ภาคประชาชนร่วมบอกเล่าผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. และร่วมแถลงข่าวทวงคืนสถานการณ์ปกติ ชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. 35 ฉบับ

ภาคประชาชนร่วมบอกเล่าผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. และร่วมแถลงข่าวทวงคืนสถานการณ์ปกติ ชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. 35 ฉบับ

วันนี้ (15 มกราคม 2560) เวลา 9.30 ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายประชาสังคมกว่า 23 เครือข่าย อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เครือข่ายหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายประชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เครือข่ายสลัมสี่ภาค (ทุกภาค) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (คอป.) ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ สมัชชาคนจน ขบวนการอีสานใหม่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) ฯลฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายประชาชนเพื่อยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.ที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

การแถลงข่าวมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปี 8 เดือนที่ คสช.บริหารประเทศมีการใช้อำนาจพิเศษออกประกาศและคำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. มาแล้วอย่างน้อย 533 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 35 ฉบับที่มีเนื้อหาในทางละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆอย่างร้ายแรง เช่น

  • คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกประชาชนไปปรับทัศนะคติในค่ายทหารไม่เกิน 7 วัน
  • คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าทีืทหารเรียกและจับบุคคลไปขังไว้ได้ 7 วัน โดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ได้รับยกเว้นความรับผิด
  • คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557, 66/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 4/2558 เรื่องการ “ทวงคืนผืนป่า” ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 1,785 ราย มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 552 คน
  • คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2559 และ 4/2559 กำหนดให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2559 กำหนดให้หน่วยงานรัฐหาเอกชนผู้รับเหมาโครงการใหญ่ได้ก่อนผ่าน อีไอเอเป็นต้น

แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ คสช.ต้องยุติบทบาทลงหลังมีการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ประกาศและคำสั่งเหล่านี้จะยังมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป และหลายฉบับจะถูกแปรรูปไปเป็นกฎหมายในรูปของพระราชบัญญัติ เครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 23 เครือข่ายจึงเห็นว่าควรมีการผลักดันให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งเหล่านี้เสีย โดยจะมีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.ทั้ง 35 ฉบับ เพื่อให้ประเทศกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ได้รับความเดือดร้อนและเห็นถึงความไม่ถูกต้องของประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับต่างๆดังกล่าง จึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 133 รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่าง “ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. (ฉบับประชาชน)” ให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา

ตัวแทนจากเครือข่ายแรงงาน กล่าวว่า เราไม่ยอมรับกระบวนการออกกฎหมายที่ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน กฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชน ไม่เคยมีการเอามาถามประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ วันนี้ที่พวกเราออกมาชุมนุมต่างๆ มันเกิดจากนโยบายรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งนั้น ถ้ารัฐบาลบอกว่าจะให้มีส่วนร่วม เวลาจะดำเนินนโยบายใดที่มีผลกระทบ ก็ต้องเอามาถามประชาชนด้วย คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนหมดไป ประชาชนมีปัญหาอะไรก็ปล่อยไป ปัญหาทั้งหมดจึงไม่ใช่ว่าไม่มี มันมีแต่ไม่สามารถออกมาสะท้อนได้ เพราะประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่มาจำกัด ทำให้เราออกมาพูดไม่ได้ คนงานไม่สามารถชุมนุมเพื่อสื่อสารปัญหาให้สังคมได้รับรู้ จะชุมนุมทีก็ต้องไปชุมนุมในวัดหรือป่าช้า เราจึงขอร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกประกาศหรือคำสั่ง คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเหล่านี้

ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า เครือข่ายสลัมสี่ภาคเป็นเครือข่ายชาวบ้าน แต่การเคลื่อนไหวของเครือข่ายที่ผ่านมาถูกจับตามองตลอด ขนาดอยู่ในบ้านก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไปค่อยจับตามองว่าเราจะไปไหน ทำอะไร ไปไหนต้องรายงานสันติบาล แสดงให้เห็นว่าภายใต้รัฐบาลทหารสิทธิทางการเมืองของเราถูกลิดรอนอย่างมาก

ตัวแทนจากสมัชชาคนจน กล่าวว่า สมัชชาคนจนยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะรัฐประหาร ดังนั้น เราจึงปฏิเสธประกาศหรือคำสั่งที่ออกมาโดย คสช และคำสั่งพวกนี้มันส่งผลกระทบต่อพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน คำสั่งทวงคืนผืนป่า พี่น้องสมัชชาคนจนถูกผลักดันออกจากพื้นที่ด้วยคำสั่งนี้ โดยไม่สามารถต่อสู้หรือเรียกร้องใดๆได้ และอีกคำสั่งหนึ่งคือคำสั่งที่ให้แก้ไขกฎหมาย ส.ป.ก. ที่ให้นายทุนเข้าไปใช้ที่ ส.ป.ก. ได้ แต่กลับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ จ่ายเงินชดเชยฟาดหัวชาวบ้านออกไป

ตัวแทนจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) กล่าวว่า ประกาศและคำสั่ง คสช. ทำให้กระบวนการทางกฎหมายผิดปกติ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้ที่ดิน ปัจจุบันการทวงคืนที่ดินราวๆหนึ่งแสนห้าหมื่นไร่ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าชาวบ้านที่ถูกไล่ออกจากพื้นที่จะไปอยู่ที่ไหน ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีอีกมากมายจะทำอย่างไร นี้เป็นปัญหาในระยะยาว และยังมีคำสั่งที่ทำให้มีการบิดเบียนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เช่น เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเรื่องเกี่ยวกับการให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ทำให้จุดประสงค์การใช้ที่ดินเปลี่ยนไปเป็นการใช้ที่ดินแบบสุดโต่ง เห็นว่านี้เป็นอันตรายในระยะยาว จึงจำเป็นที่ต้องจัดการกับคำสั่งที่บิดเบียนเหล่านี้ให้เร็วที่สุด นอกจากนี้การยกเลิกกฎหมายผังเมืองหรือกฎหมายเกี่ยวข้องกับอาคาร ส่งผลกระทบมากพอสมควรกับท้องถิ่น เพราะกฎหมายผังเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมและกลั่นกรองการดำเนินโครงการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่ผ่านกลไกทางกฎหมายได้ การยกเลิกกฎหมายผังเมืองนี้จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่ทุกคนต้องร่วมกันลงชื่อเพื่อยุติกฎหมายที่ไม่เข้าท่านี้โดยเร็วที่สุด

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ได้ติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเรียกตัว การจับกุมควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการบังคับใช้กฎอัยการศึก ต่อมามีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งแปลงร่างอำนาจจากกฎอัยการศึก เหมือนกับว่าเราอยู่ในพื้นที่สงครามที่ให้ทหารมีอำนาจจับกุมควบคุมตัวเราได้ ในระยะแรกๆมีการอุ้มหาย การควบคุมตัว การปรากฎข่าวว่ามีการเสียชีวิตในการควบคุมตัวในสถานที่ราชการ การเรียกบุคคลไปปรับทัศนคติ แม้จะถือว่าสิทธิในชีวิตและร่างกายเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญาปกติรับรองไว้ แต่ก็ถูกประกาศ/คำสั่ง คสช. ยกเว้น ที่สำคัญยังมีการออกคำสั่งให้นำพลเรือนเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหารอีก แม้ว่าจะมีคำสั่งยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังมีพลเรือนจำนวนอีกนับร้อยที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นคนที่เพียงแค่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการมีส่วนร่วม นอกจากนี้ประกาศ/คำสั่ง คสช. เหล่านี้ยังทำให้กลไกการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมล่มเหลวหรือพิกลพิการไป โดยเฉพาะการดำเนินคดีของตำรวจ การสั่งคดีของอัยการ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่มีความเป็นอิสระ ซึ่งทำให้พบเห็นว่ามีการฟ้องร้องคดีในลักษณะกลั่นแกล้งกับผู้นำ แกนนำและประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพอีกด้วย

ตัวแทนขบวนการผู้หญิงปฎิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ขบวนการผู้หญิงสู้มาตลอดว่ารัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีกลไกดูแลพี่น้องประชาชน แต่ทันที่ที่เรามีเวทีเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ภาคอีสาน ทหาร ตำรวจ และผู้ว่าสั่งปิดเวทีของขบวนการผู้หญิงฯ ทั้งที่เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในช่วงนั้น เราสูญเสียทั้งเวลา งบประมาณ แม้พี่น้องจะคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะเจ้าหน้าที่ไปบีบโรงแรม และโรงเรียนที่ให้เราจัดงาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยเป็นเบื้องต้นแล้วบอกว่ามีการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของขบวนการผู้หญิงฯ อันนี้เป็นตัวอย่างสำคัญว่า การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไปลอยๆอย่างนี้ ในการปฏิบัติรูปธรรมของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ มักจะพบว่า มีการใช้อำนาจแบบที่ไม่รู้ว่าอะไรคือหลักเกณฑ์ใหญ่ ถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ในสภาพที่มีรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นเรื่องจำกัดอย่างมาก ตอนนี้มีกฎหมายออกมามากมายที่กระทบต่อประชาชน และไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือนึกจะออกก็ออก ถ้าไม่มีประชาธิปไตยที่สามารถแสดงออกได้ สามารถคัดค้านสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมได้ หรือมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการออกกฎหมายหรือนโยบายได้ ขบวนการผู้หญิงที่อยู่ในทุกมิติจะได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก แม้แต่เรื่องการเลือกตั้ง คสช. บอกจะมีการเลือกตั้ง แต่ห้ามพรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหว แบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแต่ละพรรคจะมีนโยบายอย่างไร จะซักถาม คัดค้าน ตรวจสอบจนสามารถผลักดันไปสู่นโยบายที่ดีได้อย่างไร

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปอาจรู้สึกว่าประกาศหรือคำสั่ง คสช. ไม่ได้มีผลกระทบต่อตนเอง แต่จริงๆแล้วที่ผ่านมาก่อนมี คสช. ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม เครือข่ายไหน ถ้าเรามีความเห็น หรือมีความต้องการที่จะบอกกับรัฐไม่ว่าในเรื่องใดๆ เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะบอกได้ แต่เกือบ 4 ปีที่มี คสช. ได้สร้างความอึดอัดให้กับประชาชน เราไม่สามารถลุกขึ้นมาพูดได้อย่างอิสระ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้ติดตามนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการมาตลอด ถ้ามีสิ่งที่เรามีความเห็น หรือเราไม่เห็นด้วย เราก็ต้องลุกขึ้นมาสื่อสาร ลุกขึ้นมาบอกว่ารัฐควรไปในทิศทางใด แต่ที่ผ่านมาการจะลุกขึ้นมาทำแบบนี้มันยากมาก คนที่ลุกขึ้นมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐ ถูกทหาร ตำรวจติดตามถึงที่บ้าน มันเป็นการคุกคามที่ทำให้ประชาชนไม่กล้าลุกขึ้นมาทำอะไร ดังนั้น เราจึงเห็นว่าประกาศ คำสั่ง คสช. ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องมือในการคุกคามการแสดงออกของประชาชนต้องถูกยกเลิกหรือยุติได้แล้ว

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องตระหนักอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำสั่งหลายฉบับไปละเมิดสิทธิในการพัฒนา จะเห็นว่าในช่วงระยะหลัง มีการสอดรับกันในหลายเรื่อง เช่น การออกพระราชบัญญัติแร่ หรือการผลักดันโรงไฟฟ้าต่างๆ และก็ไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นคือ มีหลายครั้งในเวทีรับฟังความคิดเห็น คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐต่างถูกปิดกั้น หนักกว่านั้นมีการนำการฟ้องเพื่อปิดปากประชาชน ซึ่งข้อหาตามประกาศ คำสั่ง คสช. ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ตัวแทนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุว่า นอกจากประกาศและคำสั่ง คสช. จะส่งผลกระทบต่อพวกเราแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบต่อใครหรืออะไร ในการจับกุม เจ้าหน้าที่มีการทั้งการใช้กำลังและความรุนแรง เพราะเขารู้สึกว่าประกาศหรือคำสั่ง คสช. อนุญาตให้เขาใช้กำลังและความรุนแรงได้ หากยังจำกันได้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร มีการจัดกิจกรรมบริเวณหน้าหอศิลป์ มีนักศึกษาเกือบ 40 คนถูกจับกุมและถูกทำร้ายร่างกาย หลายคนได้รับบาดเจ็บจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อเราไปฟ้องเจ้าหน้าที่ตามข้อหาละเมิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือศาลยกฟ้อง คำสั่งเหล่านี้จึงเป็นการทำให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ทำให้ประชาชนหลายคนได้รับความเดือดร้อน

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนเมื่อมีการใช้ประกาศ หรือสั่ง คสช. ที่ไม่มีขอบเขตของการใข้อำนาจที่ชัดเจน ชาวบ้านจะรวมตัว รวมกลุ่ม หรือขึ้นมาเพื่อเรียกร้องในประเด็นที่ได้รับผลกระทบ มักจะถูกอ้างคำสั่ง คสช. ไม่ให้ชาวบ้านกระทำการดังกล่าวได้ สิ่งนี้ทำให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย เพราะสิทธิชุมชน สิทธิในการมีส่วนร่วม เสรีภาพในการชุมชน การแสดงความคิดเห็น ถูกกำกับโดยประกาศหรือคำสั่ง คสช. และยังมีประกาศหรือคำสั่งอีกจำนวนหนึ่งที่ไปลดทอนมาตรการทางสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการลงทุน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 และ 4/2559 และ 9/2559 ที่ยกเว้นกฎหมายผังเมือง จึงเห็นว่าประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้ควรจะถูกยกเลิกไปโดยเร็ว เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน ระบุว่า คสช. มีนโยบายทวงคืนผืนป่าให้ได้ 40 % ของประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ตกอยู่ที่นายทุน แต่เป็นชาวบ้านที่ยากจน บางคนถึงกับเสียสติ และตอนนี้หลายครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัยและทำกิน นี้เป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาล คสช. ดังนั้น ประกาศ คำสั่ง คสช. ที่ออกมาควรต้องถูกยกเลิกได้แล้ว เพราะมีรัฐธรรมนูฐออกมาแล้ว ไม่ควรมีการรักษาอำนาจของตัวเองไว้ เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน

***การเข้าชื่อเสนอกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนที่เห็นพ้องในหลักการดังกล่าวสามารถร่วมเข้าชื่อในแบบฟอร์ม เพื่อเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งได้ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมหรือดาวโหลดเอกสารที่ www.ilaw.or.th/10000sign