การคุกคามผู้ทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คือการทำลายระบบคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

การคุกคามผู้ทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คือการทำลายระบบคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

การคุกคามผู้ทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือที่เรียกว่า “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” คือการทำลายระบบคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากการกระทำนั้นเป็นการดำเนินการโดยรัฐ แสดงว่ารัฐนั้นกำลังไม่ปฏิบติตามหน้าที่ในการที่จะเคารพ ปกครองและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้าได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ให้ดำเนินคดีกับ นายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ สามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ โดยกล่าวหาว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามได้จัดพิมพ์และแจกจ่ายรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘ และนำเอกสารรายงานฯ ดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ https://voicefromthais.wordpress.com/

ทั้งนี้ ทั้งสามคนจะเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 มิถุนายน 2559 นี้ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและให้การต่อสู้คดีตามกระบวนการต่อไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีกับสามนักสิทธิมนุษยชนมีความไม่ถูกต้องในหลายประการ ซึ่งหากปล่อยให้การดำเนินคดีลักษณะยังคงอยู่ต่อไป ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องสิทธิอีกหลายคนในอนาคต

โดย สุมิตรชัย หัตถสาร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความเห็นถึงความไม่ถูกต้องในการดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามในหลายประการ ดังนี้

ประการแรก: การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 เป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย หลายภาคส่วน อย่างเป็นวิชาการ ภายใต้หลักการสากลที่เรียกว่า “Istanbul Protocol” ที่เป็นคู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานกรณีการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nation Fund for Victims of Torture)ภายใต้หลักการตาม“อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่่ายีศักดิ์ศรี”ที่ประเทศไทยเป็นภาคี นอกจากนี้ นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนยังได้รับการคุ้มครอง ภายใต้ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่กำหนดให้รัฐเป็นผู้มีหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และยอมรับด้วยว่า “การทำงานของบุคคล กลุ่ม และสมาคมเพื่อส่งเสริมให้มีการกำจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทุกรูปแบบเป็นสิ่งที่มีคุณค่า” ดังนั้น การดำเนินคดีของกอ.รมน.ภาค 4 สน.กับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนนี้ ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติที่สวนทางกับหลักการสากล

ประการที่สอง: การดำเนินการแบบนี้ จะส่งผลต่อเสถียรภาพและความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่เป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้เสียเปรียบและตกเป็นเหยื่อการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเกิดความหวาดกลัว หวาดระแวง ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อประชาคมโลก

ประการที่สาม: เกี่ยวกับการฟ้องคดีนักสิทธิทั้งสามในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เป็นการดำเนินการไม่ถูกต้อง เพราะ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ไม่มีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีกับนักสิทธิทั้งสามในข้อหาดังกล่าวได้ เนื่องจาก รัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรของรัฐ ไม่มีสิทธิเช่นเดียวกับบุคคล ไม่มีเกียรติยศ ชื่อเสียง ที่ต้องรักษา เพราะรัฐมีเพียงอำนาจและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจให้ทำหน้าที่ปกป้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ หรือกระทั่งรัฐบาลละเลยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ประชาชนก็มีสิทธิโต้แย้ง ตำหนิ หรือกระทั่งกล่าวหาได้ และรัฐมีหน้าที่ต้องรับฟังและนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปรับปรุงการทำหน้าที่ ไม่ใช่นำเอาข้อกล่าวหานั้นมาไล่ฟ้องดำเนินคดีกับประชาชนในข้อหาหมิ่นประมาท นอกจากนี้ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานหมิ่นประมาทก็มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน มิได้มุ่งหมายจะคุ้มครองหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด แต่หากเป็นการหมิ่นประมาทตัวเจ้าพนักงานของรัฐ ก็มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาคุ้มครองตัวเจ้าพนักงานอยู่แล้ว แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประการสุดท้าย: สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการในเรื่องนี้ คือ ยุติการดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสาม และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตาม “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558” ที่มีความเป็นกลาง โดยคัดเลือกจากบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้ามาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้หลักการสากลที่เรียกว่า “Istanbul Protocol”และนำเสนอผลการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อประชาชนและต่อประชาคมโลกถึงความจริงใจและตั้งใจของประเทศไทยที่จะปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคี


“ประชาชนไม่ควรกลัวรัฐบาลของตัวเอง รัฐบาลต่างหากที่ต้องกลัวประชาชน”
สุมิตรชัย หัตถสาร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน