ไพโรจน์ พลเพชร : เราต้องยืนยันว่าเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ไม่ว่าในรัฐบาลไหน

ไพโรจน์ พลเพชร : เราต้องยืนยันว่าเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ไม่ว่าในรัฐบาลไหน

วันพุธที่ 15 มีนาคมนี้ เวลา 09.30 น. ศาลอาญารัชดานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ 10 เอนจีโอ/นักเคลื่อนไหวชุมนุมและปีนรั้วเข้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงปี 2550

คดีนี้เราเรียกกันสั้นๆติดปากว่า “คดีปีนสภา” ความเป็นมาของคดีนี้ก็คือ ในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ไม่กี่วัน  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้มีการเร่งรีบพิจารณาร่างกฎหมายจำนวนมาก โดยร่างกฎหมายหลายฉบับมีเนื้อหาที่ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน  ทำให้กลุ่มบุคคลและองค์กรภาคเอกชนหลายร้อยคน ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อแสดงความถึงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งคัดค้านการพิจารณาออกกฎหมายจำนวน 11 ฉบับ อาทิ ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ประชาชนหลายร้อยคน นัดชุมนุมกันที่บริเวณหน้ารัฐสภา และได้มีการปีนเข้าไปในอาคารรัฐสภา เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุม 10 คน ประกอบด้วย 1) นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม 2) นายสาวิทย์ แก้วหวาน 3) นายศิริชัย ไม้งาม 4) นายพิชิต ไชยมงคล 5) นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท 6) นายนัสเซอร์ ยีหมะ 7) นายอำนาจ พละมี 8) นายไพโรจน์ พลเพชร 9) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง และ 10) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน) มาตรา 215 (มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) มาตรา 362,364 (บุกรุก) มาตรา 365 (บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย)

ในปลายเดือนธันวาคม 2553 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้และศาลรับฟ้อง ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2556 ศาลอาญาก็มีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 10 กระทำความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุก ให้ลงโทษจำคุกและปรับจำเลย แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ให้ลดโทษคนละหนึ่งในสาม และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 10 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี 

จำเลยทั้ง 10 ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิด เพราะแม้จะมีการปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภาได้ แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะคัดค้านการประชุมของ สนช.ที่จำเลยเห็นว่าเร่งรีบพิจารณาออกกฎหมาย ขณะที่การเข้าไปในอาคารดังกล่าว ก็ไม่ได้มีอาวุธหรือเข้าไปทำลายทรัพย์สิน ครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารรัฐสภา และไม่ได้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานส่วนอื่นของรัฐสภาจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยเมื่อมีการยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องแล้วจำเลยและผู้ชุมนุมก็ได้ออกมาจากอาคารรัฐสภาโดยสงบ ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ได้ให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมเรียกร้องที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงขาดเจตนา

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นมุมมองเรื่องเสรีภาพการชุมนุมในมิติเชิงกฎหมายที่แตกต่างกัน คำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นชั้นศาลสุดท้ายที่จะออกมาในวันที่ 15 มีนาคมนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะมีการวางบรรทัดฐานสำคัญทางกฎหมายบางประการเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพการชุมนุมในสังคมไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่เสรีภาพการชุมนุมถูกจำกัดอย่างอย่างเคร่งครัดด้วยกฎหมายที่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น HRLA พยายามติดต่อพูดคุยกับบุคคลต่างๆที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการชุมนุม มีทั้งเอนจีโอ ชาวบ้าน นักกิจกรรม นักกฎหมาย ทนายความ เพื่อนำเรื่องราวและความคิดความเห็นของพวกเขามาสื่อสารต่อคนอื่นๆ เพราะเราเห็นว่า นอกจากมุมมองทางกฎหมายที่ผ่านคำพิพากษาของศาลแล้ว มุมมองอื่นๆเกี่ยวกับการชุมนุมก็ควรถูกสื่อสารต่อสาธารณะเช่นกัน เนื่องจากผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย พอพูดถึงเรื่องเสรีภาพการชุมนุมแล้วจะรู้สึกไม่ค่อยชอบใจ เพราะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีความขัดแย้งและความวุ่นวายเกิดขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสังคม “ไทยนี้รักสงบ”

ด้วยเหตุนี้ เราจะอยากบอกเล่าเรื่องราว ความคิดและความรู้สึกของคนที่เคยผ่านประสบการณ์การชุมนุมในบางแง่มุม โดยหวังว่าเราจะได้เห็นกันและกันมากขึ้น และเพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมในสังคมมนุษย์ที่มีความหลากหลายอย่างเข้าใจกันและกัน

สำหรับบุคคนแรกที่เราจะมาพูดคุยกับเขา ก็คือ คุณไพโรจน์ พลเพชร หนึ่งในจำเลยคดีปีนสภา ซึ่งเขาเป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทในขบวนการภาคประชาสังคมและสิทธิมนุษยชนในอดีตและปัจจุบัน โดยขณะเกิดเหตุการณ์ชุมนุมปีนสภาเมื่อปี 2550 นั้น เขามีบทบาทเป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และในอดีตเขาเคยเป็นเลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

Q : ช่วยเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ฟังคร่าวๆหน่อยค่ะว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

ย้อนไปเมื่อปี 2550  หลังรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ออกกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตอนนั้นผมทำงานอยู่คณะประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) โดยมีเครือข่ายแรงงาน เครือข่ายชาวนา และเครือข่ายภาคประชาสังคม  ช่วงนั้นสภานิติบัญญัติมีการเร่งออกกฎหมายหลายฉบับ แต่ที่เราค้านจริงๆ มี 11 ฉบับที่เห็นว่ามันจะกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง  ยกตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากรน้ำ  ร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ และเราเห็นว่าการกฎหมายมันควรออกโดยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

ในช่วงที่ไปชุมนุมกัน ตอนนั้นเป็นช่วงก่อนเลือกตั้งทั่วไปไม่นานนัก โดยวันที่ 23 ธันวาคม 2550  จะมีการเลือกตั้งทั่วไป  เราเห็นว่าสนช.ควรยุติการพิจารณาร่างกฎหมายได้แล้ว  แต่สนช.กลับเร่งรัดออกกฎหมาย เราก็ไปชุมนุมกัน จริงๆการชุมนุมมีสามวันนะ แต่วันที่เกิดเหตุที่ปีนเข้าไปในรัฐสภาคือวันที่ 12 ธันวาคม 2550 เราก็ไปยืนอยู่ด้านหน้ารัฐสภา มีการอภิปรายปัญหาของร่างกฎหมายแต่ละฉบับทั้งสิบเอ็ดฉบับ พอวันที่ 12 ธันวาก็มีการปีนรั้วสภาเข้าไปข้างใน เพราะตอนนั้นเขาปิดประตูรัฐสภา เราก็ปีนเข้าไปโดยใช้บันไดพาดแล้วก็ปีนเข้าไปเพื่อต้องการแสดงออกว่าเราไม่เห็นด้วย ขอให้หยุดการพิจารณากฎหมาย เราเห็นว่า สนช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  เป็นการแต่งตั้งขึ้นมาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ จึงไม่ควรจะเป็นผู้พิจารณาออกกฎหมาย

เราเข้าไปในตึกชั้น 2 ไปยังหน้าห้องที่มีการประชุม สนช . ซึ่งขณะนั้นมีการประชุมสภานิติบัญญัติอภิปรายกันอยู่ด้วย มี สนช. สองคนออกมาพูดคุยกับผู้ชุมนุม คือ คุณเตือนใจ ดีเทศกับคุณวัลลภ ตังคณานุรักษ์ มารับฟังข้อเสนอและรับว่าจะไปเจรจากับคุณมีชัย  ฤชุพันธ์ ประธานรสภานิติบัญญัติแห่ชาติ และมีพลตำรวจโทอัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เข้ามาเจราจากับพวกเรา กระทั่งคุณมีชัย ฤชุพันธ์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าจะยุติการประชุมในวันนั้น พลตำรวจโทอัศวิน ขวัญเมืองเป็นผู้มาแจ้งข่าว เราก็เดินออกจากรัฐสภา และมาประกาศกับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอยู่ด้านนอก เราก็เลิกชุมนุมกันไป แต่หลังจากนั้นเขาก็แจ้งข้อกล่าวหาพวกเรา 10 คน ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย  ผู้ต้องหาก็มีอาจารย์จอห์น อึ้งภากรณ์ และผมในตอนนั้นเป็นรองปรธาน กป.อพช. มีคุณสาลี อ่องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คุณสุภิญญา กลางณรงค์ คุณสาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย  คุณศิริชัย ไม้งาม แกนนำสหภาพแรงงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คุณอนิรุทธ์ ขาวสนิท ผู้นำชาวนา คุณพิชิต ไชยมงคล และคุณนัสเซอร์ ยีหมะนักพัฒนาสังคม และอำนาจ พละมี แกนนำสหภาพการท่าเรือแห่งประเทศไทย

Q :  ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ ทำไมถึงต้องไปชุมนุม  ?

คิดว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่รับรองไว้ ถ้าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็สามารถทำได้ไม่ว่าในช่วงรัฐบาลแบบไหน  ยืนยันว่าเราชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงออกไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล รัฐสภา และ สนช.ในการออกกฎหมายที่มีผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 63 รับรองไว้ นี่คือฐานการคิดในการคัดค้าน เราชุมนุมโดยสงบโดยไม่คิดที่จะยึดครองพื้นที่แม้ว่าจะเข้าไปก็ตาม แต่เรามีเจตจำนงที่ชัดเจนว่าไม่ได้จะเข้าไปยึดครองรัฐสภา

Q : คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าไหมว่าจะมีการดำเนินคดี ?

มีการคาดการณ์ไว้ แต่คิดว่าไม่น่าจะเข้าไปได้ เพราะวันนั้นประตูรั้วรัฐสภาปิด เราก็เลยปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภา ไม่ได้คิดว่าจะเข้าไปถึงตัวอาคารด้วยซ้ำ พอเข้าไปแล้วไม่มีตำรวจ มีแต่เจ้าหน้าที่หรือตำรวจรัฐสภา ตอนนั้นคิดว่าถ้าเขามาจับ ก็ยินดีให้เขาจับ เรามาชุมนุมเพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของ สนช. ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมและมีผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของผู้คน และถ้าถูกฟ้องก็พร้อมจะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์ว่าเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบมันเป็นสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ที่จะกระทำได้

อย่างไรก็ดี เราก็เตรียมสู้คดีกันเต็มที่ เข้าสู้ตามระบบ ขอประกันตัว ตั้งทนายความสู้คดี เป็นไปตามกระบวนการ ใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรม พอเขาแจ้งให้ไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาเราก็ไป ทุกคนก็ไปแล้วก็เตรียมประกันตัว ตอนนั้นมีการประกันสองแบบ คือประกันด้วยตัวบุคคล และหลักทรัพย์ ทุกคนก็ได้ประกันตัวหมดแล้วก็สู้คดีเต็มที่ โดยส่วนตัวแม้สุดท้ายจะติดคุก ผมก็ยอมเพื่อพิสูจน์ว่าการใช้เสรีภาพแล้วต้องติดคุกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเราใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเพื่อต้องการแสดงออกว่าเราไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายของสนช.

Q : สิทธิเสรีในการชุมนุมและการแสดงออกมันจำเป็นกับมนุษย์แค่ไหน และหากไม่มีเสรีภาพนี้ มันจะเป็นอย่างไร

เสรีภาพในความคิดและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน เรามีสิทธิที่จะแสดงออกถึงความคิดนั้นได้ ซึ่งการแสดงออกก็มีหลายวิธีการชุมนุมหรือการแสดงออกอย่างอื่นก็ตาม ทั้งการคิด การพูด การเขียน ปัจจุบันก็มีการแสดงความเห็นทางสื่อออนไลน์  การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทั้งหลายเหล่านี้  ไม่ว่าใครก็ตามก็มีสิทธิที่จะแสดงออก เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่กับมนุษย์ทุกคน แต่การชุมนุมเป็นการแสดงออกแบบรวมหมู่ เป็นการรวมหมู่ความคิดเห็นคล้ายกัน หรือเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งคล้ายกัน และมาแสดงออกเพื่อจะบอกเรื่องราวเหล่านี้กับคนอื่นๆ ในสังคมว่ามีความคิดความเชื่ออันนั้น และถ้ามันเกี่ยวข้องกับรัฐก็เพื่อที่จะเป็นการบอกกับรัฐด้วยว่าเราคิดเราเชื่อเรื่องนั้นว่าอย่างไร แต่มันก็ต้องเคารพคนอื่นด้วย ต้องดูสังคมส่วนรวมด้วย เราต้องไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเกินความจำเป็น เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีเสรีภาพแต่สิ่งเหล่านี้จะรักษาสังคมโดยรวม ซึ่งถ้าดูการชุมนุมส่วนใหญ่ ก็จะเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เกี่ยวข้องกับรัฐเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ไม่เห็นด้วยกับอำนาจรัฐ เช่นการออกกฎหมายหรือโครงการพัฒนาของรัฐบาล

Q: คุณคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันกับอดีตในเรื่องเสรีภาพการชุมนุม มันเปลี่ยนแปลงไปมากไหม?

ในช่วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พอมีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก ก็ไม่ได้มีการใช้กฎหมายพิเศษเช่นปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายพิเศษ มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งอะไรก็ได้ และก็มีการใช้อำนาจดังกล่าวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมเกินห้าคน และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารสามารถดำเนินการจับกุม ควบคุมตัว หรือสวบสวนได้ เป็นการใช้อำนาจพิเศษ  ทำให้ประชาชนที่เห็น ต่างกับรัฐไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การกำหนดนโยบายรวมทั้งการการกำหนดโครงการพัฒนา ประชาชนจะถูกจำกัดเสรีภาพการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวแทบจะสิ้นเชิง

Q : คาดหวังอะไรจากคำพิพากษาศาลฎีกาในครั้งนี้ ?

คำพิพากษาในคดีนี้ ศาลชั้นต้นไม่ลงโทษข้อหายุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง แต่ลงฐานก่อความวุ่นวาย และการบุกรุก โดยลงโทษแยกกันสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นหัวหน้าลงโทษจำคุก 2 ปี อีกกลุ่มลงโทษ 1 ปี ปรับ 6 พันบาท เนื่องจากศาลเห็นว่าให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม พวกหัวหน้าก็เหลือ 1 ปี 4 เดือน  อีกกลุ่มเหลือ 8 เดือน แต่โทษจำคุกทั้งหมดให้รอลงอาญาไว้ เพราะศาลเห็นว่าไม่เคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ พวกเราก็อุทธรณ์กันต่อ พอมาที่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่าข้อหาแรกมันไม่ผิดอยู่แล้วทั้งในการบุกรุกหรือก่อความวุ่นวาย เพราะมันไม่ได้เป็นการรบกวนการเป็นปกติสุขของรัฐสภา ก็เลยมองว่ามันไม่ผิด ถือว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเพื่อต้องการให้สภานิติบัญญัติหยุดการออกกฎหมายที่กระทบสิทธิของประชาชน จึงปราศจากเจตนาบุกรุกครอบครองรัฐสภา  ส่วนของศาลฎีกาก็เป็นไปได้ที่จะกลับไปพิพากษาตามศาลชั้นต้น คือการชุมนุมด้านหน้าไม่มีความผิด พอเข้าไปคือมีความผิด ผิดฐานบุกรุกและชุมนุมเกินห้าคน ก็เป็นสิ่งที่ผมคาดไว้