การเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวไผ่ ดาวดิน : บทสะท้อนปัญหาการปล่อยตัวชั่วคราว และการปิดกั้นการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม

การเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวไผ่ ดาวดิน : บทสะท้อนปัญหาการปล่อยตัวชั่วคราว และการปิดกั้นการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มดาวดินและขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกแจ้งความโดยเจ้าหน้าที่รัฐและถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 จากกรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย ซึ่งในครั้งนั้นศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีหลักทรัพย์ประกัน 400,000 บาท

การขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคราวนี้ มีสาเหตุจากการที่นายจตุภัทร์โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า “ตอนแรกก็อยากจะขอโทษเพื่อนประชามติทั้ง 3 คน เพราะคดีล่าสุดก็โดนไป 400,000 แต่ผมไม่ได้ผิดไง ผมไม่สามารถกระทำการขอโทษได้จริง ๆ #เศรษฐกิจมันแย่แมร่งเอาแต่เงินประกัน” ซึ่งข้อความดังกล่าวถูกโพสต์หลังจากทราบข่าวว่าศาลจังหวัดพระโขนงไม่อนุญาตให้นักวิชาการใช้ตำแหน่งประกันตัวเพื่อนนักกิจกรรมที่ถูกฟ้องในคดีฉีกบัตรลงคะแนนประชามติ เป็นเหตุให้ต้องหาหลักทรัพย์มาประกันทั้งสามคนเป็นจำนวนถึง 600,000 บาท

ทั้งนี้ ศาลจังหวัดขอนแก่นได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 โดยได้สั่งให้มีการพิจารณาลับ และได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งต่อมาทนายความของจตุภัทร์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 อย่างไรก็ดี ในวันที่ 27 ธันวาคม ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ได้มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหามีพฤติกรรมไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐและกฎหมาย ประกอบกับหากให้มีการปล่อยตัว ผู้ต้องหาอาจไปทำให้พยานหลักฐานยุ่งเหยิงจึงพิจารณาว่าการออกคำสั่งถอนประกันโดยศาลจังหวัดขอนแก่นนั้นเป็นคำตัดสินโดยชอบแล้ว[1]

ในงานเขียนชิ้นนี้ จะพาไปดูเหตุผลที่พนักงานสอบสวนและของศาล เพื่อร่วมกันพิจารณาดูว่าสิ่งที่พนักงานสอบสวนและศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลอุทธรณ์ได้ยกมาอ้างนั้นถูกต้องตามหลักการหรือไม่

 

ผู้ถูกดำเนินคดีทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดี การควบคุมตัวไว้ถือเป็นข้อยกเว้นตามความจำเป็น

สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดี เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งในกติกาฯดังกล่าวได้บัญญัติให้ “ผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมในข้อหาทางอาญาได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนพิจารณาและจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อถึงวาระนั้น”[2] และในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆมาและฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติไป ก็ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”[3]  ดังนั้น รัฐพึงต้องให้การเคารพและประกันให้สิทธิดังกล่าวถูกปฏิบัติจริง

สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ยังเป็นหลักประกันสำคัญของสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์และมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิด[4] ซึ่งเป็นหลักประกันให้ผู้ต้องหาไม่ให้ถูกปฏิบัติดังเช่นผู้กระทำความผิดหรือนักโทษ เช่น การใส่ตรวน การคุมขังระหว่างพิจารณาโดยไม่จำเป็น เป็นต้น อีกทั้ง สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ยังถือเป็นหลักประกันสำคัญที่จะทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เกิดขึ้นจริงอีกด้วย เพราะถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พวกเขาจะขาดโอกาสในการเตรียมการต่อสู้คดี ทำให้การแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อมาต่อสู้คดียากลำบากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นด้วย

เมื่อการควบคุมตัวบุคคลไว้ระหว่างการดำเนินคดี เป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมดังที่กล่าวมา และส่งผลกระทบด้านอื่นๆตามาอีกมากมาย ดังนั้น โดยหลักการจึงต้องถือเป็นหลักว่าบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญาจะต้องได้รับสิทธิในการปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดี ส่วนการควบคุมตัวไว้เป็นข้อยกเว้น และพึงใช้เป็นหนทางสุดท้ายที่ไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมกว่ามาใช้แล้ว และหากจะให้มีการควบคุมตัวบุคคลไว้ระหว่างดำเนินคดี จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นเพื่อให้การสอบสวนเป็นไปโดยเรียบร้อย หรือประกันการมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีและการบังคับตามคำพิพากษา[5] โดยข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาพิจารณาก็คือ หากปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ หรือไปจะก่อเหตุร้ายประการอื่นอีกหรือไม่  ส่วนเหตุอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุความหนักเบาแห่งข้อหา ความน่าเชื่อถือของหลักประกัน เหล่านี้เป็นเพียงเหตุประกอบการพิจารณาเท่านั้น เพราะย่อมไม่แน่เสมอไปว่าเมื่อมีเหตุดังกล่าวแล้ว จะทำให้การดำเนินคดีไม่อาจเป็นไปได้โดยเรียบร้อย หรือจะไม่มีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในการดำเนินคดี

ดังนั้น การพิจารณาว่าจะต้องมีการควบคุมตัวบุคคลไว้ระหว่างการดำเนินคดีหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาถึงความจำเป็นดังที่กล่าวมาข้างต้นโดยรอบคอบและเคร่งครัด หากไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจะต้องอธิบายถึงเหตุผลในการไม่ปล่อยตัว ให้บุคคลผู้นั้นทราบอย่างชัดเจนให้ได้ว่า  ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาลอย่างไร

 

จากคำร้องขอของพนักงานสอบสวนถึงคำสั่งศาลที่ให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว : คำร้องและคำสั่งที่เต็มไปด้วยคำถาม

เมื่อพิจารณาการร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของพนักงานสอบสวนก็ดี และคำสั่งอนุญาติให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลก็ดี มีประเด็นที่ควรถูกตั้งคำถามดังต่อไปนี้

  1. การร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของพนักงานสอบสวน

หากดูเหตุผลตามที่ยกมาอ้างในคำร้องนั้น ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการที่จะเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อควบคุมตัวจตุภัทร์ไว้ระหว่าวการดำเนินคดีได้ กล่าวคือ พฤติการณ์ที่ยกมาอ้างในคำร้องนั้น ยังไม่อาจแสดงให้เห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดการหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล ถึงขั้นที่ต้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวและควบคุมตัวไว้ระหว่างการดำเนินคดี โดยจะขอไล่เรียงวิเคราะเหตุผลเป็นรายประเด็น ดังนี้

ประการแรก เหตุที่ยกมาอ้างว่า หลังจากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหามีความเคลื่อนไหวโดยการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ โดยพิมพ์ข้อความในเชิงเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน กรณีตนได้รับประกันตัวเป็นเงิน 400,000 บาท และพิมพ์ข้อความว่า “เศรษฐกิจมันแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน”  นั้น ข้อความที่พนักงานสอบสวนยกมากล่าวอ้างดังกล่าว ไม่ได้แสดงให้เห็นพฤติกรรมถึงขั้นที่มีความจำเป็นต้องควบตัวไว้ระหว่างดำเนินคดี เพราะไม่แน่ชัดว่าการโพสข้อความดังกล่าวจะทำให้เกิดการหลบหนี การยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายอะไรขึ้นได้ หากข้อความดังกล่าวจะก่อความเสียหายต่อสิ่งใดนั้น ก็คงเป็นระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น เพราะข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการโพสแสดงความเห็นในเชิงการตั้งคำถามต่อเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวที่ขัดขวงการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน เป็นการโพสต์หลังจากทราบข่าวว่าศาลจังหวัดพระโขนงไม่อนุญาตให้นักวิชาการใช้ตำแหน่งประกันตัวเพื่อนนักกิจกรรมที่ถูกฟ้องในคดีฉีกบัตรลงคะแนนประชามติ เป็นเหตุให้ต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำ และเพื่อนๆ ต้องลำบากหาหยิบยืมเงินสดมาเป็นหลักทรัพย์ประกันทั้งสามคนเป็นจำนวนถึง 600,000 บาท ซึ่งการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ถือเป็นการใช้เสรีภาพฐานะพลเมืองของประเทศในการตรวจสอบและตั้งคำถามต่อความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการยุติธรรมได้

ประการที่สอง เหตุที่ยกมาอ้างว่า ผู้ต้องหาเคยมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมาหลายคดี ข้อกล่าวอ้างนี้เป็นการยกอ้างลอยๆ ไม่ชัดแจ้งว่าเป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้ผู้ต้องหาหลบหนี จะยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่นถึงขั้นจำเป็นที่จะต้องเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างไร เพราะมข้อเท็จจริงที่ปรากฏแม้จตุภัทร์จะถูกดำเนินคดีหลายคดีตามที่อ้างก็ตาม แต่การถูกดำเนินคดีของจตุภัทร์ล้วนเกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อการตรวจสอบและคัดค้านอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน รวมถึงคดีที่เกิดจากการแสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ[6] ซึ่งไม่ควรถือเป็นความผิดตามกฎหมายตั้งแต่ต้น แต่ในสถานการณ์ที่มีการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายโดยอำเภอใจโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารนี้ ทำให้การกระทำที่แม้ไม่ควรเป็นความผิดตามกฎหมายโดยมโนธรรมสำนึก ได้กลายเป็นความผิดโดยอ้างความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขตและเป็นไปตามอำเภอใจ

อีกทั้ง โดยพฤติกรรมของจตุภัทร์ก็ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าจะมีการหลบหนี เพราะเขาก็ยืนยันมาตลอดว่าจะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่เรื่องที่เป็นความผิด และหากดูตามคำสั่งศาลที่เคยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลเองก็ได้ให้เหตุผลไว้ในคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในทำนองว่าแม้จตุภัทร์เป็นผู้ต่องหาคดีการเมืองอยู่ 4 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าจตุภัทร์ไม่มีพฤติกรรมจะหลบหนี  ส่วนการยุ่งเหยิงพยานหลักฐานนั้น ในคดีนี้ก็ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าการกระทำที่นำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีก็คือ การแชร์ข้อความข่าวจาก บีบีซี ไทยนั้น ข้อความดังกล่าวซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่เจ้าหน้าที่จะใช้เล่นงานจตุภัทร์ก็ไม่ได้ถูกลบไปจากสถานะเฟซบุ๊คของจตุภัทร์แต่อย่างใด นั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้มีพฤติการณ์ใดส่อไปในแนวที่จะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน เพราะจตุภัทร์เชื่อตั้งแต่แรกว่าการแชร์ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความผิด ซึ่งในข้อเท็จจริงข่าวชิ้นนี้ก็มีคนแชร์ไปเป็นจำนวนมาก

ประการที่สาม เหตุที่ยกมาอ้างว่า คดีนี้เป็นคดีร้ายแรง เนื่องจากเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การเป็นคดีร้ายแรงหรือมีโทษหนักนั้น ไม่ได้เป็นเหตุที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นหลักและสรุปเอาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวบุคคลไว้เสมอไป  เพราะแม้จะเป็นคดีร้ายแรง มีโทษหนักจริง แต่เมื่อไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ก็ไม่ควรจะมีการควบคุมตัวไว้ระหว่างดำเนินคดี และนี้ก็เป็นเพียงการตั้งข้อกล่าวหาที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ดังนั้น ต้องเคารพหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงไม่ควรยกเรื่องการเป็นความผิดร้ายแรงมาเป็นเหตุในการควบคุมตัวบุคคลไว้ อีกทั้ง เป็นที่รับรู้กันว่า การตั้งข้อกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรมไทย หลายครั้งมีการตั้งข้อกล่าวหาที่หนักไว้ก่อนหรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือบางกรณีมีการตั้งข้อกล่าวหาแบบหว่านแห ด้วยเหตุนี้ การตั้งข้อหาที่ร้ายแรงย่อมเกิดขึ้นได้เสนอๆ โดยเฉพาะกรณีข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ซึ่งก็มีปัญหาเรื่องการนำมาใช้เป็นข้อหาเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามอยู่พอสมควร

ประการที่สี่ เหตุที่ยกมาอ้างว่า กรณีมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นศาลที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ศาลอนุญาตแล้ว ผู้ต้องหายังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา และอาจจะเป็นการยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หากรอถึงวันที่ 23 ม.ค.60 อาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นนั้น

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานสำหรับกรณีนี้นั้น เป็นการกล่าวอ้างที่เลือนลอย ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่า อาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นนั้น หากพนักงานสอบสวนเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐ เจ้าหน้ารัฐ หรือองคาพยพต่างๆของรัฐ คือการเยาะเย้ยรัฐ อันจะก่อความเสียหายแก่รัฐได้นั้น ก็น่าจะเป็นการเชื่อมโยงที่ไกลเกินจริง เพราะลำเพียงเพียงการแสดงความคิดเห็นผ่านข้อความในเชิงวิพากษ์ความอยุติธรรม แม้จะมีถ้อยคำที่เสียดสีไปบ้าง คงไม่อาจจะทำให้รัฐเสียหายได้ การไม่ยอมให้มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์ถึงระบบที่ล่มเหลวและไม่ถูกต้องของรัฐต่างหาก ที่จะก่อความเสียหายแก่รัฐและประชาชน

ประการที่ห้า การที่พนักงานสอบสวนได้ยกเรื่องการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 3 ข้อความมาให้ศาลประกอบการพิจารณา ได้แก่ 1) การถ่ายรูปกับเพื่อนที่มีลักษณะเยาะเย้ยหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเป็นรูปซึ่งมีการทำลักษณะท่าทางคล้ายกับตัวละครที่ชื่อว่า “หน้ากากแอคชั่น” ในการ์ตูนเรื่อง “ชินจัง”  2) การโพสต์เรื่องที่ผู้ต้องหาเดินทางไปแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เนื่องจากวันที่ถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์มือถือไป แต่ไม่ได้เขียนบันทึกไว้ในรายการของกลางที่ถูกยึด และได้ถ่ายรูปทำท่าทางในลักษณะเดิม และ 3) การโพสต์เฟซบุ๊กของผู้ต้องหา ซึ่งกำลังรับประทานข้าวราดผัดกระเพรา และระบุว่า ติดคุก กินข้าวฟรี ราคา 112 บาท[7] ซึ่ง 3 โพสต์ที่พนักงานสอบสวนยกมาก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงว่ามีความจำเป็นจะต้องควบคุมตัวจตุภัทร์ไว้ ตามเหตุผลคล้ายกับที่กล่าวมาแล้วสี่ประการข้างต้น อีกทั้ง โพสที่ยกมาทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว ก็ไม่ได้ปรากฏในคำร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย

  1. การพิจารณาเพิกถอนสัญญาศาล (ต่อไปนี้จะใช้คำว่า เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว) ศาลถือเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่ประการหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น การพิจารณาประเด็นใดที่ที่เจ้าหน้าที่เสนอเข้ามา ศาลควรต้องทำอย่างระวังและเคร่งครัด และหากจะตัดสินต่อสิ่งใดจะต้องให้เหตุผลที่ชัดแจ้ง

จากการที่ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา[8] นั้น

การที่ศาลให้เหตุผลถึงการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวว่า เป็นเพราะนายจตุภัทร์ยังไม่ลบข้อความที่แชร์ข่าว BBC Thai นั้นไม่มีในข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดไว้ในคราวที่อนุญาตให้ประกันตัว และไม่อยู่ในข้อเท็จจริงตามคำร้องของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ และที่สำคัญไม่เกี่ยวกับการจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่นแต่อย่างใด

ส่วนการที่ศาลบอกว่า ผู้ต้องหาแสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก หากจะถือว่าการแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊คของจตุภัทร์ ตามที่ศาลยกมาอ้างนั้นเป็นสิ่งที่จะก่อความเสียหาย น่าจะเป็นการเชื่อมโยงไกลเกินความจริงมาก เพราะข้อความที่จตุภัทร์โพสอันเป็นเหตุให้นำมาสู่การขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งพลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องกฎหมาย การปฏิบัติหรือเรื่องสาธารณะใดๆที่มีความไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมได้ แม้ข้อความของจตุภัทร์ จะมีลักษณะเสียดสี หรือเย้ยหยันตามวาทกรรมที่ศาลสร้างขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะที่จะไปสร้างความเกลียดชังต่อใครเป็นการเฉพาะ หากจะเกิดความเกลียดชังขึ้นมาบ้าง ก็คงมีเพียงแต่ความเกลียดชังต่อความอยุติธรรมที่กระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้สร้างขึ้น และการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวก็เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ไม่ได้ยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงต่อสิ่งใด การแสดงความเห็นดังหล่าวจึงอยู่ภายใต้กรอบของหลักการสิทธิมนุษยชนที่พึงกระทำได้ และไม่ควรมีการจำกัดหรือปิดกั้นโดยการอ้างความเสียหายอย่างเลื่อนลอย ประชาชนจะต้องเย้ยหยันระบบของรัฐที่อยุติธรรมได้ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและนำไปสู่การแก้ไข

ความอยุติธรรมโดยอำนาจตุลาการไม่ได้ยุติเพียงเท่านั้น สิ่งดังกล่าวยังถูกตอกย้ำด้วยคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ได้ยกคำร้องอุทธรณ์ของทนายความของจตุภัทร์ โดยเห็นด้วยกับศาลจังหวัดขอนแก่นว่าจตุภัทร์มีพฤติกรรมไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐและกฎหมาย ประกอบกับหากให้มีการปล่อยตัว ผู้ต้องหาอาจไปทำให้พยานหลักฐานยุ่งเหยิง การที่ศาลจังหวัดขอนแก่นให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจังถูกต้องแล้ว

จากที่กล่าวมา ตั้งแต่ข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊คอันเป็นต้นเหตุให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จนถึงคำสั่งศาลที่อนุญาตให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง กล่าวคือ การพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่นั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความจำเป็นในการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาถึงเหตุที่จะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปจะก่อเหตุร้ายประการอื่น แต่มักอ้างเรื่องฃองคดีร้ายแรงบ้าง โทษหนักบ้าง มาเป็นเหตุเชื่อมโยงและตีขุมเอาว่าจะทำให้เกิดการหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุร้ายอื่น โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆประกอบ ด้วยเหตุนี้ กระบวนการยุติธรรมไทยจึงเน้นควบคุมตัวบุคคลไว้ระหว่างดำเนินคดีมากกว่าที่จะปล่อยตัวชั่วคราว และเมื่อกระบวนการยุติธรรมไทยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก็มักจะมีการเรียกหลักประกัน โดยหลักประกันมักจะถูกกำหนดไว้ในจำนวนที่สูง ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ผ่านมาและฉบับที่กำลังจะถูกประกาศใช้ในอนาคตดังที่กล่าวไปแล้ว และสุดท้ายปัญหาของกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน โดยเฉพาะสามัญชนคนยากจน

 

[1] ประชาไท, http://prachatai.org/journal/2016/12/69414

[2] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 (3)

[3] ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับผ่านประชามติ มาตรา 29

[4] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (2) และ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับผ่านประชามติ มาตรา 29

[5] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง  ข้อ 9

[6] สามารถเข้าดูรายละเอียดแต่ละคดีของจตุภัทรได้ที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดยไอลอว์ https://freedom.ilaw.or.th

[7] ประชาไท, http://prachatai.com/journal/2016/12/69354

[8] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, http://www.tlhr2014.com/th/?p=3116