แจ้งข่าว : 27 เมษายน 2561 ขอเชิญร่วมเวทีวิชาการจากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย”

แจ้งข่าว : 27 เมษายน 2561 ขอเชิญร่วมเวทีวิชาการจากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย”

ขอเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจ เข้าร่วมเวทีวิชาการจากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย

วันที่ 27 เมษายน 2561 เวลา 13.00-16.00 น. ณ. ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายคออี้ หรือโคอี้ มีมิ หรือที่คุ้นเคยในชื่อเรียก “ปู่โคอี้” ปัจจุบันอายุ 106 ปี ปู่ถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งบางกลอย-ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นชุมนุมดั้งเดิมที่มีอยู่ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

เหตุการณ์ที่ทำให้สาธารณะรับรู้เรื่องราวของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งบางกลอย-ใจแผ่นดิน อาจจะต้องย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2554 เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐ นำโดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ปฏิบัติภารกิจที่พวกเขาเรียกว่า “การปฏิบัติงานโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” เพื่อดำเนินการผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ปฏิบัติการครั้งนั้น มีการบังคับให้ปู่โคอี้และชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่เกิดและอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวให้ออกไปจากพื้นที่ มีการเข้ารื้อ ทำลาย เผาบ้านที่ทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบตะคร้ออีกเกือบร้อยหลัง ทรัพย์สินในบ้าน ยุ้งฉาง อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆภายในบ้าน รวมถึงเมล็ดพันธุ์พืช ได้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย

เหตุการณ์ไล่รื้อครั้งนั้น เป็นเหตุให้ในปี 2555 ชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ได้รับความเสียหายจำนวน     6 คน นำโดย “ปู่โคอี้” ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครองกลาง  ต่อมา 7 กันยายน 2559 ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีเป็น   ผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  โดยปฏิเสธสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมพวกเขา และศาลยังเห็นว่าการเผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงโดยเจ้าหน้าที่นั้นเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีแล้ว แต่ศาลก็กรุณาพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายที่เผาทรัพย์สิน ให้ผู้ฟ้องคดีคนละ 10,000 บาท เนื่องจากไม่ได้แจ้งชาวบ้านล่วงหน้าเพื่อขนทรัพย์สิ่งของออกไปก่อน ผู้ฟ้องคดีจึงได้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ หลานชายของปู่โคอี้ และผู้นำในการปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย – ใจแผ่นดิน ซึ่งบิลลี่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความในคดีที่ปู่โคอี้และชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงฟ้องศาลปกครองด้วย ได้หายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไว้เมื่อ 17 เมษายน 2557 ซึ่งปัจจุบันครอบครัวก็ยังไม่ทราบชะตากรรมของเขา ที่ผ่านมาทั้งภริยาของบิลลี่ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้มีความพยายามแสวงหาแนวทางด้านกฎหมายมาใช้เพื่อดำเนินการให้มีการสืบหาตัวของบิลลี่และนำผู้กระทำผิดมารับโทษ แต่การดำเนินการเหล่านั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปัจจุบันกระบวนยุติธรรมได้หยุดอยู่ที่ชั้นสอบสวนเท่านั้น

นับเป็นเวลานานแล้วที่ชุมชนกระเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และครอบครัวของบิลลี่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ ผู้เกี่ยวข้องและองค์กรต่างๆที่ได้ติดตามสถานการณ์ ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ครอบครัวนายพอละจี (บิลลี่) รักจงเจริญ, เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และกลุ่มดินสอสี  จึงร่วมกันจัดเวทีวิชาการ ในหัวข้อ จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาและสืบหาตัวบิลลี่ เพื่อนำความยุติธรรมมาสู่ครอบครัวและชุมชนบ้านบางกลอย และเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนและวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกันเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะและเป็นประโยชน์ในอนาคตต่อไป

กำหนดการ

12.00– 13.00 น.    ลงทะเบียน

13.00 – 13.10 น.   กล่าวเปิดงาน เวทีเสวนาวิชาการ “จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย”

โดย คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

13.10 – 13.25 น. กล่าวปาฐกถาถึงความสำคัญของ “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …”

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

13.25 – 14.00 น. เสียงจากพื้นที่: จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่: การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย

โดย คุณพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายบิลลี่ และคุณนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ตัวแทนจากชุมชนบ้านบางกลอย

14.00 – 14.20 น. อุดมคติของชาวกะเหรี่ยงเรื่องบ้าน ที่ดิน

โดย คุณวุฒิ บุญเลิศ ประธานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

14.20 – 14.40 น. วิถีชีวิตและการดำรงชีวิตกระเหรี่ยง งานศึกษาทางวิชาการ

โดย ดร.ชยันต์ วรรณธนภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

14.40 – 15.10 น. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 “แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง”การออกมติคณะรัฐมนตรี / การบังคับใช้

โดย ตัวแทนคณะกรรมการของกระทรวงวัฒนธรรม

15.10 – 15.40 น. ทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์การเข้าถึงความยุติธรรมของครอบครัว ชุมชนผู้ได้รับ ผลกระทบ

ความคืบหน้าของการติดตามคดีบิลลี่ โดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

คำพิพากษาศาลปกครองคดีปู่โคอี้และผลกระทบต่ออนาคตของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย โดย คุณสมนึก ตุ้มสุภาพ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและ ผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

การสืบสวนสวบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีบิลลี่ โดย พ.ต.อ.ไตรวิช น้ำทองไทย อดีตรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7

ความเห็นของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคุณอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ความเห็นของนักวิชาการ **โดยอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความเห็นจากข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคุณสมัคร ดอนนาปี อดีตข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

15.40 – 15.50 น. สรุปประเด็นแลกเปลี่ยนเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดย คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

15.50 – 16.00 น. กล่าวปิดงาน โดย Ms. Cynthia Veliko, Regional Representative, OHCHR Regional Office for South East Asia

*กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
**รอการยืนยัน