ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นยื่นฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวล ในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นยื่นฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวล ในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย

วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.00 นาฬิกา ที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ มีนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีที่กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นยื่นฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวล ในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ต่อศาลปกครอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 146/2554 และ คดีหมายเลขแดงที่ 278/2556

คดีนี้ประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล คือตำบลเวียงเหนือ ตำบลริมกก ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย จำนวน 100 รายเป็นผู้ฟ้องคดี และมีรายชื่อผู้สนับสนุนการฟ้องคดีกว่า 1,000 รายชื่อ รวมตัวกันยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 เพื่อให้ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกให้แก่บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด เนื่องจากกระบวนการออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบด้วยพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของจังหวัดเชียงรายขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และอาจมีผลกระทบกับแหล่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยร่างกายจากฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้วัตถุดิบ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งวัตถุดิบจากอำเภออื่นๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ก่อสร้างยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ โบราณสถานพระเจ้ากือนา วัดพระโบราณ และวนอุทยานประวัติศาสตร์เวียงเชียงรุ้ง

วันที่ 24 มิถุนายน 2556 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เลขที่ (สรข.5) 02-119/2553 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2553 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ออกให้บริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) โดยให้มีผลนับแต่วันออกใบอนุญาตดังกล่าว และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

หลังมีคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ บริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเดิมศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 แต่เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้รับหมายนัดเพื่อมาฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2560) มีตัวแทนชาวบ้านผู้ฟ้องคดีจาก 3 ตำบลประมาณ 50 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษา

ตุลาการศาลปกครองได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกให้กับบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ดังนี้

โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ผู้ฟ้องคดีทั้ง 100 คนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 100 คนเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนา และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 100 คนจึงมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และสิทธิดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม รวมทั้งสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นประกอบก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของบุคคลหรือชุมชนท้องถิ่น ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง มาตรา 66 และมาตรา 67 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น เมื่อโรงไฟฟ้าในคดีนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับบ้านเรือน โรงเรียน วัด และสถานที่อื่นของชุมชน อีกทั้งท้องที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประกอบกับเป็นกิจการที่มีผลเสี่ยงต่อการก่อมลพิษาทางอากาศ และอาจส่งผลต่อกระทบต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน และความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะความเสียหายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในท้องที่นั้น ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้ง 100 คนจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอ

ประเด็นที่สอง การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า กระบวนการจัดทำประชาคมซึ่งเป็นการรับฟังความเห็นของประชาชนนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดว่า การใช้อำนาจของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงสิทธิของบุคคลที่ได้รวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่น มีสิทธิได้รับข้อมูล การชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะเข้าไปดำเนินการในท้องถิ่นที่อาจกระทบต่อคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย เพื่อให้องค์กรของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณา แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จัดทำโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของเอกชน และจัดทำการรับฟังความเห็นด้วยการจัดการประชุมประชาคมที่มีประชาชนเข้าร่วมเพียง 15% ของประชาชนในพื้นที่ 3.5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า การมีส่วนร่วมของประชาชนและการจัดให้ประชาชนรับทราบข้อมูลตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวมา จึงไม่อาจถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และไม่อาจถือว่าเป็นการจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ที่ (สรข.5) 02-119/2553 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2553 ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้ง การออกใบอนุญาตโดยมิได้ขอความเห็นจาก อบต. ไปประกอบการพิจารณา และที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวล มีมติไม่สมควรให้มีการก่อสร้าง และประชาชนในพื้นที่ได้มีการคัดค้านมาโดยตลอด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังรับเรื่อง พิจารณา และให้ความเห็นชอบออกใบอนุญาต โดยไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งกระบวนการผลิตไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สาม การออกใบอนุญาตฯเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า การตั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพของที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการทำเกษตรกรรม และในการดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจะมีฝุ่นละอองเกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อสุขภาพด้านระบบทางเดินหายใจต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 5 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งประชาชนจะมีการสั่งสมฝุ่นละอองในร่างกายเพิ่มขึ้นทุกวันต่อเนื่องในระยะยาว แม้จะไม่เห็นผลในทันที แต่ก็เห็นได้ว่าจะส่งผลในอนาคต ดังตัวอย่างจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดร้อยเอ็ดมาแล้ว หากปล่อยให้ดำเนินกิจการจะก่อให้เกิดความเสียหายยากแก่เยียวยา ซึ่งความเสียหายบางอย่างไม่สามารถคำนวนเป็นเงินได้

ทนายพนม บุตะเขียว ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในทีมทนายที่ให้ความช่วยทางกฎหมายในคดีนี้ให้ความเห็นว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ได้วางหลักสิทธิชุมชน โดยวินิจฉัยว่าชาวบ้านที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ว่าเป็นผู้เดือดร้อนเสียหาย และยังวางหลักเรื่องการรับฟังความคิดเห็นว่าต้องมีการรับฟังความเห็นของประขาชนให้ครบถ้วน รวมถึงวางเรื่องหลักการป้องกันไว้ก่อนคือแม้ยังไม่เกิดความเสียหายแต่ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นเรื่องที่ไม่อาจตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้และหากเกิดขึ้นแล้วยากที่จะเยียวยา ถือเป็นคำพิพากษาได้วางหลักการที่เป็นประโยชน์กับชุมชน ทำให้เป็นบรรทัดฐานให้กับการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ทนายพนม กล่าวเสริมว่า ที่ผลคดีออกมาแบบนี้ได้ จุดสำคัญคือการร่วมต่อสู้ของคนในชุมชน ที่ยืนยันต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่คดีชีวมวลเชียงราย