ฟังความเห็นของคอรีเยาะ ในเวที “จากบางกลอย ถึงกระบวนการยุติธรรม”

ฟังความเห็นของคอรีเยาะ ในเวที “จากบางกลอย ถึงกระบวนการยุติธรรม”

 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564  เครือข่ายภาคี #SAVEบางกลอย ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้จัดเวทีเสวนาข้างทำเนียบรัฐบาล หัวข้อ “จากบางกลอย ถึงกระบวนการยุติธรรม”  ภายในงานเสวนาครั้งนี้ คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มชาติพันธุ์ โป่งลึก บางกลอยไว้ดังนี้

“จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้จับกุมกลุ่มชาติพันธ์ุ ที่อาศัยอยู่ที่แก่งกระจาน ต้องยอมรับว่าในฐานะคนธรรมดาเราสะเทือนใจมาก ที่ประชาชนคนที่อยากอยู่บ้านตัวเองต้องถูกรัฐกระทำรุนแรงขนาดนี้ และเป็นความรุนแรงในนามกฎหมายที่พวกเขาอ้างว่ามีความชอบธรรมที่จะกระทำกับประชาชน เป็นการกระทำที่เราในฐานะนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนไม่สามารถยอมรับได้เลยว่านี่เป็นกระบวนการความยุติธรรม หรือกระบวนการตามกฎหมายที่มีทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่บัญญัติชัดเจน เรื่องรับรองสิทธิของพลเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงสิทธิของชนเผ่า ชนกลุ่มน้อยที่จะสามารถอยู่ในพื้นที่ตนเอง รักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมของตนเอง ถูกกระทำเช่นนี้

อย่างแรกเลยที่เราเห็น รัฐมีการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เกินสัดส่วนไปมากมายเหลือเกิน เอา เฮลิครอปเตอร์ขึ้นไปบนใจแผ่นดิน มีการบินวน เป็นลักษณะของการข่มขู่คุกคาม โดยใช้อำนาจรัฐ ใช้ทรัพยากรที่มาจากภาษีประชาชนในการไปคุกคามคนที่อยู่บ้านของเขาเอง 

มีการจับกุมผู้ต้องหาแม้ว่าจะแจ้งข้อหาที่มีอัตราโทษร้ายแรง 4-20 ปี ตามพ.ร.บ.ใหม่ ที่กฎหมายอาญาทั่วไปบอกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจถ้าจะจับสามารถออกหมายเรียกหรือหมายจับก็ได้ กรณีหมายจับ ถ้าอัตราโทษสูงเกิน 3 ปี เขาขอให้ออกหมายจับได้ แต่แม้จะขอให้ออกหมายจับได้ก็ไม่ได้แปลว่าชอบธรรมที่จะออกหมายจับโดยทันทีทันใดโดยที่ไม่คำนึงถึงความเปราะบาง ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ไม่เคารพในสถานที่ที่คนดั้งเดิมเขาอยู่และมีขนบธรรมเนียมประเพณี ของคนที่จะไปจับกุม ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายในลักษณะในทางที่ ไม่เพียงแต่เป็นโทษกับประชาชน แต่ในทัศนะของเราในฐานะทนายความ นักสิทธิมนุษยชน เราเห็นว่า นี่เป็นการเอากฎหมายมาปิดปากและข่มขู่คุกคาม ซึ่งในปัจจุบันเราถือว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดเครื่องมือนึงของรัฐบาลในการที่จะเอากฎหมายไปคุกคามประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ที่บางกลอย เราจะเห็นการแสดงออกของพลเมืองในหลาย ๆ ด้าน ก็ถูกรัฐใช้กฎหมายปิดปาก ข่มขู่ คุกคามด้วยเหมือนกัน

นอกจากนี้ เรายังเห็นพฤติกรรมที่ถ้าจะใช้คำว่าน่ารังเกียจก็ดูจะน้อยเกินไปด้วยซ้ำไป ว่ามีการใช้กำลัง มีการข่มขู่ แม้จะไม่มีอาวุธปืน แต่โดยลักษณะที่มีอาวุธพร้อมที่จะทำร้าย และต้องยอมรับว่าชาวบ้านบางกลอยเป็นคนที่ไม่ได้มีความรู้ที่จะสามารถเอากฎหมายเข้ามาถกเถียงหรือป้องกันตนเองจากการใช้อำนาจอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ แค่ทำเสียงดังใส่เขาก็กลัวแล้ว นี่เอาฮ.มาทั้งคนมีอาวุธ ไหนจะลูกจะเมียกระเตงงอแงไปหมด ยังกระทำการเช่นนั้นต่อหน้าเด็ก ๆ ผู้สูงอายุ ผู้หญิง ครอบครัว ลากจูง แม้กระทั่งอุ้มขึ้นไปบน ฮ. เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ และไม่สามารถยอมรับได้เลยไม่ว่าในฐานะประชาชนคนธรรมดา หรือถ้าในฐานะนักสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้เลย

แล้วจะเห็นลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานที่จะมีการพาไปที่อุทยานก่อน แล้วก็มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของการตรวจ DNA เป็นสิ่งเลวร้ายมาก เพราะ DNA ไม่ใช่ที่ใครจะเอาของใครไปเมื่อไหร่ อย่างไรก็ได้ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจใครที่จะให้ไปเช่นนั้นได้ หรือแม้กระทั่งที่น้องพูดว่าเขาก็ไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร ถ้าเจ้าหน้าที่ขอเขาก็ยอมให้เอาไป นั่นคือการให้โดยปราศจากข้อมูลความรู้พื้นฐานว่าสิ่งนั้นจะเอาไปใช้ทำอะไรแล้วจะส่งผลอะไรกับชีวิตของเขาภายในอนาคตอันใกล้จะถึงก็ได้ นี่เป็นการใช้ทริคที่น่ารังเกียจอย่างร้ายแรง ในการที่จะพรากและละเมิดสิทธิของประชาชน

และการจับกุม เราอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการจับกุมควบคุมตัว 48 ชั่วโมง ตอนที่เจ้าหน้าที่อุทยานจับตัวไปถึงที่ทำการของอุทยาน นี่อาจจะยังไม่นับชม.แรกด้วย ทางกฎหมายนับว่าตอนไปถึงที่โรงพักคือที่ที่สถานีตำรวจหรือสถานที่ทำการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คำถามคือ อุทยาน นับว่าเป็นที่ทำการของตำรวจแล้วหรือยัง แล้ว 48 ชม. ชม.แรก นาทีแรก นับตรงไหน นี่เป็นการที่ทำให้กฎหมายถูกบิดเบือนไปด้วยความตั้งใจที่น่ารังเกียจของเจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่ามีการใช้ล่าม แต่เหมือนเป็นล่ามที่เราไม่อาจจะไว้ใจได้ อาจจะเป็นล่ามที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ อย่างดิฉันเอง เป็นคนมลายู พูดภาษายาวี อยู่ยะลา แต่ถามว่าเป็นล่ามภาษามลายูได้ไหม ไม่ได้ พูดได้อย่างเดียว ล่ามมันไม่ใช่แค่คนพูดได้ แต่ต้องมีทักษะพิเศษ ต้องมีจริยธรรมควบคุมการเป็นล่ามด้วยว่าจะแปลได้ถูกต้อง ไม่มีความเห็นส่วนตัวของตนเองเข้าไปในเนื้อหานั้น แล้วก็ต้องไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเผื่อที่ให้คนที่จะแปลสามารถพูดในสิ่งที่ตนเองต้องการในใจจริง ๆ การที่หยิบจับใครข้างกายตนเองมาเป็นล่ามแล้วอนุมานไปว่าให้ล่ามแล้ว ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้แล้ว เป็นการใช้ทริคที่น่ารังเกียจด้วยเช่นกัน

ประเด็นเรื่องการ การฝากขัง ตำรวจจะมีเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานที่เราเรียกว่าสอบสวน/ทำสำนวนสอบสวน เขาจะต้องทำให้เสร็จให้ไว แต่ถ้าไม่เสร็จ กฎหมายให้อำนาจให้ตำรวจขอกับศาลขอฝากขังไว้ก่อนตอนที่เขายังรวบรวมพยานหลักฐานไม่เสร็จ ถามว่าคดีบางกลอยที่ถูกจับข้อหาบุกรุก มีพยานหลักฐานอะไรให้สืบหาเป็นเวลา 4-5 วัน ทำไม 48 ชม.ไม่พอ มันไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้เชื่อได้ว่าเขาต้องใช้เวลานานขนาดนั้นในการรวบรวมพยานหลักฐาน ในขณะที่ผู้ต้องหาทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไป เราเชื่อว่าการที่ใช้กฎหมายลักษณะนี้เป็นการที่ใช้มันเพื่อลดทอนและลิดรอนสิทธิของประชาชน “กฎหมายให้ควบคุมเท่าที่จำเป็น” ความจำเป็นของเขามันถูกทำให้เป็นสิ่งที่เขาต้องทำ คือ จับตัวมาก็ต้องฝากขัง โดยที่ไม่ต้องดูบริบทหรือข้อเท็จอื่นหรือไม่ แต่มันถูกใช้ไปเพราะกฎหมายมอบอำนาจให้ใช้ ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายจริง ๆ คือ ต้องขังในกรณีที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น คำถามใหญ่ ๆ เลย จำเป็นมากขนาดไหน ผู้ต้องหาไม่ได้หลบหนีไปไหน ให้ความร่วมมือในการให้การ และบางกลอยก็ยังคงอยู่ที่นั่น จะเดินไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ลงทุนถึงขนาดเอาฮ.ไป  เอาเจ้าหน้าที่ไป ยังมีอะไรที่จะยังต้องเก็บ ต้องฝากขังอีก อันนี้เป็นปัญหา การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคิดว่าเขาถือกฎหมาย มันเป็นอาญาสิทธิ์ที่เขาจะเอาไปทุ่มใส่ใครก็ได้

แล้วสิ่งที่เราพบคือ การวิดิโอคอลเราพบว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะศาลเป็นคนที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรับการฝากขัง ต้องถามผู้ต้องหาด้วยว่าจะคัดค้านไหมว่าการฝากขังชอบไม่ชอบอย่างไร และสิ่งอื่นใดที่สำคัญที่สุดคือศาลคือคนนอกคนแรกที่จะเห็นตัวผู้ต้องหาว่าเขาปลอดภัยดี มีบาดแผลหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะไม่เห็นจากจอสกรีน อันนี้เป็นสิ่งอันตราย ถ้ามีบาดแผล หรือร่องรอยใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการควบคุมตัว หรือชุลมุนใด ๆ ก็ตามก็จะไม่มีใครเห็น เพราะญาติหรือทนายก็เข้าไม่ถึง โทรศัพท์ก็ถูกยึดไป เป็นการทำลายหลักการของการที่จะให้สิทธิกับผู้ต้องหาในการติดต่อกับทนายความหรือญาติหรือแจ้งกับคนที่เขาไว้วางใจว่าเขาถูกจับตัวไป ด้วยข้อหาอะไร และถูกพาตัวไปที่ไหน กฎหมายนี้ตำรวจก็รู้ แต่เขาเจตนาที่จะเอาไปและไม่ให้ผู้ต้องหามีสิทธิตามที่กฎหมายรับรองไว้ อันนี้เป็นการย้อนแย้งในตัวเอง เขาถือว่าเขาถือกฎหมาย เขาสามารถจับได้ แต่ในขณะเดียวกัน กฎหมายที่เขาถือเขาก็ปฏิเสธมันด้วยในเวลาเดียวกัน เขาเลือกที่จะใช้และเลือกที่จะปฏิเสธตามอำเภอใจ โดยที่ไม่ได้ดูเรื่องสิทธิ ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาใด ๆ เลย สิ่งที่เขามุ่งไปอย่างเดียวคือเขาต้องเอาคนผิดมาลงโทษ ทั้ง ๆ ที่ในขั้นตอนนี้ตำรวจมีหน้าที่ 2 อย่าง ก็คือ พิสูจน์ความผิด และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย แต่สิ่งที่เราเจอ คือ เขาจับเพราะเขาตัดสินไปแล้วว่าคนนี้ผิด โดยที่เขาไม่คิดว่าเขาต้องมีหน้าที่เพื่อที่จะหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา เขาถึงกระทำด้วยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และกระทำสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าละอาย เหล่านี้ต่อประชาชน ไม่ว่าจะการใช้เครื่องพันธนาการ มีการข่มขู่ ตรวจ DNA โดยที่อาศัยความซื่อบริสุทธิ์ของประชาชน ที่เอาเส้นผม เยื่อบุกระพุ้งแก้ม อาศัยความไม่รู้ของคนมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนได้อย่างร้ายกาจ”

ดูไลฟ์วงเสวนาเเบบเต็มได้ที่ https://www.facebook.com/TheReportersTH/videos/468384427625709