“บ้าน” ในความเชื่อและวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดย ดร.ชยันต์ วรรณธนภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“บ้าน” ในความเชื่อและวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดย ดร.ชยันต์ วรรณธนภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สืบเนื่องจากวันที่ 27 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ครอบครัวนายพอละจี (บิลลี่) รักจงเจริญ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และกลุ่มดินสอสี ได้ร่วมกันจัดเวทีวิชาการ ในหัวข้อ จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเพื่อความเข้าใจในวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งสืบหาตัวบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่สูญหายไปหลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจากตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557

งานครั้งนี้ มีทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย นักกิจกรรม ตัวแทนภาครัฐ ชาวบ้านบางกลอย เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และผู้สนใจอื่นๆ เข้าร่วมงานผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่าเนื้อหาของการเสวนาครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจประเด็นปัญหาความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนร่วมสมัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร จึงได้ถอดความจากงานเสวนาในแต่ละช่วงมาเผยแพร่ให้คนที่สนใจและไม่ได้เข้าร่วมงานได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ตอกแรก คำกล่าวเปิดงาน เวทีเสวนาวิชาการ “จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย” โดย คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 

ตอนที่สอง ปาฐกถา ความสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ….”  โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอนที่สาม เสียงจากพื้นที่ : จากปู่คออี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย

ตอนที่สี่ บ้านในมุมมองของกะเหรี่ยง : เก็บความเวทีเสวนาวิชาการ “จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย” โดยนายวุฒิ บุญเลิศ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

**************************************************************************

“บ้าน” ในความเชื่อและวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

ดร.ชยันต์ วรรณธนภูติ
ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เราได้เห็นภาพของบ้านสองประเภทคือ บ้านตุลาการที่อยู่บนดอย และบ้านในอุดมคติของปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดิน มันบอกอะไรเราได้บ้าง ถ้าหากเรามองจากสายตาของคนที่อยู่ในอำนาจหรือตำแหน่งทางราชการ บ้านในอุดมคติอาจจะหมายถึงบ้านที่สร้างด้วยคอนกรีตและมีเฟอร์นิเจอร์พร้อมครบครัน  ซึ่งการมองเพียงแค่นั้น จะทำให้เรามองไม่เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม  เพราะแนวคิดเรื่องบ้านของกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทยล้วนแตกต่างหลากหลาย ถ้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม อย่างชาติพันธุ์มานิ แนวคิดเรื่องบ้านของเขาคือ ป่าคือบ้าน กลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่มีการสร้างบ้านถาวร บ้านคือสิ่งปลูกสร้างที่เอาไว้พักนอนในยามค่ำคืน เพื่อป้องกันฝน ลม หนาว หรือหลบแสงแดดที่ร้อน พวกเขาจะปรับให้บ้านเหมาะสมกับภูมิประเทศที่พวกเขาอยู่ การทำความเข้าใจว่าคนเมื่ออยู่กับธรรมชาติเขาก็จะสร้างบ้านให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ แบบนี้ถือเป็นการมองในทัศนะของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

เมื่อ 5 – 6 ปีก่อนมีข่าวเกี่ยวกับคุณปู่คนหนึ่งที่มีบ้านอยู่ในเรือในแม่น้ำเพชรบุรี บ้านคนอยู่บนเรือก็ได้ อยู่บนแพก็ได้ หรือชาติพันธุ์มานิอยู่ในป่าก็ได้ หรือถ้าเป็นคนไทยก็อาจจะอยู่บ้านที่ยกพื้นมีเสาสูง แต่ถ้าเป็นคนจีนฮ่อยูนนานหรือม้งจะไม่ได้อยู่บ้านที่มีเสาสูง จะปลูกบ้านบนพื้นดิน ดังนั้น บ้านจึงมีความหมายหลากหลาย ซึ่งยึดโยงกับวิถีการดำรงชีวิตของกลุ่มชนด้วย

ในกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ เราต้องเข้าใจด้วยว่าแต่ละกลุ่มไม่ได้มีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมเหมือนกัน  แต่ละกลุ่มมีวิถีชีวิตแตกต่างกัน กลุ่มที่เป็นกะเหรี่ยงหรือปาเกอะญอจะมีวิถีชีวิตอยู่กับป่า โดยอาศัยผลผลิตจากป่าเพื่อการดำรงชีวิต มีการปลูกข้าว ซึ่งการปลูกข้าวจะไม่ใช้วิธีการดำเหมือนกับวัฒนธรรมหลักของคนไทยทั่วไป คนไทยมีการกักเก็บน้ำในระบบชลประทานแล้วผันน้ำมาใช้ปลูกข้าวนาดำ แต่ถ้าเป็นกะเหรี่ยงจะมีการดำรงชีวิตด้วยการปลูกข้าวไร่  ใช้วิธีการทำไร่หมุนเวียน ใช้น้ำจากฟ้า และมีการหมุนเวียนพักพื้นที่เดิมไว้ประมาณ 7-10 ปี เพื่อให้ผืนดินฟื้นกลับคืนสภาพ ซึ่งวิถีดังกล่าวเป็นวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่อยู่บนพื้นที่สูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นพม่า จีนตอนใต้ เวียดนาม ลาว กัมพูชา อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ ก็จะมีวิถีชีวิตทำนองนี้เช่นเดียวกัน และเราอาจจะพบวิถีชีวิตแบบนี้ในแถบลาตินอเมริกาด้วย โดยเฉพาะในหมู่เกาะปาปัวนิวกินี

ชาวกะเหรี่ยงให้ความเคารพกับบ้านในลักษณะของการประกอบส่วนขึ้นมาเป็นครอบครัว ชาวกะเหรี่ยงถือว่าบ้านเป็นความหวังและความศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาอยู่ร่วมกับป่า ป่าก็คือบ้าน ป่าเป็นทรัพยากร เป็นแหล่งอาหาร เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงการดำเนินชีวิต พวกเขาจึงมีความเชื่อว่าต้องรักษาป่า  แต่ความคิดแบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในวิธีคิดของรัฐ เพราะรัฐในความหมายที่เป็นองค์กรปกครองสูงสุดมองแค่เพียงว่า จะทำอย่างไรถึงจะทำให้รัฐขยายอำนาจเข้าไปครอบคลุมอาณาบริเวณได้ (Territorialization) เพื่อทำให้รัฐสามารถอ้างสิทธิเหนือดินแดน และผู้คนตรงนั้นได้ เมื่อมีผู้คนเข้าไปอาศัย เข้าไปทำไร่หมุนเวียนในบริเวณนั้น รัฐจึงยอมไม่ได้ เพราะรัฐมองว่าทุกคนในบริเวณขอบเขตอำนาจรัฐต้องอยู่ในอำนาจของรัฐ ในช่วงที่มีความหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์ รัฐยิ่งเคร่งในการกำหนดบริเวณของผู้คน การที่คนเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆจึงเป็นปัญหาต่อความมั่นคง ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงต้องมีกฎหมายประกาศเขตอุทยานขึ้นมาควบคุม  ทำให้ผู้คนที่มีวิถีชีวิตไม่สอดคล้องกับวิถีของรัฐเป็นคนผิด

การนำกฎหมายต่างประเทศมาใช้ โดยคิดว่าป่าไม่สามารถมีคนอยู่อาศัยได้ ซึ่งตรงข้างกับวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคนี้  จึงเป็นการออกกฎหมายที่ไม่คำนึงถึงวัฒนธรรม และไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนดั้งเดิมที่อยู่กับป่ามาช้านาน

การทำไร่หมุนเวียนเป็นการทำลายป่าจริงหรือ? มีตัวอย่างของการจัดการป่าในอเมริกา ที่ไม่ให้คนอยู่ และปรากฏว่าในช่วงเวลา 5 – 6 ปี หรือ 10 ปี เมื่อมีการสะสมของใบไม้ และอุณหภูมิสูงในฤดูร้อน ทำให้เกิดไฟป่าเผาไหม้เสียหายหนัก แต่กรณีของการทำไร่หมุนเวียน มีหลักคิดหนึ่งคือการให้มีคนเข้าไปจัดการกับป่าเพื่อไม่ให้มีการสั่งสมของใบไม้ให้เกิดเป็นเชื้อเพลิง ในกรณีของชาวกะเหรี่ยง แม้จะมีการตัดต้นไม้จริง แต่ไม่ได้เป็นการตัดให้ตาย ตัดแล้วปล่อยให้โต ปล่อยไว้สักพักป่าก็จะเริ่มกลับมา วิธีการใช้ป่าแบบนี้ไม่ใช่การทำลายป่า แต่ในมองมุงของรัฐก็จะมองว่านี้เป็นการทำลายป่า ซึ่งเป็นความคิดที่ขัดแย้งกัน เป็นวิธีคิดที่มองไม่เห็นความเป็นพหุวัฒนธรรม  คิดเพียงว่าป่าไม้เป็นพื้นที่ที่รัฐจะต้องเข้าไปควบคุมไม่ให้มีคนอยู่ เราจึงต้องชี้ให้เห็นว่า การจัดการป่าไม้ต้องเข้าใจเรื่องพหุวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายด้วย