จอแฮริ สุณี ดอกไม้ : ความอยุติธรรมภาคต่อในผืนป่าแก่งกระจาน

จอแฮริ สุณี ดอกไม้ : ความอยุติธรรมภาคต่อในผืนป่าแก่งกระจาน

วันนี้ (20 กันยายน 2560) เป็นวันที่พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีนัดส่งสำนวนและสั่งคดี กรณี 3 ชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงถูกดำเนินคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับป่าไม้และอาวุธปืน

ทั้งสามคนเข้าพบอัยการตามนัด พร้อมทั้งขอยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม

ทั้งนี้ พนักงานอัยการให้เลื่อนนัดสั่งคดีไปเป็นวันที่ 19 ตุลาคม 2559

ผู้ต้องหา 3 คนคือ นายจอแฮริ กว่าบุ นายสุณี กว่าบุ และนายดอกไม้ พื้อแม้ ทั้ง 3 เป็นชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย พวกเขาถูกดำเนินคดีแบบงงๆ ในข้อหาทำไม้หรือทำอันตรายใดๆแก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต แปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต, ยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถางหรือทำด้วยประการใดๆอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต, มีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต, เก็บหาของป่า นำออกไปหรือทำด้วยประการใดๆให้เป็นอันตรายแก่สภาพป่าไม้ภายในอุทยานโดยไม่ได้รับอนุญาต
การดำเนินคดีดังกล่าวมาจากเหตุการณ์การเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ เจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตะเวนชายแดนที่ 144 และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 และได้ตรวจพบไม้แปรรูปจำนวนหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

ทั้ง 3 คน คือคนไทยชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อยู่ในผืนป่าแก่งกระจาน บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยอยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมากกว่า 4 ชั่วอายุคน หรือกว่า 100 ปี พวกเขาสืบทอดการดำเนินชีวิตจากบรรพบุรุษชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทำมาหากินโดยการทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวไร่ และพืชผักต่างๆเพื่อดำรงชีพอย่างพอเพียง ตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติอย่างสมดุลมายาวนาน

แต่แล้ว วิถีชีวิตพวกเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อปี พ.ศ. 2524 ได้มีการประกาศให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติ ชุมชนดั้งเดิมที่พวกเขาอยู่อาศัยและทำกินกันมายาวนานที่เรียกว่า “บางกลอยบน” และ “ใจแผ่นดิน” ไม่ได้ถูกกันออก เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจึงพยายามผลักดันให้พวกเขาอพยพลงออกจากชุมชนดั้งเดิมลงมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ใหม่ พวกเขาเริ่มทยอยลงมาในปี พ.ศ. 2539 มาอยู่ในพื้นที่จัดสรใหม่ ใกล้ๆบ้านโปร่งลึก ชุมชนปัจจุบันของพวกเขาเรียกชื่อว่าบ้านบางกลอย หมู่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แน่นอนว่าในมุมมองของชาวชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหลายคน ที่นี้ไม่ใช่ “บ้าน”

พวกเขายังโชคดีอยู่บ้าง ที่การอพยพลงมาเมื่อปี 2539 ครอบครัวของเขาได้รับการจัดสรรที่ดิน ซึ่งรัฐอนุญาตให้อาศัยและทำกินจำนวนประมาณครอบครัวละ 7 ไร่ แต่ด้วยสภาพผืนดินที่เป็นดินลูกรังและไม่ค่อยมีน้ำ พวกเขาจึงไม่สามารถทำการเกษตรตามวิถีเดิมได้ จึงจำต้องเปลี่ยนวิถีเพื่อความอยู่รอด


ผู้ต้องหาคนแรก นายจอแฮริ กว่าบุ อายุ 54 ปี ยังไม่มีสัญชาติไทย เขาสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ การพูดคุยกับเขาต้องคุยผ่านล่ามเท่านั้น เขาถูกดำเนินคดีข้อหาทำไม้และมีไว้แปรรูปไว้ในครอบครอบ ยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่า และมีอาวุธปืน (ลูกซองยาว) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

เพื่อนบ้านเล่าว่า เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยเติม หรือไม่สมประกอบนั้นเอง เท่าที่ผมสัมผัสกับเขา เขาเป็นคนยิ้มให้กับทุกคนอยู่ตลอดเวลา ผมเคยถามเขาผ่านล่ามว่า เขารู้ไหมว่าถูกดำเนินคดี เขารู้ไหมว่าวันที่ไปพบตำรวจ ตำรวจพูดอะไรกับเขาบ้าง เหมือนเขาไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่ผมถาม ชาวบ้านบอกว่า เขาไม่สามารถเข้าใจอะไรที่ซับซ้อนได้ เขาไม่รู้ว่าตัวเองกำลังถูกดำเนินคดีอยู่ด้วยซ้ำ ใครพาเขาไปไหนเขาก็ไป เขาไม่รู้ว่าอะไรคือตำรวจ อัยการ ศาล และไม่รู้ว่าคุกเป็นอย่างไร

ปัจจุบันจอแฮริ อาศัยอยู่กับภรรยาและลูก ภรรยาของเขาก็มีลักษณะไม่แตกต่างจากเขา ส่วนลูกของเขากำลังอยู่ในวัยเรียน เพื่อนบ้านที่เป็นญาติๆกันต้องช่วยดูแล

จอแฮริไม่สามารถทำงานที่ซับซ้อนได้ เขาจึงดำรงชีพด้วยการเก็บผัก เก็บฟืนขาย รับจ้างดายหญ้า เพื่อหาเงินมาซื้อข้าวกิน บางครั้งก็ได้ข้าวปลาอาหารจากเพื่อนบ้านและญาติๆบ้าง
จากการพูดคุยสอบถามชาวบ้านบางกลอย หลายคนยืนยันว่า จอแฮริ ไม่ใช่ผู้กระทำผิดแน่นอน บ้านของเขาไม่เคยมีไม้แปรรูป ไม่เคยมีปืน เขายิงปืนไม่เป็น ไม้ที่เจ้าหน้าที่มายึดก็ไม่ได้อยู่ที่บ้านเขา บ้านที่เขาอยู่ปัจจุบัน เป็นบ้านที่ พอช. มาสร้างให้ทดแทนบ้านเดิมที่ทรุดโทรมจนแทบไม่สามารถอยู่อาศัยได้

ผู้ต้องหาคนต่อมา ลุงสุณี กว่าบุ อายุ 60 ปี มีสัญชาติไทยแล้ว แต่สื่อสารภาษาไทยไม่ค่อยได้มากนัก ครอบครัวของลุงสุณีได้ที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ แต่ที่ดินไม่สามารถทำไร่ข้าวได้ ในปี พ.ศ. 2559 เขาจึงต้องออกมาทำไร่กับญาติที่ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการไปช่วยทำไร่แบบไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน แต่เป็นการแลกกับข้าวและอาหารมาใช้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว

ลุงสุณีบอกว่า วันที่ 17 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจค้นไม้ในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เขายังทำไร่อยู่ที่ด่านสิงขร เจ้าหน้าที่ยึดไม้ได้ที่บริเวณแม่น้ำในย่านใกล้เคียงกับที่ดินที่เขาได้รับจัดสรรให้อยู่อาศัย แกก็เลยถูกดำเนินคดี ซึ่งไม่รู้ว่าไม้เป็นของใคร เพราะแกออกไปทำงานข้างนอกเป็นปีแล้ว

ผู้ต้องหาคนที่สาม นายดอกไม้ พื้อแม้ อายุ 44 ปี มีสัญชาติไทยแล้ว ดอกไม้ ชายวัยกลางคน พูดไทยค่อนข้างคล้องที่สุดในบรรดา 3 ผู้ต้องหา ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาออกมาอยู่ข้างนอกเป็นเวลานาน เขาดูท่าทางเป็นมิตร

ดอกไม้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เดิมเขาก็อาศัยอยู่ที่บ้านบางกลอยนั้นแหละ แต่วันที่ 23 เมษายน 2543 เขาถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตาย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ครอบครัวของข้าพเจ้าก็ได้ย้ายออกจากพื้นที่ มาทำงานรับจ้างในไร่อ้อยในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดราชบุรี โดยมาอาศัยบ้านของนายจ้างไร่อ้อย บ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดราชบุรี

ดอกไม้ยื่นยันว่า การถูกดำเนินคดีตอนนั้น เขาไม่ได้กระทำผิด คนกระทำผิดเป็นอีกคน ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อเขาไม่ได้กระทำผิด เขาก็เลยต่อสู้คดีเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง ศาลจังหวัดเพรชบุรีตัดสินลงโทษประหารชีวิตเขา แต่ด้วยเขาไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ศาลจึงลดโทษให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต ดอกไม้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่อย่างไรก็ดี ในชั้นศาลฏีกา ศาลฎีกาพิพากษาให้ข้าพเจ้ามีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ข้าพเจ้าอยู่ในคุก 14 ปี 7 วัน จึงได้รับการพักโทษ เพราะมีความประพฤติดี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม เขาออกจากเรือนจำมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557

หลังจากถูกปล่อยพักการลงโทษ เขาก็ได้ไปอาศัยอยู่กับภรรยาที่บ้านเลขที่ 120 หมู่ 3 ตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ประกอบอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย และไม่ได้กลับเข้าไปอาศัยและทำกินในพื้นที่ บ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีอีกเลยนับจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเขาบอกว่า นายจ้างไร่อ้อยที่เขาทำงานอยู่ด้วย สามารถเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงนี้ให้เขาได้

ด้วยความไม่แน่นอนว่าวันนี้ พวกเขาจะถูกสั่งฟ้องหรือไม่ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 พวกเขาทั้ง 3 คน จึงเดินทางมาที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม ในเมืองเพชรบุรี เพื่อไปยื่นเรื่องขอเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรมไว้ เพราะหากพวกเขาถูกส่งฟ้องศาล พวกเขาจะได้มีเงินประกันตัว และไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพ ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่บริการพวกเขาด้วยมิตรไมตรี

แต่ตามขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมนั้น คณะอนุฯจะมีการประชุมในวันที่ 20 ตุลาคม 2560 ดังนั้น ผู้ต้องหาทั้ง 3 จึงจะขอเลื่อนการสั่งคดีของพนักงานและยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมอัยการ

การเดินทางเพื่อตามหาความยุติธรรมของพวกเขาทั้งสามและชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จะสิ้นสุดลงอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป