ปาฐกถา ความสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ….” โดย รศ. ดร. ปกป้อง ศรีสนิท

ปาฐกถา ความสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ….” โดย รศ. ดร. ปกป้อง ศรีสนิท

สืบเนื่องจากวันที่ 27 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ครอบครัวนายพอละจี (บิลลี่) รักจงเจริญ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และกลุ่มดินสอสี ได้ร่วมกันจัดเวทีวิชาการ ในหัวข้อ จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเพื่อความเข้าใจในวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งสืบหาตัวบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่สูญหายไปหลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจากตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557

งานครั้งนี้ มีทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย นักกิจกรรม ตัวแทนภาครัฐ ชาวบ้านบางกลอย เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และผู้สนใจอื่นๆ เข้าร่วมงานผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่าเนื้อหาของการเสวนาครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจประเด็นปัญหาความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนร่วมสมัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร จึงได้ถอดความจากงานเสวนาในแต่ละช่วงมาเผยแพร่ให้คนที่สนใจและไม่ได้เข้าร่วมงานได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป

โปรดดู ตอนแรก คำกล่าวเปิดงาน เวทีเสวนาวิชาการ “จากปู่โคอี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย” โดย คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 

**************************************************************************

ปาฐกถา ความสำคัญของ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ….” : รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในบรรดาสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ในระดับสากลถือกันว่ามีอยู่บางสิทธิที่เป็นสิทธิมนุษยชนที่สูงสุดที่รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจละเมิดได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ประการแรกคือสิทธิที่จะไม่ถูกฆ่านอกกฎหมาย ประการที่สองคือสิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน และประการที่สามคือสิทธิที่จะไม่ถูกรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอุ้มหรือบังคับให้สูญหายไปโดยไม่บอกชะตากรรมและแหล่งที่อยู่

โดยทั่วไป เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ รัฐอาจจะงดเว้นชั่วคราวในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ เช่น เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐต้องรักษาความสงบไว้ รัฐอาจจะยกเว้นไม่ให้มีการอุทธรณ์ในคดีอาญาบางคดี อาจจะงดเว้นไม่ให้สิทธิในการพบหรือมีทนายความหรือให้พบทนายความล่าช้าออกไปกว่ากฎหมายปกติได้ แต่การงดเว้นดังกล่าวต้องมีการรายงานไปยังกลไกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองว่ารัฐนั้นจะงดเว้นสิทธิบางอย่างเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือรักษาความปลอดภัยของรัฐไว้

อย่างไรก็แล้วตาม มีสิทธิมนุษยชนบางประการที่รัฐจะงดเว้นไม่ได้   ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ สิทธิเหล่านี้ได้แก่ สิทธิที่จะไม่ถูกพรากชีวิตโดยอำเภอใจหรือการฆ่านอกกฎหมาย สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้สูญหาย ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน สถานการณ์สงคราม สถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมาอ้างสถานการณ์เหล่านี้ มาจับคนไปฆ่านอกกฎหมาย จับคนไปทรมาน หรืออุ้มคนให้หายไปไม่ได้ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีแล้ว และรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการให้สัตยาบัน

สิ่งที่กล่าวมาเป็นภาพในระดับสากลที่กำลังอธิบายว่า คนเราทุกคนเกิดมามีความเป็นมนุษย์ และจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มหายไป หรือซ้อมทรมาน หรือฆ่านอกกฎหมายไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆ และเขามีอนุสัญญาระหว่างประเทศมากมายที่ให้การคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนสูงสุดไว้ ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นภาคีและเข้าผูกพันตามอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิดังกล่าวหลายฉบับ

ประเทศไทยพยายามที่จะออกกฎหมาย เรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเพื่อป้องกันไม่ให้มีเจ้าหน้าที่รัฐมากระทำการทรมานประชาชน หรืออุ้มคนให้หายไป กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่พยายามจะทำตามอนุสัญญาระหว่างประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล  ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะในระดับประชาชนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ในระดับรัฐด้วย เพราะจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเหมือนกับนานาอารยประเทศที่เขามีกัน และเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศต่อสายตาของประชาคมโลก นี้จึงเป็นความจำเป็นในการออกกฎหมายฉบับนี้

ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ ผมเชื่อว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจะถูกยกระดับให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน เหตุผลเพราะในปัจจุบัน การซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกลงโทษตามกฎหมายอาญาเหมือนกับประชาชนไปอุ้มประชาชนด้วยกัน เหมือนกับประชาชนไปจับประชาชนด้วยกันมาซ้อมทรมาน ซึ่งโทษน้อยมา วิธีการสืบสวนสอบสวนก็ใช้วิธีปกติทั่วไป ซึ่งใช้ไม่ได้เลยกับการทรมานหรือการบังคับสูญหายที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในระดับสากลมองว่าการทรมานและบังคับสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สูงที่สุด มันมีความสลับซับซ้อนในการสืบสวนสอบสวน และมีความยากลำบากมากในการป้องกันปราบปราม เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนทั่วไปลักพาตัวไปแบบธรรมดา มันไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนทั่วไปจับตัวคู่อริมาทรมาน มันเป็นเรื่องที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับประชาชน ดังนั้น การซ้อมทรมานและบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง และต้องมีวิธีการสืบสวนสอบสวนที่ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าคดีที่ประชาชนทั่วไปกระทำความผิด

สำหรับการผลักดันให้มีกฎหมายฉบับนี้ ได้เคยมีการเสนอร่างแรกต่อสภานิติบัญญัติ (สนช.) แล้ว แต่ สนช. บอกให้เอากลับไปทบทวนใหม่ ตอนนี้เราได้ปรับปรุงร่างกฎหมายใหม่แล้ว ผมขอวิงวอนว่าในอนาคตแม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการปรับปรุงแก้ไขอะไรก็แล้วแต่  ผมอยากให้ยึดตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีหรือไปลงนามไว้แล้วเป็นหลัก เพราะถ้าไปปรับอะไรมากหรือแตกต่างจากพันธกรณีระหว่างประเทศมากเกินไป มันก็ไม่มีประโยชน์ สังคมโลกก็จะมองว่าประเทศไทยออกกฎหมายไม่ตรงกับมาตรฐานตามพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันอยู่ แม้การปรับแก้กฎหมายจะเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของความเห็น แต่ถ้ายึดตามพันธกรณีระหว่างประเทศหรือมาตรฐานระหว่างประเทศเป็นหลักแล้ว ผมคิดว่ามันสามารถอธิบายได้

กฎหมายเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีดังที่กล่าวไปแล้ว แต่การมีกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งที่ควรมีควบคู่ไปกับกฎหมายคือทำอย่างไรให้กฎหมายบังคับใช้ได้ ทำอย่างไรจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเปลี่ยนทัศนคติมองว่าการทรมานและการบังคับสูญหายเป็นเรื่องที่ต้องห้ามและเขาไม่ทำกัน และสุดท้ายคือ ทำอย่างไรให้คนในสังคมไทยมองว่าการทรมานหรือการบังคับสูญหายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และไม่สมควรที่จะต้องทำไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆก็แล้วแต่

ดังนั้น ผมอยากให้การเสวนาวันนี้เกิดการแลกเปลี่ยนและนำไปสู่การผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย หรือการสร้างทัศนคติที่ดีในสังคมไทยว่าการทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ว่าในสถานการณ์ใด ขอบคุณครับ