แถลงการณ์ ให้ยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ

แถลงการณ์ ให้ยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ

แถลงการณ์
ให้ยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ แต่การรณรงค์ก่อนประชามติกลับเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากการแสดงออกในทางโต้แย้งร่างรัฐธรรมนูญถูกปิดกั้น โดยเฉพาะมาตรการทางกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้รัฐบาล คสช. ได้บังคับใช้มาตรา 61 วรรคสองพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และข้อ 12. ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 อย่างกว้างขวางเพื่อปิดกั้นกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในทางที่ไม่เห็นด้วยหรือโต้แย้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ซึ่งการจับกุมนักกิจกรรม นักศึกษาและผู้สื่อข่าวรวม 5 รายที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ถือเป็นกรณีล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

องค์กรสิทธิฯ นักกฎหมาย ทนายความและนักกิจกรรมที่มีรายชื่อปรากฏท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลต่อสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงมีความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. เสรีภาพในการแสดงออก เป็นสิทธิที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งกติกาฯดังกล่าวได้ประกันสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะถือเอาความคิดเห็นใดๆโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและกระจายข่าวและความคิดเห็นทุกรูปแบบ

เสรีภาพในการแสดงออก เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการที่จะส่งเสริมความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์และถือเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย เพราะเสรีภาพดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนซึ่งความคิดเห็นอันนำไปสู่การพัฒนาสังคมการเมือง ส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดชอบของผู้ใช้อำนาจรัฐ และนำมาซึ่งการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสังคมโดยส่วนร่วม อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและการปรองดองดังที่ คสช. กล่าวอ้างเป็นเหตุในการเข้ายึดอำนาจ

การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกความคิดเห็นได้แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่และกว้างขวางที่สุดเท่านั้น ที่จะช่วยขจัดความคลุมเครือสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และถือได้ว่าการออกเสียงประชามติเป็นไปโดยอิสระภายใต้กติกาที่เป็นธรรม

2. แม้การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่โดยอำเภอใจของผู้ใช้อำนาจรัฐ และจะต้องถูกพิจารณาเป็นวิถีทางสุดท้ายภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จำเป็นแก่การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น และการรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุขหรือศีลธรรม ซึ่ง“กฎหมาย” ที่จะถูกนำมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกนั้น จะต้องไม่มีผลร้ายถึงขนาดไม่ให้แสดงความคิดเห็นอีกทั้งต้องเป็นไปตามหลักแห่งความจำเป็นและหลักสัดส่วน และกฎหมายจะต้องใช้เพื่อควบคุมการกระทำของปัจเจกชนเป็นการทั่วไป ไม่ใช่การควบคุมความคิดหรือการห้ามอย่างไร้เหตุผลและตามอำเภอใจของผู้ใช้อำนาจรัฐ รวมถึงกฎหมายนั้นจะต้องกำหนดมาตรฐานในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่มีความชัดเจนและสามารถเข้าใจได้โดยง่ายว่าการฝ่าฝืนกรณีใดบ้างจะต้องถูกดำเนินคดี

การอ้างเหตุผลว่าจะต้องรักษาความสงบเรียบร้อย (public order) หรือการรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น จะต้องไม่ใช่เพียงการกล่าวอ้างความจำเป็นอย่างกว้างขวางครอบคลุมไปทุกๆเรื่อง หรืออ้างเหตุผลลอยๆตามอำเภอใจของผู้ปกครอง แต่จะต้องแสดงถึงเหตุผลที่ชอบธรรมว่าการกระทำของปัจเจกชนนั้นจะก่อให้เกิดภยันตรายต่อรัฐอย่างไร ดังนั้น หากมีการปราบปรามหรือยับยั้งการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนโดยชอบธรรม การจับกุม ฟ้องร้องสื่อสารมวลชน นักวิชาการ นักกิจกรรม หรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารซึ่งรัฐไม่มีข้อเท็จจริงใดๆที่จะแสดงอย่างชัดแจ้งว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ย่อมถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก

3. การตีความกฎหมายที่มีโทษทางอาญาต้องกระทำโดยเคร่งครัด การตีความเพื่อบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 61 ก็เช่นเดียวกัน บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวควรมุ่งใช้บังคับกับกรณีที่มีการกระทำทางกายภาพที่แสดงออกมาชัดเจนและมีผลไปขัดขวางไม่ให้การทำประชามติเป็นไปโดยถูกต้องและเรียบร้อย การมีเอกสารไว้ในความครอบครองนั้นไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิด อีกทั้งข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นโต้แย้งตามหลักวิชาการ ซึ่งถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่พึงกระทำได้ภายใต้กรอบกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 รับรองไว้ด้วย ดังนั้น การจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาผ่านการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางเพื่อให้พฤติการณ์ที่ไม่ได้มีการกระทำความผิดที่ชัดแจ้งนั้นเป็นความผิด ย่อมขัดต่อหลักการตีความกฎหมายอาญาที่ต้องกระทำโดยเคร่งครัด

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา องค์กรสิทธิฯ นักกฎหมาย ทนายความและนักกิจกรรมที่มีรายชื่อปรากฏท้ายแถลงการณ์นี้จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและ คสช. รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยทันที

1. ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองย่อมมีพันธะที่จะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามที่กติกาฯดังกล่าวกำหนดไว้

2. ยุติการใช้กฎหมายและคำสั่ง คสช. เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และยกเลิกการตั้งข้อหาและการดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและรณรงค์เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติอย่างสันติ

3. ต้องเปิดพื้นที่การแสดงออกและแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและกว้างขว้าง ตลอดจนเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่รอบด้านและเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประชาชนทุกคน

ด้วยความเคารพต่อหลักการสิทธิสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)
3. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
4. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
5. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
6. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CRPC)
7. สมชาย หอมลออ
8. แสงชัย รัตนเสรีวงศ์
9. สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
10. พนม บุตะเขียว
11. ปรีดา ทองชุมนุม
12. ปรีดา นาคผิว
13. ส.รัตนมณี พลกล้า
14. กฤษดา ขุนณรงค์
15. สัญญา เอียดจงดี
16. สุรชัย ตรงงาม
17. วราภรณ์ อุทัยรังษี
18. ณัฐาศิริ เบิร์กแมน
19. คอรีเยาะ มานุแช
20. มนตรี อัจฉริยสกุลชัย
21. มึดา นาวานาถ
22. ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์
23. อัมรินทร์ สายจันทร์
24. มนทนา ดวงประภา
25. ศุภมาศ มะละสี
26. สุภาภรณ์ มาลัยลอย
27. จริงจัง นะแส
28. ธนกฤต โต้งฟ้า
29. มนัญญา พูลศิริ
30. ไพรัตน์ จันทร์ทอง
31. ชลธิชา ตั้งวรมงคล
32. ผรัณดา ปานแก้ว
33. บัณฑิต หอมเกษ
34. เจนจิณณ์ เอมะ
35. จุลศักดิ์ แก้วกาญจน์
36. นิจนิรันดร์ อวะภาค
37. บดินทร์ สายแสง
38. คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์
39. ประดิษฐา ปริยแก้วฟ้า
40. ธรธรร การมั่งมี
41. ภัทรานิษฐ์ เยาดำ
42. ปรียาภรณ์ ขันกำเนิด
43. สุนิดา ปิยกุลพานิชย์
44. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
45. ณัฐวดี เต็งพานิชกุล
46. อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย
47. จิรารัตน์ มูลศิริ
48. เลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล
49. อานนท์ นำภา
50. เฉลิมศรี ประเสริฐศรี
51. สลักจิต แก้วคำ
52. สุธาทิพย์ อมปาน
53. ทิตศาสตร์ สุดแสน
54. ธัญญารัตน์ เพ็งลาภ
55. นางสาวละอองดาว โนนพลกรัง
56. ประภาพรรณ สีหาฤทธิ์
57. นรเศรษฐ์ นาหนองตูม
58. อภิชาต พงษ์สวัสดิ์
59. อรษา ไตรโชค
60. กมลวรรณ แซ่เล้า
61. ชนาง อำภารักษ์
62. ยุบลวรรณ ธนะบุตร
63. นภาพร สงปรางค์
64. วัชระศักดิ์ วิจิตรจันท์
65. สุพรรษา มะเหร็ม
66. ปภพ เสียมหาญ
67. วศิน ไป่ทาฟอง
68. สมสกุล ศรีเมธีกุล