รายงาน 4 ปีการบังคับสูญหายบิลลี่ ความยุติธรรมที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

รายงาน 4 ปีการบังคับสูญหายบิลลี่ ความยุติธรรมที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

โดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง มีฐานะเป็นหลานของปู่โคอี้ หรือคออี้ มีมิ ผู้เฒ่าวัย 107 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาติพันธ์กะเหรี่ยงแห่งบางกลอย-ใจแผ่นดิน หนึ่งในผู้ที่ถูกเผาบ้านและบังคับให้ออกจากถิ่นฐานที่บรรพบุรุษชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอยู่อาศัยทำกินมานับร้อยปี

บิลลี่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งบางกลอย-ใจแผ่นดิน ที่ถูกเผาบ้านและบังคับให้ต้องจากแผ่นดินเกิด เพราะนโยบายการอนุรักษ์ที่มองไม่เห็นชีวิตของผู้คน  บิลลี่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความในคดีที่ปู่คออี้ และชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอีก 5 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อศาลปกครองกลาง จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ภายใต้ปฏิบัติการ “ยุทธการตะนาวศรี หรือโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม     ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” ซึ่งเป็นโครงการที่มีขึ้นเพื่อผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมออกจากพื้นที่ แม้พวกเขาจะเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้วก็ตาม

ในช่วงที่บิลลี่หายตัวไป เป็นช่วงที่กำลังมีการเตรียมข้อมูลเพื่อต่อสู้คดีดังกล่าว และอยู่ระหว่างการเตรียมถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรม

“วันที่ 17 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 16.00 น. ผมได้รับโทรศัพท์จากพี่ชายของบิลลี่ บอกว่า บิลลี่ถูกจับเรื่องน้ำผึ้งที่ด่านมะเร็ว ให้ช่วยไปดูที่โรงพักหน่อย แต่ด้วยเห็นว่าวันนี้ค่ำแล้ว เตรียมเอกสารประกันตัวไม่ทัน และไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไร ก็เลยไม่ได้ไปที่โรงพัก แต่ก็ได้โทรไปหาบิลลี่ โทรไปสองครั้ง แต่บิลลี่ไม่รับสาย เช้าวันที่ 18 ผมโทรไปที่โรงพักแก่งกระจาน แต่ตำรวจบอกว่าไม่มีตัวบิลลี่ที่โรงพัก ตอนบ่ายไปตามที่โรงพัก ตำรวจแจ้งว่าบิลลี่ไม่ได้มาที่โรงพัก ตอนสองทุ่มก็ไปตามอีกรอบ ตำรวจก็แจ้งว่าบิลลี่ไม่ได้ถูกนำตัวมาที่นี้ ผมโทรหาบิลลี่ แต่ก็ไม่มีคนรับสาย” อดีตผู้นำชุมชุนมบางกลอยคนหนึ่งกล่าว

วันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีเหลือง กลับออกจากบ้านบางกลอยมุ่งหน้าออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ราวๆห้าโมงเย็นก็ขับมาถึงบริเวณด่านเขามะเร็ว แล้วบิลลี่ก็ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯที่ประจำด่านควบคุมตัวไว้  โดยอ้างว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถจักรยานยนต์และน้ำผึ้งป่าเป็นของกลาง  หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานฯได้นำตัวบิลลี่ พร้อมของกลางขึ้นรถกระบะ ขับออกไปถึงบริเวณแยกหนองมะค่า  นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้นได้ทำการตักเตือนและปล่อยตัวบิลลี่ไปพร้อมของกลาง เพราะเห็นว่าเป็นข้อหาไม่ร้ายแรง นี้เป็นถ้อยคำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯที่ให้ไว้ในศาลจังหวัดเพชรบุรีและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบ อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงคำกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ และยังมีความคลุมเครืออยู่  นอกจากนี้  ก็ไม่ปรากฏว่าหลักฐานบันทึกการจับกุมและปล่อยตัวแต่อย่างใด

 มึนอ ภรรยาของบิลลี่เล่าว่า “วันที่ 18 เมษายน 2557 ผู้ใหญ่กระทง โทรมาสอบถามว่าบิลลี่กลับมาบ้านหรือยัง (บ้านที่ป่าเด็ง) หนูก็เลยตอบว่า ไม่เห็น เขาก็เลยเล่าให้ฟังว่าบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่ด่านมะเร็ว จากนั้นวันที่ 19 เมษายน หนูก็เลยขี่มอเตอร์ไซด์ไปที่โรงพักแก่งกระจาน เพื่อแจ้งความเรื่องบิลลี่ วันนั้นมีชาวบ้านไปด้วยกัน    20 กว่าคน ตำรวจสอบปากคำหนู และก็ชาวบ้านญาติของบิลลี่อีก 3 คน หลังจากนั้นก็เดินทางกลับบ้านตอน      ห้าโมงเย็น ตั้งแต่บิลลี่หายไป หนูก็นอนไม่หลับ ไม่หิวข้าว อยากเจอพี่บิลลี่ หนูไปหาหมอดู เขาบอกว่าบิลลี่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถูกขัง หลังจากหนูก็ได้เดินหาไปยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ไม่ค่อยมีความคืบหน้า”

จากวันที่ 17 เมษายน 2557 ครอบครัวของบิลลี่และองค์กรต่างๆทั้งในและระหว่างประเทศ ได้พยายามเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้รัฐทำการค้นหาความจริงและนำคนผิดมาลงโทษ แต่ผ่านไป   4 ปี ความความจริงที่น่าจะต้องถูกคลี่คลายได้กลับเลือนหายไปตามกาลเวลา กระบวนการยุติธรรมที่เป็นความหวังสุดท้ายที่จะช่วยคืนความจริงและความยุติธรรมกลับดำเนินการไม่คืบหน้า

ความพยายามในการใช้กลไกศาลเพื่อตรวจสอบการควบคุมตัวโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

หลังจากความพยายามในการตามหาบิลลี่ผ่านไป 7 วัน วันที่ 24 เมษายน 2557 นางสาวพิณนภา  พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาของบิลลี่  พร้อมทนายความ ก็ตัดสินใจที่จะยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เพื่อขอให้ศาลทำการไต่สวนฉุกเฉินการควบคุมตัวบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งการยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นช่องทางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90[1] (คดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557)

ระยะเวลาเกือบ 3 เดือนนับแต่ได้ยื่นคำร้อง ศาลได้ทำการไต่สวนพยานรวมทั้งสิ้น 12 ปาก ในที่สุดศาลจังหวัดเพชรบุรี มีคำสั่งออกมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ยกคำร้องของนางสาวพิณนภา         พฤกษาพรรณ ด้วยเหตุผลทำนองว่า พยานฝ่ายของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้การสอดคล้องตรงกันว่าได้มีการปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แม้ทนายความฝ่ายผู้ร้องจะนำพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานมาเบิกความต่อศาลว่าคำให้การของพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่บางคนในชั้นพนักงานสอบสวนขัดกับคำให้การในชั้นศาล แต่ศาลเห็นว่าพยานปากพนักงานสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่าจึงไม่อาจรับฟังได้ ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงวินิจฉัยว่าจากการไต่สวนพยานทั้งหมดแล้ว ยังฟังไม่ได้ว่าบิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ     แก่งกระจาน

ด้วยความไม่ยอมแพ้ วันที่ 16 กันยายน 2557 มึนอ ภรรยาบิลลี่ พร้อมทนายความ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี โดยมีข้อโต้แย้งว่า คำให้การของพยานแต่ละปากของฝ่ายเจ้าหน้าที่อุทยานฯ  เบิกความไม่ตรงกัน มีข้อพิรุธ ขัดต่อหลักเหตุผล อีกทั้ง นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ที่อยู่กับนายบิลลี่เป็นครั้งสุดท้าย  มีเหตุโกรธเคืองกับนายบิลลี่มาก่อนจากกรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ทำการขับไล่ เผาบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเมื่อปี 2554 จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งในคดีดังกล่าวมีนายบิลลี่ เป็นผู้ประสานงานด้วย

อย่างไรก็ดี วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดเพชรบุรีให้ยกคำร้อง เนื่องจากศาลเห็นว่าการไต่สวนพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดที่ไม่ใช่สาระสำคัญ  ส่วนพยานหลักฐานที่ฝ่ายผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น

มึนอ ภรรยาบิลลี่และในฐานะผู้ร้องยังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงได้ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา เมื่อ 27 เมษายน 2558 โดยมีประเด็นฎีกาดังต่อไปนี้

  1. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แต่เพราะเจ้าหน้าที่ มีความขัดแย้งกับบิลลี่ในกรณีการเผาทำลาย ไล่รื้อ บ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จึงอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินคดี และนำไปสู่การควบคุมตัวนายบิลลี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบิลลี่ได้
  2. การพิสูจน์ว่าบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วหรือไม่นั้น โดยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน ภาระการพิสูจน์เป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการควบคุมตัว ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของญาติผู้ถูกควบคุมตัว และศาลจะต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ถึงที่สุดว่าบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วจริง เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกการจับ บันทึกของกลาง และบันทึกการปล่อยตัว จึงไม่อาจเชื่อได้ว่าบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว  และเชื่อได้ว่านายบิลลี่ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
  3. พยานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังล้วนแล้วแต่อยู่ใต้บังคับบัญชาและการดูแลของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเบิกความขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนในประเด็นการปล่อยตัวนายบิลลี่อันเป็น        ข้อสำคัญในคดี  โดยพนักงานสอบสวนได้พบพยานหลักฐานใหม่ที่ยืนยันว่า นายบิลลี่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

ศาลฎีกาใช้เวลาในการพิจารณากว่า 4 เดือน ได้มีคำพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 ให้ยกคำร้องเช่นเดียวกับศาลจังหวัดเพชรบุรีและศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยศาลฎีกาเห็นว่า พยานปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้ เนื่องจากศาลชั้นต้นไม่ได้ดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้วพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีมีมูลหรือไม่ แต่กลับมีหมายเรียกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องมาไต่สวนเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น คำเบิกความของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ได้

อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก  ศาลฎีกาได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงจากพยานที่ยังรับฟังได้  ซึ่งเหลือเพียง 3 ปาก คือ นางสาวพิณนภาและนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งพยายามทั้งสองปากศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นเรื่องการควบคุมตัวนายบิลลี่ ส่วนพยานอีกปากหนึ่งคือนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ กับชุมชนกะเหรี่ยง  ไม่ได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายบิลลี่  เมื่อพิจารณาจากพยานที่เหลือแล้วศาลฎีกาจึงมีวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องของผู้ร้องจึงไม่มีมูล” ศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกคำร้อง

เป็นเวลากว่า 1 ปี 4 เดือน นับจากวันที่วันที่ 24 เมษายน 2557 ที่มึนอ ภรรยาของบิลลี่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพชรบุรี จนถึงวันที่ 2 กันยายน 2558 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้อง  การต่อสู้อย่างยาวนานถึงสามชั้นศาล เพื่อค้นหาความจริงว่าบิลลี่ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะทราบความจริงได้ว่าบิลลี่อยู่ที่ไหน และมีชะตากรรมเป็นอย่างไร

การยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้รู้หรือพิสูจน์ว่าบุคคลใดถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นมาตรการที่ใช้เพื่อป้องกันการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้  แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีประสิทธิภาพและมีอุปสรรคค่อนข้างมาก เพราะโดยทั่วไปแล้วการควบคุมตัวโดยไม่ชอบนั้น  พยานหลักฐานต่างๆมักจะเป็นของหรืออยู่กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายใต้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ควบคุมตัว จึงเป็นเรื่องยากที่ฝ่ายผู้ถูกควบคุมตัวจะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่ามีการควบคุมตัวหรือถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

กรณีการไต่สวนการควบคุมตัวโดยไม่ชอบกรณีบิลลี่แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากดังกล่าวเป็นอย่างดี  ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเรียกร้องไปยังศาลในฐานะกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรมด้วย  ศาลจะมีบทบาทในการค้นหาความจริงเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพราะหากในกระบวนการไต่สวนยังคงปล่อยให้เป็นหน้าที่หลักของผู้ร้องที่จะต้องไปหาพยายานหลักฐานมาพิสูจน์เองดังเช่นกรณีบิลลี่นี้ ย่อมทำให้ฝ่ายผู้ร้อง ซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และศาลเองก็ไม่สามารถทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่สามารถตรวจสอบการกระทำที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่รัฐได้

4 ปีแล้ว ที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่คืบหน้า ป.ป.ท. ยังไม่ชี้มูล ส่วน ดีเอสไอ ยังอยู่ในกระบวนการ

การดำเนินการของ ป.ป.ท. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

หลังจากทราบข่าวการหายไปของบิลลี่  มึนอ ภรรยาก็ได้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน หลังจากนั้นตำรวจพื้นที่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีอยู่ระยะหนึ่ง  ประมาณเดือนพฤษภาคม 2557 พนักงานสอบสวนก็ได้สรุปสำนวนส่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภาค 7 จังหวัดนครปฐม ซึ่งหน่วยงานรับผิดขอบในพื้นที่ เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรกับพวก ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากการที่นายชัยวัฒน์ กับพวกได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย รวมทั้งไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้นายบิลลี่ทราบ ไม่จัดทำบันทึกการจับกุม ไม่จัดทำบัญชีของกลาง ไม่ได้แจ้งสิทธิตามกฎหมายให้นายพอละจีทราบ อีกทั้ง ยังไม่ได้แจ้งให้ญาติของนายพอละจีทราบถึงการถูกจับและไม่นำตัว      นายพอละจีพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และหลังจากนั้นนายบิลลี่ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

วันที่ 29 มกราคม 2558 มึนอ ภรรยาบิลลี่ ได้เดินทางมาร้องขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ เข้าไปรับผิดชอบดำเนินการแทน ป.ป.ท. ภาค 7 เนื่องจากไม่มั่นใจในการทำงานของ ป.ป.ท. ภาค 7 ในขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนชุดใหม่จากตำรวจภูธรภาค 7 ซึ่งได้เข้าไปรับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาการหายตัวไปของบิลลี่แทนพนักงานสอบสวนพื้นที่ ก็ได้ส่งสำนวนเพิ่มเติมให้แก่ ป.ป.ท. ส่วนกลางด้วย และหลังจากนั้นก็มีคำสั่งให้มีการโอนคดีมาให้ ป.ป.ท. ส่วนกลางรับผิดชอบกรณีนี้แทน ป.ป.ท. ภาค 7 พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินการแทนชุดเดิมด้วย

ผ่านไปเกือบสองปีนับแต่ยื่นคำร้อง การดำเนินการของ ป.ป.ท. ก็ยังไม่แล้วเสร็จ  ทำให้ในช่วงเดือนธันวาคม 2559  มึนอ ภรรยาบิลลี่เดินทางเข้าพบประธานอนุไต่สวน ป.ป.ท เพื่อสอบถามความคืบหน้า ซึ่งก็ทราบข้อมูลว่า อนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ท. ได้ดำเนินการสอบปากคำพยานและรวบรวมพยานหลักฐานของทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว และหากไม่มีการอ้างพยานเพิ่มเติม น่าจะสามารถสรุปสำนวนและเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดได้ภายในกลางเดือนมกราคม 2560 ซึ่งหาก      ไม่ติดขัดอะไรคาดว่าคณะกรรมการ ป.ป.ท. จะสามารถชี้มูลได้ภายในไม่เกิน 1 เดือนนับแต่เสนอเรื่อง หากคณะกรรมการมีมติว่าไม่ผิด เรื่องก็จบ แต่อย่างไรก็ดี ผู้เสียหายก็ยังสามารถนำพยานหลักฐานไปดำเนินการฟ้องร้องต่อไปได้ แต่หากคณะกรรมการมีมติชี้มูลว่ามีความผิดอาญา ก็จะมีการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานอัยการว่าจะมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง

ในครั้งนั้น ประธานอนุกรรมการไต่สวนความผิดอาญา ยังได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีการดำเนินการล่าช้าว่า เนื่องจากการดำเนินการของ ป.ป.ท. เป็นระบบไต่สวนโดยคณะกรรมการ และในการดำเนินการจะมีขั้นตอนต่างๆมากมาย มีการให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างพยานหลักฐานได้เต็มที่ ซึ่งฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาก็มีอ้างพยานหลักฐานมาค่อนข้างมาก กว่าจะสอบหมดทุกปากก็ใช้เวลานานพอสมควร อย่างไรก็ดี ประธานอนุไต่สวนฯยังชี้แจ้งเพิ่มเติมว่า หากฝ่ายผู้กล่าวหาต้องการจะให้สอบพยานเพิ่มเติมก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

หลังจากเข้าพบประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ทางทีมทนายความ องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมึนอ ภรรยาบิลลี่ ก็ได้มีการปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานฝ่ายผู้กล่าวหาที่อนุไต่สวนฯสอบไว้ยังไม่ครอบคลุม  จึงควรเสนอพยานให้อนุไต่สวนฯได้สอบสวนพยายามเพิ่มเติมอีกสามคน  ทั้งนี้ ได้มีการยื่นเรื่องให้สอบเพิ่มเติมประมาณเดือนธันวาคม 2560  อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน เวลาผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว ป.ป.ท. ยังไม่แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆกลับมา

กรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่รับกรณีการบังคับสูญหายบิลลี่เป็นคดีพิเศษ แต่ชี้แจงว่ายังอยู่ระหว่างดำเนินการ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ลงพื้นที่แก่งกระจานตามความคืบหน้าคดีบิลลี่ มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 และก็ลงพื้นที่อีกหลายครั้งในปีดังกล่าว  ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2558 น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ ได้เข้าพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อยื่นหนังสือขอให้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ และขอให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากที่ผ่านมาคดียังไม่มีความคืบหน้า โดยขอให้ใช้พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ทำงานควบคู่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ

เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีนับแต่ยื่นคำร้อง ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 16 มกราคม 2560 แจ้งกลับมาที่มึนอ ภรรยาบิลลี่ว่าคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติไม่รับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยมติดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมวันที่ 10 มิถุนายน 2559 หรือราว 7 เดือนก่อนหน้าที่จะมีหนังสือแจ้งผลมายังภรรยา ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมจึงมีการแจ้งผลล่าช้าถึง 7 เดือนหลังจากที่คณะกรรมการมีมติ

ในหนังสือแจ้งผลที่ส่งมายังมึนอ ภรรยาของบิลลี่นั้น ไม่ได้ระบุว่าเพราะเหตุใดคณะกรรมการคดีพิเศษจึงมีมติไม่รับ แต่ต่อมาทางผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อธิบายเหตุผลในที่ประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธุ์ 2560 มีสาระสำคัญสรุปว่า  กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าไปทำการสืบสวนกรณีนี้อยู่นานแล้วตั้งแต่ปี 2557 หลังจากบิลลี่หายตัวไปใหม่ๆ มีการไปสอบถามพยานบุคคลไปกว่า 200 คน มีการตรวจวิเคราะห์จากกล้องวงจรปิด เก็บคราบเลือดที่ปรากฏบนรถยนต์ต้องสงสัยและได้ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์แล้ว แต่ผลการตรวจพิสูจน์ระบุได้เพียงว่าเป็นเลือดมนุษย์ ไม่สามารถตรวจหา DNA ได้ เมื่อไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับการสืบสวนใช้เวลากว่า 2 ปีแล้ว ทำให้มีผลต่อตัวชี้วัดของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มีการเสนอเรื่องให้งดการสืบสวนไว้ก่อน นอกจากนี้ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษยังชี้แจงต่อด้วยว่า นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้ยื่นคำร้อง ไม่ใช่ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายพอละจี เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จึงไม่ได้เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษได้

กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานที่ถูกคาดหวังและก่อตั้งขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายว่าจะเข้ามาช่วยคลี่คลายคดีที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรือมีความยุ่งยากซับซ้อน คดีที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเหตุผลที่กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ เพราะว่าสืบสวนมากว่า 2 ปีแล้วไม่มีความคืบหน้านั้น ก็ย่อมเป็นการยืนยันอย่างชัดแจ้งแล้วว่าคดีนี้มีความยุงยากซับซ้อนเพียงใด อีกทั้งยังเป็นคดีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องสงสัยสำคัญในคดีด้วย การสืบสวนสอบสวนคดีนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยหน่วยงานอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ช่วยคลี่คลายคดี

อาจจะต้องแสดงความคิดเห็นไว้สักเล็กน้อย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่กว้างขว้างขึ้น สำหรับเหตุผลที่อ้างว่ามึนอ ภรรยาของบิลลี่ ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้อง ไม่ใช่ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของบิลลี่ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการคดีพิเศษนั้น ในประเด็นนี้ แม้ตามประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จะกำหนดให้ผู้ที่จะสามารถร้องขอให้คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ ต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่ได้กำหนดว่า “ผู้เสียหาย” ต้องเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย การตีความการเป็นผู้เสียหายของภรรยาตามมาตรา 5 (2) แห่งประมวลกฎหมายวีพิจารณาความอาญา โดยตีความว่าภรรยาที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้นถึงจะมีสิทธิจัดการแทนผู้เสียหายได้ เป็นเพียงแนวทางการตีความแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะโดยทั่วไป การเป็นภรรยานั้น นอกจากจะเป็นภรรยาแบบนิตินัยที่ต้องจดทะเบียนสมรสแล้ว ยังมีภรรยาโดยความเป็นจริงหรือพฤตินัยด้วย กรณีนี้ แม้นางสาวพิณนภา จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายพอละจี แต่ทั้งสองก็ได้อยู่กินฉันสามีภรรยาด้วยกันมาจนมีบุตรด้วยกัน 5 คน  และหากกรมสอบสวนคดีพิเศษจะสนใจศึกษาสภาพวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้าง ก็คงจะพอเข้าใจได้ว่าเรื่องการจดทะเบียนสมรสตามระบบของรัฐนั้น อยู่ในการรับรู้และเข้าใจของพวกเขามาน้อยเพียงใด  อย่างว่าแต่จดทะเบียนสมรสเลย  แม้แต่บัตรประจำตัวประชาชน ชาวบ้านชาติพันธุ์จำนวนมากก็ยังไม่มีเลย ดังนั้น การตีความกฎหมายในเรื่องการเป็นผู้เสียหาย จึงควรตีความให้สอดคล้องกับความจริงแห่งวิถีชีวิตและส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม มากกว่าที่จะกีดกัดการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน

แต่หลังจากที่มีการปฏิเสธไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษได้ไม่นาน ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2560 ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องไปรายงานการปฏิบัติการต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( ICCPR ) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ได้ปรากฏข่าวว่านายกรัฐมนตรีสั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนคดีทนายสมชายและคดีบิลลี่ต่อไป

หลังจากนั้น มึนอ ภรรยาบิลลี่ ก็ได้ให้ข้อมูลว่าประมาณวันที่ 30  มีนาคม 2560  เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ลงไปสอบปากคำแม่ของบิลลี่ ที่โรงพักแก่งกระจาน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวของบิลลี่ และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหายตัวไปของบิลลี่

หลังจากนั้นกว่า 1 ปีกว่า นับจากกรมสอบสวนคดีพิเศษลงไปสอบปากคำแม่ของบิลลี่ ก็แทบจะไม่ปรากฏความคืบหน้าใดๆอีกเลย  จนกระทั่งวันครบรอบการหายตัวไปของบิลลี่เวียนมาบรรจบอีกครั้ง  วันที่ 17 เมษายน 2561 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ประเทศไทย: ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆในวันครบรอบ 4 ปี ที่“บิลลี่”ถูกบังคับให้สูญหาย ระบุว่าการสืบสวนสอบสวนคดีบิลลี่ไม่มีความคืบหน้าและและดีเอสไอปฏิเสธไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ[2] หลังจากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ออกมาชี้แจงอย่างรวดเร็วทันใจว่าคดีบิลลี่ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่มีมติไม่รับเป็นคดีพิเศษแล้วตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด[3]

นับแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ที่บิลลี่หายไป จนถึงบัดนี้เป็นเวลา 4 ปีแล้ว ในส่วนของการสืบสวนสอบสวนหาตัวบิลลี่และการดำเนินคดีฐานความผิดอื่นที่เกี่ยวกับการทำให้บิลลี่หายไปนั้นก็ยังไม่มีความคืบหน้า ในส่วนการดำเนินการของ ป.ป.ท. ที่รับไม้ต่อมาจากตำรวจให้ดำเนินการกับนายชัยวัฒน์ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น ก็ยังต้องรอผลต่อไปว่าคณะกรรมการ ป.ป.ท. จะชี้มูลออกมาในแนวทางใด

 

อ้างอิง

[1] มาตรา 90 เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ

(๑) ผู้ถูกคุมขังเอง

(๒) พนักงานอัยการ

(๓) พนักงานสอบสวน

(๔) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี

(๕) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง

เมื่อได้รับคำร้องดังนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

[2]แถลงการณ์ ICJ https://voicefromthais.wordpress.com/2018/04/16/%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C-icj-%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7/

[3] เอกสารชี้แจงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ https://naksit.net/wp-content/uploads/2018/04/30714560_987275584756792_4698528938597548032_n.jpg