สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา “คดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงรัฐบาลประกาศนโยบาย ทำสงครามกับยาเสพติด”

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา “คดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงรัฐบาลประกาศนโยบาย ทำสงครามกับยาเสพติด”

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา

“คดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงรัฐบาลประกาศนโยบาย

ทำสงครามกับยาเสพติด

ศาลชั้นต้น 2600/2555

วิเคราะห์พยานหลักฐานของคู่ความในคดี ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 นายเกียรติศักดิ์  ถิตย์บุญครอง ผู้ตาย ถูกเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จับกุมในข้อหาลักทรัพย์ หรือรับของโจร และถูกคุมตัวไว้ในห้องขังของสภ.เมืองกาฬสินธุ์ ต่อมา วันที่ 22 กรกฎาคม 2547 นายสุรศักดิ์  เรืองศรีมั่น สมาชิกสภาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องฯ ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 มีผู้พบศพผู้ตายในสภาพศพถูกแขวนคออยู่ที่กระท่อมนา บ้านบึงโดน ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การเสียชีวิตของผู้ตายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์หรือไม่ ?

จากการนำสืบของฝ่ายโจทก์เบิกความว่า ตามเหตุการณ์ทั้งหมดประกอบกับสถิติคดีอุกฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นปลายปี 2546 ถึงปี 2547 พบว่าผู้เสียชีวิตล้วนมีประวัติเคยก่ออาชญากรรมมาก่อนและก่อนเสียชีวิตได้มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานตำรวจ ช่วงเวลาของการเสียชีวิตอยู่ในช่วงของระยะเวลาของการมีนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากผิดปกติเป็นจำนวนถึง 2,500 ศพ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์ ลักษณะการตายของผู้เสียชีวิตเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกันคือ ถูกยิงหรือถูกแขวนคอ

จากคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรศพ ณ ที่เกิดเหตุ และแพทย์ประจำสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ผ่าและตรวจชันสูตรศพ และรายงานตรวจศพ การตรวจชันสูตรศพในเบื้องต้น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 เวลา 8 น. คาดว่าผู้ตายเสียชีวิตมาประมาณ 8 ถึง 12 ชั่วโมง สภาพศพไม่ได้เกิดจากการฆ่าตัวตาย และเมื่อผ่าศพชันสูตรพบว่า ผู้ตายได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจที่ไม่น่าจะเกิดจากการฆ่าตัวตาย เนื่องจากมีรอยกดรัดที่ลำคอ 2 รอบ ซึ่งชี้ได้ว่ามีการรัดคอจนตายแล้วจึงนำศพไปแขวนคอ มีร่องรอยถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงหลายแห่งก่อนตาย ที่ข้อมือมีรอยแดงลักษณะเหมือนถูกวัสดุเป็นสายหรือเป็นแถบกดรัด ภายในกระเพาะอาหารพบเศษข้าวสุกกับผักดอง คาดว่าทานอาหารมื้อสุดท้ายในช่วงเวลา 2 ถึง 4 ชั่วโมง

จากคำให้การของนายนิธิศ พุฒป่า เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิกู้ภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ว่า จุดที่พบศพสามารถมองเห็นได้ง่าย ก่อนเกิดเหตุมีฝนตกแต่เท้าและรองเท้าแตะของผู้ตายไม่เลอะดินโคลน ถือว่าผิดปกติของคนที่ผูกคอตาย และนายสุทัศน์ เฟื่องสุคนธ์ ผู้พบศพ กล่าวว่าพบรอยล้อรถยนต์บริเวณศาลาที่พบศพ สอดคล้องกับ พ.ต.ท.สำอาง สีหาบุตรโต พนักงานสอบสวน สภ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด เบิกความไว้ว่า ผู้ตายไม่ได้ผูกคอตายเอง ทั้งรองเท้าและเท้าของผู้ตายไม่มีรอยเปื้อนดินโคลน ข้อเท็จจริงชี้ได้ว่า ผู้ตายถูกบุคคลอื่นฆาตกรรมไม่ใช่เกิดจากการฆ่าตัวตาย และช่วงเวลาของการเสียชีวิตตามความเห็นของแพทย์ สามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้ตายเสียชีวิตในช่วงเวลา 20 – 24 น. ของวันที่ 22 กรกฎาคม 2547

จากคำเบิกความของน.ส.อรัญญา หรือ นภศร มาหาญ วันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลา 19.45 น. ได้อยู่ในห้องสืบสวนบนชั้น 2 ของสภ.เมืองกาฬสินธุ์ ได้เห็นผู้ตายถูก จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวออกไปจากห้องขัง ซึ่งต่อมาไม่มีบุคคลใดได้พบเห็นผู้ตายอีก

เมื่อนำข้อเท็จจริงประกอบกับพฤติกรรมของเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ ที่คอยบังคับข่มขู่น.ส.อรัญญา ตามคำเบิกความของน.ส.อรัญญา สรุปได้ว่า หลังจากข่าวการตายได้แพร่หลายออกทางสื่อมวลชน พยานถูกจ.ส.ต.ทรงกฤษณ์ ถิ่นวาสนา เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ ข่มขู่ถึงขั้นจะฆ่าให้ตายเพื่อให้ปกปิดความจริงในเหตุการณ์คืนวันเกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 5 มีส่วนในการแต่งเรื่องเท็จเพื่อให้การต่อพนักงานสอบสวนของสภ.จังหาร นอกจากนี้การสอบปากคำของน.ส.อรัญญา ของพนักงานสอบสวน จากหน่วยงานต่างๆของรัฐได้รับการขัดขวางจากเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์โดยตลอด  โดยพาน.ส.อรัญญาหลบหนีไม่ให้สอบปากคำ พาไปหลบซ่อนตามสถานที่ต่างๆ เมื่อไม่สามารถหลบหนีได้ทันก็จะมายืนคุมการให้ปากคำจนเกิดการโต้เถียงกับพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร ต่อมาพยานได้รับทราบข้อมูลจากภรรยาของจ.ส.ต.ทรงกฤษณ์ว่ามีหน่วยงานทางราชการหลายแห่งจะมาสอบปากคำ เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ เริ่มควบคุมพยานไม่ได้และกำลังจะจำกัดทิ้ง น.ส.อรัญญาจึงหลบหนีเพื่อเอาชีวิตรอดและมาเปิดเผยความจริงต่อพนักงานสอบสวนของกองบังคับการตำรวจปราบปราม กรมสอบสวนคดีพิเศษและกรรมการสิทธิมนุษยชน

ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพ.ต.ท.ทองสุข นารีจันทร์ ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการสอบสวน สภ.กาฬสินธุ์ และเป็นหนึ่งในสามของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ได้ทราบข้อมูลจากเจ้าพนักงานตำรวจว่า น.ส.อรัญญาถูกเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ประกบตัวอยู่  และจากพ.ต.ท.สมพงษ์ สุวรรณวงศ์ พนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจปราบปราม และพ.ท.กิตติ ภักดีรักษ์พงศ์ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ สรุปได้ว่า น.ส.อรัญญาให้การว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ ตามควบคุมและพาไปซ่อนตัวตลอดและข่มขู่เพื่อให้การเท็จ

จากพฤติการณ์ที่แสดงถึงการกระทำที่ผิดปกติและส่อพิรุธของเจ้าพนักงานตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์เช่นนี้ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นที่สืบสวนสอบสวนคดี อาทิ พ.ต.อ.พิศาล สุวรรณประทีป , พ.ต.ท.สมพงษ์ สุวรรณวงศ์ , ด.ต.ถาวร บุญวิเศษ และพ.ต.ท.ชัยณรงค์ ก้านทอง มีความเห็นสรุปไปในทางเดียวกันว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ น่าสงสัยที่สุดคือ ชุดสืบสวน

ดังนั้นเมื่อนำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆที่ได้จากทางนำสืบของฝ่ายโจทก์ทั้งหมด มาประมวลในภาพรวมเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุเช่นนี้จึงเชื่อว่าการเสียชีวิตของผู้ตายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาว่า จำเลยที่ 1 , ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันย้ายศพผู้ตายเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายตามโจทก์ฟ้องหรือไม่ ?

ในข้อเท็จจริงนี้ โจทก์ มีน.ส.อรัญญาเป็นพยานเบิกความว่า ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลา 14 น. พยานเดินทางไปที่ห้องสืบสวนของสภ.กาฬสินธุ์ เพื่อไปไกล่เกลี่ยคดีนายมนต์ชัย ยลวิลาส บุตรของนางมณี ภูขันซ้ายลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของน.ส.รัชดาภรณ์ ภูกาสอน เมื่อไปถึงได้พบจำเลยที่ 2 และนางมณี พยานจึงนั่งคุยกับจำเลยที่ 2 ต่อมา เมื่อเวลา 18 น. จำเลยที่ 2 กับเจ้าพนักงานตำรวจชื่อบัญชา คุมตัวผู้ตายเข้ามานั่งในห้องสืบสวนและถ่ายภาพไว้เสร็จ หลังมีการเคารพธงชาติในช่วงเย็น ผู้ตายได้ขอยืมโทรศัพท์มือถือของพยานเพื่อติดต่อกับทางบ้าน พยานได้ยินผู้ตายพูดทางโทรศัพท์ว่า แม่ครับให้มารับผมไวๆ เขาจะเอาผมไปฆ่า และมีคำสนทนาต่ออีกเล็กน้อย แล้วเสร็จผู้ตายจึงคืนโทรศัพท์มือถือให้แก่พยาน ต่อมาประมาณ 30 นาที ผู้ตายขอยืมโทรศัพท์มือถือของพยานอีกครั้งเพื่อโทรศัพท์ติดต่อญาติ พยานได้นั่งคุยกับนางมณีจนกระทั่งเวลา 19 น. กับญาติและเจ้าพนักงานเจ้าของคดีและสามารถตกลงกันได้ ต่อมาเวลา 19.45 น. พยานเห็นจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน ต่อมาน.ส.เกศแก้ว ญาติของผู้ตายได้เข้ามาในห้องสืบสวนและถามพยานว่าเห็นหลานของเขาหรือไม่ พยานจึงแจ้งว่าคนที่โทรศัพท์ไปคุยใช่ไหม เขายืมโทรศัพท์ของฉันเอง เขาเพิ่งเอาตัวออกไป หากตามไปก็ทัน หลักจากนั้นเวลา 20 น. พยานก็เดินทางกลับที่พัก

ต่อมาประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2547 จ.ส.ต.ทรงกฤษณ์ ถิ่นวาสนา พาพยานไปที่สภ.กาฬสินธุ์ พยานเห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวการเสียชีวิตของผู้ตาย จ.ส.ต.ทรงกฤษณ์พูดข่มขู่ให้พยานช่วยเหลือโดยไม่ให้พูดความจริงเกี่ยวกับเรื่องของผู้ตาย หากไม่ช่วยจะถูกแขวนคอเหมือนผู้ตาย ซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 3 อยู่ในเหตุการณ์ด้วย วันรุ่งขึ้นจ.ส.ต.ทรงกฤษณ์มารับพยานไปพบจำเลยที่ 5 ที่ห้องทำงาน จำเลยที่ 5 ให้พยานให้การว่า เห็นผู้ตายเดินอยู่ที่ตลาดโต้รุ่งและขอยืมโทรศัพท์มือถือของพยาน พยานปฏิเสธ เนื่องจากญาติของผู้ตายเห็นพยานแล้วที่ชั้น 2 ของสถานีตำรวจ จำเลยที่ 5 จึงเปลี่ยนให้พยาน ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่สถานีขนส่งแล้วพาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาที่สภ.กาฬสินธุ์ จึงพบกับพยานที่ชั้น 2 จึงตกลงให้การตามนั้น

ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร มาสอบปากคำ พยานกับจำเลยที่ 2 ได้นั่งท่องข้อความที่ถูกจัดเตรียมไว้และให้การเสร็จตามที่ถูกบังคับมา ต่อมาพ.ต.ท.สำอาง ไปสอบปากคำพยาน ณ ที่ทำงาน จำเลยที่ 5 ติดตามไปร่วมฟังการสอบสวนด้วยและเกิดการโต้เถียงกันระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจสภ.กาฬสินธุ์กับสภ.จังหาร เมื่อพยานย้ายไปอยู่ที่อ.สมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด พ.ต.ท.สำอางได้ติดตามไปสอบปากคำ พยานเริ่มให้การตามความเป็นจริง แต่ยังไม่บอกว่าใครนำตัวผู้ตายออกจากห้องสืบสวน หลังจากนั้นมีหน่วยงานต่างๆของรัฐจะมาสอบปากคำ จ.ส.ต.ทรงกฤษณ์ได้พาพยานหลบหนีไปทุกครั้ง

จนปลายเดือนตุลาคม 2547 นางวิสัญสญา ถิ่นวาสนา ภรรยาของจ.ส.ต.ทรงกฤษณ์แจ้งแก่พยานว่า จ.ส.ต.ทรงกฤษณ์ไปประชุมกับจำเลยที่ 6 และรู้ว่ามีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานจะมาสอบปากคำพยานแต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถควบคุมพยานได้และกำลังจะจัดการ พยานจึงบันทึกความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดมอบให้นางชิษณุวรรณ มารยาทอ่อน น้องสาว ส่วนพยานกับน.ส.มะลิชาติ ยิ้มแย้ม เพื่อนร่วมงาน หลบหนีไป

พยานได้โทรศัพท์ติดต่อ พ.ต.ท.สมพงษ์ สุวรรณวงศ์ พนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจปราบปรามเพราะหมดหนทางหลบหนี และได้นำตัวพยานมาที่กองบังคับการตำรวจปราบปราม พยานได้ให้การไปตามความจริง แต่ไม่ได้ให้การว่า เจ้าพนักงานตำรวจคนใดเป็นผู้นำตัวผู้ตายออกไปจากสถานีตำรวจเพราะยังมีความกลัวอยู่ และพยานไปให้การตามความจริงทั้งหมดต่อนายวสันต์ พาณิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

ในช่วงปลายปี 2547 พยานกับน.ส.มะลิชาติ เดินทางไปอยู่ที่อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จำเลยที่ 1 ได้ติดตามไปค้นหาตัวพยาน พยานเกิดความกลัวจึงขอความช่วยเหลือจากผู้สื่อข่าวและให้การตามความจริงทั้งหมดต่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ

พ.ต.ท.สมพงศ์ เบิกความว่าตนนัดสอบปากคำน.ส.อรัญญาแต่ไม่มาให้การ ต่อมาน.ส.อรัญญาโทรศัพท์มาว่าต้องการพูดความจริงเพราะได้รับความเดือดร้อน จากการสอบปากคำและให้การว่า เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์พาไปซ่อนตัวและจำเลยที่ 5 ซักซ้อมให้การเท็จ ซึ่งตามความจริงน.ส.อรัญญาพบผู้ตายที่ชั้น 2 ของสถานีตำรวจและให้ยืมใช้โทรศัพท์มือถือ คำให้การที่ให้ต่อพนักงานสอบสวนสภ.จังหารเป็นเท็จ

นางสา ย่าของผู้ตาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 หลังขอประกันตัวผู้ตาย พยานมารอรับตัวผู้ตายที่สภ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนค่ำ จำเลยที่ 2 แจ้งให้พยานกลับบ้านเพราะยังไม่มีหมายปล่อยจากศาล พยานจึงไปพบจำเลยที่ 6 เพื่อขอพบผู้ตาย แต่จำเลยที่ 6 แจ้งว่า หมดเวลาเยี่ยม พยานจึงกลับบ้าน เมื่อถึงบ้านผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อพยานขอให้รีบไปที่สถานีตำรวจเพราะยังไม่ได้รับการปล่อยตัวพยานจึงรีบเดินทางไปที่สภ.กาฬสินธุ์ในทันที เมื่อไปถึงพยานได้ต่อว่าจำเลยที่ 6 ว่า ทำไมไม่ปล่อยตัวผู้ตาย จำเลยที่ 6 แจ้งว่าเพิ่งปล่อยตัวไป จำเลยที่ 2 ได้ด่าพยานว่า ยายสาผีบ้าใครจะให้หลานโทรศัพท์อยู่ที่นี่ พยานเข้าไปถามคนในห้องขังซึ่งแจ้งว่า จำเลยที่ 6 เพิ่งเอาตัวผู้ตายออกไป พยานจึงกลับบ้าน นายอภิชาตแจ้งว่า ผู้ตายอยู่ที่สถานีตำรวจโทรศัพท์ติดต่อตนว่า ไม่ต้องมาเพราะพยานอยู่ข้างล่างมารอรับแล้วเนื่องจากได้ยินเสียงทะเลาะกับเจ้าพนักงานตำรวจ พยาน นายอภิชาตและน.ส.เกศแก้ว จึงเดินทางไปที่สถานีตำรวจ เมื่อไปถึงนางมณีแจ้งแก่พยานว่า ผู้ตายถูกจำเลยที่ 3 นำตัวออกไปแล้ว และเมื่อพยานขึ้นไปที่ชั้น 2 ก็พบกระเป๋าของผู้ตายวางอยู่หน้าโต๊ะทำงานของเจ้าพนักงานตำรวจ

นายอภิชาต และน.ส.เกศแก้ว ญาติของผู้ตาย เบิกความไปในแนวทางเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 ช่วงเวลา 18.30 น. ผู้ตายโทรศัพท์ถึงอภิชาตว่า ผู้ตายได้ประกันตัวแล้ว แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้กลับบ้าน ช่วยให้มารับที่ชั้น 2 ของสถานีตำรวจ แต่เมื่อผู้ตายได้ยินเสียงนางสา จึงบอกว่ายายมาแล้วได้ยินเสียงและจบการสนทนา

ต่อมาเวลา 19 น. นางสาจึงไปที่สภ.กาฬสินธุ์ และน.ส.เกศแก้วเขาไปในห้องสืบสวนชั้น 2 จึงสอบหาผู้ตาย ผู้หญิงคนหนึ่งตอบว่าเห็นตำรวจพาตัวออกไปได้สักครู่และยังได้ขอยืมโทรศัพท์ของตนเองติดต่อไปหาญาติ

จากพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบเห็นว่า พยานโจทก์ปากน.ส.อรัญญา นางสา นายอภิชาติ และน.ส.เกศแก้ว คือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์สุดท้ายก่อนที่ผู้ตายจะถูกนำตัวออกไปจากสถานีตำรวจและถูกฆ่าตายในเวลาต่อมา โดยเฉพาะ น.ส.อรัญญาซึ่งเป็นประจักษ์พยานปากสำคัญ ได้เบิกความในชั้นพิจารณาไปตามความรู้เห็นของพยานโจทก์แต่ละคนในแต่ละช่วงเหตุการณ์ เมื่อนำข้อเท็จจริงที่ได้นำมาพิจารณา จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ คำให้การในชั้นสอบสวนของนางสา นายอภิชาต น.ส.เกศแก้วและของน.ส.อรัญญา ที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร ณ ที่ว่าการอำเภอศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อ 27 เมษายน 2548 และที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจปราบปราม เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2547 และวันที่ 8 มิถุนายน 2548

เชื่อได้ว่ามีการสืบสวนสอบสวนคดีนี้จริง ส่วนคำให้การที่น.ส.อรัญญาให้การไว้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2547 และวันที่ 21 ตุลาคม 2547 ของน.ส.อรัญญาและร.ต.อ.ชย พานะกิจ พนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจปราบปราม ว่าคำให้การในเอกสารเหล่านี้ น.ส.อรัญญาให้การเป็นเท็จ ในส่วนของเหตุการณ์พบผู้ตายที่ห้องสืบสวนเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์และจำเลยที่ 5 บังคับนั้น ดังนั้นคำให้การข้างต้น จึงเป็นหลักฐานที่เกิดจากการถูกบังคับขู่เข็ญ หรือกระทำการโดยมิชอบ จึงไม่อาจรับฟังได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 เมื่อพยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการณ์ของคืนวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เป็นราษฎรธรรมดา จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใดๆที่จะเบิกความปรักปรำให้ร้ายเจ้าพนักงานตำรวจ ทำให้เชื่อได้ว่าพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 ในคืนวันเกิดเหตุย่อมเป็นไปตามทางนำสืบของฝ่ายโจทก์

เมื่อข้อเท็จจริงยุติดังที่ศาลวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า เจ้าพนักงานตำรวจสภ.กาฬสินธุ์ เกี่ยวข้องในการเสียชีวิตของผู้ตาย และพิจารณาจากพยานพฤติเหตุแวดล้อม สรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนหรือชุดกุหลาบ เป็นผู้ควบคุมสถานบันเทิงที่ผู้ตายกับพวกจะไปบ่อยๆและรู้จักจำเลยที่ 1  ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยต้องหาคดียาเสพติดและถูกย้ายมาจากสภ.สมเด็จ และคำให้การของเพื่อนผู้ตาย คือ นายไตรเทพ ปัจฉิมก้านตรง , นายเอกพล ช่างประเสริฐ และนายเกรียงไกร แสนบุญครอง ว่า ผู้ตายเป็นสายและขายยาเสพติดให้เจ้าพนักงานตำรวจ คาดว่าเสียชีวิตเพราะผู้ตายรู้เรื่องขบวนการค้ายาเสพติดมากเกินไปว่าใครเป็นผู้ค้าใครหักหลังใคร และคงไปขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจบางคน จากนายอดุลย์ นาทองไชย และนายราเมศ ธีระทัศสิริพจน์ เพื่อนผู้ตาย ว่า ผู้ตายเล่าให้ฟังในห้องขังว่า หากได้รับการปล่อยตัวกลัวถูกตำรวจจับไปฆ่าแขวนคอ เพราะอยู่ในเหตุการณ์ที่เพื่อนซึ่งเกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกตำรวจจับตัวไปแขวนคอตายที่สวนสาธารณะกลางเมืองกาฬสินธุ์ และจากนายเฉลิมชัย ยิ้มประเสริฐ เพื่อนของผู้ตายว่า พนักงานบริการชื่อเหมียวซึ่งชอบพอกับจำเลยที่ 1 เล่าให้นายเฉลิมชัยฟังว่า จำเลยที่ 1 กำลังจะเอาตัวผู้ตายไปแขวนคอ

ดังนั้นเมื่อนำข้อเท็จจริงกับพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในวันเกิดเหตุ แสดงเห็นถึงมูลเหตุจูงใจที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีต่อผู้ตาย จึงร่วมกันทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีเจตนาร่วมกันที่จะฆ่าผู้ตายให้ถึงแก่ความตาย มีการวางแผนกันมาก่อนอย่างแยบยล จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า ผู้ตายเสียชีวิตเพราะถูกเชือกรัดคอจนขาดอากาศหายใจแล้วศพถูกนำมาแขวนคออำพรางไว้ให้ดูประดุจหนึ่งว่า ผู้ตายฆ่าตัวตายเอง ณ สถานที่พบศพ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันย้ายหรือทำลายศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199

จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 รอญาติเดินทางมาจากร้อยเอ็ด เพื่อไปปรับความเข้าใจกับภรรยาของจำเลยที่ 1 และใช้เวลาตั้งแต่ 15-21 น. หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กลับที่พักโดยไม่ได้เข้าไปในสถานีตำรวจ และได้ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ร่วมว่า กลุ่มญาติรวมทั้งด.ต.สุรเชษฐ์ นนทะภา ได้ไปรอจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนแล้วที่บริเวณหน้าวิทยาลัยเทคโนกาฬสินธุ์  ตนตามไปพบเมื่อเวลา 15 น. แล้วพากันไปที่บ้านภรรยาของจำเลยที่ 1 แต่ได้ความจากนางอุลัย วงษ์ศรีเทพ ญาติของจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อกลุ่มญาติรวมทั้งนางอุลัย เดินทางไปถึงบริเวณหน้าวิทยาลัยเทคโนกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 1 กับภรรยาออกมายืนรออยู่ด้วยกันก่อนแล้วที่ปากซอย แล้วพากลุ่มญาติเข้าไปในบ้าน และตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ร่วมว่า ในกลุ่มญาติไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมด้วย  ยังเบิกความว่าจำชื่อภรรยาจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ทั้งที่อ้างว่าตนอยู่ร่วมในการเจรจาและร่วมทานอาหารกับภรรยาจำเลยที่ 1และตามนางรัตนภรณ์ กิจจุบาล ภรรยาของจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 เดินทางมากับญาติมาถึงที่บ้านเมื่อเวลา 17 น. ใช้รถยนต์ตู้เป็นพาหนะ ส่วนนางรัตนาภรณ์ไม่ได้ไปยื่นรอที่หน้าวิทยาลัยเทคโนกาฬสินธุ์แต่รออยู่ที่บ้าน ด.ต.สุรเชษฐ์ไม่ได้เข้าร่วมเจรจา

จากการนำสืบของจำเลยที่ 1 จากพยานบุคคลที่อ้างว่าอยู่ร่วมเหตุการณ์เดียวกัน จึงออกไป 3 แนวทาง จากพยานบุคคลที่อ้างว่าอยู่ร่วมในเหตุการณ์เดียวกัน ในลักษณะขัดแย้งกันเอง จึงเป็นข้อพิรุธประการสำคัญที่ทำลายน้ำหนักพยานในการอ้างสถานที่อยู่ในขณะเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ลงอย่างสิ้นเชิง       พิจารณาจากคำให้การของจำเลยที่ 2 ให้การไว้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษและเบิกความรับรองโดยขอยืนยันคำให้การเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 ว่าถูกต้อง จำเลยที่ 2 ให้การว่า ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 17 น. จำเลยที่ 1 นำตัวผู้ตายมาไว้ที่ห้องสืบสวน ต่อมาเมื่อเวลาเกือบ 20 น. จำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ปล่อยตัวผู้ตายโดยจำเลยที่ 1 มาดักรออยู่หน้าห้องสืบสวน แล้วจำเลยที่ 1 นำตัวผู้ตายออกไปตามทางเดินเชื่อมต่ออาคารด้านหลัง คำซัดทอดดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องราวการปัดความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว ศาลเห็นว่าคำซัดทอดนั้นชอบด้วยเหตุและผล ศาลย่อมรับฟังได้ และสอดคล้องกับคำให้การของนายสุรศักดิ์ ปูนกลาง ผู้ต้องหาที่อยู่ร่วมห้องขังเดียวกับผู้ตาย ซึ่งได้ให้การไว้กับพ.ต.อภิชัย ว่า ในวันที่เกิดเหตุ เมื่อเวลา 15-16 น. จำเลยที่ 1 เป็นผู้มาเอาตัวผู้ตายออกไปจากห้องขัง

น.ส.อรัญญา ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ยืนยันว่า ขณะที่จำเลยที่ 3 ล็อคคอผู้ตายเพื่อนำตัวออกไปจากห้องสืบสวน โดยมีจำเลยที่ 1 เดินนำ จำเลยที่ 2 ได้ชี้และด่าผู้ตาย ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หันกลับมามองห้องสืบสวนอีกครั้ง ทำให้ตนมองเห็นและจดจำใบหน้าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้

จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่หักล้างนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 อย่างสิ้นเชิง จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำผู้ตายออกจากห้องขังเพื่อส่งมอบให้จำเลยที่ 2 กักตัวไว้ในห้องสืบสวนเพื่อรอเวลาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มานำออกไปจากห้องในเวลาต่อมา

นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์มือถือหมายเลข 05-0132182 ส่วนตนใช้หมายเลข 09-8434919 เมื่อนำมาพิจารณากับข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 และคำเบิกความของ พ.ต.ท.สมพงษ์ และ พ.ท.กิตติ ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์มือถือของตนติดต่อบุคคลอื่นในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์โดยตลอด แต่วันเกิดเหตุปรากฏการใช้งานในพื้นที่ใกล้กับบริเวณที่พบศพผู้ตาย และจากด.ต.ธงชัย เอกวงษ์ , จ.ส.ต.แสงทอง ภูวะรักษ์ และด.ต.ถาวร บุญวิเศษ เจ้าพนักงานตำรวจสภ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ให้การตรงกันว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านขมิ้น อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด แต่ปัจจุบันมีแต่บิดามารดาพักอาศัยอยู่ จำเลยที่ 1 จะกลับบ้านนานๆครั้ง จ.ส.ต.แสงทองให้การเพิ่มว่า จุดที่พบศพผู้ตายเป็นสถานที่เปลี่ยวและเงียบ ห่างจากบ้านจำเลยที่ 1 ประมาณ 6 ก.ม. หากไม่ใช่คนในพื้นที่จะไม่รู้ว่ามีกระท่อมนาตรงบริเวณนั้น ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ต.ท.สำอาง ว่า หากเดินทางจากจ.กาฬสินธุ์ไปบ้านจำเลยที่ 1 จะผ่านแยกถนนดินลูกรังที่พบศพผู้ตาย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ช่วยหักล้างข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจึงเชื่อว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่นำสืบมามีข้อพิรุธหลายประการ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบมา จึงปราศจากน้ำหนักที่จะรับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้

ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า  ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ออกตรวจพื้นที่บริเวณสถานีขนส่งได้พบผู้ตายจึงนำตัวมาที่ห้องสืบสวน สภ.กาฬสินธุ์ ถึงเมื่อเวลา 18.20 น. และได้พบน.ส.อรัญญาอยู่ในห้องเพียงคนเดียว จึงให้ผู้ตายอยู่กับน.ส.อรัญญา ส่วนตนค้นหาหมายจับเก่าของผู้ตาย เมื่อไม่พบ ผู้ตายจึงกลับไปเวลาประมาณ 19 น. คำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ให้ไว้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 ถูกต้อง แต่คำให้การเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ในส่วนที่พาดพิงไปถึงจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ขัดแย้งในตัวเอง เพราะจำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำซักถามของทนายจำเลยที่ 2 รับว่า พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบปากคำจำเลยที่ 2 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 โดยให้เล่าเรื่องให้ฟังแล้วถามทีละคำถาม จำเลยที่ 2 ก็ตอบไป เมื่อเห็นว่าถูกต้องจึงลงลายมือชื่อไว้และขอยื่นยันว่าคำให้การนี้ถูกต้องและยังตอบคำถามค้านของโจทก์ตอบย้ำยืนยันรอบรองอีกครั้งว่า คำให้การเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 และวันที่ 25 กันยายน 2550 ถูกต้อง ซึ่งคำให้การทั้งสองฉบับนี้ จำเลยที่ 2 ให้การไว้ซึ่งข้อเท็จจริงหลักตรงกัน

เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุที่ว่า จำเลยที่ 1 มีอาการมึนเมานำตัวผู้ตายมาส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในห้องสืบสวนเมื่อเวลา 17 น. จนกระทั่งเวลาเกือบ 20 น. จำเลยที่ 1 ได้มาดักรอแล้วเอาตัวผู้ตายออกไป ซึ่งข้อเท็จจริงนี้หากจำเลยที่ 2 ไม่แจกแจงแถลงไขด้วยตนเองก็ยากที่พนักงานสอบสวนจะบันทึกเรื่องราวได้ด้วยตนเอง หากจำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่ทราบข้อความในคำให้การฉบับวันที่ 9 มีนาคม 2552 และข้อความบางส่วนที่พาดพิงไปถึงจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องก็ตาม แต่เมื่อพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาเบิกความจำเลยที่ 2 ควรถามค้านพยานโจทก์ว่า เพราะเหตุใดจึงทำเอกสารด้วยวิธีการที่ขัดต่อกฎหมายเช่นนี้เพื่อให้ความจริงกระจ่าง แต่จำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการใดๆ และยังคงเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ร่วม รับว่าคำให้การไม่ถูกต้อง  จำเลยที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการขอแก้ไขหรือแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน เมื่อแจ้งเรื่องนี้ให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ทราบ ก็ไม่ได้ทำอะไร จึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่จำเลยที่ 2 กลับยกขึ้นมาเป็นประเด็นต่อสู้ในชั้นสืบพยานฝ่ายตน จึงเป็นข้อพิรุธไม่น่าเชื่อจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การไปตามบันทึกคำให้การด้วยความสมัครใจและลงลายมือชื่อในบันทึกเหล่านี้โดยรับทราบถึงข้อความที่ระบุไว้โดยชอบแล้ว

จากบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารบันทึกคำให้การในส่วนของนำตัวผู้ตายมาไว้ที่ห้องสืบสวนจนนำตัวออกไปมาพิจารณากับพยานแวดล้อมอื่นๆ จากคำให้การของส.ต.ท.สำเริง ไร่บุญ และของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวน ว่าเมื่อออกตรวจพื้นที่แล้วเจอบุคคลต้องสงสัยจะทำเพียงตรวจสอบบัตรประชาชน ถามชื่อและนามสกุล แต่จะไม่นำตัวไปที่สถานีตำรวจเพื่อตรวจสอบหมายจับ ด.ต.กฤษณะ จันทร์เพ็ญ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเป็นผู้ไปเชิญตัวคู่กรณีเรื่องโทรศัพท์มือถือถูกลักไปมาที่สถานี เมื่อออกเวรในช่วงบ่ายจำเลยที่ 2 รับช่วงต่อ ข้อเท็จจริงที่ได้จึงขัดแย้งกับพฤติกรรมของจำเลยที่ 2 ตามที่เบิกความ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องขับรถจักรยานยนต์ออกตรวจพื้นที่ ยังต้องอยู่ที่สถานีตำรวจเพื่อทำคดีเรื่องโทรศัพท์มือถือถูกลักไปจากการรับมอบเวรต่อและการนำตัวผู้ต้องสงสัยกลับมาที่สถานีตำรวจไม่มีพนักงานสืบสวนคนใดประพฤติเช่นนี้เพราะเสี่ยงต่อการหลบหนีและอาจทำร้ายร่างกายได้

จากคำให้การของนางมณี และร.ต.ท.ชย ผู้สอบปากคำนางมณี และจากร.ต.อ.ปพน เจ้าของคดี ได้ความว่า ในห้องสืบสวนนอกจากจะมีตัวผู้ตายและน.ส.อรัญญาแล้วยังมีบุคคลอื่นอีกหลายคน จึงไม่ใช่น.ส.อรัญญาอยู่ลำพังในห้องสืบสวนดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง และยังมีคำให้การที่ว่า จำเลยที่ 5 สั่งให้จำเลยที่ 2 ให้การว่าไปพบผู้ตายที่สถานีขนส่งและนำตัวกลับมาที่สภ.กาฬสินธุ์ เพื่อตรวจสอบหมายจับ ภายในห้องสืบสวนมีเพียงน.ส.อรัญญา

เมื่อนำข้อเท็จจริงจากการต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เป็นเหตุการณ์เท็จที่ยกขึ้นต่อสู้เพื่อเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงให้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีของตนจนยากที่จะเชื่อได้ ดังนั้นเมื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 มีข้อพิรุธขัดต่อเหตุดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้น ที่สืบมาจึงปราศจากน้ำหนักไม่อาจรับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ได้

ส่วนจำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า วันเกิดเหตุตนออกไปจากสภ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่เวลา 16 น. และไม่ได้กลับเข้ามาอีก ง่ายที่จะนำสืบในลักษณะเช่นนี้ ในขณะที่ฝ่ายโจทก์มีน.ส.อรัญญา เบิกความว่า เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 มาเข้าในห้องสืบสวนมาใช้แขนล็อคคอผู้ตายพาเดินออกไป ซึ่งจำเลยที่ 3 เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์รับว่าจำเลยที่ 3 กับน.ส.อรัญญา รู้จักกันมาก่อน และไม่มีเหตุโกรธเคืองใดๆ ทั้งนางสา ยังเบิกความว่า เจอนางมณีที่สถานีตำรวจ นางมณีแจ้งแก่นางสาว่า จำเลยที่ 3 ล็อคเอาตัวผู้ตายออกไปแล้ว พยานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 3 ว่า ไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง เมื่อจำเลยที่ 3 คงมีเพียงตัวจำเลยที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียวเข้าเบิกความต่อสู้ โดยอ้างเรื่องฐานที่อยู่อย่างเลื่อนลอยโดยไม่มีหลักฐานอื่นใดนอกเหนือจากนี้มาสนับสนุน จึงปราศจากน้ำหนักไม่อาจรับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ได้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาว่า จำเลยที่ 6 ร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันย้ายศพผู้ตายเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ในข้อเท็จจริงส่วนนี้ฝ่ายโจทก์มี นางสา เป็นพยานเบิกความว่า พยานรอรับตัวผู้ตายจนถึงช่วงค่ำแต่ไม่พบตัว จำเลยที่ 2 แจ้งให้พยานกลับไปบ้านโดยอ้างว่ายังไม่มีหมายปล่อยจากศาล พยานจึงไปพบจำเลยที่ 6 เพื่อขอพบผู้ตาย จำเลยที่ 6 แจ้งว่า หมดเวลาเยี่ยม พยานจึงกลับบ้านและได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากผู้ตายว่า ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวให้รีบไปที่สถานีตำรวจ พยานรีบไปที่สภ.กาฬสินธุ์ทันที พยานต่อว่าจำเลยที่ 6 ว่า ทำไมพูดไม่จริงว่าจะปล่อยตัวผู้ตายแต่ไม่ปล่อย จำเลยที่ 6 ตอบว่า เพิ่งปล่อยตัวไป พยานจึงเข้าไปถามคนที่อยู่ในห้องขังซึ่งแจ้งว่า จำเลยที่ 6 เพิ่งเอาตัวผู้ตายออกไป พ.ต.ท.ไพบูลย์ พนักงานสอบสวน สภ.กาฬสินธุ์ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวรมีหน้าที่ดูแลผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมอยู่ในห้องขังของสถานีตำรวจ จำเลยที่ 6 เป็นผู้ทำการปล่อยตัวผู้ตายไปเมื่อเวลา 16.35 น. ตามหมายปล่อยของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ลงบันทึกประจำวันไว้ตามสำเนาสำนวนคดีอาญาและสำเนารายงานประจำวัน

จากพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ ยุติดังศาลได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า หลังจากที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ตาย ผู้ตายยังคงถูกควบคุมและกักตัวอยู่ที่สภ.กาฬสินธุ์จนถึงเวลา 19.45 น. จึงถูกจำเลยที่ 1และที่ 3 นำตัวออกไป ระบุว่าจำเลยที่ 6 ได้รับหมายปล่อยจากศาลจึงปล่อยตัวไปเวลา 16.35 น. แต่จากความของนางสา ว่ารอพบผู้ตายอยู่ที่ชั้นล่างของสภ.กาฬสินธุ์ตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนถึงค่ำ แต่ไม่พบตัวผู้ตาย การที่จำเลยที่ 6 แจ้งแก่นางสาว่าหมดเวลาเยี่ยม ย่อมแสดงว่า ผู้ตายยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังของสถานีตำรวจ จึงเป็นพฤติกรรมที่ส่อพิรุธ เมื่อพิจารณาจากจ.ส.ต.วรพจน์ ภูดวงจิจต์ ให้การว่าจำเลยที่ 6 ให้ลงบันทึกประจำวันว่า ได้ปล่อยตัวผู้ตายตามหมายปล่อยเมื่อเวลา 16.35 น. และส่งมอบตัวผู้ตายให้ด.ต.นิคม พิมพะนิตย์ รับตัวไป และจากคำให้การของด.ต.นิคม ให้การว่าจำเลยที่ 6 สั่งให้ตนเอาหมายปล่อยไปให้จ.ส.ต.วรพจน์ เสร็จแล้วตนกลับไปนั่งทำงานต่อแต่ไม่เห็นผู้ตายเดินออกไปจากสถานีตำรวจ แม้คำให้การของจ.ส.ต.วรพจน์กับด.ต.นิคมจะขัดแย้งกันในการส่งมอบตัวผู้ตายหลังการปล่อยตัวแต่ข้อเท็จจริงเหมือนกันคือ ทั้งจ.ส.ต.วรพจน์และด.ต.นิคมต่างไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ตายได้เดินออกไปจากสภ.กาฬสินธุ์หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลา 16.35 น. ตามที่ลงบันทึกประจำวันแล้วจริง จึงเชื่อว่าหลักฐานที่เจ้าพนักงานตำรวจจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าได้มีการปล่อยตัวผู้ตายไปเมื่อเวลา 16.35 น. จึงเป็นเท็จ

ดังนั้นพิจารณาประกอบกับคำกล่าวของจำเลยที่ 6 ที่แจ้งแก่นางสาและทราบว่าผู้ตายได้รับอนุญาตจากศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามหมายปล่อยแล้ว ซึ่งด.ต.ถาวร พิมพะสอน เจ้าพนักงานตำรวจประจำศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ นำหมายไปให้ตั้งแต่ 15 น. ดังนั้นพฤติกรรมที่กล่าวเท็จต่อนางสา จึงเป็นข้อพิรุธประการสำคัญ ทั้งกล่าวเท็จ หลอกล่อญาติผู้ตายไปมา เป็นการกระทำที่ไม่ควรประพฤติอย่างยิ่ง จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 6 มีจุดประสงค์หน่วงเหนี่ยวกักตัวผู้ตายไว้ เพื่อรอเวลาที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สามารถนำตัวผู้ตายออกจากสภ.กาฬสินธุ์เพื่อนำไปฆ่าในเวลาต่อมาตามที่วินิจฉัยไปข้างต้น แต่ยังไม่มีพฤติการณ์ใดที่เห็นว่า จำเลยที่ 6 ได้ทำถึงขั้นร่วมลงมือหรือสมคบกันกระทำกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการกระทำผิดดังกล่าว การกระทำผิดของจำเลยที่ 6 ไม่ถึงขนาดที่รับฟังว่าร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันจะเป็นตัวการร่วมตามฟ้อง พฤติการณ์เป็นเพียงให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 6 ร่วมกับพวกกระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าว แต่พิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 6 เป็นเพียงผู้สนับสนุน เมื่อข้อแตกต่างไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ได้หลงต่อสู้ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 6 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้น

จำเลยที่ 6 นำสืบต่อสู้ว่า ตนปล่อยตัวผู้ตายไปเวลา 16.35 น. เมื่อเวลา 20 น.นางสามาถามหาผู้ตายจึงแจ้งว่าปล่อยตัวไปแล้วและช่วยหาตัวผู้ตายรอบๆสถานีตำรวจ เป็นข้ออ้างที่ขัดความจริง หากปล่อยตัวผู้ตายก็ย่อมไม่มีความจำเป็นใดที่ ต้องมาช่วยนางสาเดินหาตัวผู้ตายรอบๆอีก แต่เชื่อว่า จำเลยที่ 6 ทำไปเพื่อให้นางสาเข้าใจว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อีกทั้งจำเลยที่ 6 เบิกความปกปิด โดยไม่เบิกความถึงเหตุการณ์ภายหลังเวลา 16.35 น. แต่ข้ามไปถึงเหตุการณ์ในเวลาเกือบ 20 น. ทั้งๆที่เหตุการณ์ช่วง 16.35 – 20 น. มีเหตุการณ์สำคัญในคดีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเบิกความต่อสู้เช่นนี้ล้วนแต่ผิดปกติอย่างชัดแจ้ง และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการกระทำผิดของจำเลยที่ 6 พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 6 นำสืบมาจึงปราศจากน้ำหนัก ไม่อาจรับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ได้

สำหรับความผิดฐานร่วมกันย้ายศพผู้ตายเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จากทางนำสืบของโจทก์ ไม่มีหลักฐานและข้อเท็จจริงพาดพิงถึงจำเลยที่ 6 พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์จึงไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 6 กระทำผิดฐานร่วมกันย้ายศพผู้ตายเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายตามฟ้องโจทก์

 

 

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันย้ายศพผู้ตายเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายตามโจทก์ฟ้องหรือไม่

ฝ่ายโจทก์มีนางสา เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ผู้ตายถูกจับกุมและควบคุมไว้ในห้องขังที่สภ.กาฬสินธุ์ พยานไปเยี่ยมผู้ตายหลายครั้ง และติดต่อนางพิกุล พรหมจันทร์ บุตรสาว ให้มาประกันตัว ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เจ้าพนักงานตำรวจไปรับพยานที่บ้านเพื่อให้มาพบจำเลยที่ 4 ที่สภ.กาฬสินธุ์ จำเลยที่ 4 แจ้งว่าศาลสั่งให้นำตัวผู้ตายไปขังไว้ที่เรือนจำ จำเลยที่ 4 จะช่วยติดต่อนายสุรศักดิ์ มาประกันตัวผู้ตายและให้พยานรออยู่ที่สถานีตำรวจเพื่อนำผู้ตายกลับบ้าน พยานรอถึงเวลา 12 น. จึงกลับบ้านและมอบทะเบียนบ้านให้เจ้าพนักงานตำรวจเป็นหลักฐานในการขอประกันตัว ต่อมาพยานเดินทางไปที่ศาลจังหวัดแต่ไม่พบผู้ตาย จึงเดินทางมาที่สภ.กาฬสินธุ์ เมื่อเวลา 13.30 น. พบผู้ตายอยู่ในห้องขังจึงรอรับผู้ตายจนค่ำ แต่ไม่สามารถรับตัวกลับบ้านได้ และตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 4 ว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำผิดหลายคดีพยานได้ไปที่สภ.กาฬสินธุ์บ่อยทำให้รู้จักจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นคนดีและมีอัธยาศัยดี พยานต้องการประกันตัวผู้ตายและทราบว่านายสุรศักดิ์มักจะช่วยประกันตัวชาวบ้าน นายสุรศักดิ์ เบิกความว่า พยานได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 4 ให้ประกันตัวผู้ตาย เมื่อพบนางสาจึงทราบว่าเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันและรู้จักญาติพี่น้องของพยาน พยานจึงประกันตัวผู้ตาย พยานเคยประกันตัวผู้ต้องหานับพันคดี ซึ่งเป็นการขอประกันตัวในคดีที่มีข้อหาความผิดหลากหลาย อาทิ ทรัพย์ ยาเสพติด ต่อสู้เจ้าพนักงาน และตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 4 ว่า นอกจากคดีนี้พนักงานสอบสวนสภ.กาฬสินธุ์ ทุกคนเคยขอให้ตนไปประกันตัวผู้ต้องหาเพื่อสะดวกในการทำงานและช่วยเหลือประชาชน จำเลยที่ 4 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขณะพยานพูดคุยเรื่องประกันตัวกับนางสา นางสาแจ้งแก่พยานว่า จำเลยที่ 4 เกี่ยวดองเป็นหลานเขย พ.ต.ท.ไพบูลย์  ฐิติญาณวิโรจน์ พนักงานสอบสวน สภ.กาฬสินธุ์ เบิกความว่า นายสุรศักดิ์ประกันตัวผู้ต้องหาหลายคดีและเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 4 ว่าเมื่อนางสามาถึงสถานีตำรวจหากถามหาจำเลยที่ 4 จะเรียกว่าหลานเขย

จากพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบมาแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมระหว่างจำเลยที่ 4 กับนางสาเป็นอย่างดีและการประกันตัวผู้ต้องหาของสภ.กาฬสินธุ์ที่ผ่านมา นายสุรศักดิ์เป็นผู้ยื่นขอประกันมาโดยตลอด ซึ่งพนักงานสอบสวนทุกคนติดต่อให้นายสุรศักดิ์มาประกันตัวผู้ต้องหาเพื่อความสะดวกในการทำสำนวนคดีและถือว่าเป็นการบริการประชาชน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่จำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานสอบสวนจะติดต่อนายสุรศักดิ์ให้มาประกันตัวผู้ตายเพราะเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวน สภ.กาฬสินธุ์ทุกคนปฏิบัติเหมือนจำเลยที่ 4 และความสัมพันธ์ระหว่างนางสากับจำเลยที่ 4 เห็นว่า มีความสนิทสนมกัน ซึ่งนางสายอมรับว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนดีและมีอัธยาศัยดี จึงเชื่อว่าเหตุที่จำเลยที่ 4 ติดต่อให้นายสุรศักดิ์มาประกันตัวผู้ตายเพราะเห็นว่านางสามาเยี่ยมผู้ตายบ่อยครั้งและอาจเกิดความยากลำบาก หากต้องเดินทางไปเยี่ยมผู้ตายถึงเรือนจำ และขณะที่นางสาคุยตกลงเรื่องประกันตัวผู้ตายกับนายสุรศักดิ์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างใดและจากคำเบิกความของนางสาทำให้ได้ข้อเท็จจริงประเด็นสำคัญที่แสดงเห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 4 ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 4 ประสงค์ให้ผู้ตายได้รับการคุ้มครองดูแลจากญาติและสามารถรับตัวกลับบ้านได้ในทันทีที่ผู้ตายเดินออกมาจากห้องขังภายหลังจากได้รับการประกันตัว จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ติดต่อให้ผู้ตายได้รับการประกันตัวไปโดยไม่มีเจตนาเพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำตัวไปฆ่าแต่อย่างใด

 

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะ เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาร่วมกันกระทำการในตำแหน่ง อันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งมิให้ต้องรับโทษตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ?

           ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ฝ่ายโจทก์มีน.ส.อรัญญาเป็นพยานเบิกความว่า ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2547 จ.ส.ต.ทรงกฤษณ์ พูดข่มขู่พยานว่าจะฆ่าแขวนคอหากพูดความจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ตาย ต่อมาจ.ส.ต.ทรงกฤษณ์พาพยานไปพบ จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 5 บนสภ.กาฬสินธุ์ จำเลยที่ 5 แจ้งให้พยานให้การว่า จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่สถานีขนส่ง และพามาที่สภ.กาฬสินธุ์แล้วพบพยานที่ห้องสืบสวน พยานได้ตกลงให้การตามนี้เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 6 นั่งเฉยๆ ไม่ได้พูดอะไร ต่อมาพยานให้การแก่พนักงานสอบสวน สภ.จังหาร ไปตามที่ถูกจัดเตรียมไว้ โดยมีจำเลยที่ 4 และที่ 5 อยู่ในห้องสอบสวน และพยานให้การแก่พนักงานสอบสวน สภ.จังหาร อีกครั้ง โดยมีจำเลยที่ 5 ควบคุม และเกิดการโต้เถียงกันระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ไม่ต้องการให้สอบปากคำพยาน ต่อมาเมื่อมีหน่วยงานรัฐอื่นจะมาสอบปากคำ จ.ส.ต.ทรงกฤษณ์จะพาพยานหลบหนีทุกครั้ง และเมื่อพยานทราบว่าเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ กำลังจะจัดการกับพยานเพื่อไม่ให้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน พยานจึงหลบหนีไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ และเริ่มให้การตามความจริงต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจปราบปราม กรมสอบสวนคดีพิเศษและกรรมการสิทธิมนุษยชน

น.ส.มะลิชาติ เพื่อนร่วมงานของน.ส.อรัญญาเบิกความว่า น.ส.อรัญญาเล่าเรื่องราวในวันเกิดเหตุให้ฟังว่า จำเลยที่ 5 ได้ส่งตัวจ.ส.ต.ทรงกฤษณ์ให้ติดตามและคอยพาน.ส.อรัญญาหลบหนีหากมีพนักงานสอบสวนจากหน่วยงานอื่นมาสอบปากคำ และบังคับข่มขู่ให้น.ส.อรัญญาให้การไปตามที่จำเลยที่ 5 จัดเตรียมไว้ให้ซึ่งตนได้อ่านข้อความเหล่านี้ซึ่งตรงกับข้อความในบันทึกคำให้การ แต่แตกต่างจากที่น.ส.อรัญญาเคยเล่าให้ฟัง

จากพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ ยุติดังที่ศาลวินิจฉัยไว้ว่า คำให้การของน.ส.อรัญญาที่ให้การไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2547 และวันที่ 21 ตุลาคม 2547 เป็นคำให้การอันมีข้อความอันเป็นเท็จในส่วนของเหตุการณ์ที่น.ส.อรัญญาได้พบผู้ตายที่ห้องสืบสวน และคำให้การของจำเลยที่ 2 ถึงสาเหตุที่ให้การเท็จในส่วนเหตุการณ์ที่พบตัวผู้ตายและนำตัวมาที่ห้องสืบสวน เพราะจำเลยที่ 5 สั่งให้ให้การเช่นนั้นไปตามข้อความที่จำเลยที่ 5 จัดเตรียมมาซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับทางนำสืบฝ่ายโจทก์

ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ประจำสภ.กาฬสินธุ์ ได้กระทำการในตำแหน่งอันเป็นการไม่ชอบด้วยการจัดทำคำให้การเท็จ เพื่อให้น.ส.อรัญญาให้การไปตามคำให้การเท็จดังกล่าวเพื่อปกปิดและเปลี่ยนข้อเท็จจริง เพื่อช่วยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นในความผิดที่ร่วมกันกระทำ จำเลยที่ 5 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งมิให้ต้องรับผิดโทษ

สำหรับในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 6 จากคำเบิกความของน.ส.อรัญญาว่า ขณะที่เข้าพบจำเลยที่ 5 ในห้องทำงานพบจำเลยที่ 4 และที่ 6 นั่งอยู่ในห้องด้วย แต่นั่งอยู่เฉยๆไม่ได้พูดใดๆ และเมื่อน.ส.อรัญญาให้การต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร จำเลยที่ 4 นั่งอยู่ในห้องสอบสวนแต่ไม่ได้พูดหรือกระทำการใดๆ ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 5 กระทำการอันมิชอบโดยพูดชักจูงโน้มน้าวหรือบังคับให้น.ส.อรัญญาให้ให้การเท็จหรือมีส่วนในการเตรียมคำให้การอันมีข้อความเป็นเท็จดังกล่าว จำเลยที่ 4 และที่ 6 อยู่ในเหตุการณ์บางช่วงโดยมิได้กระทำการใดๆ ในขณะที่จำเลยที่ 5 เพียงผู้เดียวกระทำการอันมิชอบต่อน.ส.อรัญญา ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 5 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งมิให้ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญาตามโจทก์ฟ้องได้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 199 , 289(4) ประกอบ ม. 83  เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำคุกคนละ 1 ปี เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว ไม่อาจนำโทษอื่นมารวมได้อีก คงให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว ยกฟ้องจำเลยที่ 4  จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 200 วรรคแรก จำคุกมีกำหนด 7 ปี ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำเลยที่ 6 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.289(4) ประกอบ ม. 86 จำคุกตลอดชีวิตยกฟ้องฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายและฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งมิให้ต้องรับโทษ

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์  6042-6043/2558

โจทก์  โจทก์ร่วม  จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์

ข้อเท็จจริงยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นนี้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสภ.กาฬสินธุ์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับหมู่งานสืบสวน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม จำเลยที่ 4 และที่ 6 เป็นพนักงานสอบสวน และจำเลยที่ 5 เป็นผู้กำกับการ สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติไป

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 มีว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายหรือไม่

ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์ ว่า การกระทำของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติดในช่วงปี 2546 ถึง 2547 โดยร่วมกันวางแผนให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการปล่อยตัวผู้ตายชั่วคราวจากศาลชั้นต้นและให้จำเลยที่ 6 หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตาย เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำตัวผู้ตายไปฆ่าและอำพรางศพ อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 อุทธรณ์ ว่า ผู้ตายถูกปล่อยตัวตั้งแต่เวลา 16.35 น. ไม่ได้รับประทานอาหารที่สภ.กาฬสินธุ์ จำเลยที่ 2 ไปพบบริเวณสถานีขนส่งจังหวัดกาฬสินธุ์ และพาไปที่สภ.กาฬสินธุ์เพื่อตรวจสอบหมายจับและปล่อยตัวไป

พยานโจทก์ น.ส.อรัญญา นางสา นายอภิชาตและน.ส.เกศแก้ว ทั้งสี่ปากเบิกความสอดคล้องกันเกี่ยวกับการที่ผู้ตายขอยืมใช้โทรศัพท์มือถือของน.ส.อรัญญาขณะอยู่ในห้องสืบสวนของสภ.กาฬสินธุ์ โทรศัพท์หานางสาและนายอภิชาตเวลา 18 น. และ 18.30 น. ซึ่งตรงกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของน.ส.อรัญญา ตามที่สภ.จังหาร หมายเรียกมาจากบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนของสภ.จังหาร และนำสืบเจือสมว่า ในวันดังกล่าวเวลา 17 น. จำเลยที่ 2 เป็นคนพาผู้ตายเข้าไปในห้องสืบสวนของสภ.กาฬสินธุ์และเห็นผู้ตายยืมโทรศัพท์มือถือของน.ส.อรัญญา

ในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ช่วงเวลา 17.00 น. ถึง 18.30 น. ผู้ตายถูกคุมตัวอยู่ที่ห้องสืบสวนชั้นสองของสภ.กาฬสินธุ์

ในข้อนี้จำเลยที่ 2 นำสืบว่าขณะที่ตนออกตรวจพื้นที่พบผู้ตายบริเวณสถานีขนส่งจึงให้ผู้ตายซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปที่ห้องสืบสวนของสภ.กาฬสินธุ์ เพื่อตรวจสอบหมายจับและเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 เข้าเวรที่ห้องสืบสวนตั้งแต่เวลา 16.30 น. ถึง 8.00 น. ของวันรุ่งขึ้นและไม่มีหน้าที่ต้องออกตรวจพื้นที่อีกด้วย

และหากผู้ตายได้รับการปล่อยตัวออกจากสภ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่เวลา 16.35 น. จริง ด.ต.นิคม และด.ต.วรพจน์ คงยืนยันว่าได้ปล่อยตัวผู้ตายแล้ว แต่ว่าเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่า ไม่เห็นผู้ตายเดินออกจากสภ.กาฬสินธุ์

พ.ต.ท.กิตติ พยานโจทก์เบิกความว่า จากการสอบสวนคำให้การของนายสุรศักดิ์ ผู้ต้องหาในคดีอื่นและถูกขังอยู่ในที่เดียวกับผู้ตายให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนพาตัวผู้ตายออกไปจากห้องควบคุมและถูกขังอยู่ในห้องควบคุมและไม่เห็นผู้ตายกลับลงมาอีก

เชื่อมโยงกับคำให้การของจำเลยที่ 2 ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้พาผู้ตายขึ้นไปที่ห้องสืบสวน โดยจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านของโจทก์รับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว  ถึงเป็นพยานบอกเล่า ย่อมนำมาใช้รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ เมื่อพิจารณาสำเนาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ที่พนักงานสอบสวน สภ.จังหารจัดทำ พบว่า บ้านของผู้ตายห่างจากสภ.กาฬสินธุ์ประมาณ 700 เมตร ผู้ตายสามารถเดินกลับบ้านในเวลาไม่เกิน 10 นาที ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ตายต้องเดินไปสถานีขนส่งจังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งอยู่ห่างสภ.เมืองกาฬสินธุ์ประมาณ 1.3 ก.ม. และอยู่คนละทางกับบ้านของผู้ตาย พฤติการณ์แห่งรูปคดีเชื่อว่าผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันพาจากห้องควบคุมขึ้นไปยังห้องสืบสวนบริเวณชั้นสอง ไม่ได้มีการปล่อยตัวไปจากสภ.กาฬสินธุ์

ซึ่งสภาพผู้ตายไม่มีโอกาสไปรับประทานอาหารที่ร้านข้าวต้มบริเวณตลาดโต้รุ่งได้ ตามที่จำเลยที่ 5 ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ ส่วนผู้ตายจะรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายที่ สภ.กาฬสินธุ์และมีส่วนผสมของผักดองตรงกับเศษอาหารที่แพทย์ตรวจพบในกระเพาะอาหารของผู้ตายหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่ต้องนำมาวินิจฉัยอีก

 

ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันพาผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนตามคำเบิกความของน.ส.อรัญญาหรือไม่

ฝ่ายโจทก์มีพ.ต.ท.สำอาง เบิกความว่า น.ส.อรัญญาให้การในลักษณะเตรียมมา ผิดปกติธรรมชาติ โดยขณะสอบปากคำน.ส.อรัญญามีจำเลยที่ 4 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนนั่งฟังอยู่ด้วย และในวันเดียวกัน คำให้การของจำเลยที่ 2 ต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร ให้การว่าจำเลยที่ 2 พบผู้ตายที่สถานีขนส่งจังหวัดกาฬสินธุ์ และพานั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปที่สภ.กาฬสินธุ์เป็นความเท็จ และจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้สั่งให้จำเลยที่ 2 ให้การดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เรื่องการซัดทอดบอกปัดความผิดให้เป็นความผิดเฉพาะของจำเลยที่ 5 แต่ฝ่ายเดียว หากแต่เป็นการเบิกความและให้การถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ย่อมนำมาใช้รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2548 น.ส.อรัญญาให้การแตกต่างจากสองครั้งแรกมาที่ห้องสืบสวนของสภ.กาฬสินธุ์เพื่อไกล่เกลี่ยในคดีลักโทรศัพท์มือถือ ต่อมามีเจ้าพนักงานตำรวจพาตัวผู้ตายเข้ามานั่งในห้อง และหลังจากที่ผู้ตายขอยืมโทรศัพท์มือถือของน.ส.อรัญญาแล้ว สักพักก็พากันเดินออกไปจากห้องสืบสวน  หลังจากนั้นน.ส.อรัญญาให้การต่อกองบังคับการปราบปรามเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2548 เพิ่มเติมว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่พาตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน น.ส.อรัญญาจำใบหน้าจำเลยที่ 3 ได้ ส่วนอีกหนึ่งคนจำไม่ได้ว่าเป็นผู้ใด

พิจารณาคำให้การทั้งหมดของน.ส.อรัญญาทั้งสี่ครั้งดังกล่าวแล้ว เป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากช่วงแรกน.ส.อรัญญากลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเหมือนผู้ตาย เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ จึงทำให้น.ส.อรัญญามั่นใจในความปลอดภัยและกล้าให้ข้อมูลและเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเบิกความยืนยันต่อศาลว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นคนพาผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน ไม่ได้เป็นการเบิกความแตกต่างจากคำให้การในชั้นสอบสวนอย่างไร้เหตุผลอันทำให้เป็นข้อพิรุธน่าสงสัยว่าน.ส.อรัญญาแต่งเรื่องขึ้นเพื่อปรักปรำใส่ร้ายจำเลยที่ 1 และที่ 3

การที่ ส.ต.อ.ทรงกฤษณ์ปฏิเสธว่าไม่เคยพูดกับน.ส.อรัญญาว่าหากพูดความจริงจะถูกแขวนคอเหมือนผู้ตาย และไม่เคยพาน.ส.อรัญญาไปพบกับจำเลยที่ 5 เป็นเรื่องง่ายที่จะเบิกความเพื่อปกปิดเหตุการณ์ไม่ให้ตนต้องเข้าไปมีส่วนในการกระทำความผิดและในขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนด้วย ไม่ได้ทำให้น้ำหนักคำพยานของน.ส.อรัญญาเสียไป

หากพิจารณาคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนโทรศัพท์บอกให้จำเลยที่ 2 ปล่อยตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนโดยจำเลยที่ 1 รออยู่หน้าห้อง

เชื่อว่าน.ส.อรัญญาเห็นและจดจำจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ไม่ผิดตัว ส่วนเวลาที่ผู้ตายถูกพาออกไปจากห้องสืบสวนเวลาประมาณ 19.45 น. นั้น อาจเกิดการคาดเคลื่อนไปไม่กระทบต่อรูปคดี

จากคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่เพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่าจำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์มือถือหมายเลข 05-0132182 อยู่เป็นประจำ พบว่ามีการโทรออกจากหมายเลขดังกล่าวเวลา 19.45 น. บริเวณบ้านปาฝาซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลของอ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด

พ.ต.ท.กิตติ พยานฝ่ายโจทก์เบิกความว่า หมู่บ้านดังกล่าวอยู่ห่างจากจุดพบศพประมาณ 6 ถึง 7 ก.ม. และนายสนอง บุญชิต นายช่างโยธา หัวหน้าหมวดการทางร้อยเอ็ด ให้การในชั้นสอบสวนว่า จากกาฬสินธุ์ถึงสามแยกบ้างแซงแหลม ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด มีระยะทาง 30 ก.ม. เดินทางประมาณ 30 นาที สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 และที่ 3 พาออกจากห้องสืบสวนของสภ.กาฬสินธุ์

โดยจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ร่วมเจือสมว่า จากสภ.กาฬสินธุ์ถึงบริเวณที่พบศพใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำสืบอ้างฐานที่อยู่ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น แต่คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง

ในส่วนจำเลยที่ 4 ที่ให้นายสุรศักดิ์ยื่นขอประกันตัวผู้ตายจากศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรที่ผู้ตายถูกควบคุมตัวอยู่ที่สภ.กาฬสินธุ์ และคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน การกระทำของจำเลยที่ 4 ถือเป็นการก้าวล่วงงานในหน้าที่ของผู้อื่นโดยมิชอบและขัดต่อนโยบายของจำเลยที่ 5 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีความรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งจำเลยที่ 4 ทราบเป็นอย่างดีอีกด้วย

ประการสำคัญได้ความจากพ.ต.ท.ไพบูลย์ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีของผู้ตาย พยานฝ่ายโจทก์ว่า ตนเคยเชิญนางสามาพบและสอบถามว่าจะประกันตัวผู้ตายหรือไม่ นางสาปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าต้องการดัดนิสัยหลานเชื่อว่านางสาไม่ได้บอกให้จำเลยที่ 4 ติดต่อหาบุคคลมาประกันตัวผู้ตาย

การที่จำเลยที่ 4 ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาขับรถยนต์ของทางราชการไปรับนางสาจากบ้านมาเพื่อตกลงให้นายสุรศักดิ์ยื่นคำร้องขอประกันตัวจากศาล ส่อพิรุธเป็นอย่างมาก และรู้จักกับนางสาในฐานะผู้มาติดต่อขอเยี่ยมผู้ตายที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในคดีอื่น ส่วนที่นางสาเรียกจำเลยที่ 4 ว่าหลานเขยนั้น เป็นเพียงการถือวิสาสะเรียกเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนหน้านี้ผู้ตายเคยกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาหลายคดี และจำเลยที่ 4 เป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบอยู่บางคดี ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ติดต่อหาบุคคลมายื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ตาย เมื่อผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันพาไปฆ่าและอำพรางศพหลังจากศาลจังหวัดกาฬสินธุ์อนุญาตให้ปล่อยตัวในเวลาต่อเนื่องกัน เห็นว่า จำเลยที่ 4 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 วางแผนฆ่าผู้ตายและอำพรางศพด้วยการแบ่งหน้าที่กัน จึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่คำเบิกความของจำเลยที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง สมควรลดโทษให้หนึ่งในสาม

ส่วนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 นั้น แม้คดีจะเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลขณะนั้นมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรงและเด็ดขาด ไม่สามารถนำมากล่าวสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้กระทำความผิดกลุ่มเดียวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยมีเจตนาฆ่าผู้ตายเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลตามที่ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์ได้ เมื่อฝ่ายโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 5 มีส่วนในการวางแผนหรือร่วมกันฆ่าผู้ตาย ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และศาลพิพากษายกฟ้องได้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยที่ 5

ส่วนที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 5 ข่มขืนใจน.ส.อรัญญาให้ให้การเท็จเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดนั้น เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการกระทำความผิดของจำเลยที่1 ถึงที่ 4 ซึ่งขาดตอนไปแล้ว จะนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 5 ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 5 ในความผิดดังกล่าวมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นฟ้องด้วย อุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ส่วนจำเลยที่ 6 ปกปิดข้อเท็จจริงต่อนางสา ด้วยการบอกนางสาว่าหมดเวลาเยี่ยมผู้ตาย โดยมีจุดประสงค์หน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อรอเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 พาผู้ตายไปฆ่า แต่ในชั้นสอบสวนจากคำให้การของนางสาว่าตนรอผู้ตายจนเวลาประมาณ 16 น. จำเลยที่ 6 บอกให้นางสากลับบ้านไปก่อน ส่วนผู้ตายจะปล่อยตัวไปในภายหลัง จนถึงเวลาประมาณ 18 น. ผู้ตายโทรศัพท์ให้ไปรับ นางสาจึงเดินทางไปที่สภ.กาฬสินธุ์

คำเบิกความและให้การของนางสาเกี่ยวกับเวลาและข้อความที่จำเลยที่ 6 บอกแก่นางสาจึงแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ นางสาให้การไว้หลังเกิดเหตุเพียง 5 วัน ถือเป็นระยะเวลาใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถจดจำรายละเอียดของเหตุการณ์ได้แม่นยำกว่าขณะเข้าเบิกความต่อศาลหลังเกิดเหตุนานกว่า 5 ปี และนางสามีอายุมากแล้ว ซึ่งอาจหลงลืมเป็นเรื่องปกติธรรมดา คำให้การในชั้นสอยสวนย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงยิ่งกว่าในชั้นพิจารณา

แม้ด.ต.ถาวร จะให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหารว่า ด.ต.ถาวรนำหมายปล่อยไปส่งให้ด.ต.นิคมที่สภ.เมืองกาฬสินธุ์เวลา 15.30 น. ก็ตาม แต่ด.ต.นิคมกลับให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแตกต่างกันว่า ด.ต.นิคมได้รับหมายปล่อยผู้ตายจากศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เวลาประมาณ 16 น.

เมื่อฝ่ายโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้เห็นชัดว่า จำเลยที่ 6 ทราบคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ตายของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ก่อนที่จะบอกให้นางสากลับบ้านไปก่อน ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ปกปิดข้อเท็จจริงต่อนางสา โดยมีเจตนาหน่วงเหนี่ยวเพื่อรอเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 พาผู้ตายไปฆ่าตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ยังมีความน่าสงสัยตามสมควร ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 6 ฐานเป็นผู้สนับสนุนความผิดดังกล่าวมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 6 ฟังขั้น ส่วนอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 5 มีว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบหรือไม่

ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 5 ให้น.ส.อรัญญาให้การเท็จ จึงมีความผิดด้วย

ส่วนจำเลยที่ 5 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 5 ไม่เคยบอกให้น.ส.อรัญญาให้การเท็จ

เมื่อน.ส.อรัญญาไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 5 ประกอบกับจำเลยที่ 5 ไม่ได้เข้าเบิกความต่อสู้คดีในเรื่องดังกล่าว เชื่อว่าจำเลยที่ 5 พูดบอกให้น.ส.อรัญญาให้การดังกล่าวจริง หากน.ส.อรัญญายอมให้การไปตามนั้นจะทำให้รูปคดีผิดไปจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการกระทำเพื่อจะช่วยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิให้ต้องโทษ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ โดยจำเลยที่ 5 ไม่จำต้องได้รับมอบหมายให้สืบสวนในคดีนี้ตามที่ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ เพราะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักรอยู่แล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 5 มานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น

สำหรับในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 6 นั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 4 และที่ 6 นั่งอยู่ในห้องขณะจำเลยที่ 5 บอกให้น.ส.อรัญญาให้การเท็จก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งพยานหลักฐานต่างๆ เนื่องจากจำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 6 ผู้ทำบันทึกการปล่อยตัวผู้ตาย ซึ่งความจริงไม่ได้รับการปล่อยไป เชื่อว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ต้องรายงานข้อเท็จจริงและปรึกษากับจำเลยที่ 5 เพื่อจะช่วยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ใต้บังคับบัญชามิให้ต้องโทษ

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 และที่ 6 ถือเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 5 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 6 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 7 ปี นั้นนับว่าหนักเกินไป ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรวางโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี

พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) , 200 วรรคแรก , 199 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำคุก 1 ปี และฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ จำคุก 5 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 4 หนึ่งในสาม ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 8 เดือน ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน เมื่อรวมทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี และเมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิตในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วไม่อาจนำโทษจำคุกในความผิดอื่นมารวมได้อีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ลงโทษจำเลยที่ 5 และที่ 6 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ จำคุกคนละ 5 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกา 3086-3087/2561

โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งหกฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนสำหรับจำเลยที่ 5 และฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายสำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนสำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 และอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

สำหรับความผิดข้อหาร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายนั้น  แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายกิตติศัพท์  ถิตย์บุญครอง บิดาผู้ตายเข้าร่วมเป็นโจทก์  แต่นายกิตติศัพท์คงเป็นผู้เสียหายแต่เฉพาะในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น  ส่วนความผิดข้อหาย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายมิใช่ผู้เสียหายจึงไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาดังกล่าวได้  ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 199

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งหกว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ และมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า  จำเลยที่ 5 และที่ 6 กระทำความผิดร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายหรือไม่  และมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบหรือไม่ 

เห็นควรวินิจฉัยฎีกาโจทก์  โจทก์ร่วม  และจำเลยทั้งหกไปพร้อมกัน

คดีนี้ฝ่ายโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะผู้ตายถูกฆ่า ฝ่ายโจทก์มีเพียงน.ส.อรัญญาเป็นพยานปากเดียวที่เบิกความว่าพยานให้การไปตามที่จำเลยที่ 5 บอก ซึ่งเป็นความเท็จ พยานเพิ่งให้การไปตามความจริงทั้งหมดต่อประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและกรมสอบสวนคดีพิเศษ  โดยยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำตัวผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนของสภ.กาฬสินธุ์ การรับฟังพยานฝ่ายโจทก์ปากนี้จำต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง

พยานให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงลงวันที่ 1 สิงหาคม 2547 ให้การต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร รวม 3 ครั้ง  ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 , วันที่ 21 ตุลาคม 2547 และวันที่ 27 เมษายน 2548 และให้การต่อกองบังคับการปราบปราม  ลงวันที่ 17 และ 23 พฤศจิกายน 2547 และวันที่ 8 มิถุนายน 2548 รวม 3 ครั้ง

พยานเบิกความว่า ในวันที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร พยานกับจำเลยที่ 2 ได้นั่งท่องข้อความที่ถูกเตรียมไว้  และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ถามค้านว่า  ข้อความที่ให้ท่องเพื่อจะให้การพิมพ์มารวม 4 หน้ากระดาษ  ส่วนเรื่องผู้ตายยืมโทรศัพท์ จำเลยที่ 5 ไม่ได้ขอร้องให้พยานให้การอย่างไร  พยานจึงให้การไปตามความจริง และเรื่องผู้ตายยืมโทรศัพท์ที่ห้องสืบสวน  รวมทั้งเจ้าพนักงานตำรวจคนใดเป็นคนล็อคคอผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน  พยานสามารถให้การอย่างไรก็ได้ไปตามความจริงที่พยานพบเห็นมา

แต่เมื่อพิจารณาคำให้การของพยานลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ต่อพ.ต.อ.พิศาลไว้ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ ความสรุปว่า ขณะพยานอยู่ในห้องสืบสวน เห็นผู้ตายอุ้มห่อสิ่งของเข้ามาในห้องสืบสวน โดยมีจำเลยที่ 2 เดินตามเข้ามาแล้วเดินออกจากห้องไป  ผู้ตายขอยืมโทรศัพท์จากพยาน ได้ยินพูดว่า แม่มารับผมด้วย แล้วผู้ตายส่งโทรศัพท์คืนให้ ต่อมาผู้ตายขอยืมโทรศัพท์อีกครั้ง  หลังจากคืนโทรศัพท์แล้ว สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 2 บอกให้ผู้ตายออกไป เห็นผู้ตายอุ้มเอาห่อสิ่งของออกจากห้องไปคนเดียว  ส่วนพยานยังอยู่ในห้องสืบสวน มีผู้หญิงอายุประมาณ 20 ถึง 30 ปี มาถามหาผู้ตายพยานบอกว่าออกไปแล้วเท่านั้น

เหตุใดพยานจึงไม่ให้การเช่นเดียวกับที่เบิกความต่อศาลดังกล่าวข้างต้น  ทั้งๆที่พยานสามารถให้การเช่นนั้นได้  คำให้การลงวันที่ 21 ตุลาคม 2547 พยานก็ให้การเช่นเดียวกับวันที่ 3 สิงหาคม 2547  ส่วนวันที่ 27 เมษายน 2548 พยานให้การเพิ่มเติมเพียงว่าขณะที่อยู่ในห้องสืบสวน เห็นชายสองคนเชื่อว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจพาผู้ตายเข้ามาในห้องสืบสวน และได้ยินเสียงเจ้าพนักงานตำรวจพูดว่าคนที่กระทำผิดมีแต่รุ่นนี้  พร้อมชี้ไปที่ผู้ตาย หลังจากพูดจบแล้วเห็นเดินออกไปจากห้องสืบสวน คำให้การของพยานตามบันทึกทั้ง 3 ครั้ง พยานไม่เคยให้การไว้เลยว่าได้ยินผู้ตายพูดโทรศัพท์ว่า เขาจะเอาผมไปฆ่า เห็นเจ้าพนักงานตำรวจคนใดบ้างล็อคคอผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวน และบอกผู้หญิงที่มาถามหาผู้ตายว่าเขาเอาตัวไปแล้ว

น.ส.เกศแก้ว ให้การในชั้นสอบสวนว่าตนได้เดินทางไปที่สภ.กาฬสินธุ์ กับนางสา เพื่อตามหาผู้ตาย นางสาให้ตนขึ้นไปดูที่ชั้นสอง สอบถามหาผู้ตายกับผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงคนดังกล่าวบอกว่าผู้ตายขอยืมโทรศัพท์โทรหาญาติและบอกว่าผู้ตายออกไปแล้วเมื่อสักครู่  สอดคล้องกับคำให้การของน.ส.อรัญญาในชั้นสอบสวน  ได้ความจากคำเบิกความน.ส.อรัญาให้การต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2547

น.ส.อรัญญา ได้โทรศัพท์ติดต่อพ.ต.ท.สมพงษ์ ให้การลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ว่าถูกผู้มีอิทธิพลในพื้นที่กาฬสินธุ์ข่มขู่จึงร้องเรียนขอความเป็นธรรมและขอคุ้มครองเพื่อให้ความช่วยเหลือพยาน แต่ในวันนี้ยังไม่พร้อมให้การ

ได้ความจากพ.ต.ท.สมพงษ์ว่า ได้จัดให้เจ้าพนักงานตำรวจคุ้มครองพยาน โดยให้พยานไปพักอยู่ที่แฟลตตำรวจ ซ.วัชรพล แสดงว่าขณะนั้นพยานไม่ได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจของสภ.กาฬสินธุ์ข่มขู่  และพยานอยู่ในความคุ้มครองของกองบังคับการปราบปรามแล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่พยานจะต้องเกรงกลัวอิทธิพลอีก

แต่เมื่อพิจารณาคำให้การของพยานลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 พยานให้การต่อ กองบังคับการปราบปราม ว่าเหตุใดพยานจึงไปที่สภ.กาฬสินธุ์ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 และรายละเอียดที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาที่พยานอยู่ในห้องสืบสวนเท่านั้น พยานไม่ได้ให้การไว้เลยว่าหลังจากผู้ตายถูกฆ่าแล้ว มีเจ้าพนักงานตำรวจสภ.กาฬสินธุ์พาพยานไปที่สถานีตำรวจ ขอให้พยานช่วยเหลือ เจ้าพนักงานตำรวจคนดังกล่าวพูดว่าหากพูดความจริงจะถูกแขวนคอเหมือนผู้ตายและพาไปพบจำเลยที่ 5 ที่ห้องทำงาน ขอให้ให้การไปตามข้อความที่พิมพ์ ให้ท่องก่อนให้การและไม่ได้ให้การว่าได้ยินผู้ตายพูดโทรศัพท์ว่าเขาจะเอาผมไปฆ่า ทั้งๆที่ร้องขอความคุ้มครองและอยู่ในความคุ้มครองของกองบังคับการปราบปราม  สามารถให้การไปตามความจริงตามที่เบิกความต่อศาลได้

หลังจากพักอยู่ที่กองบังคับการปราบปรามได้ประมาณ 3 สัปดาห์  พยานโทรศัพท์บอกนางพิกุล มารับและไปให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  โดยให้การไปตามความจริงทั้งหมดแล้วนางพิกุลส่งพยานกลับไปอยู่ที่ร้อยเอ็ด และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านว่า พยานไม่เคยรับเงินจากนางพิกุล

นายรัษฎา  มนูรัษฎา  ทนายโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า น.ส.อรัญญาให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 2 ครั้ง หลังที่พยานให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 แล้ว พยานกลับโทรศัพท์ติดต่อพ.ต.ท.สมพงษ์เพื่อขอความคุ้มครอง  โดยอ้างวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ว่าพยานถูกผู้มีอิทธิพลในพื้นที่กาฬสินธุ์ข่มขู่เกรงจะได้รับอันตรายได้จึงร้องขอความเป็นธรรมและขอความคุ้มครองเพื่อให้ความช่วยเหลือพยาน  และพยานก็ไม่ได้ให้การไปตามความจริงต่อกองบังคับการปราบปราม  อ้างเหตุว่ายังกลัวอยู่  ต่อมาเมื่อพยานให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในครั้งที่สองเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2547

แล้วพยานได้ไปให้การต่อพนักงานสอบสวน สภ.จังหาร  ลงวันที่ 27 เมษายน 2547 ซึ่งพยานเองเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ถามค้านว่า ขณะที่พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนสภ.จังหาร ในวันดังกล่าวมีผู้คุ้มครองพยานแล้ว และไปให้การต่อกองบังคับการปราบปราม ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2548 อีก เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุใดพยานจึงไม่ให้การถึงรายละเอียดต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งหมดเช่นเดียวกันกับที่พยานให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและที่พยานเบิกความต่อศาล ทั้งๆที่พยานมีผู้คุ้มครองแล้วและไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจคนใดข่มขู่จะฆ่าพยานและไม่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับจ.ส.ต.ทรงกฤษณ์แต่อย่างใด  พฤติการณ์ที่ร้องขอความคุ้มครองจากกองบังคับการปราบปราม  และอยู่ในความคุ้มครองของกองบังคับการปราบปรามแล้ว เหตุใดพยานจึงโทรศัพท์ไปหานางพิกุลให้มารับพยานออกไปจากการคุ้มครองของกองบังคับการปราบปราม  โดยไม่ปรากฏว่าพยานมีเหตุขัดแย้งกับ กองบังคับการปราบปราม  หรือถูกข่มขู่จากคนใดในกองบังคับการปราบปรามแต่อย่างใด

โดยนางพิกุลพาพยานไปให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ความตามหนังสือเรื่อง  ร้องเรียนขอความเป็นธรรมลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ว่า นางพิกุลได้แจ้งความไว้ที่กองบังคับการปราบปรามเกี่ยวกับการตายของผู้ตาย ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2547 ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2547  พยานโทรศัพท์หานางพิกุลแจ้งว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยและเล่าเหตุการณ์ต่างๆให้ฟัง  นางพิกุลจึงไปรับพยานออกจากแฟลตตำรวจของกองบังคับการปราบปราม  แล้วพาไปให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  พยานขอเงินจำนวนหนึ่งจากนางพิกุลเพื่อเดินทางไปจังหวัดสระแก้ว  ต่อมาพยานได้ติดต่อขอเงินจากนางพิกุลอีก เพื่อใช้วางมัดจำห้องเช่า นางพิกุลให้น้องสาวโอนเงินเข้าบัญชีของพยาน

เหตุใดจึงไม่ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไปสอบปากคำพยานที่กองบังคับการปราบปราม  ทั้งๆที่นางพิกุลทราบอยู่แล้วว่าพยานอยู่ในความคุ้มครองของกองบังคับการปราบปราม  แต่ไปรับพยานออกมาจากกองบังคับการปราบปราม พยานได้กลับไปอยู่ที่จ.ร้อยเอ็ด แล้วยังเดินทางไปอ.อรัญประเทศ จ.สระแก้วอีกด้วย โดยพยานได้ขอเงินจากนางพิกุล 2 ครั้ง และพยานได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนสภ.จังหาร ในวันที่ 27 เมษายน 2547 และให้การต่อกองบังคับการปราบปรามในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 อีก แต่พยานก็ยังไม่ได้ให้การไปตามความจริงเช่นเดียวกันกับที่ให้การต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและเบิกความต่อศาล  ทั้งๆที่พยานยืนยันว่าให้การไปตามความจริงทั้งหมดต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว พฤติการณ์ของพยานพิรุธส่อแสดงให้สงสัยว่าพยานถูกข่มขู่เพื่อให้การเท็จในชั้นสอบสวนและเกรงกลัวอันตรายตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่

พยานเบิกความว่าประมาณเดือนตุลาคม 2547 นางวิสัญสญา ภริยาของจ.ส.ต.ทรงกฤษณ์แจ้งพยานว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถควบคุมพยานได้และกำลังจะจัดการ  จึงขอให้พยานทำบันทึกเล่าความจริงมอบให้คนที่ไว้วางใจและหลบหนีไป  พยานจึงทำบันทึกเล่าความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดมอบให้นางชิษณุวรรณ  ไว้นั้น  หากพยานทำบันทึกเล่าความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดมอบให้นางชิษณุวรรณจริง  เหตุใดฝ่ายโจทก์ไม่นำบันทึกมาแสดงต่อศาล รวมทั้งนำนางชิษณุวรรณ  มาเบิกความต่อศาลเพื่อยืนยันในข้อนี้

นอกจากนี้  แม้ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาว่าการที่พยานเบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 พาผู้ตายออกไปจากห้องสืบสวนเวลาประมาณ 19.45 น. อาจเกิดคลาดเคลื่อนไปก็ตาม  แต่พยานเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 มีข้อความสรุปได้ว่า วันที่ 22 กรกฎาคม 2547 คดีที่ลักโทรศัพท์มือถือไปนั้น ทำบันทึกข้อตกลงกันเมื่อเวลา 19.15 นาฬิกา เมื่อพิจารณาข้อมูลโทรศัพท์มือถือหมายเลข 050132182 ที่ฝ่ายโจทก์ว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ประจำแล้ว ปรากฏว่ามีการใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 เวลา 19.12.08 น. ที่บริเวณถนนบายพาสกาฬสินธุ์ และเวลา 19.12.36 น. ที่อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ระยะเวลานับตั้งแต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เริ่มพาผู้ตายออกไปจากห้องสอบสวนหลังจากเวลา 19 น. ไปแล้วแต่ไม่เกินเวลา 19.45 น. จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะออกจากห้องสืบสวนเดินไปขึ้นรถแล้วเดินทางไปใช้โทรศัพท์ที่ถนนบายพาสกาฬสินธุ์ ในเวลา 19.12.08 น. และที่อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ในเวลา 19.12.36 น. พยานฝ่ายโจทก์ปากนี้มีพิรุธไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ 

ดังนั้น เมื่อพยานฝ่ายโจทก์ที่นำสืบมาเป็นพิรุธ เห็นควรให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งหกและจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว สำหรับความผิดฐานร่วมกันเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องฝ่ายโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดฐานนี้และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 จึงเป็นการไม่ชอบและไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 4 ที่จะฎีกา ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษในความผิดฐานนี้ จำคุกคนละ 1 ปี  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน  จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบมายังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่  และพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานดังกล่าว  ศาลฎีกาจึงมีอำนาจจะยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายได้ด้วย  เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ฎีกาจำเลยทั้งหกฟังขึ้น  ส่วนฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 199 และยกฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในข้อตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคแรกด้วย  นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ดูตารางสรุปคำพิพากษาชั้นต้น ศาลอุธรณณ์ ศาลฎีกา และรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่