ขบวนการคนงานไร้ที่ดินของบราซิลกับการใช้กฎหมายต่อสู้เพื่อปฏิรูปที่ดิน

ขบวนการคนงานไร้ที่ดินของบราซิลกับการใช้กฎหมายต่อสู้เพื่อปฏิรูปที่ดิน

ภาพจากเว็บไซด์ : terradedireitos.org

ขบวนการคนงานไร้ที่ดินของบราซิล  (หรือในภาษาโปรตุเกสว่า Movimento dos Trabalhadores Sem Terra, หรือ MST) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1984 ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย MST ถือเป็นหนึ่งในขบวนการทางสังคมที่มีผลงานก้าวหน้ามากสุด มีสมาชิก 1.5 ล้านคนใน 23 จาก 26 รัฐของบราซิล เป้าหมายของ MST คือการช่วยให้เกษตรกรไร้ที่ดินที่ยากจนได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ปฏิบัติการของ MST เป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า บราซิลเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมในการกระจายการถือครองที่ดินมากสุดในโลก โดยผู้ครอบครองที่ดินเพียง 1.6% เป็นผู้ถือครองที่ดินเกษตรกรรม 47% ของประเทศ ในขณะที่หนึ่งในสามของเกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรมเพียง 1.6%[1] วิกฤตหนี้ในทศวรรษ 1980 ส่งผลให้รัฐบาลต้องสนับสนุนการส่งออกของภาคเกษตรอุตสาหกรรม รัฐต้องคุ้มครองเจ้าที่ดินรายใหญ่โดยให้การลดหย่อนด้านภาษี อนุญาตให้มีการกว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณป่าอเมซอน และยังมีปัญหาขาดการปฏิรูปด้านเกษตรกรรมและกฎหมายแรงงาน จนถึงทศวรรษ 1990 ได้เกิดกลุ่มพันธมิตรที่มีอิทธิพลของบรรดาเจ้าที่ดินที่ร่วมมือกับรัฐและธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นบรรษัทข้ามชาติในบราซิล

ชนชั้นนำในภาคเกษตรของบราซิลเป็นผู้มีอิทธิพลต่อสถาบันทางการเมือง เป็นหลักประกันให้พวกเขาสามารถครอบครองที่ดินและทรัพยากร[2] บราซิลมีประวัติศาสตร์ยาวนานของการต่อสู้ของเกษตรกรเพื่อที่ดินและการปฏิรูปที่ดิน อย่างไรก็ดี ระบอบเผด็จการทหารในช่วงปี 1964 ถึง 1984   ได้จำกัดการเคลื่อนไหวขององค์กรมวลชน และถึงขั้นห้ามไม่ให้มีการพูดเรื่องการปฏิรูปที่ดินในสาธารณะ

จากประสบการณ์ของขบวนการเกษตรกรไร้ที่ดินในอดีต ทำให้ MST ได้เข้าร่วมในการยึดครองที่ดินเกษตรกรรมที่ถูกทิ้งร้างตั้งแต่ปี 1984 โดยการเข้ายึดครองที่ดินที่ถูกทิ้งร้างเป็นการอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 5, XXIII ของรัฐธรรมนูญค.ศ.1988 ที่กำหนดว่า ที่ดินต้องมีประโยชน์ในเชิงสังคม ตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลบราซิลต้อง “เวนคืนที่ดินเพื่อจุดประสงค์ด้านการปฏิรูปเกษตรกรรม รวมทั้งที่ดินในชนบทที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงสังคม”

ยุทธศาสตร์ของ MST คือการยึดครองที่ดินขนาดใหญ่เป็นเวลาต่อเนื่องกัน โดยเป็นที่ดินซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงสังคม MST ยังใช้ประโยชน์จากศาลเพื่อสร้างความชอบด้วยกฎหมายให้กับการยึดครองที่ดินเหล่านั้น นักกฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของบราซิลได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในคดีต่าง ๆ ของ MST MST เชื่อว่าสิทธิในทรัพย์สินควรถูกกำหนดจากบริบทของสังคม การฟ้องคดีจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมนั้น[3]

MST ต้องเผชิญกับการปราบปรามและการต่อต้านทางการเมืองจากผู้พิพากษาและนักกฎหมายแนวอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ดี ในปี 1996 ศาลสูงสุดของบราซิลมีคำวินิจฉัยว่าการยึดครองที่ดินที่มุ่งสนับสนุนการปฏิรูป มีลักษณะแตกต่างจากการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญาต่อทรัพย์สิน ในเดือนสิงหาคม 1999 ศาล State Higher Court ใน Rio Grande do Sul รัฐปอร์โต อัลเลเกร ได้กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นซึ่งยินยอมให้เจ้าที่ดินมีสิทธิขับไล่เกษตรกร MST ออกจากที่ดินของตน โดยผู้พิพากษามีคำสั่งว่า

ก่อนจะบังคับใช้กฎหมาย ผู้พิพากษาต้องพิจารณาบริบททางสังคมของคดีนี้ รวมทั้งผลกระทบของกฎหมาย ความชอบธรรม และผลประโยชน์ทับซ้อนที่ขัดแย้งกัน [MST] เป็นเกษตรกรไร้ที่ดินซึ่งต้องการสร้างผลผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองและหล่อเลี้ยงประเทศบราซิล ในท่ามกลางโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์และอดอยาก….อย่างไรก็ดี ประเทศบราซิลกลับหันหลังให้พวกเขา เนื่องจากฝ่ายบริหารยอมให้เงินกับธนาคาร ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติ…ต้องการออกกฎหมายเพื่อยกหนี้ให้กับเกษตรกรรายใหญ่ ส่วนสื่อมวลชนตั้งข้อหากับ MST อย่างรุนแรง ในสภาพการณ์เช่นนี้ เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินยังคงมุ่งหวังที่จะเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวด้วยมือของตนเอง และในการทำเช่นนี้พวกเขาได้สวดภาวนาและร้องเพลง รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐและมาตรา 5 ….กำหนดให้มีวลีที่ตีความเพื่อสนับสนุน MST…ตามมาตรา 5 วรรค 23 ของรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ [ซึ่งกำหนดให้ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินต้องตอบสนองประโยชน์ในเชิงสังคม] ศาลจึงมีคำสั่งให้ชะลอ [การบังคับโยกย้าย]”[4]

MST ใช้วิธีการจัดตั้งมวลชนและปฏิบัติการดื้อแพ่งอย่างสันติวิธี ส่วนการใช้ประโยชน์จากกฎหมายซึ่งกลุ่มในฟิลิปปินส์เรียกว่าเป็นยุทธวิธีแบบ ‘metalegal’ ประสบความสำเร็จอย่างมาก MST ทำการยึดที่ดินกว่า 250,000 ครั้ง เป็นเหตุให้ครอบครัวเกษตรกรประมาณ 350,000 ครอบครัวสามารถเข้าถึงชุมชนเกษตรกรรมและที่ดิน 2,000 แห่ง[5]

MST ยังทำงานด้านการศึกษา สุขภาพ และการสื่อสาร มีการก่อตั้งเครือข่ายโรงเรียนประถมและมัธยม 1,800 แห่งรวมทั้งนักเรียนประมาณ 250,000 คน MST ยังจัดชั้นเรียนสำหรับผู้ใหญ่รองรับประชากรกว่า 50,000 คน ในปี 2005 ได้เริ่มเปิดตัวมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกที่กรุงเซาเปาโล นอกจากนั้น MST ยังเป็นภาคีร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งในบราซิล จัดหลักสูตรและ    มอบปริญญาบัตรให้กับสมาชิกของตน มีส่วนช่วยฟื้นฟูความรู้สึกมีศักดิ์ศรีและความมั่นใจในตนเองของสมาชิก ถือว่าเป็น “กลไกประชาธิปไตยที่ชอบธรรมที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม”[6] MST มองว่า ประชาธิปไตยหมายถึงการประกันให้รัฐตรวจสอบได้ และทำให้รัฐต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น[7]

ความสำเร็จของ MST เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรกฎหมายในชุมชน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม MST ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งขบวนการที่มีแนวคิดร่วมกันเกี่ยวกับความยุติธรรมและการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากทรัพยากรกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตน

***หมายเหตุ ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ เรื่อง กฎหมายกับการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและความยุติธรรม (Law in the Struggle for Dignity and Justiceเขียนโดย D.J. Ravindran แปลไทยโดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย และ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

อ้างอิง

[1]Miguel Carter, “ขบวนการคนงานชนบทไร้ที่ดินและประชาธิปไตยในบราซิล” (‘The Landless Rural Workers Movement and Democracy in Brazil”)  American University เข้าถึงได้ที่ http://www.mstbrazil.org/files/Miguel%20Carter%20LARR%20Article%20%282011%29_0.pdf

[2] อ้างแล้ว

[3]Peter P. Houtzager, The movement of the landless (MST) and the juridical field in Brazil. Institute of Development Studies, 2005

[4]Decision #70000092288,  RuiPortanova, State Court of  Rio Grande do Sul, Porto Alegre, จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Landless_Workers%27_Movement

[5]Laura Landertinger, Brazil’s Landless Workers Movement (MST), Centre for Research on Latin America and the Caribbean, York University, กรกฎาคม 2009  จาก http://www.yorku.ca/cerlac/documents/Landertinger.pdf.

[6] อ้างแล้ว

[7]  อ้างแล้ว