“คุณัญญา สองสมุทร”กับเส้นทางอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

“คุณัญญา สองสมุทร”กับเส้นทางอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

หากนับจากรุ่นแรกที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน(พ.ศ.2556) โครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การดำเนินงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.)ได้รับอาสาสมัครเข้าโครงการจำนวน 8 รุ่นแล้ว โครงการนี้ได้ปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิทธิมนุษยชนแล้วส่งต่อคนออกมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวทั้งในบทบาทนักกฎหมายและทนายความ ส่งผลให้แวดวงนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีชีวิตชีวามากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นยังมีประสบการณ์ทำงานไม่มากนัก แต่การที่ได้ทำงานกับทนายความรุ่นพี่ๆที่คอยส่งต่อความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับรุ่นน้องๆอยู่เสมอ อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันได้ว่ามุมมองแนวคิดการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือยังคงมีอยู่ในสังคมไทยไม่ได้สลายหายไปตามสายลม

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(HRLA) เป็นองค์กรหนึ่งที่มีจุดเริ่มจากการปลูกฝังแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนจากโครงการอาสาสมัครนักฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยเหล่าอดีตอาสาสมัครในหลายๆรุ่นของโครงการดังกล่าวร่วมด้วยช่วยกันชักชวนนักกฎหมายและทนายความที่มีประสบการณ์และมีแนวคิดการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อก่อร่างสร้างพื้นที่ห้องทดลองงานด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยหวังเอาไว้ว่าสักวันวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นในสังคมไทย แม้จะมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มทั้งกำลังกายและกำลังใจในปริมาณที่มากโขให้กับสิ่งๆนั้นพวกเขาก็เต็มใจที่ทุ่มแรงกายและใจ ผลสำเร็จอาจไม่ได้มาเพียงชั่วข้ามคืนเป็นเรื่องที่ต้องดูกันยาวๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ๆเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในอนาคต

นั่นเองที่ทำให้สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(HRLA) หรือแม้กระทั่งมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)เอง ได้เล็งเห็นความสำคัญของพลังคนรุ่นใหม่ที่จะสานต่อภารกิจให้ลุล่วง จึงเลือกที่จะให้พื้นที่กับนักกฎหมายรุ่นใหม่ๆได้เข้ามาเรียนรู้และทำงานในเส้นทางสายสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอๆ แม้จะมีเบี้ยมีทุนไม่มากมายนักแต่ด้วยหัวจิตหัวใจทำให้โครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ล่วงเข้าสู่รุ่นที่ 8แล้ว ที่ผ่านมาทำให้เกิดคนทำงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนในจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมบ้างแล้ว และหวังว่ามันจะเพิ่มจำนวน(พร้อมคุณภาพ)มากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต หากเป็นเช่นนั้นจริงความหวังคงไม่ไกลเกินจริงมากนัก

ในปีนี้ “นางสาวคุณัญญา สองสมุทร” คือคนที่ได้โอกาสใช้พื้นที่ของการเป็นอาสาสมัครเข้าทำงานร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) เธอไม่ได้เข้ามาจากการโหวตทาง sms จากทางบ้านแต่อย่างใด เธอบอกกับเราว่าเธอมาพร้อมใจที่อาสาทำดี จริงเท็จประการใดลองไปทำความรู้จักกับตัวตนและความคิดของเธอในฐานะ “อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” ไปกันเลย !!!

HRLA: ช่วยแนะนำตัวให้เราได้รู้จักที่ไปที่มาของตัวคุณ

Volunteer: ชื่อคุณัญญา สองสมุทร ชื่อเล่น หนึ่ง ปัจจุบันหนึ่งอายุ 28 ปี หนึ่งเป็นคนจังหวัดระนอง เรียนชั้นประถมศึกษาที่จังหวัดระนอง ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสายปัญญาในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.สมุทรปราการ และระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์

HRLA: ทำไมถึงเลือกเรียนกฎหมาย?

Volunteer: เคยตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่าอยากเป็นวิศวะ หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็สอบตรงได้ที่คณะวิศวะโยธาที่มหาวิทยาลัยมหิดล และขณะเดียวกันก็ติดที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย โดยความตั้งใจและบุคลิกส่วนตัวแล้วตั้งใจอยากเป็นวิศวกรจึงอยากเรียนวิศวะฯ มากกว่า แต่ในตอนนั้นทางบ้านมีปัญหาเรื่องคดีความเกี่ยวกับเรื่องที่ดินกับตระกูลใหญ่ในจังหวัดระนอง พ่อเลยอยากให้เรียนกฎหมายเราจึงตัดสินใจเลือกเรียน คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

HRLA : ได้ร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยบ้างไหม?

Volunteer: ตอนเรียนที่ธรรมศาสตร์ไม่ค่อยตั้งใจเรียนสักเท่าไหร่ กิจกรรมในมหาวิทยาลัยก็ร่วมเฉพาะกิจกรรมประเภทสังสรรค์เฮฮา กิจกรรมเพื่อสังคมแทบจะไม่เคยเข้าใกล้เลย

HRLA: ตอนสัมภาษณ์โครงการฯ เห็นเราบอกว่าไม่อยากทำงานด้านกฎหมาย เพราะอะไร?

Volunteer: ขณะที่เรียนอยู่ปี 3 บ้านของพ่อโดนรื้อโดยคำสั่งศาลเพราะเหตุที่ทนายความอุทธรณ์ไม่ทันและไม่มีการขอขยายอุทธรณ์ ตอนนั้นรู้เลยว่าตัวเองโมโหมาก ได้แต่โทษทนายความว่าไม่ได้ตั้งใจทำคดีให้พ่อจริงๆ เราก็โทษว่าเป็นความผิดของทนายความ พ่อได้ยินก็หันมาพูดกับเราว่า “เรียนก็ยังเรียนไม่จบยังไปว่าไปด่าเขาแล้วเราช่วยอะไรพ่อได้บ้าง” หลังจากได้ยินคำที่พ่อว่า ก็เกิดน้อยใจว่าเราอุตส่าห์เรียนกฎหมายก็เพื่อพ่อทำไม่มาว่าเราแบบนี้ ตอนนั้นก็คิดว่าหากเรียนจบแล้วเราจะไม่กอบอาชีพทางด้านกฎหมายแล้ว

HRLA: เรียนจบกฎหมายไม่ทำงานกฎหมาย แล้วเราเลือกไปทำอะไร?

Volunteer: หลังจากเรียนจบก็ไปประกอบอาชีพอยู่หลายอย่าง ตั้งแต่เป็นตัวแทนขายประกัน ขายแซนวิสและสลัด มาเป็นพนักงานเซเว่น จนล่าสุดเปิดธุรกิจร้านเหล้ากับน้องสาว สรุปว่าไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง ตอนนั้นรู้สึกท้อมากแต่ก็พยามคิดว่านี่คือบทเรียนและประสบการณ์ เราจึงกลับมาคิดว่าชีวิตเราจะทำอย่างไรต่อไปดี ตอนนั้นตัดสินใจกลับไปตั้งหลักที่ระนอง

ตอนกลับไปอยู่บ้านแรกๆ ต้องปรับตัวมากเพราะห่างบ้านและใช้ชีวิตอิสระมานาน มีความรู้สึกที่ท้อและคิดมากว่าเราอายุ 26 แล้วยังไม่ไปถึงไหนเลย แต่สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจคือคำพูดของแม่ แม่จะคอยพูดให้กำลังใจตลอดว่า “หากลูกมองแต่คนที่ดีกว่าเราลูกก็จะรู้สึกแย่ แต่หากลูกลองมองคนที่แย่กว่าเราก็มีอีกเยอะ การที่ลูกเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ก็ถือว่าดีแล้ว ” ทำให้เรามีกำลังใจและเริ่มคิดที่จะทำสิ่งใหม่ๆอีกครั้ง พอดีว่าตอนนั้นพ่อถูกฟ้องร้องข้อหาบุกรุกเพิ่มอีกคดีจากที่มีคดีอื่นๆแล้วหลายคดี ทำให้เราได้ไปที่ศาลจังหวัดระนองอยู่บ่อยครั้ง และเราก็รู้ว่าพ่อไม่มีเงินที่จะจ้างทนายความต่อแล้ว ประกอบกับเรายังมีความคิดที่ว่าทนายความของพ่อไม่ได้ตั้งใจทำคดีให้พ่อเลย เราเลยคิดว่าหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปพ่ออาจจะต้องติดคุกก็เป็นได้ แล้วก็ไม่ได้สู้คดีอย่างเต็มที่อย่างแน่นอน ตอนนั้นจึงตัดสินใจที่จะหวนกลับมาใช้ความรู้ที่เรียนมาเพื่อเริ่มเดินทางสายกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง

HRLA : จุดเริ่มในเส้นทางสายกฎหมายเราคืออะไร ?

Volunteer: เริ่มต้นด้วยการสมัครสอบภาคทฤษฎีใบอนุญาตว่าความรุ่นที่ 37 ผลปรากฏว่าสอบตก! ความรู้สึกท้อแท้ก็กลับมาอีกครั้ง แต่ตอนนั้นก็คิดว่าต้องพยายามอีกสักครั้งเพราะครั้งก่อนอาจจะพยายามยังไม่พอ เลยลงสมัครใหม่ในรุ่น 38 ซึ่งจากการพยามยามและความมุ่งมั่นก็ทำให้สอบผ่านภาคทฤษฎี ขั้นตอนหลังจากนั้นก็ต้องหาที่ฝึกงานเพื่อสอบภาคปฏิบัติ ด้วยความที่ไม่มีญาติที่จะสามารถให้คำปรึกษาได้เพราะไม่เคยมีใครประกอบอาชีพทนายความเลย ก็เลยลองเสี่ยงเดินเข้าไป(เสนอหน้า)ที่ศาลจังหวัดระนอง ก็เข้าไปเดินวนเวียนอยู่ที่ศาลหลายวันจนได้เจอกับทนายความผู้หญิงคนหนึ่งทราบภายหลังว่าเขามาจากสุราษฎร์ธานี เราก็ตามเข้าไปดูเขาซักถามพยานในห้องพิจารณาทำให้เราเห็นว่าทนายความคนนี้ไม่เหมือนทนายความคนอื่นที่เราเคยเจอ ทำให้เราอยากเข้าไปทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น เราก็เข้าไปพูดคุยกับทนายผู้ช่วยของเขาก่อน จากนั้นผู้ช่วยก็พาเราก็ไปทำความรู้จักกับ “พี่ปุ๊” หรือทนายณัฐชัตยากร กัญฐณา จากการได้พูดคุยทำให้ทราบว่าพี่เขาจะต้องค้างที่ระนองต่อเพราะยังสืบพยานไม่แล้วเสร็จ ด้วยความเป็นเจ้าบ้านเราจึงอาสาหาที่พักให้ วันรุ่งขึ้นก็ชวนพี่ปุ๊กินข้าวด้วยความเป็นเจ้าบ้านเราก็จะจ่ายค่ากับข้าวพี่ปุ๊ก็พูดว่า “เก็บเงินของเราไว้ก่อนมื้อนี่พี่จ่ายเอง เรายังไม่มีงานทำเอาไว้เมื่อไหร่ที่เรามีงานค่อยเลี้ยงคืนพี่ ” เป็นคำพูดที่ตรงๆและจริงใจและเป็นความประทับใจของเราจนถึงทุกวันนี้

ตอนเย็นพี่ปุ๊ก็บอกให้เราพาพ่อแม่มากินข้าวเย็นด้วยกัน โอกาสนี้เองทำให้เราได้พูดคุยเรื่องปัญหาคดีความของพ่อให้พี่เขาฟัง ฟังเสร็จพี่ปุ๊ก็บอกว่าคดีนี้เป็นคดีใหญ่เขาไม่สามารถทำคนเดียวได้พี่ปุ๊เลยแนะนำช่องทางให้ว่าให้เราเขียนคำร้องไปขอความช่วยเหลือไปที่สภาทนายความ ตอนนั้นก็เกิดความประทับใจพี่เขามากขึ้นเพราะแทนที่จะรับคดีนี้เสียเองเลยได้รับค่าจ้างคนเดียวเต็มๆ แต่เขาไม่ทำเช่นนั้น ในระหว่างที่กำลังดำเนินการขอความช่วยเหลือไปที่สภาทนายความพี่ปุ๊ก็ได้พาเรา(พ่อกับหนึ่ง)ไปที่จังหวัดสงขลาเพื่อไปเจอทนายความคนหนึ่งที่เดินทางมาช่วยคดีของชาวบ้านที่จังหวัดสงขลา ทนายความคนที่ว่านั้นก็คือ “ทนายรัษฎา มนูรัษฎา” (พี่บื๋อ)

เราได้พูดคุยและเล่าข้อเท็จจริงกับทนายรัษฎาและท่านก็ได้อ่านข้อเท็จจริงในสำนวนคดีแล้ว ท่านก็รู้พอรู้ว่าพ่อหนึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ หลังจากคุยกันเสร็จพี่บื๋อก็พาพ่อหนึ่งและพี่ปุ๊ไปทานข้าวเย็นด้วยกันซึ่งระหว่างที่ทานข้าวกันนั้นพี่บื๋อก็พูดกับพ่อ ว่า “ชีวิตคนเราไม่แน่นอนน่ะคุณภิรมย์ ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ ผลแพ้ชนะคดีจะเป็นอย่างไรก็ช่างขอให้เราได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ก็เพียงพอแล้ว” หนึ่งและพ่อได้ฟังแล้วรู้สึกสบายและรู้สึกมีกำลังใจและมีพลังที่ฮึกเหิมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และเราก็สัมผัสได้ถึงความจริงใจของทนายความคนนี้

หลังจากที่ได้เจอทนายทั้งสองคน ทำให้เกิดความมุ่งมั่นอยากเป็นทนายความ และเริ่มรู้สึกเห็นคุณค่าของคนที่เรียนกฎหมายว่าสามารถช่วยเหลื่อคนอื่นๆได้เยอะ จึงมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าว่าเราจะต้องเป็นทนายความที่ดีเหมือนพี่ทั้งสองให้ได้ ด้วยความมุ่งมั่นและความพยายามทำให้สามารถสอบผ่านภาคปฏบัติในคราวดียว หลังจากได้ใบอนุญาตว่าความรุ่นที่ 38 จึงมีความคิดที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนเองเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆบ้าง

HRLA: ได้เป็นทนายดังที่ตั้งใจแล้ว เราใช้ความรู้ที่มีทำอะไร?

Volunteer : หลังจากสอบผ่านเราก็ได้เขียนคำร้องขอความช่วยเหลือไปที่สภาทนายความตามที่พี่ทนายทั้งสองคนแนะนำ จากนั้นสภาทนายความก็ได้นำเอาคดีของพ่อเข้าที่ประชุมและมีมติตั้งคณะทำงานทนายความมาช่วยคดีของพ่อถึง 8 คนซึ่งก็มีชื่อมีพี่ปุ๊และพี่บื๋ออยู่ในคณะทำงานนี้ด้วย ตอนนั้นจำได้ว่าดีใจที่จะมีทนายความที่ดีและมีความรู้ลงไปช่วยเหลือพ่อ ตอนนั้นเห็นสีหน้าของพ่อรู้ทันทีว่าเริ่มมีความหวังว่าคงได้สู้คดีได้อย่างเต็มที่ไม่เหมือนที่ผ่านมา ตอนนั้นเราพ่อลูกไม่ได้สื่อสารด้วยคำพูด เราก็สัมผัสได้ว่าพ่อเริ่มมีความเชื่อถือและรู้สึกภูมิใจในตัวลูกคนนี้บ้างแล้ว เป็นความรู้สึกที่ดีอย่างบอกไม่ถูกเพราะไม่ค่อยได้รับความรู้สึกแบบนี้จากพ่อมากนัก

หลักจากมีคำสั่งตั้งทีมทนายไปช่วยเหลือไม่ถึงเดือน ทีมทนายก็ได้ไปที่ระนองและเดินสำรวจบริเวณที่ดินพิพาท ระหว่างที่เดินสำรวจ เราก็รู้สึกว่าพี่บื๋อเป็นทนายทีมีความละเอียดคือจะใส่ใจในป้ายหรือหลักฐานทุกๆอย่าง ซึ่งจริงแล้วหลักฐานทุกอย่างมีความสำคัญมาก ทำให้เราจดจำและจะเอาเป็นแบบอย่างหากต่อไปหากได้ทำคดีเอง สิ่งที่ได้ต่อมาคือเป็นคนที่อยู่เรียบง่ายพอเพียง และที่สำคัญการที่ทนายทุกคนเป็นคนไม่ถือตัวซึ่งต่างออกไปจากที่เคยเจอ ในวันที่ไปขึ้นศาล การแต่งตัวและการวางตัวของทนายรัษฎาดูเรียบร้อย น่าเคารพ ในการซักถามพยานทนายความมีสมาธิในการฟังการตอบของพยานอยู่ตลอดเวลาสิ่งไหนเห็นว่ามีประโยชน์ต่อจำเลย ท่านก็จะรักษาประโยชน์ให้เต็มที่ และคอยหาวิธีการแก้ไขกับทุกสถาการณ์ และทุกครั้งหลังจากเสร็จจากขึ้นศาลก็จะมานั่งคุยและอธิบายให้พ่อฟัง ซึ่งสิ่งนี้พ่อไม่เคยได้รับจากทนายคนอื่นๆเลยในช่วงการต่อสู้คดีหลายปีก่อนหน้านี้ เราก็คิดว่าจะยึดเอาเป็นแบบอย่างในการทำงาน

HRLA: ได้เป็นทนายดังที่ตั้งใจแล้ว เราใช้ความรู้ที่มีทำอะไร?

Volunteer : หลังจากสอบผ่านเราก็ได้เขียนคำร้องขอความช่วยเหลือไปที่สภาทนายความตามที่พี่ทนายทั้งสองคนแนะนำ จากนั้นสภาทนายความก็ได้นำเอาคดีของพ่อเข้าที่ประชุมและมีมติตั้งคณะทำงานทนายความมาช่วยคดีของพ่อถึง 8 คนซึ่งก็มีชื่อมีพี่ปุ๊และพี่บื๋ออยู่ในคณะทำงานนี้ด้วย ตอนนั้นจำได้ว่าดีใจที่จะมีทนายความที่ดีและมีความรู้ลงไปช่วยเหลือพ่อ ตอนนั้นเห็นสีหน้าของพ่อรู้ทันทีว่าเริ่มมีความหวังว่าคงได้สู้คดีได้อย่างเต็มที่ไม่เหมือนที่ผ่านมา ตอนนั้นเราพ่อลูกไม่ได้สื่อสารด้วยคำพูด เราก็สัมผัสได้ว่าพ่อเริ่มมีความเชื่อถือและรู้สึกภูมิใจในตัวลูกคนนี้บ้างแล้ว เป็นความรู้สึกที่ดีอย่างบอกไม่ถูกเพราะไม่ค่อยได้รับความรู้สึกแบบนี้จากพ่อมากนัก

หลักจากมีคำสั่งตั้งทีมทนายไปช่วยเหลือไม่ถึงเดือน ทีมทนายก็ได้ไปที่ระนองและเดินสำรวจบริเวณที่ดินพิพาท ระหว่างที่เดินสำรวจ เราก็รู้สึกว่าพี่บื๋อเป็นทนายทีมีความละเอียดคือจะใส่ใจในป้ายหรือหลักฐานทุกๆอย่าง ซึ่งจริงแล้วหลักฐานทุกอย่างมีความสำคัญมาก ทำให้เราจดจำและจะเอาเป็นแบบอย่างหากต่อไปหากได้ทำคดีเอง สิ่งที่ได้ต่อมาคือเป็นคนที่อยู่เรียบง่ายพอเพียง และที่สำคัญการที่ทนายทุกคนเป็นคนไม่ถือตัวซึ่งต่างออกไปจากที่เคยเจอ ในวันที่ไปขึ้นศาล การแต่งตัวและการวางตัวของทนายรัษฎาดูเรียบร้อย น่าเคารพ ในการซักถามพยานทนายความมีสมาธิในการฟังการตอบของพยานอยู่ตลอดเวลาสิ่งไหนเห็นว่ามีประโยชน์ต่อจำเลย ท่านก็จะรักษาประโยชน์ให้เต็มที่ และคอยหาวิธีการแก้ไขกับทุกสถาการณ์ และทุกครั้งหลังจากเสร็จจากขึ้นศาลก็จะมานั่งคุยและอธิบายให้พ่อฟัง ซึ่งสิ่งนี้พ่อไม่เคยได้รับจากทนายคนอื่นๆเลยในช่วงการต่อสู้คดีหลายปีก่อนหน้านี้ เราก็คิดว่าจะยึดเอาเป็นแบบอย่างในการทำงาน

HRLA : ได้สมัครโครงการไหม ?

Volunteer : เราก็คอยติดตามดความเคื่อนไหวใน Website ของมูลนิธิอาสมาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)ตลอด คอยดูว่าเขาจะเปิดรับสมัครเมื่อไหร่ จนประมาณกลางเดือนเมษายนเขาก็ประกาศรับสมัคร เราก็รีบโหลดใบสมัครมาเพื่อจะกรอกข้อมูล หลังจากได้ดูใบสมัครแล้วรู้สึกตกใจกับสิ่งที่ได้เจอในใบสมัครมาก ตอนนั้นคิดว่านี่ใบสมัครงานหรือใบเขียนตอบข้อสอบเนติบัณฑิตกันแน่วะ ด้วยความที่อยากทำงานด้านกฎหมายสุดๆในตอนนั้น ก็ลงมือเขียนใบสมัครอย่างไม่รีรอ

หลังจากหมดเขตการรับใบสมัคร ทาง มอส.ก็เรียกเราไปฟังข้อมูลแต่ละองค์กรที่ขอรับอาสาสมัคร โดยเราเลือกไปสององค์กร คือ อันดับหนึ่งเราเลือกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(HRLA) ตอนนั้นเลือกโดยไม่ได้เข้าฟังวันที่พี่ๆจาก HRLA เข้ามานำเสนองานองค์กร(เพราะวันนั้นรีบไปประชุมคดีของพ่อที่สภาทนายความ) แต่เลือกเพราะดูจากชื่อว่าใหญ่ดีและก็เกี่ยวกับกฎหมายด้วย องค์กรที่สองที่เลือกคือทนาย นคร ชมพูชาติ หลังจากผู้สมัครเลือกองค์กรของตนได้แล้วก็ถึงขั้นตอนที่องค์กรที่เราเลือกจะมาสัมภาษณ์ ก่อนสัมภาษณ์ก็เตรียมใจมาว่าหากไม่ได้ก็ไม่เป็นไร สาเหตุที่คิดว่าอาจจะไม่ได้เพราะว่าเราต้องลากลับบ้านบ่อยๆเพราะต้องช่วยพี่บื๋อไปทำคดีของพ่อ ซึ่งอาจจะทำให้องค์กรที่เราเลือกอาจจะคิดว่าเราทำงานให้เขาได้ไม่เต็มที่

HRLA : ผลการสัมภาษณ์เป็นอย่างไร

Volunteer : หลังจากเข้ารับการสัมภาษณ์จากทั้งสององค์กรเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายความฝันก็เป็นจริงคือได้มาทำงานเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(HRLA) เริ่มทำงานวันที่ 1 ก.ค. 56 หากจะถามว่าตอนนี้รู้หรือยังว่าทำไมเราถึงเลือกเป็นอาสาสมัครฯ เราสามารถตอบได้แล้วว่า “หากเรามีจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือคนอื่นแล้วเรายังมีความรู้และประสบการณ์ที่ไม่เพียงพออาจจะไปทำให้เค้าได้รับความเสียหายมากขึ้น” หนึ่งเลยตัดสินใจที่จะมาเรียนรู้งานกฎหมายที่ทำเพื่อสังคม ณ ที่แห่งนี้

HRLA: บรรยากาศการทำงานอาสาสมัครฯ เป็นอย่างที่คิดไว้ไหม ได้เรียนรู้อะไรบ้าง?

Volunteer: วันแรกที่ที่ไปทำงาน คิดว่าที่ทำงานจะต้องใหญ่และจะต้องมีพนักงานที่ทำงานหลายคน เพราะตอนที่เราได้ยินชื่อว่า “สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” ต้องเป็นอะไรที่ใหญ่โตแน่ๆ พอไปถึงซอยสิทธิชน (ที่ตั้งของสมาคมฯ) เรานเดินหาว่าสมาคมอยู่ไหนเดินไปเดินมาหลายรอบก็ไม่เจอ เราได้แต่คิดว่าเรามาผิดซอยแน่ๆเพราะไม่เห็นมีป้ายบอกไว้เลย จนมีพี่คนหนึ่งเดินออกมาเราก็ถามว่าสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนอยู่ตรงไหน ก็ได้ความว่าตึกนี้ล่ะคือที่ตั้งของสมาคม ฯ

ในเดือนแรกของชีวิตเป็นอาสาสมัคร ถือว่าเป็นการยากเพราะเรายังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิและไม่รู้ว่าลักษณะการทำงานที่นี้เป็นอย่างไร เพื่อนร่วมและงานหัวหน้างานจะเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็สิ่งสุดท้ายที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่คิดมากที่สุดก็คือ เราไม่ค่อยมีความรู้ เรื่อง สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างประเทศเลย

ในเดือนแรกเราก็พยายามที่จะเรียนรู้งานที่สมาคมฯให้มากที่สุด หลังเรียนรู้ก็รู้ว่างานที่สมาคมแบ่งการทำงานเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายคดี ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายเสริมสร้างศักยภาพและเครือข่าย เราได้รับการมอบหมายให้ช่วยเหลือฝ่ายเสริมสร้างศักยภาพโดยพี่กบมอบหมายให้เราช่วยทำฐานงานข้อมูลสมาชิก และนอกจากงานทำฐานข้อมูลสมาชิกเราก็ไม่ลืมที่จะหาความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากหาความรู้ด้วยตนเองแล้วทางสมาคมฯ ยังให้โอกาสเราไปฟังการเสวนาในเวทีการประชุมหรือเวทีวิชาการในที่อื่นๆด้วย ซึ่งโอกาสอย่างนี้หาได้ไม่ง่ายและแต่ละเวทีมีแต่ผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตลอด

ในเดือนสิงหาคมทางสมาคมมีกิจกรรมการสรุปบทเรียนการต่อสู้คดีการคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลกับชาวบ้านที่จังหวัดเชียงราย และในช่วงต่อเนื่องกันก็มีกิจกรรมในงานวันรพีที่มหาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วย เราเห็นได้เลยว่าเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่มาพร้อมกับการเป็นอาสาสมัครฯ เป็นครั้งแรกในหลายๆ อย่าง เช่น ครั้งแรกกับการได้ไปจังหวัดเชียงราย ครั้งแรกสำหรับการได้ไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนจริงๆ และเป็นครั้งแรกได้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษากฎหมายเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนซึ่งทั้งหมดที่ว่ามาเราไม่เคยทำมาก่อน ตอนนั้นรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากแต่ในทางกลับกันโอกาสที่ได้รับก็มาพร้อมความกลัวด้วยเหมือนกัน คือ กลัวเรื่องการวางตัวและกลัวว่าเราจะมีความรู้ที่สามารถจะพูดคุยแลช่วยชาวบ้านได้ไหม สุดท้ายกิจกรรมที่จัดขึ้นที่เชียงรายทั้งการสรุปบทเรียนการต่อสู้คดีและการพูดคุยกับนักศึกษากฎหมายที่มาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็ผ่านไปได้ด้วยดี สิ่งที่เราได้กลับมาจากการที่ไปทำกิจกรรมครั้งนี้คือ ได้เข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมันจะเป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่ติดตัวเราไปตลอด หากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นในชุมชนอื่นๆ เราก็จะรู้ว่าต้องเริ่มต้นแก้ไขปัญหาอย่างไร

ในเดือนกันยาได้ไปทำกิจกรรมกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้ไปคุยงานกับสมาชิกของสมาคมฯที่ทำงานสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ จากโอกาสที่ได้ไปทำกิจกรรมที่มหาลัยขอนแก่นเราเห็นว่ากิจกรรมนี้ทำให้นักศึกษาตระหนักหรือให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น ส่วนสิ่งที่ได้จากการไปคุยกับสมาชิกสมาคมทางภาคใต้คือการได้รู้จักกับพี่ๆ ที่ทำงานด้านกฎหมายเพื่อสังคมทางภาคใต้(ซึ่งคนพวกนี้น่าจะมีความคิดหรืออุดมการณ์คล้ายๆกับเรา) และยังได้รู้ว่าทางใต้มีปัญหาเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเรา(เป็นคนภาคใต้)ยังไม่เคยรู้มาก่อน

HRLA: สองสามเดือนที่ผ่านมาคิดว่าเราได้อะไรบ้างจากการเป็นอาสาสมัคร?

Volunteer : โอกาสและประสบการณ์ที่ได้ทำมาตลอดในฐานะอาสมสมัครเป็นสิ่งที่ดีไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงินทอง ตอนนี้เรามีความภูมิใจที่ได้เลือกมาทำงานเป็นอาสาสมัคร อีกทั้งตระหนักว่าอาชีพนักกฎหมายเป็นอาชีพที่มีคุณค่า ซึ่งเส้นทางอาชีพนักกฎหมายมีมากมายหลายทางแล้วแต่เราจะเลือก และตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราเลือกที่จะเป็นนักกฎหมายที่ทำงานเพื่อสังคม ถึงเงินค่าจ้างนักกฎหมายที่ทำด้านนี้มีไม่มากเท่ากับนักกฎหมายสายอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีมากก็คือ “ความสุขทางใจ” ซึ่งเป็นความสุขที่ยากที่จะอธิบายเป็นจำนวนเงิน .

HRLA: ช่วงเวลาหลังจากนี้คิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้างในบทบาทอาสาสมัคร

Volunteer : สิ่งที่อยากทำมากที่สุดน่าจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการทำคดีที่ดินทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐ หรือเอกชน เราเห็นว่าปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ที่มาของปัญหาเริ่มจากนายทุนผู้มีอำนาจมักจะมองว่าที่ดินเป็นแหล่งที่สร้างกำไรมหาศาล ที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินและฐานทัพยากรมักจะเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ตลอด ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการเรื่องที่ดินเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเมื่อมีการฟ้องร้องกันในชั้นศาล“ทนายความ” เป็นอาชีพที่สามารถช่วยชาวบ้านได้ ซึ่งแม้วาระอาสาสมัครของโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายฯจะมีเพียง 1 ปี ส่วนตัวอยากจะไปทำงานเป็นทนายความที่ช่วยเหลือคดีด้านสิทธิมนุษยชนโดยประเด็นที่เกี่ยวกับที่ดินและฐานทรัพยากรที่ส่วนตัวสนใจเป็นพิเศษ.