บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 1812/2553 (คดีปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไท) โดย สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์

บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 1812/2553 (คดีปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไท) โดย สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1812/2553 ในคดีที่มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนเจ้าของเว็บไซต์ข่าวประชาไทได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและกระทรวงการคลังเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไท (www.prachatai.com) และเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45

ศาลแพ่งใช้เวลาพิจารณาคดีนี้ประมาณ 5 ชั่วโมง และได้มีคำพิพากษาในเย็นวันที่ 23 เมษายน 2553วันเดียวกับที่ยื่นฟ้อง โดยพิพากษายกฟ้องและไม่สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาจนพิพากษาคดี ศาลไม่ได้ดำเนินการไต่สวนพยานโจทก์ตามที่โจทก์ร้องขอ และไม่ได้ส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้ง 5 บทความนี้ผู้เขียนประสงค์จะวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลแพ่ง โดยใช้หลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ คือ หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย เป็นฐานในการวิเคราะห์ เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีปกครองที่แม้จะถูกบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง แต่เมื่อเป็นคดีปกครองหลักในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายก็ต้องเป็นการตรวจสอบตาม หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย

1. สรุปคำฟ้องและคำพิพากษา

เพื่อให้เข้าใจประเด็นในคำพิพากษาอย่างครบถ้วนผู้เขียนขอสรุปประเด็นในคำฟ้องไว้เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาประกอบคำพิพากษา ดังนี้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่http://www.prachatai.info/journal/2010/04/29095)

1.1 สรุปคำฟ้อง

โจทก์ตั้งประเด็นในคำฟ้องถึงเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจของจำเลยที่ 1 ถึง 4 ในการปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์เป็นสามประเด็นคือ

1) การใช้อำนาจปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไทของเป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วย

กฎหมายเพื่อลิดรอน จำกัด หรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพสื่อสารมวลชนของโจทก์อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีความสำคัญในสังคมประชาธิปไตย ทั้งยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมือง และการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 19 ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อสารมวลชน

2) การสั่งให้ปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไทเป็นคำสั่งที่มิได้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไข ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

3) การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ของโจทก์ โดยปิดการเข้าถึงซึ่งระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในเว็บไซต์ของโจทก์ได้ย่อมถือเป็นการปิดกิจการสื่อสารมวลชนของโจทก์โดยปริยาย อันเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคสาม

นอกจากประเด็นทั้งสามประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้วโจทก์ยังได้บรรยายถึงประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบอำนาจปกครองตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2550 ไว้ดังนี้

4) โดยเนื้อหาแล้วคดีนี้เป็นคดีปกครองซึ่งควรอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 16 ได้บัญญัติตัดอำนาจของศาลปกครองไม่ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษา โจทก์จึงต้องนำคดีมาฟ้องยังศาลยุติธรรม ซึ่งโดยหลักการแล้วศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำของจำเลยว่าการใช้อำนาจหน้าที่ออกคำสั่งให้ปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ไว้หรือไม่ และเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลไม่เข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจและการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 2 ก็จะส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชนชาวไทย

1.2 สรุปคำพิพากษา

คำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 1812/2553 มีความยาวเพียงสองหน้าครึ่ง ซึ่งสามารถย่อได้ดังนี้

“การที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก่นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 1) ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 2) เป็นผู้อำนวยการศูนย์การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินก็โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรค 3 วรรค 5 และวรรค 6 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11และมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 2/2553 ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจตามความในมาตรา 9 (2) (3) แห่งพระราชกำหนดที่จะใช้มาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แม้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคสี่ ที่ว่าการห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือด้วยการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐตามมาตรา 45 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในการปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้อำนาจไว้ตามประกาศมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 7 เมษายน 2553 การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ”

2. วิเคราะห์คำพิพากษา

2.1) ความสอดคล้องกับหลักนิติรัฐของคำพิพากษา

เมื่ออ่านคำพิพากษาจะเห็นได้ว่าในคดีนี้ศาลได้จำกัดบทบาทของตน โดยทำหน้าที่ตรวจสอบแต่เพียงว่า มีกฎหมายให้อำนาจจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สั่งปิดเว็บไซต์ของโจทก์หรือไม่ เมื่อเห็นว่ามีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาตรา 9 (2)(3) ให้อำนาจจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่จะปิดเว็บไซต์ของโจทก์ได้ ศาลก็สรุปว่า “การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว”? ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการตรวจสอบพยานหลักฐานที่แสดงถึงพฤติกรรมการใช้อำนาจของจำเลยว่าเกิดขึ้นภายในเงื่อนไขหรือข้อเท็จจริงใด ส่งผลให้ไม่มีการตรวจสอบต่อไปว่าพฤติกรรมการใช้อำนาจของจำเลยขัดหรือแย้งต่อกฎหมายทั้งต่อพระราชกำหนดมาตรา 9 (3) และรัฐธรรมนูญหรือไม่

คำถามจึงมีว่าศาลวินิจฉัยได้อย่างไรว่า “กระทำของจำเลยทั้งสองอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้” ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ ปรากฏในสำนวนของศาลเลย มีเพียงคำฟ้องของโจทก์เท่านั้น

เมื่อพิจารณาคำพิพากษาประกอบกับหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายซึ่งประกอบด้วยหลักการย่อย 2 หลักการ คือ 1) หลักไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ ซึ่งเรียกร้องว่า การใช้อำนาจมหาชนที่จะไปมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้อย่างชัดเจนฝ่ายปกครองจึงจะใช้อำนาจนั้นได้ 2) หลักการกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเรียกร้องว่าแม้จะมีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองกระทำการอันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพพของประชาชนได้ แต่การใช้อำนาจดังกล่าวของฝ่ายปกครองต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายทั้งกฎหมายอันเป็นที่มาแห่งอำนาจและกฎหมายอื่น ๆ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าศาลทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของจำเลยไม่ครบถ้วนตามหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลตรวจสอบแต่เพียงว่ามีกฎหมายให้อำนาจจำเลย สั่งปิดเว็บไซต์โจทก์หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่ตรวจสอบต่อไปว่าการใช้อำนาจสั่งปิดเว็บไซต์เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ทั้งๆที่โดยหลักแล้วศาลต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนทั้งสองหลักการจึงจะสามารถสรุปได้ว่าการใช้อำนาจของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลกลับไม่ดำเนินการตรวจสอบตามหลักการว่าด้วยการกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ทำให้ไม่มีการตรวจสอบในเนื้อหาของการกระทำของจำเลยว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 (3) บัญญัติไว้หรือไม่ ตลอดจนเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอื่นรวมถึงขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากที่กล่าวมาผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลที่ให้ไว้ในคำพิพากษาฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ เพราะหลักนิติรัฐเรียกร้องว่าการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลซึ่งถูกออกแบบให้เป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ ทั้งว่า “มีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองหรือไม่” และ “การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองขัดต่อฎหมายหรือไม่” แต่ศาลในคดีนี้กลับจำกัดตนเองไว้เพียงการตรวจสอบว่า “มีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองหรือไม่” เท่านั้นแต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า “การใช้อำนาขของฝ่ายปกครองขัดต่อกฎหมายหรือไม่”

2.2 ความสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา

เหตุผลที่ปรากฏในคำพิพากษาฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจของศาลเกี่ยวกับหลักการว่าด้วยการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบในปริมณฑลของกฎหมายมหาชน อย่างไรก็ตามแม้ในระบบศาลยุติธรรมเอง ศาลฎีกาก็ได้เคยพิพากษาเกี่ยวกับการตรวจสอบการกระทำทางปกครองของฝ่ายปกครองไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 646-647/2510 ว่า “ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ว่าคำวินิจฉัยนี้ถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ศาลย่อมไม่รื้อฟื้นข้อเท็จจริงหรือดุลพินิจที่เจ้าหน้าที่รับฟังหรือวินิจฉัยมา โดยถือว่าการใช้ดุลพินิจก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การจะรับฟังหรือใช้ดุลพินิจไปในทางใดจะถือว่าเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายมิได้ เว้นแต่การรับฟังข้อเท็จจริงหรือการใช้ดุลพินิจนั้นไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือมิได้เป็นไปโดยสุจริต อันถือได้ว่าการวินิจฉัยเช่นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จากเหตุผลในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ จะเห็นได้ว่าแม้ศาลฎีกาจะวางหลักไว้ว่าศาลจะไม่รื้อฟื้นข้อเท็จจริงหรือดุลพินิจที่เจ้าหน้าที่รับฟังหรือวินิจฉัยมา แต่ถ้าการรับฟังข้อเท็จจจริงหรือการใช้ดุลพินิจไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือมิได้เป็นไปโดยสุจริต คำวินิจฉัยของฝ่ายปกครองก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมหมายความว่าศาลมีอำนาจตรวจสอบได้ว่าการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองเป็นไปโดยมีการับฟังข้อเท็จจริงหรือการใช้ดุลพินิจมีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ได้ แต่ในคดีนี้ศาลกลับไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบว่าการใช้อำนาจของจำเลยมีหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอหรือไม่และศาลก็ไม่ได้ให้เหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอว่าเหตุใดจึงไม่เดินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา

ผู้เขียนจึงเห็นว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีนี้ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 646-647/2553 เพราะศาลไม่ได้ตรวจสอบแม้เพียงว่าในการใช้อำนาจดำเนินการปิดเว็บไซต์ของโจทก์เป็นไปโดยมีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนที่เพียงพอที่จะใช้อำนาจดังกล่าวหรือไม่และไม่มีการให้เหตุผลที่จะหักล้างแนวคำพิพากษาของศาลฏีกาที่ 646-647/2510 แต่อย่างใด

2.3 ความสอดคล้องกับหลักเหตุผล

ท้ายที่สุดเมื่อพิจารณาตามหลักเหตุผล ผู้เขียนพบกว่าคำพิพากษาฉบับนี้ขัดกับหลักเหตุผล เพราะการที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9(3) บัญญัติให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ไว้ว่ามีอำนาจ “ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าในผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร” ย่อมหมายความว่ากฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขในการที่จะใช้อำนาจไว้ในพระราชกำหนด ว่าต้องเป็นกรณีการเสนอข่าวสารที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 สามารถใช้อำนาจห้ามเสนอข่าวสารอย่างไรก็ได้โดยไม่มีเงื่อนไขข้อจำกัด เพราะหากกฎหมายประสงค์เช่นนั้นก็คงบัญญัติในทำนองว่า “ในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนายกรัฐมนตรีมีอำนาจห้ามการเสนอข่าวสาร การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ อย่างไรก็ได้ตามที่นายกเห็นสมควร” ซึ่งหากบัญญัติเช่นนี้ย่อมเป็นเสมือนการเขียนเช็คเปล่าให้ฝ่ายบริหารไปกรอกตัวเลขเอง ซึ่งย่อมมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

อย่างไรก็ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาตรา 9(3) ก็มิได้บัญญัติเช่นนั้น แต่ได้บัญญัติเงื่อนไขแห่งการใช้อำนาจไว้ด้วย ดังนั้นในการตรวจสอบว่าการใช้อำนาจของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงจำต้องพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้อำนาจเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ มิใช่พิจารณาแต่เพียงว่ามีกฎหมายให้อำนาจไว้หรือไม่ตามที่ปรากฏในคำพิพากษา มิเช่นนั้นแล้วฝ่ายปกครองย่อมอ้างอำนาจตามกฎหมายไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามอำเภอใจ ซึ่งผู้บัญญัติกฎหมายย่อมไม่บัญญัติกฎหมายที่จะมีผลเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีเหตุผลเช่นนั้น

ผู้เขียนจึงเห็นว่าแม้เมื่อพิจารณาตามหลักเหตุผล คำพิพากษาฉบับนี้ก็ขัดกับหลักเหตุผลและน่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฎหมายที่ต้องการกำหนดเงื่อนไขในการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองมิให้เป็นไปตามอำเภอใจ อันเป็นสาระสำคัญของหลักนิติรัฐที่ฝ่ายปกครองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชน

3.บทสรุป

ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาคดีในคดีหมายเลขแดงที่ 1821/2553 แต่ด้วยหลักวิชาการ และเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนเห็นว่าคำพิพากษาฉบับนี้เป็นคำพิพากษาที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ ไม่สอดคล้องกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา และไม่สอดคล้องกับหลักเหตุผล นอกจากนี้ผู้เขียนยังเห็นว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งยังมีผลเป็นการรับรองและขยายอำนาจของฝ่ายบริหารตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อันส่งผลให้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อใด ฝ่ายบริหารจะมีอำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไม่มีขอบเขตโดยไม่ถูกตรวจสอบจากองค์กรตุลาการ ซึ่งสภาพเช่นนี้ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นนิติรัฐ เพราะแท้ที่จริงแล้วประเทศไทยของเรากำลังตกอยู่ภายใต้รัฐตำรวจที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจไม่จำกัดและไม่อยู่ภายใต้กฎหมายอีกต่อไป