12 มิถุนายนนี้ ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาคดีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน

12 มิถุนายนนี้ ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาคดีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน

ภาพ : กลุ่มดินสอสี

พรุ่งนี้ (12 มิถุนายน 2561) เวลา 10.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 หมายเลขแดงที่ ส.660/2559 ระหว่าง นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ที่1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้องคดี กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้านเรือนและรื้อทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก ณ ศาลปกครองกลาง ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 1

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะเหตุที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบริเวณตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กว่า 20 ครอบครัว จนได้รับความเสียหายแก่สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน โดยมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉางถูกจุดไฟเผาราว 100 หลัง ตามโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดันหรือจับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ที่มีชื่อเรียกว่า “ยุทธการตะนาวศรี” และกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยไม่ได้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติและกฎหมายทะเบียนราษฎรของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน รวมถึงไม่ตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนดั้งเดิมเสียก่อน (อ่าน E Book เรื่องราวโดยย่อของปู่คออี้)

วันที่ 7 กันยายน 2559 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกแต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (อ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลางฉบับเต็ม)

วันที่ 6 ตุลาคม 2559 ผู้ฟ้องคดีทั้งหกยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางยังมีความบกพร่องคลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญต่อการวินิจฉัยในประเด็นคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้อยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยโต้แย้งในประเด็นหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1. ความมีอยู่จริงของการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของผู้ฟ้องคดีทั้งหกและชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในคดีนี้

2. วิถีวัฒนธรรมการผลิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแบบไร่หมุนเวียน มีงานวิชาการรองรับว่าเป็นการทำเกษตรที่ไม่ส่งต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยรักษาป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ได้ยอมรับวิถีวัฒนธรรม ตลอดจนความมีตัวตนและถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่ต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

3. การจัดการทรัพยากรภายใต้วิถีวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมและสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่บังคับใช้ในขณะเกิดเหตุกรณีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “สิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน” ของ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4. กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการทำลายทรัพย์สิน โดยการเผาทำลายหรือรื้อถอน แต่ให้เป็นดุลยพินิจว่าเป็นการป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานหรือไม่ โดยการใช้ดุลยพินิจสั่งการหรือไม่สั่งการนั้นให้เหมาะสมแก่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในแต่ละกรณี ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เป็นการให้อำนาจแก่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะเลือกสั่งการอย่างใดก็ได้ตามอำเภอใจ

5. การปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักแห่งความเหมาะสม และเป็นปฏิบัติการทางปกครองที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนของการกระทำ (Principle of Proportionality) ตามหลักกฎหมายมหาชน

6. หลักการรับฟังคู่กรณี ตามมาตรา 30 แห่งวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งต้องตีความด้วยเจตนาของการออกคำสั่งที่ให้คู่กรณีทราบถึงข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและโอกาสในการโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมีการรับทราบถึงการแจ้งคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนปฏิบัติการเผาบ้านเรือนและรื้อทำลายทรัพย์สิน

7. ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ ที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าไม่มีผลบังคับโดยตรง หากแต่รัฐต้องออกกฎหมายภายในเพื่อการอนุวัติ จึงจะใช้กฎหมายภายในบังคับเจ้าหน้าที่ได้นั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าสามารถเทียบเคียงได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30 “…การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ…จะกระทำมิได้…” ซึ่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รับรู้อย่างชัดแจ้งว่า พื้นที่ในแผนปฏิบัติภารกิจครั้งนั้นเป็นกลุ่มเฉพาะของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ที่ดำรงวิถีอัตลักษณ์ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน แต่กลับใช้ปฏิบัติการที่เป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีและเครือข่ายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้ร้องเรียนขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อปี 2554 สภาทนายความฯ จึงได้แต่งตั้งทนายความเป็นคณะทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือในการฟ้องคดีเป็นคดีนี้

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความ 081-8428754
วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ 092-4725511