ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง 2 จำเลยแรงงานชาวเมียนมาไร้ความผิด ปมฆ่านางสาวอรวี สำเภอทอง หรือ น้องแอปเปิ้ล

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง 2 จำเลยแรงงานชาวเมียนมาไร้ความผิด ปมฆ่านางสาวอรวี สำเภอทอง หรือ น้องแอปเปิ้ล

จากกรณีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 นางสาวอรวี สำเภาทอง หรือน้องแอปเปิ้ล ถูกคนร้ายใช้มีดแทงเสียชีวิตที่ซอยสำนักสงฆ์สะพานปลา ข้างโรงเจ หมู่ที่ 5 ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดระนอง ได้ทำการจับกุมจำเลยทั้ง 4 คน คือ นายโมซินอ่าว นายไซกะเดา นายจอโซวิน และนายซอเล และดำเนินคดีในฐานความผิดต่อชีวิต ญาติของจำเลยได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ สถานทูตเมียนมาร์ประจำประเทศไทย ว่าระหว่างการควบคุมตัวมีการทำร้ายร่างกายและข่มขู่ให้จำเลยรับสารภาพ โดยกรณีนี้ถูกแยกฟ้องคดีอาญาเป็น 2 ศาล เนื่องจากมีจำเลย 2 คนมีฐานะเป็นเยาวชนอยู่ โดยแบ่งเป็นคดีศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง คดีหมายเลขดำที่ 7/2559 จำเลยคือ นายโมซินอ่าว และนายจอโซวิน และคดีศาลจังหวัดระนอง คดีหมายเลขดำที่ 115/2559 จำเลยคือนายเมาเซ้น หรือเซกะดอ และนายซอเล

และเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ศาลจังหวัดระนอง และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ดังนี้

คดีของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง ศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายโมซินอ่าวข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เป็นเวลา 4 ปี พร้อมชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 810,000 บาท และจำคุกนายจอโซวิน ข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตายเป็นเวลา 2 ปี ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 270,000 บาท

ส่วนคดีของศาลจังหวัดระนอง ศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายเมาเซ้น หรือเซกะดอ และนายซอเล คนละ 6 ปี ในข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนแก่ความตาย พร้อมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 570,000 บาท ส่วนนายเมาเซ้น เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลพิจารณาเห็นว่าไม่หลาบจำจึงเพิ่มโทษจำคุกอีก 2 ปี เป็นต้องจำคุกเป็นเวลา 8 ปี อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับเต็ม

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง 2 จำเลยแรงงานชาวเมียนมาไม่ได้กระทำความผิด

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 985/2562 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดระนอง โจทก์ นางมาริษา สำเภาทอง โจทก์ร่วม และนายเมาเซ้น ที่ 1 และนายเลหรือซอเล ที่ 2 จำเลย ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โดยศาลพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายหลายคน ใช้ของแช็งมีคมเป็นอาวุธแทงนางสาวอรวี หรือแอปเปิ้ล สำเภาทอง ผู้ตาย ตามลำตัว ใบหู คอ แขนรวม 17 แผล จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ดังนี้

  1. จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตายหรือไม่

ศาลเห็นว่า ในคดีอาญาโจทก์และโจทก์ร่วมมีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้อง ศาลจึงจะรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองได้ คดีนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานมานำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตาย

และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีพยานแวดล้อมเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงภาพที่บันทึกเหตุการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุ แสดงภาพผู้ตายเดินเข้าไปในซอยที่เกิดเหตุ ขณะเดินผู้ตายแสดงอาการหวาดระแวง ลักษณะคล้ายเกิดความหวาดกลัวต่อสิ่งที่ไปประสบมา วัตถุพยานดังกล่าวเป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุ ก็ไม่ปรากฎว่ามีภาพของจำเลยทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ตาย

พยานแวดล้อมที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมายังไม่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับวัตถุพยานที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกับพวกทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตาย พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมคงมีแต่คำรับสารภาพในชั้นสืบสวนและสอบสวนของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย และการรับฟังคำรับสารภาพชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธในชั้นศาลมาใช้ลงโทษจำเลยทั้งสอง โจทก์และโจทก์ร่วมต้องมีพยานอื่นมาประกอบว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริง โดยพยานประกอบนั้นต้องไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้จดบันทึกคำรับสารภาพนั้นเอง

ประกอบกับจำเลยทั้งสองอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานตำรวจซ้อมทำให้จำเลยทั้งสองต้องให้การรับสารภาพ โดยมีภาพถ่ายหลังเกิดเหตุประกอบคำเบิกความ ภาพถ่ายดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานการตรวจร่างกายของจำเลยทั้งสอง โดยมีนายแพทย์เบิกความยืนยัน หากเป็นดังนี้แล้วบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสอง อีกทั้งบันทึกการนำชี้ประกอบคำรับสารภาพ และภาพถ่ายประกอบคำรับสารภาพย่อมเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน

อีกทั้งมีดและไม้ไผ่ของกลางก็ไม่ปรากฏนิ้วมือแฝงของจำเลยทั้งสอง รวมไปถึงการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอของจำเลยทั้งสองจากเล็บของศพผู้ตาย ก็พบว่าดีเอ็นเอที่ตรวจพบของจำเลยทั้งสองต่างจากดีเอ็นเอที่ตรวจพบจากเล็บของผู้ตายอีกด้วย

นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานอื่นเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายรายนี้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมเท่าที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่เห็นพ้องด้วย

  1. จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมหรือไม่

ศาลเห็นว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อคดีในส่วนอาญารับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง และยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ 

คดีนี้ ได้มีนักกฎหมายจากองค์กรต่างๆร่วมกันให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ สภาทนายความแห่งประเทศไทย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(Human Rights Lawyers Association) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation-HRDF)  มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation for Education and Development-FED) และศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี (DISAC)  เพื่อให้จำเลยในคดีซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงความยุติธรรมและรณรงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ถูกจับด้วยเหตุความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการห้ามใช้วิธีซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพซึ่งเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับเต็ม คลิก

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

นายรัษฎา มนูรัษฎา (ทนายความ)      081- 439-4938

สุพรรษา มะเหร็ม (ทนายความ)          085-171-8200

คุณัญญา สองสมุทร (ทนายความ)      088-753-5774