หนังสือ “เมื่อกฎหมายถูกใช้เป็นอาวุธ : เรื่องราวของนักปกป้องสิทธิที่ถูกฟ้องปิดปาก”

หนังสือ “เมื่อกฎหมายถูกใช้เป็นอาวุธ : เรื่องราวของนักปกป้องสิทธิที่ถูกฟ้องปิดปาก”

“การฟ้องคดีปิดปาก” หรือ “ตบปาก” หรือ “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation) หรือ SLAPPs (สแลป)[1] ถูกอธิบายว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อข่มขู่ ตอบโต้ ลงโทษบุคคลที่ออกมาพูด แสดงออก ร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะหรือเรื่องที่มีความสำคัญในทางสังคม รวมถึงส่งสัญญาณเพื่อข่มขู่บุคคลอื่นไม่ให้พูดถึงหรือเข้าไปยุ่งกับเรื่องนั้น ๆ ด้วย

การฟ้องคดีปิดปาก เป็นเครื่องมือที่รัฐหรือภาคธุรกิจบางส่วนนิยมใช้ในยุคปัจจุบัน เพื่อคุกคามและทำให้ผู้คนหยุดวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบการกระทำที่ไม่ถูกต้องของรัฐและภาคธุรกิจ การฟ้องคดีเป็นเครื่องมือคุกคามที่ดูผิวเผินแล้วไม่รุนแรง ถามยังดูมีความชอบธรรม เพราะอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากการคุกคามทายกายภาพต่อชีวิตและร่างกาย อย่างไรก็ดี ผลกระทบก็อาจนักหนาไม่ต่างกัน เพราะการฟ้องคดีได้สร้างผลกระทบที่ซึมลึก สร้างตราบาปให้ผู้คน สร้างภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ในการไปศาล ในการประกันอิสระภาพ บางคนอาจตกงาน และบ่อยครั้งใช้ได้ผลในการปิดปากทั้งผู้ถูกฟ้องและคนอื่น ๆ แม้สุดท้ายการต่อสู้คดีถึงที่สุด ศาลอาจยกฟ้อง แต่ก็ยากที่ผู้ถูกฟ้องจะเข้าถึงการเยียวยา

ในปี 2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้พยายามรวบรวมข้อมูลคดีที่เข้าข่ายฟ้องปิดปากจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เราพบว่า ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีคดีที่เข้าข่ายการฟ้องปิดปากมากกว่า 200 กรณี ทั้งเป็นการฟ้องโดยภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเป็นทั้งแกนนำชาวบ้าน นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สื่อมวลชน หรือแม้แต่ทนายความ จากการที่พวกเขาเหล่านั้นต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและชุมชน ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะต่าง ๆ การตรวจสอบรัฐบาล หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ

หนังสือเล่มนี้ นำเสนอเรื่องราวของการฟ้องปิดปาก 9 กรณี แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับคดีฟ้องปิดปากที่มีอยู่นับร้อยคดีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ สนส. เชื่อว่ากรณีที่ถูกนำเสนอจะเป็นตัวแทนที่ช่วยสะท้อนสถานการณ์ของการฟ้องคดีปิดปากในมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย

3 กรณี ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กรณีบ้านป่าแหว่ง ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักของตุลาการที่เชิงดอยสุเทพ กรณีการฟ้องนักวิจัยที่ทำวิจัยผลกระทบของเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งในพื้นที่นี้บริษัทเหมืองแร่ฟ้องชาวบ้านมากกว่า 20 คดี และกรณีของคุณจินตนา แก้วขาว นักต่อสู้แห่งบ้านกรูด ผู้ยอมสูญเสียอิสระภาพเพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

2 กรณี เกี่ยวข้องกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ได้แก่ คดีที่เกิดจากการตรวจสอบและตั้งคำถามต่อการแทรกแซงสื่อโดยผู้นำรัฐบาล และคดีที่หน่วยงานของรัฐอย่างกองทัพเรือ ฟ้องสำนักข่าวท้องถิ่นภูเก็ตหวานจากการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา ซึ่งผลของคดีนี้ เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดการแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อไม่ให้ถูกนำมาใช้ฟ้องคู่ไปกับความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

อีก 3 กรณี เป็นคดีที่เกิดการแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในยุคที่รัฐบาลมีปัญหาความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย ได้แก่ กรณีของ บ.ก.ลายจุด ที่ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารและรัฐบาลที่เป็นผลพวงจากรัฐประหาร ตั้งแต่ยุค คมช. 2549 จนถึง คสช. 2557 กรณีแฮชแท็กตามหาลูกประยุทธ ซึ่งเป็นการดำเนินคดีกับประชาชนที่ตั้งคำถามต่อความโปร่งใสเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้นำรัฐบาลและครอบครัว และกรณีของภัสราวลีหรือมายด์ หนึ่งในนักกิจกรรมเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการ “ราษฏร” 2563 และถูกดำเนินคดีจำนวนมาก รวมถึงคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

และกรณีสุดท้ายที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ เกี่ยวข้องกับทนายความที่ช่วยเหลือต่อสู้คดีให้กับบรรดาผู้ที่ถูกฟ้องปิดปาก และตัวเองก็ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดีปิดปากด้วย

สนส. ขอบคุณเจ้าของเรื่องราวทั้ง 9 กรณี ที่เสียสละเวลามาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ของการถูกฟ้องคดีปิดปาก เพื่อบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ โดย สนส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวเหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้าใจและตีแผ่ปัญหาและความไม่ชอบธรรมของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกนำมาใช้คุกคามประชาชนที่ออกใช้สิทธิและเสรีภาพ และหวังว่าวันหนึ่งการใช้ฟ้องคดีปิดปากจะลดน้อยลงและหมดไปจากสังคมไทย

สนส. ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ยืนหยัดต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ปกป้องประชาธิปไตย และส่งเสียงเรียกร้องให้สังคมเราดีขึ้น ทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงมากมายตามมาก็ตาม

 

อ้างอิง

[1] เป็นคำที่ปรากฎในงานศึกษาของ George W. Pring และ Penelope Canan  เรื่อง SLAPPs. Getting sued for speaking out