คนโรคจิตที่มีความสุขเมื่อเห็นความขัดแย้งจากข่าวที่ตัวเองเขียนขึ้นมา

คนโรคจิตที่มีความสุขเมื่อเห็นความขัดแย้งจากข่าวที่ตัวเองเขียนขึ้นมา

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
24 พฤษภาคม 2562

การเขียนข่าวโจมตีแบบเกาะติด/กัดไม่ปล่อยกรณีการถือหุ้นสื่อของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ของสำนักข่าวอิศราที่ถูกชี้นำบงการโดยประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ได้สร้างความคลางแคลงใจให้กับสาธารณชนประการหนึ่งว่าเหตุใดถึงไม่เขียนข่าวโจมตีฝั่งตรงข้ามธนาธรบ้าง หรือเหตุใดข่าวที่เขียนโจมตีฝั่งตรงข้ามธนาธรถึงมีเนื้อหาเบาบางและไม่มีลักษณะเกาะติด/กัดไม่ปล่อยเช่นเดียวกัน

ยังมีคำถามต่อเนื่องอีกว่าประสงค์และสำนักข่าวอิศราเขียนข่าวรับใช้หรือตามใบสั่งใคร คำถามนี้ค่อนข้างตอบยากกว่าคำถามแรก เพราะถ้ามีจริง, พวกเขาคงไม่แสดงใบเสร็จและพยานหลักฐานให้ใครเห็นอย่างแน่นอน แต่ทั้งสองคำถามก็พอจะอนุมานจากพฤติกรรมบุคคลและองค์กรได้ว่าทั้งประสงค์และสำนักข่าวอิศรามีความผิดปกติอย่างหนึ่งอันมีที่มาจากพฤติกรรมการเขียนข่าวแบบไม่สืบสวนหาข้อเท็จจริงมาอย่างยาวนาน

อาการเขียนข่าวแบบหลงผิดว่าข่าวที่ตัวเองเขียนมีลักษณะเป็นกระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวนหรือเจาะลึกเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงรอบด้าน ทั้ง ๆ ที่เขียนข่าวแบบเปิดโปงความขัดแย้งในองค์กรต่าง ๆ มากกว่า ซึ่งเป็นการเขียนที่ง่ายกว่าเพราะไม่ได้ใช้ความสามารถและเวลามากนัก ต่างกับการเขียนข่าวเชิงสืบสวนหรือเจาะลึกที่ต้องใช้ความสามารถและอดทนกับการใช้เวลามากขึ้นในการค้นคว้าหาหลักฐานแล้วตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงรอบด้าน ได้ทำให้ประสงค์และสำนักข่าวอิศรามักง่าย สะเพร่าและหลงเชื่อในแหล่งข่าวที่ให้ข่าวง่ายเกินไปเสียจนเกิดความผิดพลาดได้

ในแวดวงสื่อมวลชนที่คลุกคลี คร่ำหวอด รู้จักคุ้นเคยกันดีกับประสงค์หลายคนพูดให้ฟังว่าการเขียนข่าวแนวถนัดของประสงค์ในช่วงหลัง ๆ คือโจมตีการคอร์รัปชั่นโดยบุคคลในองค์กร/หน่วยงานต่าง ๆ เป็นหลัก “เขาจะไม่โจมตีนโยบาย เพราะเรื่องนโยบายมันเป็นเรื่องต้องค้นคว้า ต้องศึกษา ขุดคุ้ยเยอะ ใช้เวลา หาความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่าง ๆ แต่เรื่องโจมตีบุคคลแค่โทรคุยหรือแช็ทไลน์กะแหล่งข่าวหรืออ่านเอกสารสองสามแผ่นก็เขียนข่าวได้แล้ว ง่ายกว่าเยอะ” ผู้รู้จักคุ้นเคยกันดีกับประสงค์คนหนึ่งกล่าว

แต่น่าสนใจตรงที่การเขียนข่าวแนวนี้ประชาชนทั่วไปชอบทั้ง ๆ ที่เป็นการเขียนข่าวที่ตั้งบรรทัดฐานทางศีลธรรมให้แก่คนอื่นแบบมักง่ายเกินไปก็ตาม และไม่ใช่ประชาชนอย่างเรา ๆ เท่านั้นที่ชอบ ข่าวที่ประสงค์เขียน (และใช้อำนาจครอบงำให้สำนักข่าวอิศราเขียน) ถูกอ่านโดยเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารและกรรมการในองค์กรอิสระและหน่วยงานราชการจำนวนมาก เหตุที่ต้องอ่านอาจจะไม่ใช่ความชอบแนวข่าวที่ประสงค์เขียนแต่ต้องอ่านเพื่อตรวจดูว่าประสงค์เขียนข่าวเล่นงานองค์กร/หน่วยงานพวกเขาหรือไม่ อย่างไร “คิดดูนะว่าข่าวที่ประสงค์เขียนมีผลสะเทือนแค่ไหน เจ้าหน้าที่ ปปช. คนหนึ่งระดับผู้ช่วยเลขาธิการที่สนิทสนมกับประสงค์มากเป็นพิเศษเคยพูดทีเล่นทีจริงว่าถ้าไม่อยากให้ประสงค์เขียนข่าวโจมตี ปปช. ต้องให้ประสงค์ไปเป็นกรรมการและก็ให้สำนักข่าวอิศราสักแสนสองแสน” ผู้รู้จักคุ้นเคยกันดีกับประสงค์คนเดิมกล่าว

ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วมากมายหลายเหตุการณ์ในองค์กร/หน่วยงานต่าง ๆ ที่ประสงค์และสำนักข่าวอิศราเขียนข่าวเปิดโปง เหตุการณ์โด่งดังเหตุการณ์หนึ่งที่เชื่อมโยงมาอีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือเรื่องในศาลปกครองที่คนในศาลปกครองต้องแก้ข่าวแบบน้ำตาตกและทำให้ศาลปกครองวุ่นวายมาจนถึงทุกวันนี้จากข้อเขียนของประสงค์ในกรณีการใช้เงินของหน่วยงานไปยกยอดฉัตรทองคำลูกแก้วที่วัดพิพัฒน์มงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ของประธานศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2555 โดยอ้างว่าไปปฎิบัติราชการที่ศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก[1]

เหตุการณ์นั้นเชื่อมโยงมาสู่อีกเหตุการณ์หนึ่งในอีกสองปีต่อมานั่นคือกรณีจดหมายน้อยของเลขาธิการศาลปกครองที่ส่งไปยังรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อขอให้สนับสนุนนายตำรวจยศ พ.ต.ท. นายหนึ่งให้ได้ยศเป็น พ.ต.อ. โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประธานศาลปกครองสูงสุด ทำให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงจนส่งผลให้ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกออกจากตำแหน่งในที่สุด[2]

แน่นอนว่าการเขียนข่าวเชิงสืบสวนที่เจาะลึกกับการเขียนข่าวแบบเปิดโปงว่ามีอะไรซ่อนอยู่ใต้พรมในองค์กร/หน่วยงานค่อนข้างแยกจากกันยากว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร หากว่ามันทำหน้าที่เกาะติด/กัดไม่ปล่อยอย่างต่อเนื่อง ข่าวทั้งสองแบบก็มีประโยชน์ต่อสังคมทั้งสิ้น แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าประสงค์และสำนักข่าวอิศราใช้เกณฑ์หรือดุลพินิจอย่างไรในการเลือกเขียนข่าวโจมตีแบบเกาะติด/กัดไม่ปล่อยโดยมีความต่อเนื่องในข่าวชิ้นต่อ ๆ มาอีกหลายชิ้นดังเช่นที่ทำในกรณีศาลปกครองและธนาธร กับเลือกเขียนข่าวแบบเปิดโปงที่ส่วนใหญ่มักจบในข่าวชิ้นเดียวโดยไม่เขียนข่าวชิ้นต่อ ๆ มาเพื่อความต่อเนื่องดังเช่นที่ทำในหลายกรณีของข่าวที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจ อิทธิพลและผลประโยชน์อันน่าสงสัยในคอร์รัปชั่นของเผด็จการทหาร คสช. ตั้งแต่ครั้งเริ่มต้นรัฐประหารเรื่อยมาจนถึงใช้อำนาจและอิทธิพลครอบงำพรรคพลังประชารัฐและองค์กรอิสระต่าง ๆ อย่างเช่น กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ในการเล่นงานธนาธรและพรรคอนาคตใหม่

หรืออาจจะเป็นด้วยวัยที่ผ่านบทเรียนและประสบการณ์มามากจึงอหังการ์ว่าตัวเองคือความถูกต้องและจุดศูนย์รวมทุกสิ่งทุกอย่างในองค์กรถึงขั้นที่ทีมข่าวในสำนักข่าวอิศราไม่มีความเป็นอิสระใด ๆ ในการเลือกเขียนข่าว “เขาจะนั่งหัวโต๊ะประชุมข่าวเองทุกครั้งด้วยความเคร่งเครียดว่าประเด็นข่าวของเขาต้องได้รับการยอมรับก่อนประเด็นข่าวของคนอื่นในทีมข่าว ดูเหมือนดีเพราะความอาวุโสที่เชี่ยวชาญกว่าทีมข่าวคนอื่นในวัยลูก แต่มันมีลักษณะกดทับมากเกินไป จนทำให้นักข่าวในอิศราอยู่ได้ไม่นานถ้าไม่รับใช้และตอบสนองแก” ผู้รู้จักคุ้นเคยกันดีกับประสงค์อีกคนหนึ่งกล่าว

และด้วยความอหังการ์นี้เองที่ทำให้คุณภาพข่าวในช่วงหลัง ๆ ของประสงค์ในการเป็นข่าวเชิงสืบสวนตกต่ำลงไปมาก จากที่เมื่อก่อนเคยเป็นแบบอย่างที่ดีในการเขียนข่าวเชิงสืบสวนให้กับคนรุ่นหลัง “ช่วงหลัง ๆ มานี้ ประสงค์ไม่ได้เขียนข่าวเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมนะ แต่เขาเขียนข่าวเพื่อสร้างความคิดความเชื่อของตัวเอง” ผู้รู้จักคุ้นเคยกันดีกับประสงค์อีกคนหนึ่งกล่าวเพิ่มเติม

ข้อดีของการเขียนข่าวโจมตีแบบนี้ไม่ว่าจะเรียกมันว่าข่าวเชิงสืบสวนหรือข่าวเปิดโปงอะไรก็ตามถ้ามันถูกเขียนแบบเกาะติด/กัดไม่ปล่อย เขียนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ ชิ้น มันก็เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่ได้ตรวจสอบหน่วยงาน/องค์กรของรัฐหรือเอกชนที่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินงานหรือธุรกิจ แต่มันจะเป็นโทษถ้าข้อมูลที่ได้มาไม่ถูกต้องจนสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลในองค์กรหรือหน่วยงานนั้น ๆ “ถ้าคุณไม่เคยโดนข่าวโจมตีคุณไม่รู้ซึ้งหรอกว่าความชอกช้ำมันขนาดไหนถ้าข่าวนั้นมันไม่จริง เพราะคนเสพสื่อส่วนใหญ่เขาไม่สนหรอกว่าจริงไม่จริง เขามักจำแค่ว่าใครเป็นผู้ถูกตราหน้า ต่อให้มีการพิสูจน์ว่าคนนั้นไม่ได้ผิดจริงในภายหลังก็ไม่อาจลบเลือนข้อกล่าวหาที่ถูกตราหน้าไปแล้วได้” ผู้รู้จักคุ้นเคยกันดีกับประสงค์คนที่สามกล่าว

ความพร่าเลือนอีกอย่างหนึ่งของประสงค์คือแยกไม่ออกว่าอะไรคือประโยชน์สาธารณะและอะไรคือประโยชน์รัฐและบริษัทที่ต้องมีธรรมาภิบาลในการดำเนินงานหรือธุรกิจเพื่อรับผิดชอบต่อสังคม โดยสถาบันอิศราที่มีเขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการบริหาร (สำนักข่าวอิศราอยู่ภายใต้การบริหารงานของสถาบันอิศรา) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดอบรมแก่ผู้บริหารสำนักข่าว องค์กรอิสระ หน่วยงานราชการ บริษัท องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ ภายใต้หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง กลางและต้นด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มาได้ 8 รุ่นแล้ว โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีละประมาณ 20 ล้านบาท[3] เจตนาเริ่มแรกของการอบรมตามหลักสูตรดังกล่าวถือว่าดีมากที่ต้องการส่งเสริมความรู้ด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในมุมมองต่าง ๆ แก่นักข่าวหรือสื่อมวลชนให้มีรากฐานแน่นขึ้นเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ในการทำข่าว แต่ทำไปทำมากลับเน้นที่การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวหรือสื่อมวลชนกับองค์กรธุรกิจ องค์กรอิสระและหน่วยงานรัฐมากกว่า มากเสียจนทำให้ผู้จัดหลักสูตรอย่างประสงค์และนักข่าวที่เข้าร่วมอบรมตามหลักสูตรรุ่นต่าง ๆ มีแหล่งข่าวอยู่ในองค์กรธุรกิจ องค์กรอิสระและหน่วยงานรัฐมากมาย จนทำให้สายสัมพันธ์ที่ได้ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่จงใจมาก ๆ นั่นคือ การนำหลักสูตรดังกล่าวมารับใช้งาน CSR[4] เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรธุรกิจมากเสียจนละเลยข้อเท็จจริงว่าบริษัท/องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่ตัวเองมีสายสัมพันธ์ด้วยได้สร้างความเสียหายและผลกระทบแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

จึงมักเห็นเครื่องหมายการค้าของบริษัท/องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่ส่งผู้บริหารเข้าร่วมอบรมตามหลักสูตรดังกล่าวในสถานที่ที่ใช้ในการอบรมทุกครั้งทั้ง ๆ ที่การอบรมตามหลักสูตรดังกล่าวก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนมากอยู่แล้วจาก สสส. และ กสทช.

และจึงไม่เห็นข่าวที่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการได้มาซึ่งป่าลุ่มน้ำ1เอในป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก 3,311 ไร่ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ในข่าวที่ประสงค์และสำนักข่าวอิศราเขียน “ความเป็นการเมืองของประสงค์มันเพี้ยนไปมากถึงขั้นที่มองกรณีการยิงเสือดำในป่าทุ่งใหญ่ฯของเปรมชัยว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองเพื่อไม่ให้เปรมชัยและอิตาเลียนไทยแข็งข้อกับรัฐในกรณีประมูลงานรับเหมาก่อสร้างโครงการอะไรสักอย่าง จนไม่เห็นความสำคัญของชีวิตสัตว์ป่าหายากอย่างเสือดำที่เปรมชัยใช้อำนาจและอิทธิพลอย่างไรในการเข้าไปยิงเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างทุ่งใหญ่ฯที่มีมาตรการเข้า-ออกเข้มงวดได้” ผู้รู้จักคุ้นเคยกันดีกับประสงค์คนที่สามกล่าวเพิ่มเติม

ต่อกรณีธนาธรที่ประสงค์และสำนักข่าวอิศราเขียนข่าวโจมตีแบบเกาะติด/กัดไม่ปล่อยนั้นเป็นการกระทำเพื่อรับใช้หรือได้รับใบสั่งจากใครมาหรือไม่นั้น ผู้รู้จักคุ้นเคยกันดีกับประสงค์คนที่สี่บอกด้วยความระมัดระวังว่า “ตอบยากเพราะไม่มีข้อมูล แต่น่าจะเป็นการเขียนข่าวเพื่อดูว่าตัวเองจะเข้าไปอยู่ตรงไหนได้บ้างในการสร้างชื่อบารมีให้กับตนในอนาคต เช่น อาจจะหวังเป็นกรรมการ กกต. ก็ได้เพราะไม่เห็นเขียนข่าวโจมตี กกต. เลย เหมือนที่เคยเข้าไปนั่งเป็นกรรมการอยู่ใน คปก. องค์กรอิสระแห่งหนึ่งที่ถูก คสช. ยุบไปแล้ว”

ก่อนที่จะหันหลังจากกัน, ผู้รู้จักคุ้นเคยกันดีกับประสงค์คนที่สี่กล่าวประโยคร่ำลาว่า “เขาเหมือนเป็นคนโรคจิตที่มีความสุขเมื่อเห็นความขัดแย้งจากข่าวที่ตัวเองเขียนขึ้นมา”

อ้างอิง
[1] ดูรายละเอียดของข่าวส่วนหนึ่งจากข้อมูลออนไลน์ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้ (คัดลอกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562)

ปริศนา!ประธานศาล ปค.ตรวจราชการ-ยกยอดฉัตรวันเวลาเดียวกัน ซ้ำรอย “จารุวรรณ”?

เลขาฯศาลปค.แจงปรับแผนตรวจราชการ “ประธาน”ให้สอดคล้องกับยกยอดฉัตร

ปริศนา(อีกแล้ว)! ประธานศาล ปค. แค่1เดือนตรวจราชการซ้ำ2ครั้งที่พิษณุโลก

[2] ดูรายละเอียดของข่าวส่วนหนึ่งจากข้อมูลออนไลน์ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้ (คัดลอกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562)

เหตุการณ์อัปยศ?ที่ศาลปกครอง

ศาลปกครอง!! อย่าซุกขยะใต้พรม

ต้องตั้งกรรมการสอบสวนประธานศาล ปค.สูงสุด

ศาล ปค.ป่วน อ้าง ก.ศป.หมดสภาพตาม รธน ต้องหารือ คสช.- ดองเรื่องสอบ “จม.น้อย”

ตัดตอนคดี “จดหมายน้อย”ฝาก ตร. เลขาฯศาล ปค.ยอมตายเดี่ยว?

https://www.isranews.org/isranews-news/41567-%E0%B8%B7news02_41567.html

[3] ปัจจุบันได้รับทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมด้วย

[4] CSR หรือ Corporate Social Responsibility หมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัท/องค์กรธุรกิจในการประกอบธุรกิจซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญข้อหนึ่งในการประกอบธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล