กรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ กับอนุญาฯการต่อต้านการอุ้มหาย โดย ญาดา หัตถธรรมนูญ

กรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ กับอนุญาฯการต่อต้านการอุ้มหาย โดย ญาดา หัตถธรรมนูญ

นายบิลลี่ หรือ นายพอจะลี รักจงเจริญ เป็นแกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ช่วยทนายความ อยู่ระหว่างการเตรียมการต่อสู้คดีปกครองที่ชาวบ้านบางกลอยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จากกรณีการเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว ที่บ้านบางกลอยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่แม้ปรากฎผลการศึกษายืนยันว่าชาวบ้านเป็นชนพื้นเมืองดังเดิมชาวปาเกอญอที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปีแล้ว นอกจากนี้ นายบิลลี่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่านายบิลลี่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีและกรณีร้องเรียนดังกล่าวอยู่กับตัวด้วยในขณะที่หายไป

นายบิลลี่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 โดยมีชาวบ้านพบเห็นนายบิลลี่ครั้งสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ยอมรับว่าควบคุมตัวนายบิลลี่จริง เนื่องจากค้นตัวนายบิลลี่แล้วพบรังผึ้งและน้ำผึ้งหกขวด ตนจึงได้ทำการตักเตือน และอ้างว่าได้ปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่อ้างเกี่ยวกับการจับกุมตามข้อกล่าวหาและหลักฐานการปล่อยตัวแต่อย่างใด จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 6 วันแล้วหลังจากถูกควบคุมตัว ที่ยังไม่มีผู้ใดพบเห็นนายบิลลี่อีก โดยครอบครัวของนายบิลลี่ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านบางกลอยได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ไว้แล้ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน 2554 ได้มีการลอบสังหารนายทัศน์กมล โอบอ้อม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกรายหนึ่งซึ่งมีความใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมในกรณีเดียวกัน ต่อมาอัยการได้ฟ้องร้องนายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ เป็นจำเลยด้วยข้อหาจ้างวานฆ่านายทัศน์กมล แม้คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาล แต่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีการสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายเกี่ยวกับวินัยข้าราชการพลเรือนแต่อย่างใด

การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ การอุ้มหาย เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยที่รัฐมิอาจเพิกเฉยได้ด้วยประการใดๆ ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 นิยาม “การหายสาบสูญโดยถูกบังคับ” หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย

ไทยในฐานะภาคีกฎบัตรสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องให้คุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายดังกล่าว โดยจะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้พบและช่วยเหลือเหยื่อและนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด อีกทั้ง ไทยควรจะต้องดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกบังคับให้สูญหายโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ มาตรา ๓๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังรับรองและคุ้มครองสิทธิสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ตลอดจนสิทธิของบุคคลที่จะร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิดังกล่าว รวมทั้งจะกำหนดวิธีการเยียวยา ความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย