้นทางเข้าออกโรงแรมเจ.บี  กรณีจึงถือไม่ได้ว่า  การที่เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมบนถนนจุติอนุสรณ์  บริเวณเชิงสะพานจุติบุญสูงอุทิศ  เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะตามมาตรา 44 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และการที่เจ้าพนักงานตำรวจเลือกที่จะใช้มาตรการสลายการชุมนุมเพียงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การเดินทางเข้าออกโรงแรมเจ.บี ของคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุม  ทั้งที่ยังมีเส้นทางเข้าออกโรงแรมเจ.บี ได้อีกหลายเส้นทาง  ย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองไว้เกินกว่าความจำเป็น…”

ส่วนในคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นที่เกี่ยวกับการปิดถนนตอนหนึ่งว่า “…เห็นว่าแม้ได้ความว่าจำเลย กับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซชุมนุมอยู่บนถนนจุติอนุสรณ์อันเป็นทางสาธารณะตามที่โจทก์ฎีกา  แต่การกระทำดังกล่าวก็ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่จะใช้ถนนสายนั้น  เพราะพันตำรวจเอกสุรชัยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่าเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้ตั้งแผงเหล็กกั้นขวางถนนไว้ไม่ให้จำเลยกับพวกผ่านเข้าไปยังโรงแรมเจ.บี  ส่วนคณะรัฐมนตรีหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีสามารถผ่านเข้าออกได้อยู่แล้ว  แสดงให้เห็นว่าการที่ประชาชนจะสัญจรผ่านสะพานจุติบุญสูงอุทิศไปยังโรงแรมเจ.บี  ย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตเป็นสำคัญ  โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของจำเลยกับพวกแม้แต่น้อย  จึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจจะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมได้ (โดยนัยก็คือศาลเห็นว่ายังเป็นการชุมนุมโดยสงบอยู่-เพิ่มโดยผู้เขียน)..”

แม้คดีทั้งสองจะมีความแตกต่างกันในเชิงของบริบททางการเมืองและกฎหมาย กล่าวคือ เหตุการณ์ชุมนุมท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เกิดขึ้นในยุคสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติที่ปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ถือว่ารับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ส่วนคดีเดินเทใจให้เทพาเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่ไม่ปกติ ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร และมีกฎหมายที่ออกมาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมถึง 2 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  จึงน่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่งว่าคำพิพากษาของศาลจังหวัดสงขลาในคดีเดินเทใจให้เทพาจะยังอยู่บนพื้นฐานของการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมดังเช่นที่ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดเคยวางไว้ในคดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซ๊ยหรือไม่ 

 

[1] สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, “รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน :กรณีความรุนแรงอันเนื่องมาจากโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย,” (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, 2546) http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F00028.pdf