พรุ่งนี้แล้ว! ศาลฎีกาพิพากษาคดีสิทธิในที่ดินทำกินและวิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอญอ บ้านแม่อมกิ

พรุ่งนี้แล้ว! ศาลฎีกาพิพากษาคดีสิทธิในที่ดินทำกินและวิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอญอ บ้านแม่อมกิ

วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560 ณ ศาลจังหวัดแม่สอด จังหวัดตาก เวลา 09.00 น. มีนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชา ชาวปกาเกอญอ ชุมชนบ้านแม่อมกิ ที่ถูกดำเนินคดีจากการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชุมชน โดยในวันเดียวกันนั้นทนายความจะยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดแม่สอดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนายดิ๊แปะโพหรือดิแปะโป จำเลยอีกคดีจากการกระทำความผิดในฐานเดียวกัน เพื่อให้ศาลอ่านคำพิพากษาในวันดังกล่าวข้างต้นพร้อมกันทั้ง 2 คดี (จากเดิมที่ศาลมีนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 23 มีนาคม 2560)

คดีนี้เริ่มต้นจากชาวกะเหรี่ยง 2 คนคือ นางน่อเฮมุ้ย เวียงวิชชา และนายดิแปะโป ที่มีอาชีพทำไร่หมุนเวียนเพื่อเลี้ยงชีพ ในชุมชนบ้านแม่อมกิ ตำบลแม่ว่าหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมในที่ดินที่ตนเองได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าบุกรุกทำลายป่า โดยถูกนำไปขังและฟ้องเป็นคดีความต่อศาลในเวลาต่อมา และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องทั้งสองคดี โดยเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการขาดเจตนา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง หลังมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในคดีของนางน่อเฮมุ้ย แต่อย่างไรก็ดี ศาลเห็นว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวน แม้การกระทำของจำเลยจะขาดเจตนา แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุได้ ดังนั้นจำเลยจึงต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ ส่วนคดีของนายดิแปะโปศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยให้เหตุผลว่า แม้ว่าจำเลยจะทำกินในที่ดินดังกล่าวต่อจากบิดามารดาอันเป็นเวลาก่อนที่จะมีการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวน และแม้ว่าจำเลยไม่ทราบว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อกฎกระทรวงกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายและจำเลยจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุมีไม่มากและจำเลยอายุมากแล้ว โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญามีกำหนด1ปีพร้อมทั้งให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่เกิดเหตุ

ปัจจุบัน นางน่อเฮมุ้ย เวียงวิชา อายุ 48 ปี (ตามบัตรประชาชน) และนายดิแปะโป อายุ 88 ปี ได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผ่านล่ามว่า

“ เรามีความคาดหวังที่อยากจะให้คำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ออกมาในแง่ดี เพื่อที่จะให้ชุมชนได้รับความเป็นธรรม และชาวบ้านมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำมาหากินได้แบบเดิมโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกไล่ที่ในภายภาคหน้า เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีตั้งแต่ภายหลังที่เราทั้งสองคนถูกจับ ก็มีแต่ความหวาดระแวง ไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมและไม่มีความสุขในการทำมาหากินในพื้นที่นั้น เนื่องจากกลัวที่จะถูกเจ้าหน้าที่จับอีก และกลัวทรัพย์สินถูกเผาหากทิ้งไว้ในพื้นที่เดิม การดำรงชีวิตในแต่ละวันจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ถ้าหากว่าในวันพรุ่งนี้ศาลมีคำพิพากษายืนและให้พวกเราออกจากพื้นที่ตรงนี้ พวกเราก็คงจะไม่ไป เพราะตรงนี้คือบ้าน คือพื้นที่ทำกินมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และออกไปก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนได้อีก”

ในการต่อสู้คดีนี้ประเด็นที่เป็นข้อโต้เถียงหลักคือการทำไร่หมุนเวียนของนางน่อเฮมุ้ยและนายดิแปะโป เป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และกระทำผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มุ่งวินิจฉัยคดีเฉพาะตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ. ศ. 2507 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ. ศ. 2484 เท่านั้น ไม่ได้พิจารณาประเด็นที่ฝ่ายจำเลย อ้างถึงสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และข้อเท็จจริงที่การทำไร่หมุนเวียนไม่เป็นการทำลายป่าไม้ ซึ่งฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำให้การไว้เป็นหนังสือและได้นำสืบในชั้นศาลประกอบ ดังนั้นเหตุผลทั้งหลายที่พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยนำสืบว่าบ้านแม่อมกิเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน อีกทั้งจำเลยและชุมชนอยู่มาก่อนที่รัฐประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ที่พิพาทเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนและการทำไร่หมุนเวียนเป็นภูมิปัญญาชนเผ่าและไม่ทำลายระบบนิเวศนั้นศาลเพียงแต่รับฟังเพื่อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาบุกรุกป่าเมื่อไม่มีเจตนาจึงไม่เป็นความผิดตามหลักกฎหมายอาญาโดยทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญและประเด็นการดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวประกาเกอญอ

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ: สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 02-275 3954