ไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวผู้หยัดยืนเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวผู้หยัดยืนเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือชื่อที่หลายคนอาจคุ้นเคยคือ ไผ่ ดาวดิน เขาเป็นนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมการเมืองมาอย่างโชกโชน  ไผ่เป็นนักศึกษาที่เข้าไปทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ และไผ่ยังเป็นสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเป็นขบวนการของคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมและการเมือง

ในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ขบวนการประชาธิปไตยให่ได้เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน ผ่านการแจกเอกสารที่ทางขบวนการได้จัดทำขึ้น จากกิจกรรมในลักษณะดังกล่าว ทำให้สมาชิกหลายคนของขบวนการถูกจับกุมดำเนินคดีตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หรือบางกรณีก็พ่วงข้อหาคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนเข้าไปด้วย

ส่วนกรณีของไผ่ เขาถูกจับกุมโดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2559 เวลา 16.30 น. ก่อนวันลงประชามติเพียงวันเดียว หลังจากเดินแจกเอกสารรณรงค์โหวตโนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในตลาดภูเขียวได้เพียง 300 เมตร โดยไผ่ถูกจับกุมพร้อมเพื่อนอีกหนึ่งคนคือ วศิน พรหมมณี ทั้งสองถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61(1) ฐานแจกเอกสารรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาอัยการส่งฟ้อง และศาลรับฟ้อง

กรณีนี้ทั้งสองเห็นว่า การใช้เสรีภาพในการให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนในวันที่ 6 ส.ค. 2559 ณ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นการใช้เสรีภาพที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด

หลังจากนั้น ไผ่ ยังถูกดำเนินคดีจากกรณีการจัดกิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 โดยไผ่ถูกดำเนินคดีรวมกับผู้ต้องหาคนอื่นๆอีก 6 คน ในข้อหาดคำสั่งหัวหน้าคสช.มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป และเขายังมีคดีเก่าอีก 2 คดี ได้แก่ คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กรณีร่วมกับพวกทำกิจกรรมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 และคดีร่วมกับเพื่อนขบวนการประชาธิปไตยใหม่รวม 14 คน ในการทำกิจกรรมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากนั้น ในวันรุ่งขึ้นมีการเดินสายและปราศรัยกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงถูกแจ้ง 2 ข้อหาคือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ห้ามชุมนุมเกินห้าคน และการยุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา

ล่าสุด 3 ธ.ค. 2559 ไผ่ถูกแจ้งความดำเนินคดีอีกหนึ่งคดีในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 จากการแชร์พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย ดังนั้น ปัจจุบันไผ่จึงมีคดีทั้งหมดรวม 5 คดีแล้ว

การดำเนินคดีกับไผ่ เกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อการตรวจสอบและคัดค้านรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมและใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน และการแสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมืองไทยที่พึงกระทำ ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายที่เป็นธรรม แต่ในสถานการณ์ที่มีการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายโดยอำเภอใจโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารนี้ ทำให้การกระทำที่แม้ไม่ควรเป็นความผิดตามกฎหมายโดยมโนธรรมนำนึก ได้กลายเป็นความผิด โดยอ้างความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขตและเป็นไปตามอำเภอใจของรัฐบาล

ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพของ iLaw