พรทิพย์ หงชัย : กฎหมายชุมนุมฯ ทำให้เสียงของผู้เดือดร้อนเงียบลง

พรทิพย์ หงชัย : กฎหมายชุมนุมฯ ทำให้เสียงของผู้เดือดร้อนเงียบลง

สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 สิทธิและสรีภาพของประชาชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆของประชาชนถูกจำกัดมากกว่าในยุครัฐบาลปกติ

นอกจากรัฐบาลทหารจะมีกองกำลังที่ใหญ่โตในมือเพื่อปิดกั้นการเคลื่อนไหวของประชาชนแล้ว สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทหารนำมาใช้และค่อนข้างได้ผลก็คือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยกฎหมายที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนก็คือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ถูกตราออกมาได้โดยง่ายในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีสมาชิกประกอบด้วยข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในยุครัฐบาลปกติ แม้จะมีการพยายามผลักดันกฎหมายเหล่านี้ แต่ก็ไม่สามารถจะตราออกมาได้ง่ายๆ

ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. อย่างกว้างขว้างในการออกคำสั่งใดๆก็ได้ในนามของการรักษาความสงบและการปฏิรูปประเทศ และที่ผ่านมาก็มีการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวออกคำสั่งต่างๆที่มีค่าบังคับเป็นกฎหมายมาใช้บังคับมากมาย โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ

กฎหมายเหล่านี้ ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการกับประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล คสช. โดยตรง และประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชนจากการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐและทุนที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน

วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา พรบ. ชุมนุมฯ ก็แผลงฤทธิ์อีกครั้ง เมื่อ สภ.วังสะพุง ได้มีความเห็นสั่งฟ้องชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้ง 7 คน จากการที่พวกเขาและชาวบ้านอีกกว่า 150 คนไปรวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงาน อบต. เขาหลวง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2559 เพื่อติดตามการประชุมสภาในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว (อ่านข่าวเพิ่มเติมจากประชาไท http://www.prachatai.org/journal/2017/03/70476)

HRLA จึงขอนำบทสัมภาษณ์ของพรทิพย์ หงชัย หรือแม่ป๊อบ มาเผยแพร่เพื่อให้เห็นมุมมองของชาวบ้านที่ต้องใช้เสรีภาพในการชุมนุม

พรทิพย์ หงชัย หรือแม่ป๊อบ เป็นสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเพื่อให้มีการปิดเหมืองแร่ทองคำที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน เธอเป็น 1 ใน 7 แม่หญิงที่เพิ่งถูกพนักงานสอบสวน สภ. วังสะพุงมีความเห็นสั่งฟ้องไปสดๆร้อน

Q: ที่ผ่านมาไปชุมนุมกันบ่อยไหม?

แรกๆเลยก็ไปชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่1 ของเหมืองทองทุ่งคำ ที่ศาลากลางจังหวัดในปี 2555 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง โดยมีการจัดเวทีในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่ไม่ได้จัดในพื้นที่ ที่รับผลกระทบ ชาวบ้านจึงได้เริ่มออกไปชุมนุมคัดค้าน โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่ในการชุมนุมคัดค้านครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ในชุดปราบจลาจลคอยเตรียมพร้อมที่จะสะลายความชุมนุมอยู่ตลอดเลาลา การชุมนุมคัดค้านการทำเหมืองครั้งนี้มีชาวบ้านออกมาชุมนุมประมาณ 700-800 คน โดยแม่ป๊อปได้มีบทบาทในการปลุกใจชาวบ้าน และตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่ว่าทำไมถึงปิดกั้นชาวบ้าน

Q: อะไรคือแรงผลักสำคัญที่ทำให้เราต้องออกไปชุมนุม

เนื่องจากผลกระทบที่ได้รับ ตั้งแต่มีการทำเหมือง เช่น มีฝุ่น รถขนแร่ที่เกิดอุบัติเหตุกับชาวบ้าน สารพิษที่ปนเปื้อนในน้ำและเลือดของชาวบ้านที่เกินค่ามาตรฐาน ผลกระทบจากเสียงที่เกิดจากการทำเหมืองตอนกลางคืน นอกจากนี้ยังมีคำสั่งจากสาธารณะสุขจังหวัดในเรื่องให้งดใช้น้ำ งดอุปโภคบริโภคน้ำใต้ดิน และห้ามบริโภคหอยขม ซึ่งวิถีชีวิตของเราก็มีการบริโภคมาตลอด ไม่เคยมีสารพิษ พอเราเจอผลกระทบแบบนี้จึงตัดสินใจออกไปชุมนุมร่วมกับกลุ่มคนรักบ้านเกิดที่เราตั้งขึ้น

Q: พี่คิดว่าเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกมันจำเป็นกับมนุษย์ไหม และหากไม่มีเสรีภาพนี้ คิดว่ามันจะเป็นยังไง

ในฐานะชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถ้าพูดถึงเสรีภาพในการชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะถ้าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อนจากโครงการของรัฐไม่ว่าเรื่องใดๆ ไม่สามารถออกมาชุมนุมได้ หรือไม่สามารถมารวมตัวกันได้ แบบนี้จะทำให้ชุมชนอยู่ไม่ได้ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นมันส่งผลในด้านความเป็นอยู่ สารเคมีมันปนเปื้อนอยู่ทุกหย่อมหญ้าและอาจจะตกไปสู่รุ่นลูกหลาน ถ้าไม่มีการเรียกร้องหรือให้ข้อมูล รัฐก็ไม่รู้ว่ามีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ

Q: คิดว่าการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมควรทำได้มากน้อยแค่ไห

ประชาชนต้องสามารถแสดงออกได้ไม่ว่าเรื่องใดๆ การทำให้ประชาชนไม่สามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือการเสนอปัญหาเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางในการเสนอปัญหาของเรา

การชุมนุมของเราเจ้าหน้าที่รัฐมักจะมองว่าพวกเราชาวบ้านเป็นผู้คัดค้าน ไม่ได้มองว่าเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ในอดีตเราสามารถออกไปชุมนุมได้ สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แม้จะมีเจ้าหน้าที่เตรียมสลายการชุมนุมตลอดเวลา แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าทำอะไรกับเรามากนัก แต่ในปัจจุบันมี พรบ.ชุมนุมฯ ที่ควบคุมอยู่ เจ้าหน้าที่มีข้ออ้างดำเนินการกับเรามากขึ้น ทำให้เราชาวบ้านไม่กล้าออกไปแสดงความคิดเห็น ทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทั่วประเทศเงียบเสียงกัน

Q: คิดเห็นอย่างไรถ้าเราชุมนุมโดยสงบแล้วมีเจ้าหน้าที่มาระงับการชุมนุม หรือมาใช้กฎหมายดำเนินคดีกับเรา

คิดว่าไม่สมควร ยกตัวอย่างกรณีแม่ป๊อบ ที่ออกไปชุมนุมเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนและออกไปโดยสันติไม่มีอาวุธใดๆเลย ไม่สมควรที่เจ้าหน้าที่จะเตรียมกำลังเป็นร้อยเป็นพันเพื่อสลายการชุมนุมของชาวบ้าน และไม่ควรใช้กฎหมายชุมนุมกับเราชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างพร่ำเพรื่อ