4 ปีบิลลี่หาย รอก่อน…ความยุติธรรมยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

4 ปีบิลลี่หาย รอก่อน…ความยุติธรรมยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่เป็นสมาชิก อ.บ.ต. ห้วยแม่เพรียง เป็นหลายปู่โคอี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาติพันธ์กะเหรี่ยงแห่งบางกลอย เขามีภรรยาและลูกที่ต้องดูแลอีก 5 คน ลูกทุกคนยังอยู่ในวัยเรียน

บิลลี่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้องชาติพันธุ์กระเหรี่ยงบางกลอยของเขา ที่ถูกบังคับไล่รื้อให้ต้องจากผืนดินเกิด เนื่องจากนโยบายการอนุรักษ์ที่มองไม่เห็นผู้คน เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความในคดีที่ปู้คออี้ และชาวกระเหรี่ยงบางกลอยอีก 5 คนยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่อศาลปกครองกลาง จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ตาม“โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” หรือ “ยุทธการตะนาวศรี” เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แม้จะปรากฏผลการศึกษายืนยันว่าชาวบ้านเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมชาวปาเกอญอที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปีแล้ว

ในช่วงที่บิลลี่หายตัวไป เป็นช่วงที่กำลังมีการเตรียมข้อมูลเพื่อต่อสู้คดีดังกล่าว และอยู่ระหว่างการเตรียมถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรม

“วันที่ 17 เมษายน 2557 เวลาประมาณหกโมงเย็น ผมได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากครูในหมู่บ้านบอกว่า บิลลี่ถูกจับที่ด่านมะเร็ว เป็นเรื่องน้ำผึ้ง ให้ไปดูที่โรงพักหน่อย แต่ผมเห็นว่าไม่ไช่ความผิดร้ายแรงอะไร และมันก็ค่ำแล้ว เตรียมเอกสารประกันตัวไม่ทัน วันนั้นก็เลยไม่ได้ไป แต่ผมก็ได้โทรหาบิลลี่นะ โทรไปสองครั้ง แต่บิลลี่ไม่รับสาย เช้าวันที่ 18 สักแปดโงเช้า ผมก็รีบไปที่โรงพักแก่งกระจาน แต่ก็ไม่เจอบิลลี่ ตำรวจบอกว่าไม่มีการจับกุมตัวบิลลี่มาที่นี้ ผมก็เริ่มแปลกใจแล้วจึงเริ่มโทรหามึนอ ภรรยาของบิลลี่ และญาติๆอีกหลายคน” อดีตผู้นำชุมชุนมบางกลอยคนหนึ่งกล่าว

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว วันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีเหลือง มุ่งหน้าออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ราวๆบ่ายสามโมงเย็นเขาก็ขับมาถึงบริเวณด่านเขามะเร็ว และเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯควบคุมตัวไว้ โดยอ้างว่าเขามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถจักรยานยนต์กับน้ำผึ้งป่าเป็นของกลาง หลังจากนั้นได้นำตัวบิลลี่พร้อมของกลางขึ้นรถกระบะขับออกไป พอถึงบริเวณแยกหนองมะค่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการตักเตือนและปล่อยตัวไปพร้อมของกลาง เพราะเห็นว่าเป็นข้อหาไม่ร้ายแรง นี้เป็นข้อเท็จจริงที่นายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่อุทยานที่ควบคุมตัวบิลลี่ให้ไว้ต่อศาล อย่างไรก็ดี ในการจับกุมดังกล่าว ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกการจับกุมและปล่อยตัวแต่อย่างใด

หลังจากนั้น ก็ไม่มีใครเห็นและทราบชะตากรรมของบิลลี่อีกเลยจนกระทั่งบัดนี้……………………

“วันที่ 18 เมษายน ญาติพี่บิลลี่ที่บ้านบางกลอยโทรมาสอบถามว่าบิลลี่กลับมาบ้านหรือยัง (บ้านที่ป่าเด็ง) หนูก็เลยตอบว่า ไม่เห็น ญาติก็เลยเล่าให้ฟังว่าบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่ด่านมะเร็ว จากนั้นวันที่ 19 เมษายน หนูก็เลยขี่มอเตอร์ไซด์ไปที่โรงพักแก่งกระจาน เพื่อแจ้งความเรื่องบิลลี่ วันนั้นมีชาวบ้านไปด้วยกันยี่สิบกว่าคน ตำรวจสอบปากคำหนู และก็ชาวบ้านญาติของบิลลี่อีกสามคน หลังจากนั้นก็เดินทางกลับบ้านตอนห้าโมงเย็น ตั้งแต่บิลลี่หายไป หนูก็นอนไม่หลับ ไม่หิวข้าว อยากเจอพี่บิลลี่ หนูไปหาหมอดู เขาบอกว่าบิลลี่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถูกขัง หลังจากหนูก็ได้เดินหาไปยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ไม่ค่อยมีความคืบหน้า” มึนอ ภรรยาของบิลลี่ให้ข้อมูลกับทนายความ

จากวันที่ 17 เมษายน 2557 ครอบครัวและกัลยาณมิตรของเขาได้พยายามเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้รัฐทำหน้าที่ค้นหาความจริงและนำคนผิดมาลงโทษ แต่ผ่านไป 4 ปี ความความจริงที่น่าจะต้องถูกคลี่คลายได้กลับเลื่อนหายไปตามกาลเวลา กระบวนการยุติธรรมที่เป็นความหวังสุดท้ายที่จะช่วยคืนความจริงและความยุติธรรมกลับหยุดชะงักลง

ทบทวนอีกครั้ง : เมื่อกลไกศาลในการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยมิชอบ…ไม่ได้ผล

หลังจากทราบข่าวการหายตัวไปของบิลลี่แล้ว ภรรยา พร้อมทนายความก็ได้ลองใช้กลไกทางศาลด้วยความหวังว่าจะช่วยให้ได้รู้ว่าบิลลี่อยู่ที่ไหนและให้คนที่ควบคุมตัวเขาไว้ได้ปล่อยเขาออก

ทนายได้ใช้ช่องทางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
แต่น่าเสียดายความพยายามสู้ถึงสามชั้นศาล ทุกศาลทั้งศาลจังหวัดเพชรบุรี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกาล้วนแต่มีคำสั่งยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่าไม่มีพยานหลักฐานที่เพียงพอว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ คำพิพากษาศาลจังหวัดเพชรบุรี  ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา)

การบังคับสูญหายหรือการควบคุมตัวโดยไม่ชอบนั้น โดยทั่วไปแล้วประจักษ์พยานมักจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายใต้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเรื่องยากที่ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวจะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่ามีการควบคุมตัวหรือถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น ศาลในฐานะกลไกตรวจสอบการควบคุมตัวโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 หรือองคาพยพอื่นๆที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องมาร่วมกันทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้กลไกนี้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ศาลควรจะมีบทบาทในการไต่สวนหาความจริงขึ้นกว่านี้หรือไม่ เพราะหากศาลยังปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคู่ความต่อสู้กันเองไปอย่างเดียว ย่อมทำให้ฝ่ายผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งมักจะเป็นชาวบ้านทั่วไปตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และแน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมไม่อาจจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเต็มที่

 

4 ปีแล้ว กระบวนการยุติธรรมยังไม่คืบหน้า ป.ป.ท. ยังไม่ชี้มูล ฝ่ายดีเอสไอยังอยู่ในกระบวนการ

1 วันหลังจากทราบข่าวการหายไปของบิลลี่ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน หลังจากนั้นตำรวจพื้นที่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีอยู่ระยะหนึ่ง ประมาณเดือนพฤษภาคม 2557 ตำรวจก็ได้สรุปสำนวนส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายชัยวัฒน์ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนคดีอาญาอื่นๆยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

เดิมทีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภาค 7 จังหวัดนครปฐม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ แต่ช่วงเดือนมกราคม 2558 มึนอ ภรรยาบิลลี่ ก็ได้เดินทางมาร้องขอให้ ป.ป.ท ที่ส่วนกลางเข้าไปรับผิดชอบดำเนินการแทน เพราะไม่มั่นใจในการทำงานของ ป.ป.ท. พื้นที่ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการโอนคดีมาให้ ป.ป.ท. ส่วนกลางรับผิดชอบ พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินการแทนชุดเดิม

ผ่านไปเกือบสองปีนับแต่ยื่นคำร้อง ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 มึนอ ก็ได้เดินทางเข้าพบประธานอนุไต่สวน ป.ป.ท เพื่อสอบถามความคืบหน้า ซึ่งก็ได้ข้อมูลว่า อนุฯไต่สวนมีการสอบปากคำพยานและรวบรวมพยานหลักฐานของทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว และหากไม่มีการอ้างพยานเพิ่มเติม ก็จะสามารถสรุปสำนวนและเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดได้เลย แต่หากว่าฝ่ายผู้กล่าวหามีพยานหลักฐานใดจะยื่นเพิ่มเติมก็ยังสามารถยื่นมาได้ หลังจากปรึกษาหารือกับทนายความแล้ว ช่วงปลายปี 2560 มึนอ ในฐานะผู้กล่าวหาจึงได้เสนอให้อนุไต่สวนฯสอบพยานเพิ่มเติมอีกสามคน แต่เวลาผ่านมากว่าหนึ่งปีแล้ว ป.ป.ท. ยังไม่แจ้งผลความคืบหน้าใดๆกลับมา

มองมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงแรก และ ภรรยาบิลลี่ได้เข้าไปขอให้รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 แต่เวลาผ่านไปเกือบสองปีนับแต่ยื่นคำร้อง ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 16 มกราคม 2560 แจ้งกลับมาที่ภรรยาบิลลี่ว่าคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติไม่รับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยมติดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมวันที่ 10 มิถุนายน 2559 หรือราว 7 เดือนก่อนหน้าที่จะมีหนังสือแจ้งผลมายังภรรยา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมถึงมีการแจ้งผลล่าช้าถึง 7 เดือนหลังมีมติ

ในหนังสือแจ้งผลที่ส่งมายังภรรยาบิลลี่ ไม่ได้ระบุเหตุผลว่าเหตุใดคณะกรรมการคดีพิเศษจึงมีมติไม่รับ แต่ตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อธิบายเหตุในที่ประชุมอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า เนื่องจากการสืบสวนใช้เวลากว่า 2 ปีแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงต้องงดการสืบสวนไว้ก่อน อีกทั้งนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้ยื่นคำร้อง ไม่ใช่ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของบิลลี่ เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานที่ถูกคาดหวังและก่อตั้งขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายว่าจะเข้ามาช่วยคลี่คลายคดีที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรือมีความยุ่งยากซับซ้อน คดีที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเหตุผลที่กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ เพราะว่าสืบสวนมากว่า 2 ปีแล้วไม่มีความคืบหน้า ก็ย่อมเป็นการยืนยันในตัวแล้วว่าคดีนี้มีความยุงยากซับซ้อนเพียงใด และยังเป็นคดีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องสงสัยสำคัญในคดีด้วย การสืบสวนสอบสวนคดีนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยหน่วยงานอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ช่วยคลี่คลายคดี

สำหรับเหตุผลที่อ้างว่านางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้ยื่นคำร้อง ไม่ใช่ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของบิลลี่ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการคดีพิเศษนั้น ในประเด็นนี้ แม้ตามประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จะกำหนดให้ผู้ที่จะสามารถร้องขอให้คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ ต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่ได้กำหนดว่า “ผู้เสียหาย” ต้องเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย การตีความความการเป็นผู้เสียหายของภรรยาตามมาตรา 5 (2) แห่งประมวลกฎหมายวีพิจารณาความอาญา โดยตีความว่าภรรยาที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้นถึงจะมีสิทธิจัดการแทนผู้เสียหายได้ เป็นเพียงแนวทางการตีความแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะโดยทั่วไป การเป็นภรรยานั้น นอกจากจะเป็นแบบนิตินัยที่ต้องจดทะเบียนสมรสแล้ว ยังมีภรรยาโดยความเป้นจริงหรือพฤตินัยด้วย กรณีนี้ แม้นางสาวพิณนภา จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายพอละจี แต่ทั้งสองก็ได้อยู่กินฉันสามีภรรยาด้วยกันมาจนมีบุตรด้วยกัน 5 คน อีกทั้ง ถ้าคำนึงถึงสภาพจริงตามวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ คงมีน้อยคนนักที่จะสนใจ เข้าใจและเข้าถึงระเบียบปฏิบัติของรัฐในเรื่องการจดทะเบียน ดังที่หลายคนอาจจะพอทราบอยู่แล้วว่าชาวบ้านชาติพันธุ์จำนวนมากไม่มีแม้กระทั่งบัตรประชาชนเพราะไม่ได้มาดำเนินการทางทะเบียน ดังนั้น การตีความกฎหมายในเรื่องการเป็นผู้เสียหาย จึงควรตีความให้สอดคล้องกับความจริงแห่งวิถีชีวิตและส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม มากกว่าที่จะกีดกัดการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นาน ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2560 ในช่วงที่ประเทศไทยไปรายงานการปฏิบัติการต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( ICCPR ) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ก็มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีสั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนคดีทนายสมชายและคดีบิลลี่ต่อไป

เมื่อวาน (16 เมษายน 2561) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ได้ออกแถลงการณ์ ประเทศไทย: ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆในวันครบรอบ 4 ปี ที่“บิลลี่”ถูกบังคับให้สูญหาย ระบุว่าการสืบสวนสอบสวนคดีบิลลี่ไม่มีความคืบหน้าและและดีเอสไอปฏิเสธไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ หลังจากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ออกมาชี้แจงทันควันว่าคดีบิลลี่ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ การดำเนินการทุกประการเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่มีมติไม่รับเป็นคดีพิเศษแล้วตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด (ดูคำชี้แจงที่นี้) ซึ่งก็ได้แต่หวังกันต่อไปว่าสักวันหนึ่งในอีกไม่ช้า กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษและดำเนินการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงและนำผู้กระทำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

บิลลี่ไม่ใช่คนแรกและไม่ใช่คนสุดท้ายที่ถูกบังคับสูญหาย การบังคับสูญหายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานแล้ว จากสถิติที่มีการรวบรวมโดยคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระบุว่าประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 82 กรณี ทั้งหมดยังไม่ได้รับการแก้ไข (ดูรายงานฉบับเต็ม)

การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง บุคคลที่ถูกทำให้สูญหาย มักเป็นกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ แกนนำชาวนาชาวไร่ นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และญาติของพวกเขามักจะเข้าไม่ถึงความจริงและความยุติธรรม เช่น กรณีทนายสมชาย นีลไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้เข้าถึงความยุติธรรมท่านกลางการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ถูกทำให้หายไปเมื่อ 12 มีนาคม 2547 การต่อสู้ของญาติบนเส้นทางกระบวนการยุติธรรมที่ยาวนานถึง 12 ปี จบลงที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ กรณีของนายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ที่ได้ต่อสู้ในประเด็นที่ดินทำกิน ที่ได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 ชาวบ้านได้ช่วยกันตามหาจนพบหลักฐานหลายอย่าง แต่คดีความก็ยังไม่มีความคืบหน้า

ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีผู้ถูกบังคับสูญหายอีกหลายกรณีที่คดีเงียบหายไร้ความคืบหน้า การละเลยไม่ใส่ใจในการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับสูญหายของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม  เท่ากับปล่อยให้การค้นหาความจริงเป็นไปตามยะถากรรม ผลักภาระให้แก่ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของผู้สูญหายต้องวิ่งตามหาความยุติธรรมกันเอง สุดท้ายผู้กระทำความผิดก็ลอยนวลพ้นผิด การบังคับสูญหายก็ยังวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

กฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับสูญหาย ความหวังที่ยังต้องรอต่อไป

“ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ….” ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) โดยมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ด้วยความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและภาครัฐ

แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกลับคืนให้คณะรัฐมนตรี  โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ชัดเจน มีเพียงการให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีการรับฟังความเห็นที่รอบด้านตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

จากนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ได้มีการดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวในหลายประเด็น ซึ่งบางเรื่องดีขึ้น เช่น การกำหนดให้สามีภริยา ผู้บุพการี และผู้สืบสันดานของผู้ถูกบังคับสูญหายเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น แต่บางเรื่องก็แย่ลง โดยเฉพาะการตัดมาตราที่ห้ามนำสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม ความไม่มั่นคง หรือสถานการณ์อื่นใด มาอ้างในการบังคับสูญหายหรือทรมานที่ระบุในร่างเดิมออกไป ซึ่งนี้อาจจะทำให้มีการอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินและความมั่นคงต่างๆมาเป็นเหตุในเกิดการซ้อมทรมานได้ ดังที่เคยปรากฏในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้หรือไม่ และเนื้อหาจะสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

สำหรับผู้สนใจสามารถดูร่างร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ… ได้ที่
ร่างกฎหมายฉบับเดิม
ร่างล่าสุดที่ผ่านการแก้ไขและอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น

 

***ขอบคุณรูปภาพทุกรูปที่ใช้ในบทความนี้ ผู้เขียนไม่สามารถสืบหาต้นฉบับของภาพได้ จึงไม่รู้จะอ้างอิงผู้ใดเป็นเจ้าของ