สามนักสิทธิ : การดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุของการรายงานและกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สามนักสิทธิ : การดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุของการรายงานและกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี กล่าวหานายสมชาย หอมลออ กับพวก ผู้ต้องหา โดยเรียกนายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในข้อหา “ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ ผู้เสียหายตรวจพบว่า มีการนำเอาเอกสารรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2557-2558 ซึ่งเป็นความเท็จ ไปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในเวปไซต์  http://voicefromthais.wordpress.com และจัดพิมพ์แจกจ่ายให้คนทั่วไปทราบ”  ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2559 พ.ต.ท.วิญญู เทียมราช พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหา รวมสามคนไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งทั้งสามคน ได้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 26 ก.ค.2559 โดยทั้งสามให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และทั้ง 3 คนจะส่งรายละเอียดคำปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเอกสารในภายหลัง ภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน

การแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ได้เก็บข้อมูลและเรียบเรียงจัดทำ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558”(http://www.deepsouthwatch.org/node/8106) และเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกสถาบันทดสอบภาษาอาหรับ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ทางกอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ได้ทำการแถลงข่าวชี้แจงว่า ไม่มีการซ้อมทรมานจริงตามรายงานตามที่รายงานดังกล่าวได้อ้างไว้ และข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเก่า รายงานฉบับนี้จงใจทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ พร้อมที่จะเปิดให้มีการตรวจสอบความโปร่งใส

ในเรื่องนี้ คณะจัดทำรายงาน ได้มีการชี้แจงว่าการเผยแพร่รายงานจัดทำเป็นภาษาไทยและอังกฤษ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายความมั่นคง หากมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และต้องการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทันที เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียหายต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ และรายงานฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายตามวัตถุประสงค์ของ UN Voluntary Fund for Torture Victim ที่ให้ทุนในการทำงาน โดยเป็นการขอตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานจำนวน 54 ราย พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปีพ.ศ.2558 จำนวน 15 รายและในปี 2557 จำนวน 17 ราย และเหตุการณ์ระหว่างปี 2547-2556 จำนวน 21 ราย รวม 54 ราย วิธีการดำเนินการคือการสอบถามตามแบบสอบถาม Proxy Medical Evaluation เพื่อบันทึกผลกระทบจากการทรมานทางด้านร่างกายและจิตใจ ตามหลักการ Istanbul Protocol เนื่องจากการทรมานนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ปิดลับ เหตุร้องเรียนเกิดขึ้นระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเท่านั้น การควบคุมตัวบุคคลเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และ ข้อจำกัดในการเข้าถึงบุคคลในสถานที่ควบคุมตัว ทั้งโดยญาติ บุคคลภายนอก หรือแพทย์ ทนายความ หน่วยงานที่เป็นอิสระ เป็นต้น

การจัดทำรายงานฉบับดังกล่าวจึงเป็นไปตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน ภายใต้หลักการสากลที่เรียกว่า “Istanbul Protocol” ซึ่งเป็นคู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานกรณีการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nation Fund for Victims of Torture) ภายใต้หลักการตาม“อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี”ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

 

ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม