เพื่อผืนดินแม่ : การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรและชุมชนจากการทำเหมืองหินที่บ้านกลาง อ่าวลึก จังหวัดกระบี่

เพื่อผืนดินแม่ : การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรและชุมชนจากการทำเหมืองหินที่บ้านกลาง อ่าวลึก จังหวัดกระบี่

ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนอาจจะได้ยินชื่อตำบลบ้านกลาง อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญสังหาร 8 ศพ

แต่อย่าตกใจไป บทความชิ้นนี้ ไม่ได้จะพาไปสืบสวนค้นหาความจริงอะไรจากเหตุการณ์ดังกล่าว อันนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมได้ทำงานไป เราก็คงได้แต่ติดตามตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่จากข้างนอก

สำหรับสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ ผมจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับบ้านกลางในมิติของการต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและชุมชนของพวกเขา จากการพัฒนาที่ถูกยัดเหยียดให้

ก่อนเริ่มเดินทาง ผมจะพาไปแนะนำให้รู้จักกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง พวกเขาคือ “กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นบ้านกลาง” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านจำนวนหนึ่งในตำบลบ้านกลาง การก่อตั้งกลุ่มแต่เดิม มีวัตถุประสงค์เพียงแค่งานอนุรักษ์แหล่งน้ำและป่าไม้ทั่วไปที่มีในหมู่บ้าน แต่ชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไป เมื่อมีบริษัทเอกชนเข้ามาขอประทานบัตรเหมืองหินในภูเขา 2 ลูกที่อยู่ใกล้ชุมชน  หลังจากนั้นทางกลุ่มก็ได้มีการเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านกับการทำเหมืองหินมาโดยตลอด

อ้าว! แล้วทำไมต้องมาคัดค้านเหมืองหินล่ะ มันไม่ดีตรงไหน มันเป็นการพัฒนาประเทศไม่ใช่หรอ?

กิจการเหมืองแร่ เป็นกิจการที่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากชุมชนเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าการดำเนินกิจการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง และที่สำคัญ กรทำเหมืองแร่ที่ผ่านๆมามันสร้างผลกระทบกับชุมชนมาแล้วมากมายในหลายพื้นที่

ในบรรดาการทำเหมืองแร่ทั้งปวง การทำเหมืองแร่หินปูน เป็นกิจการที่มีจำนวนมากในประเทศไทย ข้อมูลของกลุ่มควบคุมสัมปทานและกำกับการผลิต สำนักเหมืองแร่และสัมปทานกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ระบุว่า ปัจจุบันรัฐได้ประกาศกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จำนวน 318 แหล่ง  บนพื้นที่ 141,394.00 ไร่  ปริมาณสำรองหินอุตสาหกรรม 8,010.04 ล้านเมตริกตัน[1]

มีการให้ประทานบัตรเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง จำนวนกว่า 1,536 สัมปทาน[2]  เป็นสัมปทานที่ยังมีอายุอยู่จำนวน 823 สัมปทาน[3] และจากฐานข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พบว่ามีการประกอบกิจการโรงโม่ บดและย่อยหินอยู่จำนวน 367 โรง กระจายอยู่ใน 53 จังหวัด[4]

ที่ผ่านมาการประกอบกิจการเหมืองหิน ได้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอยู่พอสมควร อย่างเช่น กรณีเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา  ซึ่งในกระบวนการในการพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการ ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และหลังจากประกอบกิจการก็พบว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นหลายประการ อาทิ ปัญหาความเสียหายต่อบ้านเรือน หินกระเด็นตกหล่นใส่หลังคาบ้าน  ทรัพย์สินแตกร้าวเสียหายปัญหาผลกระทบจากฝุ่นละออง  ซึ่งเกิดจากทุกขั้นตอนของกระบวนการทำเหมืองหินปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพจิตจากเสียงดัง ปัญหาแรงสั่นสะเทือนอันส่งผลต่อสุขภาวะของคนโดยทั่วไปปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  วิถีการทำกิน  และการดำรงชีวิตของคนในชุมชน[5]

กรณีเหมืองหินปูน ตำบลผางาม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ประชาชนคัดค้านเพราะแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินกระทบต่อเพดานถ้ำธารลอดใต้ภูเขาดอยแม่ออกรูถล่มลงมา และมีผลกระทบกับแหล่งต้นน้ำของลำเหมืองดอยแม่ออกรูที่ใช้ในการเกษตร ทำให้เกิดเสียงดังรบกวน สร้างความรำคาญแก่ชุมชนและก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นละออง [6]

เหมืองหินและโรงโม่หิน ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ก่อผลกระทบต่อลำห้วยแม่ลาน้อย ซึ่งเป็นลำน้ำหลักที่ใช้ในการเกษตรกรรมเกิดการตื้นเขินและมีทางน้ำไหลมาจากหน้าเหมืองและโรงโม่ การระเบิดหินทำให้ทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการไม่มีการฉีดน้ำพรมถนน ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง เสียงดังจากการระเบิดและโม่หิน รวมทั้งแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินทำให้หลังคาแตกร้าว และมีเศษหินกระเด็น[7]

กรณีเหมืองหินและโรงโม่หินบริเวณ ตำบลหน้าพระลาน อำเภอหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การมีมติคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเรื่องการกำหนดโรงโม่ บด และย่อยหิน เป็นสถานประกอบการที่ต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเรื่องการประกาศให้พื้นที่บริเวณหน้าพระลาน เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและเขตควบคุมมลพิษ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535[8]

นั้นแหละครับ แม้ว่ากิจการเหมืองหินจะมีประโยชน์ แต่มักเป็นกิจการที่กีดกันการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่วนหนึ่งมาจากฐานคิดที่ว่า “แร่เป็นของรัฐ”  รัฐจึงผูกขาดการนำทรัพยากรแร่ไปใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของทรัพยากรของชุมชน ทำให้เกิดการคัดค้านจากชุมชน เกิดผลกระทบและการละเมิดสิทธิของประชาชนในชุมชนตลอดมา

เหตุผลในการคัดค้านของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ที่บ้านกลาง ก็มีเหตุผลไม่แตกต่างกับหลายกรณีที่ผ่านมา คือการออกประทานบัตรเหมืองหินขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน ไม่มีการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านหวั่นเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  ดังเสียงสะท้องของชาวบ้านในพื้นที่คนหนึ่งที่บอกกับเราว่า

ที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันคัดค้าน ก็เพราะว่า ถ้าเกิดโรงโม่หินแล้ว ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบด้านต่างๆ เช่นแรงสั่นสะเทือนฝุ่นละอองการจราจรและกระทบถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ใช้วิธีชีวิตอยู่  ชาวบ้านที่นี้ส่วนใหญ่ทำการเกษตร และภูเขายังเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านด้วย”

“คลองที่ไหลผ่านชุมชน มีต้นน้ำอยู่ที่เขาเหล็กไฟ ภูเขาที่ถูกให้ประทานบัตรทำเหมืองหิน ถ้ามีการระเบิดภูเขา ย่อมกระทบต่อสายน้ำลำคลองนี้แน่นอน” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวเสริม

 

เมื่อเหมืองแร่เข้ามา การปกป้องมาตุภูมิจึงเริ่มต้นขึ้น

ช่วงประมาณกลางปี 2550 ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงโม่ตรังภูทอง (ห้างหุ้นส่วนฯ) ได้เริ่มเข้ามาดำเนินการขอให้ทางราชการกำหนดพื้นที่กลุ่มภูเขาขาว 2 ลูก (ชาวบ้านเรียกว่า “เขาโนราห์ และเขาเหล็กไฟ” ) เป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม จากนั้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ออกประกาศกระทรวงฉบับที่ 26 ลงวันที่ 23 เมษายน 2553 กำหนดกลุ่มภูเขาดังกล่าวเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมของจังหวัดกระบี่

วันที่ 29 เมษายน 2553 ห้างหุ้นส่วนฯ ได้ยื่นขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง คำขอประทานบัตรที่ 1/2553 ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมกระบี่ ที่ตั้งโครงการอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านกลาง อำเภออ่าวลึก จังหวัด กระบี่ พื้นที่ 62 ไร่ 78 ตารางวา

 

“ตอนที่เขาเข้ามาขอสัมปทาน ชาวบ้านใกล้เคียงไม่มีใครได้รับทราบรับรู้ข้อมูลที่เขามาขอสัมปทานเลย  ชาวบ้านบางส่วนยังโดนปลอมรายชื่อในการทำประชาคมหมู่บ้าน คือมีชื่ออยู่ในรายงานประชาคม แต่ตัวไม่ได้เข้าร่วมการประชาคมครั้งนั้น”

 

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ เล่าให้เราฟังว่า แม้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ จะได้ทำการปิดประกาศการขอประทานบัตร ไว้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 แต่ชาวบ้านในพื้นที่แทบไม่ทราบถึงการปิดประกาศดังกล่าวเลย จึงไม่ได้มีการโต้แย้งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด พวกเขาได้ทราบข่าวการขอประทานบัตรหลังจากพ้นระยะเวลาการโต้แย้งตามประกาศของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ แต่ทางกลุ่มฯก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาได้เริ่มศึกษาถึงความเป็นมาของโครงการ มีการทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานมากมาย

แต่สุดท้าย วันที่ 25 ตุลาคม 2555 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประทานบัตรให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงโม่ตรังภูทอง ประทานบัตรเลขที่ 24001/16004 มีอายุ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2555 หมดอายุวันที่ 24 ตุลาคม 2565

แม้จะมีการออกประทานบัตรไปแล้ว แต่ทางกลุ่มฯก็ยังไม่ย้อท้อ พวกเขายังหาข้อมูลและทำการตรวจสอบตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเข็มข้น จนพบว่ามีการปลอมแปลงลายมือชื่อชื่อผู้เข้าร่วมประชุมประชาคมที่จัดขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคม 2553 ในหมู่ที่ 2 ตำบลบ้างกลาง อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ โดยในรายงานประชาคมอ้างว่ามีชาวบ้านเข้าประชุมทั้งสิ้น 364 คน ที่ประชุมครั้งนั้นมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่ตรังภูทอง ดำเนินการขอประทานบัตรได้ ทางกลุ่มฯก็ได้มีการแจ้งความเรื่องการปลอมลายมือชื่อดังกล่าวต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภออ่าวลึก

นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังได้พบความไม่ชอบมาพากลในเรื่องการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของที่ดินเพื่อแสดงการยินยอมให้ใช้พื้นที่ที่ขอประทานบัตร ซึ่งห้างหุ้นส่วนฯ ได้ใช้ประกอบการยื่นขอประทานบัตรด้วย ในเรื่องนี้ จังหวัดกระบี่ได้เข้ามาทำการตรวจสอบและมีคำสั่งระงับการกระทำใดๆ เกี่ยวกับประทานบัตรแปลงดังกล่าวไว้ชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีหรือดำเนินการใดๆต่อในเรื่องนี้

แต่การต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ไม่ได้ง่าย พวกเขาต้องแรกมากับคดีความ เป็นคดีอาญา 3 คดี และคดีแพ่ง 1 คดี กล่าวคือ วันที่ 17 พฤษภาคม 2556 ชาวบ้าน 7 คนถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทกำนันสุรชาติ บ้านนบ และห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงโม่ตรังภูทอง  และต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม 2556 ชาวบ้าน 7 คนถูกฟ้องในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงโม่ตรังภูทอง คดีนี้โจทก์ถอนฟ้อง และวันที่ 23 กันยายน 2556 ชาวบ้าน 2 คน ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ส่วนของคดีแพ่ง ชาวบ้าน 4 คน ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เป็นจำนวนเงินกว่า 10,500,000 บาท แม้สุดท้าย คดีเหล่านี้โจทก์จะได้ถอนฟ้องไป แต่มันก็ถือเป็นการใช้กฎหมายคุกคามการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชนของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเสียเวลาและค่าใช้จ่ายพอสมควร

 

ในร้ายมีดี ความหวังเริ่มปรากฏ

ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 หลังจากที่กลุ่มฯได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ และเริ่มมีคนเข้ามาสนใจมากขึ้น  กลุ่มอนุรักษ์ฯได้พบกับ นายนิวัติ วัฒนยมนาพร กรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่นำไปส่การค้นพบแหล่งโบราณสถานในพื้นที่กลุ่มภูเขาขาวที่ถูกให้ประทานบัตรทำเหมือง  หลังจากนั้นก็มีการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร นายนิวัติ วัฒนยมนาพร และกลุ่มอนุรักษ์บ้านกลาง  จากการสำรวจบริเวณกลุ่มภูเขาขาวในจุดถ้ำโนราห์  พบว่าภายในถ้ำมีภาพเขียนสีโบราณ รูปทรงเลขาคณิต บางภาพคล้ายเรือและปลา จำนวนกว่า 10 ภาพ อายุราว 3,000-5,000 ปี และยังมีการพบภาชนะดินเผา และชิ้นสวนกระดูกจำนวนหนึ่งด้วย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 กรมศิลปากร ได้ประกาศ เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเขาขาว ตำบลบ้านกลาง อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่โบราณสถาน โดยมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559[9] การประกาศขึ้นทะเบียนแหลงโบราณสถาน ทำให้ประทานบัตรเหมืองหินต้องหยุดชะงักลง

 

กรรมการสิทธิฯชี้ การออกประทานบัตรไม่ชอบ

นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังได้ร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เข้ามาตรวจสอบ และในช่วงเดือนมกราคม 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ทำการตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบที่ 31 / 2558 เรื่องสิทธิชุมชน กรณีคัดค้านการให้ประทานบัตรเหมืองแร่หินในเขตชุมชน หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านกลาง พบว่า กระบวนการพิจารณาออกประทานบัตรเหมืองแร่หิน ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 66 และมาตรา 67

 

บริษัทเจ้าของประทานบัตรไม่ลดละความพยายาม ยังเดินหน้าขออนุญาตประกอบกิจการโรงโม่หิน

แม้กลุ่มอนุรักษ์จะต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง มีการพบความไม่ชอบมาพากลของการขอประทานบัตรทำเหมืองหิน อีกทั้งพบว่าภูเขาลูกที่ขอประทานบัตรเป็นแหล่งโบราณคดี ถึงกระนั้น เอกชนผู้ประกอบการก็ยังไม่ยอมหยุด ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 บริษัท อ่าวลึก ศิลาทอง จำกัด (ผู้รับช่วงการทำเหมืองสำหรับประทานบัตรที่ 24001/16004 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่ตรังภูทอง) (บริษัทฯ ) ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโม่ บดหรือย่อยหิน ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่

กลุ่มอนุรักษ์ ฯ ก็ยังคงเดินหน้าคัดค้านการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโม่ บดหรือย่อยหินของบริษัท อ่าวลึกศิลาทอง จำกัด แต่เสียงของชาวบ้านไม่ดังพอที่หน่วยงานรัฐจะรับฟัง  เพราะวันที่ 2 ตุลาคม 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก็ได้พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้กับบริษัท อ่าวลึก ศิลาทอง จำกัด[10]

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน บริษัทก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการทำเหมืองหินได้ เพราะติดเงื่อนไขเรื่องแหล่งโบราณสถาน  ทำให้ปัจจุบันทางบริษัทยื่นฟ้องกรมศิลปากรต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณสถานในพื้นที่เขาขาว

การต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษฯ จึงยังไม่สิ้นสุด พวกเขายังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินแม่ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา

การต่อสู้ของชาวบ้าน ไม่ใช่มีเพียงการคัดค้านไม่ให้ทำเหมืองแบบหัวชนฝาเท่านั้น พวกเขายังร่วมกับนักวิชาการ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ทำงานวิจัยเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ด้วย และตอนนี้ พวกเขากำลังร่วมกันผลักดันแนวทางการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง

 

“ตอนนี้ชาวบ้านได้ช่วยเป็นอาสาสมัครให้กรมศิลปากรในการดูแลรักษาแหล่งโบราณสถาน และในอนาคตเราอยากจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือแหล่งเรียนรู้” ชาวบ้านท่านหนึ่งกล่าว

 

ขอบคุณรูปภาพส่วนหนึ่งจากเพจ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนบ้านเขากลม

 

อ้างอิง

[1]กลุ่มควบคุมสัมปทานและกำกับการผลิต สำนักเหมืองแร่และสัมปทาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เข้าถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2560, http://www.dpim.go.th/qry-stones/quarry3.php

[2]รวมการทำเหมืองหินที่ใช้ในการก่อสร้างและการทำเหมืองหินปูน ยิปซัม ชอล์กและโดโลไมต

[3]กลุ่มควบคุมสัมปทานและกำกับการผลิต สำนักเหมืองแร่และสัมปทาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, http://www.dpim.go.th/webservices/con_report.php?command=excelReportExport&reportname=concession_report&reqProvinceLocation=&reportType=html&concessionTypeLv=01&startSearch=Y¶m=dt%3D1463740676384%26ran%3D1463740676384&pid=00&mineralid=&typeDoc=¤t_page=&max_page=6¤tDate=20%2F05%2F2559&tsic_hidden=M_TSIC_0015&concessionNo=&tsic_id=&customerName=&provinceLv=00&mineral1=&mineral2=&effectiveDtStart=&effectiveDtEnd=&expireDtStartHTML=&expireDtStart=&expireDtEnd=&concession_status=&expireFlagCheck=20%2F05%2F2559&expireDt=  วันที่สืบค้นข้อมูล : 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560

[4]กลุ่มควบคุมสัมปทานและกำกับการผลิต สำนักเหมืองแร่และสัมปทานhttp://www.dpim.go.th/webservices/facstone_report.php

[5]คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 436/2556 เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2556

[6]คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและตรวจสอบกรณีปัญหาเหมืองแร่ คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อ้างแล้ว หน้า 75- 79

[7]คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและตรวจสอบกรณีปัญหาเหมืองแร่ คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อ้างแล้ว หน้า 122

[8]กรมควบคุมมลพิษ, สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย พ.ศ. 2547, เข้าถึงออนไลน์http://infofile.pcd.go.th/mgt/report47.pdf?CFID=3207037&CFTOKEN=57707387และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2547) เรือง การกำหนดให้ท้องที่เขตตำบลหน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ. สระบุรี เป็นเขตควบคุมมลพิษ, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 104 งวันที่ 22 กันยายน 2547

[9]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 79 ง วันที่ 4 เมษายน 2559

[10]เอกสารสำเนาบันทึกข้อความ กพร. สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 4 ภูเก็ต ที่ อก 0517/4498 เรื่อง ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัท อ่าวลึก ศิลาทอง จำกัด ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2558