คดีโลกร้อน ปะทะ สิทธิชุมชน โดย กฤษดา ขุนณรงค์

คดีโลกร้อน ปะทะ สิทธิชุมชน โดย กฤษดา ขุนณรงค์

ปมที่ไม่อาจคลายหากยังไม่เลิกใช้ “ แบบจำลอง”

ใช่ครับเรื่องที่จะพูดถึงต่อไปนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยของเราเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง ปัจจุบันนี้หลายท่านพอคุ้นเคยกับคำว่า โลก ร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกซึ่งเชื่อกันว่าจะส่งผลร้ายแรง ต่อโลกของเรา ว่ากันไปถึงขั้นโลกใบนี้อาจถึงจุดอวสานหรือพูดกันให้เห็นภาพสั้น ๆ ภาษาชาวบ้าน ว่า “ โลกของเรากำลังจะแตก ” ทำนองนั้น หลายปีก่อนผู้นำกว่าร้อยประเทศทั่วโลกไปนั่งคุยเพื่อหาทางแก้ไขเรื่องนี้ และมีข้อตกลงอันเป็นพันธสัญญาทางกฎหมายภายใต้ชื่อ “ พิธีสารเกียวโต ” เป้าหมายหลัก คือ การลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกซึ่งมีคาร์บอนไดออกไซด์เป็นต้นเหตุสำคัญที่ส่ง ผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา รัสเซีย ญี่ปุ่น ยกเว้น สหรัฐและออสเตรเลีย ยอมที่จะรับผิดชอบปฏิบัติตามอนุสัญญา สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย แต่เนื่องจากเราไม่ได้เป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมจึงไม่มีผลบังคับให้ต้อง ดำเนินการครบถ้วนตามอนุสัญญา แต่สามารถเลือกเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบดูแลในเรื่องนี้

ผมเกริ่นถึงเรื่องนี้เสียยืดยาวเพื่อที่จะบอกว่ามันมีความสำคัญและจะไม่ไกลตัวของเราอีกแล้ว เพราะกระแสภาวะโลกร้อนไม่เพียงเป็นเรื่องข้อกังวลของคนทั่วโลกถึงผลกระทบทาง ธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น แต่ด้านหนึ่งประเด็นนี้กำลังเชื่อมโยงมาถึงกลุ่มประเทศเกษตรกรรม ภาคชนบท ลงมาถึงชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยในฐานะผู้ต้องรับผิดชอบกับความเปลี่ยนแปลง ดังที่ว่า ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา พวกเราคงพอได้ยินคำว่า “ คดีโลกร้อน ” กันอยู่บ้าง ดูจากคำก็ตีความได้ทันทีว่าเป็นคดีเกี่ยวกับคนกระทำความผิดข้อหาทำให้โลก ร้อน ซึ่งข้อหานี้ไม่น่าจะมีบัญญัติในกฎหมายฉบับใดๆ ของไทย มันเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ กรณีนี้เกิดขึ้นจากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน ซ้อนทับเขตป่าอนุรักษ์ แต่ที่น่าแปลกคือ มีรายละเอียดของค่าเสียหายที่ไม่เคยได้ยินจากที่ไหน เช่น การทำให้อากาศร้อนมากขึ้น การทำให้ฝนตกน้อยลง การทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของ แสงอาทิตย์ การทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน ฯลฯ โดยค่าเสียหายนี้คำนวณจากสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ไม่ได้มาจากความเสียหายจริง ยิ่งไปกว่านั้นปรากฏว่าคนที่ถูกฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายหลักแสน หลักล้าน ( หรือหลายล้านบาท ) ด้วยข้อหาแปลก ๆ นี้ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งทำไร่ ทำสวน เลี้ยงครอบครัว และนี่คือสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่อย่างเงียบ ๆ ในสังคมไทยที่บอกว่าเราเป็นสังคมเกษตรกรรม และจะผลิตอาหารเลี้ยงคนทั่วโลก แต่อีกด้านหนึ่งกลับดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากประชาชนในข้อหาทำให้อากาศ ร้อนมากขึ้นหรือทำให้ฝนตกน้อยลง ( ซึ่งไม่ใช่ความผิดธรรมดา ) และกลุ่มคนที่ต้องรับผิดชอบลำดับแรก คือ “ เกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ”

… ข้อกล่าวหารุนแรง กับข้อโต้แย้งทางวิชาการ

ผมไม่แน่ใจว่าในต่างประเทศ มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในข้อหาทำนองนี้กับประชาชนของตนเองหรือไม่ แต่คิดว่านี่เป็นข้อหาที่รุนแรงมาก มากกว่าการบอกว่าชาวบ้านบุกรุกทำลายป่า เพราะมันหมายถึงบอกว่าคุณไปเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของโลกซึ่งจะส่งผลกระทบ ต่อชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมและค่อนข้างมั่นใจว่าปัจจุบันคงไม่มีประเทศไหนไล่ฟ้อง ชาวไร่ ชาวสวนให้ต้องรับผิดจ่ายค่าทำให้ฝนตกน้อยลง หรือทำให้อากาศร้อนขึ้น เพราะมันจะพิสูจน์กันอย่างไร หรือแม้จะพิสูจน์ได้ แล้วรัฐจะไปทำให้ฝนตกตรงนั้น ตรงนี้หรือทำให้อากาศเย็นลงได้อย่างไร ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ให้ความเห็นว่า “ การที่ฝนจะตกที่ไหนนั้นมีปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เช่น ฤดูกาล พื้นที่รับลม ลักษณะภูมิประเทศ ความใกล้ – ไกลทะเล ปัจจุบันยังไม่มีงานวิชาการใดระบุชัดเจนว่าป่าไม้กับฝนมีความเชื่อมโยงกัน อย่างไร ยิ่งเป็นพื้นที่ทำเกษตรแปลงเล็กๆ อย่างในประเทศไทยยิ่งนำไปเชื่อมโยงกันไม่ได้ ” เช่นเดียวกับข้อหาว่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น “ เวลาต้นไม้ถูกตัดออกไปเป็นพื้นที่โล่ง อุณหภูมิช่วงกลางวันมันสูงขึ้นจริง แต่อุณหภูมิช่วงกลางคืนจะลดต่ำลง โดยรวมแล้วมันคงที่ ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เรื่องของอุณหภูมิมันไม่ควรเอามาคิดเป็นค่าเสียหาย ” ความเห็นนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของชาวบ้านที่ร่วมกับอาจารย์สมศักดิ์ สุขวงศ์ อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงศึกษาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในแปลงเกษตรพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรืออากาศร้อนขึ้นตามข้อกล่าวหาของกรม อุทยานฯ เลยและที่น่าแปลกไปกว่านั้น คือ วิธีการทำให้อากาศเย็นลงที่กรมอุทยาน ฯ นำมาคำนวณเป็นค่าเสียหาย มาจากการเปิดแอร์เพื่อปรับอุณหภูมิให้ลดลง ทำให้งงกันไปใหญ่เพราะแม้แต่เด็กประถมก็รู้ดีว่าการเปิดแอร์นั้นทำให้อากาศ ภายนอกร้อนขึ้นและสารเคมีในน้ำยาแอร์ยังเป็นต้นเหตุสำคัญในการก่อภาวะ เรือนกระจกต้นเหตุของโลกร้อนด้วย

… แบบจำลองของกรมอุทยานฯ กับสมมุติฐานที่ไม่เคยมองวิถีชีวิตชาวบ้าน ( ชุมชน )

ผศ. ประสาท มีแต้ม อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งสอนวิชาการสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ มากว่าสิบปี ให้ข้อคิดไว้ว่า “ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ถ้าไม่รู้จักกฎของธรรมชาติ ไม่รู้จักสร้าง ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักตั้งคำถาม ความเสียหายก็เกิดขึ้น ” ผมตีความเอาจากข้อคิดของอาจารย์ว่าหากเราตั้งต้นด้วยความคิดที่ไม่ถูกต้อง ผลที่ได้รับก็ย่อมไม่ถูกต้องและหากเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิหรือชีวิต ของผู้คน ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นตามมามากมายนัก กรณีคดีโลกร้อน ( ซึ่งกรมอุทยานฯ ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อน ) ได้สะท้อนการตั้งคำถามหรือแนวความคิดที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของรัฐ เพราะหากตั้งคำถามว่ามีคนก่อให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติ โดยทำให้อากาศร้อนมากขึ้นหรือฝนตกน้อยลงจริง กลุ่มแรกที่ควรต้องรับผิดชอบ คือ กลุ่มอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้าหรือภาคการขนส่ง ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมน่าจะคิดแบบจำลองมาเรียกค่าเสียหายกับกลุ่มเหล่านี้ ก่อน ยังไม่ใช่หน้าที่ของกรมอุทยานฯที่มาบังคับเอากับคนทำไร่ ทำสวน ดังที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ข้อมูลจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยพบว่ามีชาวบ้านถูกฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหายด้วยข้อหานี้แล้วกว่า ๗๐ ราย ทั้งหมดเป็นชุมชนเกษตรกรปลูกยางพารา ทำไร่ข้าว ข้าวโพดและสวนผลไม้ ค่าเสียหายที่ต้องชดใช้หลายสิบล้านบาทซึ่งคงไม่ต้องจิตนาการว่าชาวบ้านจะ สามารถจ่ายได้ ยังไม่นับรวมชาวบ้านในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯและกรมป่าไม้ที่ยอมรับอย่างภาคภูมิใจว่า ได้ดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้านกลุ่มนี้ไปแล้วนับพันราย น่าแปลกที่ในระดับโลกมีการยอมรับกันว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรม คือ ผู้ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นลำดับแรก แต่ในประเทศไทยกลับโยนความรับผิดชอบนี้ไปสู่เกษตรกรคนเล็กคนน้อย แล้วไปเน้นนโยบายส่งเสริมและปกป้องความมั่นคงของภาคอุตสาหกรรม

50 ปีก่อน รัฐไทยมีนโยบายกำหนดเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยรับเอาทิศทางการพัฒนาจากต่าง ชาติมีการวางรากฐานและรูปแบบการจัดการทรัพยากรตามแบบตะวันตก ( หลังจากป่าไม้ส่วนใหญ่ถูกตัดจากนโยบายให้สัมปทานป่าไม้โดยรัฐบาลเอง ) มีการออกกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แล้วประกาศให้ที่ดินที่ว่ากันตามแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ โดยจำลองเอาว่าพื้นที่ที่ขีดไว้ในแผนที่นั้น คือ ผืนป่าธรรมชาติ สมมุติเอาว่ายังไม่มีคนเข้าไปอยู่ และจะไม่สามารถให้คนเข้าไปอยู่ได้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ มีคน มีชุมชนเป็นพันเป็นหมื่นชุมชน อาศัยทำกินกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมบางชุมชนอยู่มาก่อนมีรัฐไทยเสียอีก ชาวบ้านจึงต้องตกเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ในข้อหาบุกรุกป่าอนุรักษ์ ถูกไล่ ถูกจับดำเนินคดีมาตั้งแต่บัดนั้น วันนี้ผ่านมา 50 ปี ในยุคที่เรามีรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศยอมรับให้ชาวบ้านหรือชุมชนมีสิทธิใช้ประโยชน์และมี ส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รัฐไทยก็ยังดำเนินการกับคนกลุ่มนี้แบบเดิม แต่ด้วยข้อหาที่รุนแรงกว่า นั่นคือ การอ้างเอากระแสความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมโลก สมมุติเอาว่าคนที่อยู่ในเขตป่ากลุ่มนี้แหละเป็นตัวการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเสียหาย ทำให้อากาศร้อนขึ้นและฝนตกน้อยลง จากที่เคยนั่งดูแผนที่แล้วชี้เอาว่าตรงไหนเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตป่าสงวน มาสู่การคิดค้นสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ จินตนาการถึงความเสียหายและตัวเลขที่ต้องให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ชดใช้

ผมเชื่อว่ากรณี คดีโลกร้อน นี้จะก่อความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชุมชนที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และจะไม่มีทางแก้ไขได้เลย หากภาครัฐยังคงคิดจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการสมมุติเอาว่าชาวบ้านหรือ เกษตรกร คือ ผู้ทำลายป่า ….. ยกเลิกแบบจำลองฯ แล้วลงมามองปัญหาและวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างจริงจังเถิด เราจะได้เริ่มแก้ไขเรื่องนี้กันสักที ก่อนที่จะไม่เหลือทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้จัดการ ไม่เหลือชาวบ้าน ( ชุมชน ) ไว้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งโลก…
……………………………………..

_____________________________________________________________________________
รายละเอียดค่าเสียหายตามแบบจำลองฯ ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ 1) การทำให้สูญหายของธาตุอาหาร 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี 2) ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี 3) ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี 4) ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี 5) ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี 6) ทำให้ฝนตกน้อยลง คิดค่าเสียหาย 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี 7) มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด คือ 7.1) การทำลายป่าดงดิบค่าเสียหายจำนวน 61,263.36 บาท7.2) การทำลายป่าเบญจพรรณ ค่าเสียหายจำนวน 42,577.75 บาท 7.3) การทำลายป่าเต็งรัง ค่าเสียหายจำนวน 18,634.19 บาท ค่าเสียหายรวมทั้งสิ้นตกไร่ละ 150,000 บาท