แถลงการณ์ หยุดดำเนินคดีกับทนายความที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ

แถลงการณ์ หยุดดำเนินคดีกับทนายความที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ

แถลงการณ์ การดำเนินคดีกับทนายความที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ ถือเป็นการแทรกแซงการดำเนินคดีที่เป็นธรรมและขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง


ภายหลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากจะมีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีความพิเศษผิดไปจากระบบปกติแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ตกอยู่ในสภาวะยากลำบากด้วยเช่นกัน การดำเนินคดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีทนายความอย่างน้อย 2 รายที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี หนึ่งในนั้นคือนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความให้กับนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ที่ถูกข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 ทั้งนี้ นางสาวศิริกาญจน์ ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าจะทำการตรวจค้นหาหลักฐานของ 14 นักศึกษาจากรถยนต์ของเธอ เมื่อช่วงกลางดึกวันนี้ 27 มิถุนายน 2558 แต่เธอและทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ยินยอม เนื่องจากการตรวจค้นวัตถุพยานตามกฎหมายจะต้องกระทำในที่เกิดเหตุ หรือต้องมีหมายศาล และเธอได้เข้าแจ้งความฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นี้จึงเป็นเหตุให้ต่อมาเธอถูกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน โดยในวันนี้ (27 กรกฎาคม) เธอจะเดินทางเข้าพบพนักงานอัยการตามหมายเรียกส่งตัวผู้ต้องหาเพื่อทำการสั่งคดี

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ทนายความมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม (the right to access to justice) และการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (the right to a fair trial) อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR)

การปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในการปกป้องรักษาประโยชน์ของลูกความตามหลักวิชาชีพ จึงต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ เพื่อประกันว่าสิทธิของประชาชนจะได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม โดยทนายความจะต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้อย่างเป็นอิสระและปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง การแทรกแซงที่ไม่ชอบธรรม และการเผชิญกับการถูกดำเนินคดีหรือจากการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาชีพตามมาตรฐานและจริยธรรมที่ได้รับการรับรองไว้ ซึ่งในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 11 และข้อ 12 ก็บัญญัติให้การคุ้มครองความเป็นอิสระดังกล่าวไว้ด้วย

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การพยายามดำเนินคดีกับนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ จากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องประโยชน์ของลูกความตามหลักวิชาชีพ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม และเป็นการทำลายหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมและการดำเนินคดีที่เป็นธรรมอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ถูกรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

อีกทั้ง ในฐานะปัจเจกชน หากเห็นว่าการตรวจค้นกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นย่อมมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบได้ และไม่ถือว่าการโต้แย้งหรือเพิกเฉยเช่นนั้นเป็นความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 8722/2555)

ดังนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้พนักงานอัยการพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ นอกจากนี้ รัฐต้องเคารพรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยต้องยุติการคุกคามในทุกรูปแบบต่อทนายความที่ปฎิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องประโยชน์ของลูกความตามหลักวิชาชีพ

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)