ความคืบหน้าคดีธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นประมาทอังคณา นีละไพจิตร
4 สิงหาคม 25S63 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนมูลฟ้องในคดีบริษัทธรรมเกษตร โดยนายชาญชัย เพิ่มผล เป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องดำเนินคดีต่อกับอังคณา นีละไพจิตร ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มาตรา 326, 328 ตามประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีการทวีตข้อความสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบริษัทธรรมเกษตรดำเนินคดีก่อนหน้านี้ พร้อมแนบลิ้งก์ที่ซึ่งเชื่อมโยงไปยังแถลงการณ์ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเนื้อหาในเเถลงการณ์ได้อ้างถึงคลิปวิดีโอที่อดีตเเรงงานข้ามชาติของบริษัทธรรมเกษตรได้ให้สัมภาษณ์ในทวีตเตอร์ส่วนตัว
ในการไต่สวนมูลฟ้องครั้งนี้ได้มีมีตัวแทนจากองค์กรสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในเเละต่างประเทศ อาทิ HRDF Fortify Rights เเละนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กว่า 20 คน มาร่วมให้กำลังใจและสังเกตการณ์คดี แต่เนื่องด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงต้องจำกัดผู้ที่เข้าไปสังเกตคดีในห้องพิจารณา
ทั้งนี้ ก่อนมีการไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ได้ยื่นคำร้องตามมาตรา 161/1 ประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา ให้ศาลพิพากษายกฟ้องได้โดยไม่ต้องยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ผู้ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดีในลักษณะ SLAPP จะต้องมีภาระในการต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม ทนายฝ่ายโจทก์ได้คัดค้าน โดยชี้แจ้งว่าการฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ศาลจึงไม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวแต่อย่างใด และกำหนดให้มีการไต่สวนมูลฟ้องในครั้งเเรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งการไต่สวนมูลฟ้องครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2
สำหรับการไต่ส่วนมูลฟ้องวันนี้ นายชาญชัย เพิ่มพูล ได้มีประเด็นนำสืบต่อจากครั้งแรกเพื่อพิสูจน์ว่าบริษัทไม่ได้ละเมิดสิทธิของแรงงานอย่างที่อดีตแรงงานข้ามชาติได้ให้สัมภาษณ์ในคลิปวีดีโอ ดังนี้
ประเด็นเเรก เรื่องมาตราฐานในการทำธุรกิจปศุสัตว์ ซึ่งผ่านการรับรองสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติของกรมปศุสัตว์และบริษัทได้ดำเนินงานโดยยึดข้อกำหนดที่ระบุเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ให้ได้ตามมาตรฐาน เช่น การใช้เเสงหรือความสว่างในการเลี้ยง การกำหนดชั่วโมงการพักผ่อนของไก่ โดยได้มีการทำบัตรบันทึกเวลาเข้า-ออกงานของเเรงงานในฟาร์ม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับจำนวนเวลาในการทำงานตามที่อดีตลูกจ้างแรงงานข้ามชาติได้ให้สัมพภาษณ์ นอกจากนี้ยังได้นำเสนอลักษณะการทำงานของลูกจ้าง (1) ปูแกลบในโรงเรือนไก่ (2) การเก็บไก่ที่อ่อนเเลเเละตายในฟาร์ม (3) ดูแลความสะอาดและความเรียบร้อย และ (4) ขนลูกไก่ใหม่เข้าโรงเรือน เท่านั้นแรงงานทำงานเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ให้ทำงานทั้งวันทั้งคืนตลอดเวลา ต้องทำงานทุกวันตลอดทั้งปีโดยไม่มีวันหยุด และไม่ได้พักผ่อน ทั้งนี้ การทำงานของลูกจ้างจะได้พัก 1 วันต่ออาทิตย์ แต่บริษัทใช้วิธีการย้ายวันพักของลูกจ้างมาอยู่ในช่วงการพักเล้าเเทน ในส่วนของวันลา บริษัทไม่ได้กำหนดว่าให้เเรงงานมีสิทธิลาได้กี่วันต่อปีแต่หากเเรงงานต้องการลาก็สามารถทำได้ เเต่จะไม่ได้รับเงินค่าจ้าง
ประเด็นต่อมา เรื่องการนำหนังสือเดินทางของแรงงานมา เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการขอต่อใบอนุญาตในการทำงานให้กับลูกจ้างที่เป็นเเรงงานข้ามชาติ
ประเด็นสุดท้าย เรื่องการถูกกล่าวหาจากสำนักข่าวทั้งไทยเเละต่างประเทศ เช่น The Guardian, The Sun, Voice TV รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนได้เเก่ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN), Fortify Rights ว่าบริษัทละเมิดแรงงานจนทำให้บริษัทถูกสมาคมผู้ค้ายุโรปเข้ามาเตือนและนำไปสู่การยกเลิกออเดอร์ไก่ของบริษัท นอกจากนี้ยังมีประเด็นการกล่าวหาบริษัทว่าได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องคดี (SLAPPs) ต่ออดีตลูกจ้างเเรงงาน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ดี การไต่ส่วนมูลฟ้องฝ่ายโจทก์ดำเนินไปจนถึงเวลา 16.50 น. ซึ่งศาลมีกำหนดไต่สวนมูลฟ้องในครั้งต่อไป ในวันที่ 3 และ 8 พฤศจิกายน 2563
ข้อมูลคดี
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 บริษัทธรรมเกษตร โดยนายชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่ออังคณา นีละไพจิตร ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 328 จากกรณีที่อังคณาได้ทวีตข้อความสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบริษัทธรรมเกษตรฟ้องในทวีตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ว่า
Stand by Kratik @SuthareeW #DropDefamation #NonReprisal #SLAPP #BixHRs พร้อมโพสต์ลิงก์ของจากทวิตเตอร์ของผู้ใช้อีกรายหนึ่งชื่อ Kingsley Abbott และเมื่อคลิกที่ลิงก์ก็จะปรากฏเนื้อหาทวีตของผู้ใช้ดังกล่าวซึ่งเชื่อมโยงไปยังหน้าบทความภาษาต่างประเทศในเว็บไซต์ขององค์กร ICJ ซึ่งในบทความดังกล่าวปรากฏข้อความถึงการดำเนินคดีของโจทก์และมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังข้อมูลข้อความเรื่อง “แถลงการณ์ร่วมประเทศไทย: ยุติการฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”
โดยเนื้อหาในแถลงการณ์นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทของบริษัทธรรมเกษตร อันเป็นผลเนื่องมาจากภาพยนตร์ความยาว 107 วินาที ซึ่งคำว่า “ภาพยนตร์” มีลักษณะตัวอักษรแตกต่างจากอักษรอื่นเชิญชวนให้กดเข้าไปยังข้อความหรือลิงก์ดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงไปยังหน้าคลิปวิดีโอบทสัมภาษณ์แรงงานขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ บนยูทูป ซึ่งปรากฏภาพลูกจ้างของโจทก์กล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอีกคดีหนึ่ง
นอกจากกรณีข้างต้นเเล้ว อังคณายังถูกบริษัทธรรมเกษตรฟ้องเป็นครั้งที่ 2 จากกรณีการทวีตข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “#JudicialHarassment #BizHRs Criminal defamation against Ngamsuk lecturer @Institution of Human Rights and Peace, Mahidol University.” พร้อมลิงก์ของบทความขององค์กรโฟตี้ฟายไร้ท์ ซึ่งเมื่อคลิกไปที่ลิงก์จะพบกับรายงานข้อมูลการดำเนินคดีระหว่างบริษัทธรรมเกษตรกับงามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา โดยในรายงานฉบับนี้จะมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังบทความภาษาอังกฤษขององค์กรโฟร์ตี้ฟายไร้ท์ซึ่งมีรายละเอียดการดำเนินคดีหมิ่นประมาทของบริษัทธรรมเกษตร เกี่ยวกับภาพยนตร์ความยาว 107 วินาที ที่อดีตลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติของบริษัทได้ให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ในเวลาเช้างานจะเริ่ม 07.00 น. และเราจะได้พักกินอาหารมื้อกลางวันเวลาเที่ยง จากนั้นเราจะหยุดงานในเวลา 17.00 น. แต่ถึงเวลา 19.00 น. เราจะต้องเริ่มงานอีกครั้งไปจนถึง 05.00 น. ซึ่งหนังสือเดินทางและเงินของเราถูกยึดไปหมด” และ “….เราไม่มีวันหยุด เราต้องทำงานตลอดเวลา”
*ภาพจากสำนักข่าวอิศรา