3 ปีบิลลี่ กับ 3 ประเด็นสิทธิที่ยังค้างคา

3 ปีบิลลี่ กับ 3 ประเด็นสิทธิที่ยังค้างคา

วันนี้ (17 เมษายน 2560) เครือข่ายภาคประชาชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยง ได้ร่วมกันจัดงาน 3 ปีบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ณ ห้วยกระซู่ ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี โดยมีชาวบ้านชาต้พันธุ์กระเหรี่ยงเจ้าร่วมงานจากหลายพื้นที่ อาทิ บ้านลิ้นช้าง บ้านพุน้ำร้อน บ้านสาลิกา บ้านห้วยกระซู่ บ้านบางกลอย บ้านตากแดด ฯลฯ
17 เมษายน 2560 เป็นวันครบรอบ 3 ปีที่บิลลี่หายไป หลังถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บิลลี่ถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเป็นตัวแทนชุมชนบางกลอย ในการประสานงานดำเนินการเรื่องสิทธิชุมชนของคนกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ต้นน้ำเพชรบุรี

ในงานมีการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและรำลึกถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จากไป อาทิ

นายทัศกมล โอบอ้อม หรืออาจารย์ป๊อด ผู้ที่ช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอยเรียกร้องสิทธิหลังถูกเผาบ้านไล่รื้อจากแผ่นดินเดิม ณ ใจแผ่นดิน อาจารย์ป๊อดถูกยิงในวันที่ 10 กันยายน 2554 กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้

บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิชาติพันธุ์กระเหรี่ยงบางกลอย เขาหายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัว ปัจจุบันคดียังไม่คืบหน้า

ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ เขาถูกทำให้หายไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 มีการฟ้องร้องจำเลยที่เป็นตำรวจ 5 คน แต่ศาลฏีการได้ยกฟ้องไปแล้ว

นายเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินบ้านโคกยาว คอนสาร จังหวัดชัยภูมิ นายเด่นหายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 หลังเข้าป่าหาพืชผักมาขาย

นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ ถูกทหารยิงเสียชีวิตที่ด่านตรวจทางเข้าหมู่บ้านเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่อ้างว่าชัยภูมิมียาเสพติดและต่อสู้ ซึ่งเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
หลังจากนั้น มีการจัดวงคุยใน 3 ประเด็น คือ สิทธิชุมชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมแลกเปลี่ยน การจัดเวทีพูดคุยครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนร่วมกัน

ประเด็นสิทธิชุมชน

คุณเจียม เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง กำหนดสิทธิไว้ 2 อย่างคือ สิทธิปัจเจก และสิทธิองค์รวมหรือสิทธิหน้าหมู่ คล้ายๆกับสิทธิชุมชน เป็นสิทธิในการใช้ประโยชน์โดยชุมชน ยกตัวอย่าง กรณีของกระเหรี่ยง ที่มีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งถือเป็นสิทธิหน้าหมู่ที่สามารถใช้ร่วมกันได้โดยชุมชน
ประเด็นที่มีการถามมาเรื่อง หลัก CN เท่าที่ทราบคือเป็นการกำหนดเขตที่ดินทำกิน ซึ่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์สิทธิก่อนว่าอยู่มาก่อนหรือไม่ ทำประโยชนต่อเนื่องหรือไม่ และก็มาดูเทียบกับแผนที่ เสร็จแล้วก็จะมาดูว่าเป็นพื้นที่ต้นน้ำหรือไม่ และถึงมาทำเรื่องกำหนดเขตแดน

คุณสุรพงษ์ กองจันทร์ทึก กล่าวเน้นเรื่องการจัดการพื้นที่ว่าจะเอายังไงดี เพราะชาวบ้านก็บอกว่าเป็นพื้นที่ชาวบ้าน รัฐก็บอกว่าเป็นพื้นที่ป่า มีข้อมูลระบุว่าเมื่อสองสามร้อยปีก่อน กระเหรี่ยงอยู่ทำกินในพื้นที่มาแล้ว รัฐสมัยก่อนก็ปล่อยให้อาศัยทำกินได้ หากรัฐจะต้องการเกณฑ์คน ก็เกณฑ์คนเหล่านี้ไปเป็นกำลัง ซึ่งกษัตริย์สมัยก่อนก็ให้กระเหรี่ยงที่อยู่แถวนี้เป็นคนของกษัตริย์หมด
ต่อมารัฐได้มีการทำไม้ เพื่อหารายได้เข้ารัฐ ได้มีการตั้งกรมป่าไม้ขึ้นมาดูแล รัฐก็ทำไม้เรื่อยมา พื้นที่ป่าต่างๆล้วนเคยมีการทำไม้มาแล้วทั้งนั้น แต่ต่อมาได้มีการประกาศปิดป่า ไม่มีการทำไม้อีกต่อไป พอปิดป่า กรมป่าไม้ที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่รู้จะหารายได้มาจากไหน ก็เลยต้องไปทำโครงการ อาทิ โครงการป้องกันไฟป่า โครงการปลูกป่า

ในแต่ละปีจะเกิดไฟป่าหนึ่งครั้ง ไม่มีคนจุดมันก็เกิดเอง เพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติ พื้นที่ที่หัวหน้าอุทยานฯเข้าใจเรื่องธรรมชาติอันนี้ เขาก็จะไม่มีการทำโครงการดับไฟป่า ไฟป่าเป็นไปธรรมชาติ และยิ่งไปกันไฟ ใบไม้จะทับถมกันสูงขึ้น ถ้าไฟมาก็จะทำให้เสียหายมากกว่าเดิม การปลูกป่าก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องปลูก ปล่อยเอาไว้ ป่ามันก็ขึ้นเอง แต่ที่รัฐต้องทำโครงการพวกนี้ก็เพราะต้องการดึงงบประมาณ

ตัวชี้วัดของรัฐอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ว่าจัดการป่าไม้ไปได้ดี คือการประกาศพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น อาจจะเริ่มจากเข็มข้นน้อยไปหามาก เช่น จากการประกาศเขตป่าสงวนก่อน แล้วไปเป็นอุทยานแห่งชาติ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พอมีการประกาศมากๆ รัฐก็จะได้งบประมาณมากตามไปด้วย แต่ผลกระทบก็จะตกอยู่กับชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่า

ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อย่างเรื่อง CN เขาก็คิดเหมือนเดิม เพราะเขาไม่เข้าใจเรื่องไร่หมุนเวียน ก็เลยไปกันแนวเขตที่ในลักษณะตายตัว ชาวบ้านกระเหรี่ยงก็ดำรงชีวิตแบบทำไร่หมุนเวียนตามวิถีเดิมไม่ได้ และการกำหนดเขตตามหลัก CN ยังถือว่าที่ดินเป็นของรัฐอยู่ เขาจะให้อยู่หรือให้ออกเมื่อไหร่ก็ได้

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่มีการกล่าวมาล้วนเกิดจากการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาชนไม่ได้ไปมีส่วนร่วมในการกำหนดเขต รัฐไทยไม่ค่อยเชื่อในเรื่องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมจัดขึ้นเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น มีการกีดกันคนที่ไม่เห็นด้วย หลายโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะแบบนี้

ในการแก้ปัญหานี้ ชุมชนเองก็ต้องเข็มแข็ง ร่วมกันทำข้อมูลชุมชน ทำประวัติศาสตร์ชุมชน หาหลักฐานอะไรมาได้ก็ไปหา เราจะได้เอาข้อมูลหลักฐานเหล่านี้ไปยันได้

อย่างที่ห้วยกระซู่ มีการทำธรรมนูญชุมชนร่วมกัน มีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการจัดการป่าในวิธีที่ชาวบ้านสามารถทำกินได้และรักษาป่าไปด้วยได้

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องปรับกระบวนการคิด จะจัดการแบบเดิมที่ใช้อำนาจแบบบนลงล่างอีกไม่ได้แล้ว เพราะไม่ได้รับการยอมรับ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งนั้น

อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ กล่าวว่า ถ้าเอาแผนที่ปี 2524 ที่ประกาศเขตอุทยานมากางดูกันให้ชัดเลย โดยให้ทุกฝ่าย รวมทั้งชาาวบ้านมาดูด้วยกัน จะได้บอกได้ว่าที่ของใครอยู่ในหรือนอกพื้นที่ตามแผนที่อุทยาน เมื่อมาชี้กันชัดแล้ว ก็ค่อยมาดูเรื่องการจัดการกันอีกที การกำหนดเขตมันก็จะง่าย แต่ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงไม่เอาแผนที่มาเทียบ

การปักหลักกำหนดเขตตาม CN โดยที่แผนที่ก็ยังไม่ชัดตรงกัน ยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิ ถือว่าผิดหลักการ ดังนั้น จึงต้องเอาความจริงมาวางและหาทางออกร่วมกัน

คุณสุรพงษ์ กองจันทร์ทึก กล่าวว่า ตามมติ ครม. วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวทางการฟื้นฟูวิถีชีวิตกระเหรี่ยง กำหนดชัดว่าถ้าพื้นที่ไหนที่มีข้อโต้แย้งว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนหรือรัฐประกาศก่อน ให้มีการหยุดจับกุมไว้ และให้มีการสืบสวนสอบสวนก่อน โดยการสอบสวนให้มีการเอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นักวิชาการเข้ามาร่วมด้วย ถ้าสืบสวนสอบสวนแล้วชาวบ้านอยู่มาก่อนก็ต้องเพิกถอนการประกาศเขตป่า ซึ่งก็เป็นขั้นตอนตามกฎหมายปกติ ในการออกมติตัวนี้มีการเวียนให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว และเมื่ออันนี้เป็นมติที่ออกมาทีหลัง ถ้ามติ ครม. 31 มิถุนายน 2541 ขัดแย้งกับมตินี้ อันเก่าต้องถูกยกเลิก

คุณเจียม กล่าวถึงแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติว่าในกระแสโลก ว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรมันมีหลายรูปแบบ แนวทางอนุรักษ์แแบบที่ไม่เอาคนเลย พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ทั่วโลกก็เลยเห็นว่ามันไม่ดี เขาก็เลยมาคุยกันว่า ในแต่ละพื้นที่ต้องมีแนวทางอนุรักษ์ที่หยืดหยุ่น

แนวทางอนุรักษ์ หลักๆแบ่งเป็น 3 แนวทาง แนวแรก ให้อำนาจชุมชนดูแลรักษาเต็มที่ รัฐเพียงเป็นผู้สนับสนุน แนวทางที่สองคือให้รัฐจัดการเต็มที่ เราก็เห็นแล้วว่าแนวทางนี้มีปัญหา แนวทางที่สามคือเป็นการจัดการร่วมกัน เป็นแนวทางกลางที่ทุกฝ่ายมาแก้ปัญหาร่วมกัน
แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญที่รองรับสิทธิชุมชน แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง การแก้ปัญหาอาจต้องแก้ที่นโยบายด้วย ซึ่งอาจจะไม่ง่าย ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจด้วยว่าเขาจะเข้าใจหรือไม่ แต่บางคนก็บอกว่าการแก้ไขนโยบายอาจจะไม่ตอบโจทก์ มาแก้ปัญหาที่ชุมชนดีกว่า เช่น การทำข้อมูล ทำพื้นที่ให้มันแน่น แล้วมันจะขยับไปแก้นโยบายเอง จริงๆมันต้องไปคู่กัน แต่ในรูปธรรมจริงมันยังไม่เกิด เราก็เลยใช้การจัดการแบบเดิมที่สร้างปัญหา

ยกตัวอย่าง การขึ้นทะเบียนมรดกโลกในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ที่คณะกรรมการมีมติให้เลื่อนการพิจารณารับรองออกไปถึงสองครั้งแล้ว คือประเทศไทยมีการเสนอไปสองรอบ รอบแรก คณะกรรมการให้เลื่อนไป 1 ปี เพราะในพื้นที่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่ชัดเจนและเป็นธรรม ส่วนในรอบที่สอง รัฐบาลไทยก็เสนออีก แต่คณะกรรมการมาตรวจสอบก็ยังพบว่าปัญหาที่เสนอไว้ในรอบแรกมันยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ ซึ่งเขามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก็เลยเลื่อนไปอีก 3 ปี ปีนี้เป็นปีแรก เหลือเวลาอีก 2 ปี เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาร่วมกันทั้งหมด ให้เข้าใจร่วมกันว่าการประกาศมรดกโลกทางสิ่งแวดล้อมเป็นยังไง และต้องมีการแก้ปัญหาชาวบ้านก่อน

ชาวบ้านจากบางกลอย กล่าวว่า ชาวบ้านบางกลอยมีบรรพบุรุษเดิมอยู่บางกลอยบน หรือใจแผ่นดิน ถ้ามีดาวเทียมส่องดูก่อนปี 2524 ก็คงจะพบว่ามีชาวบ้านอาศันอยู่ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้มีการอพยพชาวบ้านลงมา และมาขอปันพื้นที่จากชาวบ้านโป่งลึกให้ชาวบ้านที่อพยพลงมาทำกิน และสัญญาว่าจะรีบจัดหาให้ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดิน ก็ขอเพิ่มไม่ได้ เพราะเขาอ้างว่าพื้นที่เดิมยังใช้ไม่หมด ซึ่งเขาไม่เข้าใจวิถีการทำไร่ของชาวบ้านที่ต้องเวียนและปล่อยพื้นที่เดิมพักฟื้น ชาวบ้านไม่เคยทำไร่แบบใช้ปุ๋ย เคยแต่ใช้ปุ๋ยจากธรมชาติ

ป้าจำเนียร กล่าวว่า ถ้าจะประกาศกันแนวเขต ตอนนี้จะใช้เขตอันไหน เพราะตอนนี้มีถึงสามเส้น กินพื้นที่ชาวบ้านค่อนข้างมาก จะจัดการให้ชาวบ้านอย่างไร อยากได้ความชัดเจนเรื่องการจัดทำแผนที่

คุณสุรพงษ์ เพิ่มเติมว่า รัฐกำลังจะทำแผนที่ให้มันมีอันเดียว (one map) เพราะเดิมแผนที่มีอยู่หลายแผนที่ตามแต่ละหน่วยงาน จึงมีปัญหาว่าเขตแดนแต่ละอันไม่ตรงกัน แล้วจะใช้แผนที่ไหนดี ก็เลยมีแนวคิดจะทำให้มีแผนที่เดียว  แล้วถามว่า one map จะใช้อันไหน คำตอบของผมก็คือ ใช้อันที่ถูกต้องตามจริง ต้องใช้แผนที่ที่ถูกต้องและเป็นจริง ถามว่าจะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องให้ชาวบ้านทำแผนที่เอง และไปบอกให้รัฐมาใช้แผนที่ของเราที่เป็นจริง

ประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

อาจารย์วุฒิ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงบิลลี่ ก็อาจจะต้องพูดถึงอาจารย์ป็อดด้วย เพราะก็ถือเป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้และเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้านบางกลอยที่ถูกไล่รื้อเผาบ้าน อาจารย์ป๊อดถูกยิงเสียชีวิตไปเมื่อปี 2554 หลังเหตุการณ์เผาบ้านกระเหรี่ยงไม่นาน

คุณพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ กล่าว่า เรื่องบิลลี่ ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ลงมาสอบถามแม่ของบิลลี่เพิ่มเติม โดยส่วนตัวเชื่อว่าถ้ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำคดีบิลลี่จริงๆ เขาสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่หนูเชื่อว่าเขาไม่จริงใจที่จะทำ

คุณก้อย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ กล่าวถึงกรณีของชัยถูมิ ป่าแส ว่าเขาเด็กที่ทำกิจกรรมาตั้งแต่เด็กกับกลุ่มรักษ์ลาหู่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมโดยใช้ศิลปะวัฒนธรรมเพื่อให้เด็กห่างไกลยากเสพติด ชัยภูมทำกิจกรรมตั้งแต่อายุ 10 ขวบ  1 เดือนแล้วที่เขาจากไป หลายองค์กรออกมาตั้งคำถามกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร เขาตายเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ ถ้าเป็นยาเสพติดก็ควรให้กระบวนการยุติธรรมจัดการ ไม่ใช่ทำแบบนี้  การที่น้องไม่มีบัตรประชาชน ไม่ได้หมายความว่าน้องไม่ใช่คนไทย เพราะการไม่มีบัตรประชาชนเกิดจากหลายสาเหตุ เช่นการตกสำรวจ น้องเกิดในประเทศไทย แต่ด้วยความผิดพลาดในการขึ้นทะเบียน ทำให้สิทธิหลายๆอย่างเขาไม่ได้

ที่มีคนพูดว่า น้องไม่ใช่คนไทย เป็นนคนค้ายา มาใช้พื้นที่ประเทศไทยก่อความวุ่นวาย เราเห็นแบบนี้แล้วเจ็บปวด ไม่ควรมีใครไปตีตราเขาแบบนั้น เขาก็เป็นคนเหมือนกัน

คนที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องมาพูดแทนเขา เพราะคนตายพูดไม่ได้ มันเป็นเรื่องใกล้ตัว จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้

คุณสุรพงษ์ กล่าวเสริมกรณีชัยภูมิ ที่มีนายตำรวจให้ข่าวว่า รถที่ใช้เป็นรถเถื่อน ผมตรวจสอบมาแล้วพบว่าเป็นรถที่ถูกต้อง มีทะเบียน เจ้าของเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เมื่องฝาง ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เรื่องเงินโอนเข้าบันชีก็มีแค่หลักพันเอง ที่ตำรวจคนนนั้นให้ข่าว เป็นการโกหกทั้งหมด

และที่มีนายทหารมาพูดว่า ถ้าเป็นผมจะยิงให้หมดแม็ค การพูดแบบนี้ เจ้าหน้าที่พูดไม่ได้ เพราะเป็นการพูดให้เกิดความเกลียดชัง
กลับมาที่กรณีบิลลี่ สถานะปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษมีหนังสือลงวันที่ 16 มกราคม 2560 ถึงภรรยาบิลลลี่แจ้งว่าเรื่องนี้ได้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษและมีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2560 ผ่านไป 7 เดือนถึงมาแจ้ง เป็นเรื่องแปลกมาก ในหนังสือก็ไม่มีการแจ้งเหตุผลการไม่รับ การที่เจ้าหน้าที่เล็กๆออกมาอ้างว่ามึนอไม่ใช่ภรรยาตามกฎหมาย แบบนี้อ้างไม่ได้ เพราะมึนอร้องในฐานะแม่ของลูกบิลลี่ ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิลลี่ ดังนั้น ดีเอสไอต้องรับ และรับแล้วต้องมีการทำงานอย่างเต็มที่

ประเด็นชาติพันธุ์

คุณเจียม กล่าวว่า ลึกๆแล้วยังมองว่าเป็นเรื่องอคติทางชาติพันธุ์ เรื่องอคตินี้ตามที่พวกเรารับทราบคือ การใช้คำมักจะใช้คำแบบเหมารวม เวลาพาดหัวข่าวจะเหมารวมเลยว่าเผ่านี้เผ่านั้น ประเด็นเหล่านี้ต้องมีการให้การศึกษา อธิบาย ชี้แจงบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ
การปกป้องสิทธิเราทำคนเดียวไม่ไหว ถ้าทำเป็นเครือข่ายมันจะมีพลังและหนุนเสริมกัน