การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในครั้งนี้พบว่า ร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งจากกลุ่มนายไพบูลย์ นิติตะวัน กลุ่มนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และกลุ่มนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ได้มีการให้ความสนใจกับการเสนอให้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมพอสมควร โดยเฉพาะในร่างเสนอโดยกลุ่มนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอีกประการหนึ่งในการเปิดวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญพิเศษเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีการลงมติ ในวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 ที่จะถึงนี้
สืบเนื่องจากกรณีการเสนอยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จาก 4 กลุ่มนักการเมือง ได้แก่ กลุ่มนายไพบูลย์ นิติตะวันและพวก กลุ่มนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์และพวก กลุ่มนายอนุทิน ชาญวีรกุลและพวก และกลุ่มนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์และพวก พบว่าในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ครั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ บรรดากลุ่มที่ยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้ให้ความสนใจกับเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนมากพอสมควร โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ว่าด้วยสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญาเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถแบ่งอธิบายได้ออกเป็น 3 เรื่องคือ
- สิทธิในกระบวนการยุติธรรม: ตามร่างที่ยื่นโดยกลุ่มนายไพบูลย์ นิติตะวัน และกลุ่มนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์นั้น ทั้งสองร่างได้มีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มบทบัญญัติเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด 8 เรื่อง อันได้แก่ 1) สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง 2) สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย ได้รับการพิจารณาคดีอย่างครบถ้วนรอบคอบ และได้ทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง 3) สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม 4) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย และพยาน มีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม และถูกสอบสวนด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และต้องไม่ถูกบังคับให้ให้การโดยเป็นปฏิปักษ์กับตนเอง 5) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ และได้รับค่าตอบแทน ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย 6) เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับความคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม และมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในกรณีที่เป็นคดีทางเพศ 7) ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญามีสิทธิได้รับการสอบสวนและการพิจารณาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม มีสิทธิในการเข้าถึงทนายความและมีสิทธิในการเข้าถึงการปล่อยตัวชั่วคราว และ 8) บุคคลในคดีแพ่งมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐ
อย่างไรก็ดี แม้สองฉบับนี้ จะมีการเสนอให้การบัญญัติถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แต่ร่างของกลุ่มนายจุรินทร์นั้น มีความแตกต่างจากร่างของกลุ่มนายไพบูลย์ประการหนึ่งซึ่งอาจมีนัยสำคัญในอนาคต คือ ในร่างของกลุ่มนายจุรินทร์ ได้มีการเสนอให้แก้ไขยกเลิกมาตรา 29 วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า ซึ่งกำหนดให้การควบคุมตัวบุคคลจะกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี และจะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์แก่ตนเองไม่ได้ ทั้งยังกำหนดให้ต้องมีการพิจารณาคำขอประกันของจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยไม่สามารถเรียกหลักประกันเกินสมควร และการมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนั้นจะเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น โดยในร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 นั้น มีเพียงเรื่องห้ามบังคับมิให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์แก่ตนเองและสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวที่กำหนดไว้เพียงกว้างๆ เท่านั้นที่ยังคงไว้
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบทั้งสองร่างดังกล่าวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยกลุ่มนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์นั้น จะเห็นได้ว่า ร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มนายสมพงษ์นั้น ได้มีการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมออกมาเป็นมาตรา 29/1 แยกต่างหากจากมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยสิทธิในกระบวนการยุติธรรมนั้นมีเนื้อหาส่วนใหญ่เหมือนกับร่างของกลุ่มนายไพบูลย์และนายจุรินทร์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่มีข้อแตกต่างสองประการ คือ
ประการแรก คือ ร่างของกลุ่มนายสมพงษ์มีการแยกระหว่างการคุ้มครองของคู่ความและผู้มีส่วนได้เสีย แยกออกจากการคุ้มครองของผู้เสียหายและพยานในคดีอาญา โดยกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิของคู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในการได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม และกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายและพยานในดคีอาญาในการได้รับความคุ้มครอง และได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม รวมไปถึงได้รับค่าตอบแทนเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ในเรื่องการห้ามมิให้บังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์กับตนเองนั้น ร่างฉบับนี้ไม่ได้มีแยกออกมาบัญญัติในเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเหมือนร่างสองฉบับแรก แต่สิทธิดังกล่าวนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองดังเดิมตามบทบัญญัติในมาตรา 29
ประการที่สอง คือ ในประเด็นการให้ความคุ้มครองแก่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพนั้น ร่างของกลุ่มนายสมพงษ์ ได้มีการกำหนดให้บุคคลเช่นว่านี้ ได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ได้มีการกำหนดถึงการดำเนินคดีทางเพศเป็นกรณีพิเศษแยกต่างหากจากคดีทั่วไปเหมือนกับร่างของกลุ่มนายไพบูลย์และร่างของกลุ่มนายจุรินทร์
- สิทธิในการเข้าถึงการปล่อยตัวชั่วคราว: จากการพิจารณาร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด พบว่า มีเพียงร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นโดยกลุ่มนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์เท่านั้น ที่มีการแก้ไขเรื่องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวในรายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจง โดยร่างที่เสนอโดยกลุ่มอื่นๆนั้น ยังคงเนื้อหาไว้ตามเดิม หรือมีเพียงการกล่าวถึงอย่างกว้างๆในบทบัญญัติเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น
ตามร่างของนายสมพงษ์นั้น ได้มีการเสนอให้ยกเลิกความในวรรคห้าของมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ และให้แก้ไขใหม่ โดยมีเนื้อหาเป็นการคุ้มครองสิทธิในการประกันตัว และกำหนดให้การพิจารณาการประกันตัวต้องกระทำอย่างรวดเร็ว โดยจะต้องไม่เลือกหลักประกันจำนวนมากเกินสมควร ทั้งนี้ ในการทำคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีเหตุให้น่าเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีเมื่อได้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นกรณีอื่นตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
นอกจากนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มนายสมพงษ์ ยังได้มีการเสนอให้มีการเพิ่มวรรคหก ในมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้การควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาจะมีระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีไม่ได้ ไม่ว่าคดีนั้นจะอยู่ในชั้นศาลชั้นต้น หรือคดีนั้นอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาซึ่งเป็นคดีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือลงโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- สิทธิอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรม: ร่างเสนอแก้ไขของกลุ่มนายไพบูลย์ นิติตะวัน และร่างเสนอแก้ไขของกลุ่มนายจุรินทร์ ได้มีการเสนอแก้ไขในส่วนของสิทธิอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรม ดังนี้
จากร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มนายไพบูลย์นั้น ได้มีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 41(3) ซึ่งคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นหรือกระทำการอันเป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ของตน โดยได้เสนอให้มีเพิ่มเติมข้อบทดังกล่าวเป็นการคุ้มครองสิทธิของชุมชนในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐในการดำเนินการฟ้องคดีต่อหน่วยงานรัฐในกรณีดังกล่าว
นอกจากนี้ ร่างเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์นั้น ยังได้มีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 43 ว่าด้วยสิทธิชุมชน โดยกำหนดให้ชุมชนย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิในการฟ้องคดีต่อหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรนิติบุคคลของรัฐ ในกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองและประกันสิทธิของชุมชนตามมาตรา 43 เช่น สิทธิในการอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ในการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของสิทธิในกระบวนการยุติธรรมนั้น มีเพียงร่างจากกลุ่มนายไพบูลย์ นิติตะวัน ร่างจากกลุ่มนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์และร่างจากกลุ่มนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์เท่านั้น ที่มีการเสนอให้แก้ไขในเรื่องนี้ โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นโดยนายอนุทิน ชาญวีรกุลและพวกนั้น ไม่ได้มีการร่างขอแก้ไขในเรื่องสิทธิกระบวนการยุติธรรมเพิ่มเติมแต่อย่างใด
อ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ, ‘ชวน’ คาด รัฐสภา นัดโหวต 14 ร่างแก้รัฐธรรมนูญ 24 มิถุนายน, (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/943945