สนส. จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 กำหนดประเด็น SLAPP และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นวาระสำคัญในการขับเคลื่อนงานขององค์กร

สนส. จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 กำหนดประเด็น SLAPP และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นวาระสำคัญในการขับเคลื่อนงานขององค์กร

วันที่ 9 – 10 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ขึ้นเพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมาและกำหนดทิศทางการทำงานในอนาคต

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 นอกจากจะเป็นการประชุมประจำปีตามปกติแล้ว ยังถือเป็นการพบกันของบรรดาสมาชิกในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการก่อเกิดองค์กรอีกด้วย สนส. จึงได้ถือโอกาสนี้ในการทบทวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากบรรดาสมาชิก ซึ่งโดยสรุปแม้จะพบว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีผ่านมา  จะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ สนส. ยังทำไม่สำเร็จหรือทำแล้วล้มเหลว แต่อย่างน้อยๆ สิ่งที่เราเห็นร่วมกันก็คือ การค่อยๆเติบโตขึ้นของพื้นที่นักกฎหมาย/ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในที่ต่างๆและในประเด็นต่างๆ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นถือเป็นแรงผลักสำคัญที่จะช่วยให้กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายค่อยๆขยับไปอยู่บนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคม

ในส่วนของความล่มเหลวที่ไม่อาจทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ สนส. เองก็ได้ทบทวนบทเรียนการทำงาน พร้อมทั้งได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ และกำหนดประเด็นการทำงานให้ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศมากขึ้น  โดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ได้มีความเห็นร่วมกันว่าประเด็นหลักที่ สนส. ต้องขับเคลื่อนในปีหน้า คือ

  1. การยับยั้งการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) หรือ judicial harassment
  2. การส่งเสริมสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เช่น สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สิทธิของทนายความในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ภารกิจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่อาจจะสำเร็จได้ หากปราศจากความร่วมมือจากส่วนต่าๆในสังคม  สนส. ยังคงต้องการการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้/ข้อมูลต่างๆ ความร่วมมือในการดำเนินงาน ตลอดจนทรัพยากรต่างๆเพื่อการขับเคลื่อนงาน ดังนั้น หากท่านใดสนใจอยากเสนอแนวคิด หรืออยากสนับสนุนในเรื่องใด สามารถติดต่อมาพูดคุยกันได้ทางแฟนเพจเฟสบุ๊ค Human Rights Lawyers Association หรือทาง E – mail :  hrla2008@gmail.com

รู้จัก สนส. มากขึ้น

ปี 2551 บรรดานักกฎหมาย ทนายความและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมกันก่อตั้งเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่รวมตัวของนักกฎหมาย ทนายความและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงาน เพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรม ความเป็นธรรมในสังคม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งในทางวิชาการและการใช้มาตรฐานทางกฎหมาย เช่น การดำเนินคดียุทธศาสตร์ การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและนโยบาย ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยหวังร่วมกันว่าจะสามารถสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคม

หลังจากนั้นเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ก็ได้จดทะเบียนตามกฎหมายในปี 2556 ใช้ชื่อว่า “สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” (สนส.) หรือ Human Rights Lawyers Association (HRLA) ในภาษาอังกฤษ

นับแต่การก่อเกิดองค์กร สนส. ทำงานเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรม ความเป็นธรรมในสังคม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผ่านการดำเนินการใน 3 ภารกิจหลัก คือ

  1. ภารกิจด้านเสริมสร้างศักยภาพและเครือข่าย โดยให้ควาสำคัญกับเผยแพร่แนวคิดและองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และพัฒนาศักยภาพให้กับนักกฎหมาย/ทนายความ งานในส่วนนี้จะมีภารกิจที่สำคัญ 2 ส่วน คือ การส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนในมหาวิทยาลัย และการเสริมสร้างเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

    การส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนในมหาวิทยาลัย เน้นการสร้างความร่วมมือกับคณะนิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆเพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนให้แก่นักศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยได้เข้ามาสนับสนุนงานทางวิชาการแก่ชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

    งานเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  เน้นการจัดอบรมให้นักกฎหมาย ทนายความและเครือข่ายการทำงานอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์การทำงานระหว่างกัน

  1. ภารกิจด้านคดียุทธศาสตร์ การดำเนินคดียุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นการดำเนินคดีเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการยืนยัน หรือรับรองสิทธิมนุษยชน หรือนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนหรือภาคประชาชนหรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายนโยบายหรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคนในสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เป็นการดำเนินคดีที่คำนึงถึงความยุติธรรมทางสังคมและความยุติธรรมของปัจเจกชนไปพร้อมๆกัน

    คดีที่อยู่ในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือของสมาคมฯ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ คดียุทธศาสตร์ และคดีสิทธิมนุษยชน/คดีหนุนเสริม โดยที่ผ่านมา สนส. จะทำคดีใน 3 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น/การแสดงออก เช่น คดีปีนสภา สนช. คดีภูเก็ตหวาน ฯลฯ  ประเด็นสิทธิชุมชน เช่น คดีแม่อมกิ คดีชีวมวลเชียงราย ฯลฯ และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น คดีซ้อมทรมานนักศึกษายะลา คดีบังคับสูญหายนายพอละจี หรือบิลลี่ ฯลฯ

  1. ภารกิจด้านงานวิชาการและรณรงค์ เป็นแหล่งฐานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนและการศึกษาวิจัย  การสนับสนุนงานคดี  การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และสื่อสารประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขไปสู่สาธารณะ