ขยายเวลา: ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการแต่งกายของทนายความหญิง

ขยายเวลา: ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการแต่งกายของทนายความหญิง

เนื่องด้วยพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528  มาตรา 51 บัญญัติว่า “ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ การกำหนดมรรยาททนายความให้สภาทนายความตราเป็นข้อบังคับมรรยาททนายความ…”   และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ   พ.ศ. 2529  หมวด 5  ว่าด้วย มรรยาทในการแต่งกายของทนายความในข้อ 20 ระบุว่า  “ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย

ตามหลักเกณฑ์…” โดยในข้อ 20(2) กำหนดให้ “ทนายความหญิงแต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น”   สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกทนายความหญิงถึงกรณีที่สวมกางเกงและสูทสากลในการว่าความและถูกทนายความ และศาล ตำหนิเรื่องการแต่งกาย เนื่องจากผิดข้อบังคับว่าด้วยมารยาททนายความในเวลา   

ว่าความ  สมาคมฯ เห็นว่า แม้การแต่งกายด้วยกางเกงของทนายความหญิงเป็นกรณีผิดมรรยาททนายความตามข้อบังคับของสภาทนายความ  แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพสังคมปัจจุบัน เห็นว่า ข้อบังคับ สภาทนายความ พ.ศ.2529  หมวด 5  มรรยาทในการแต่งกาย ในข้อ 20(2) นั้นเป็นข้อบังคับที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2529 ปัจจุบันแนวคิดและค่านิยมเกี่ยวกับการแต่งกายของชายหญิงเปลี่ยนแปลงไป และสังคมมีความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายและเพศสภาพมากขึ้น  การแต่งกายของทนายความหญิงในเวลาว่าความจึงไม่ควรถูกกำหนดตายตัวและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก  ทนายความหญิงพึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการแต่งกายโดยสุภาพได้ โดยไม่ถูกจำกัดให้ต้องสวมกระโปรงเท่านั้น  แต่หากไม่มีการแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ ข้อ 20(2) ทนายความหญิงที่สวมกางเกงเวลาว่าความ จะเป็นการแต่งกายที่ผิดข้อบังคับมารยาททนายความ และมีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความฯ  มาตรา 52 มีโทษ 3  สถาน คือ (1) ภาคทัณฑ์  (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือ  (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ  ซึ่งเป็นบทลงโทษที่ถือว่าร้ายแรงเกินสมควรในกรณีการแต่งกายที่ผิดมารยาทตามข้อบังคับดังกล่าวข้างต้น ทั้งที่การสวมกางเกงตามแบบสากลนิยมนั้นก็เป็นการแต่งกายด้วยชุดสุภาพ และมิได้ส่งผลกระทบใดต่อการปฏิบัติหน้าที่ทนายความในเวลาว่าความในศาล

ด้วยเหตุนี้ สมาคมฯ จึงมีความเห็นว่าควรมีการพิจารณาเพื่อแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ  พ.ศ. 2529  หมวด 5  มรรยาทในการแต่งกาย ในข้อ 20 (2) โดยเสนอให้ใช้ ถ้อยคำดังต่อไปนี้ ทนายความ แต่งกายตามเพศสภาพ แบบสากลนิยมหรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว กระโปรงยาวคลุมเขาหรือกางเกงทรงสากลไม่พับปลายขา ร้องเท้าหุ้มส้น ทั้งนี้เครื่องแต่งกายต้องเป็นสีสุภาพไม่ฉูดฉาด” เพียงเท่านี้ถือเป็นการเพียงพอต่อ    การแสดงความเคารพต่อศาลและสถานที่ อีกทั้ง  ไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อกระบวนการพิจารณา หรือคู่ความ หรือการอำนวยความเป็นธรรมตามหลักความยุติธรรมอีกด้วย หากแต่เป็นการก้าวข้ามการแต่งกายที่แบ่งเพศสภาพความเป็นหญิง ชาย เคารพหลักเสรีภาพในการแต่งกายของบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึ่งมีในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย  ดังจะเห็นได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น องค์กรอัยการ ก็ได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการอัยการหญิงไว้ในระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายของข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2556 ข้อ 26(1)(ง)  ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการอัยการหญิงสวมกางเกงปฏิบัติงานได้ โดยกำหนดว่า 

            “…(ง) กางเกง กระโปรง

ข้าราชการอัยการชาย ให้ใช้กางเกงขายาวสีดําหรือสีกรมท่าเข้มหรือสีสุภาพ ไม่พับปลายขา ทรงสุภาพ คาดเข็มขัดแบบสุภาพ

            ข้าราชการอัยการหญิง ให้ใช้กระโปรงทรงสอบหรือทรงตรง ความยาวระดับเข่า หรือกางเกงขายาวสีดําหรือ       สีกรมท่าเข้มหรือสีสุภาพ…” 

นอกจากนี้  หน่วยงานข้าราชการเองก็มีการปรับการแต่งกายของข้าราชการหญิงให้เข้ากับยุคสมัยให้ข้าราชการหญิงสวมชุดกากีเป็นกางเกงตามแบบข้าราชการชายได้ ดังจะเห็นได้จากข้าราชการตำรวจ พนักงานอัยการ และหน่วยงานราชการอื่นๆที่ข้าราชการหญิงสวมเครื่องแบบชุดสีกากีโดยสวมกางเกง เป็นต้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  จึงเรียนมายังทนายความทุกท่าน ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับ   สภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529  หมวด 5  มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 (2) ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติสภาทนายความ ที่บัญญัติให้ทนายความไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนมีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับได้  โดยท่านสามารถดาวน์โหลด แบบแสดงรายละเอียดเพื่อเสนอร่วมลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการแต่งกายของทนายความหญิง และพิมพ์ลงกระดาษ A4 กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน  และส่งมาที่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เลขที่ 109 ซอยสิทธิชน ถนนสุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนนอก    เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310   ภายในวันที่  28  กุมภาพันธ์  2563  เพื่อที่สมาคมฯจะได้ดำเนินการเสนอเรื่องพร้อมรายชื่อต่อคณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแก้ไขต่อไป  

Download แบบกรอกข้อมูล ร่วมลงชื่อสนับสนุนการขอแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ

สอบถามเพิ่มเติม

นางสาวทิพย์วิมล  ศิรินุพงศ์ 093 – 4193624

นางสาวคอรีเยาะ มานุแช    091 – 8386265