ดีเอสไอ รับจะนำเสนอคดีบิลลี่ให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ดีเอสไอ รับจะนำเสนอคดีบิลลี่ให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาในอีก 2 เดือนข้างหน้า

วันนี้ 27 เมษายน 2561 นางสาวพิณภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอภรรยาบิลลี่ ลูกสาว และชาวบ้านบางกลอย พร้อมตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เข้าพบผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อสอบถามความคืบหน้าและหารือเกี่ยวกับคดีบังคับสูญหายนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่หายไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

การเข้าพบกรมสอบสวนคดีพิเศษครั้งนี้ เกิดจากความไม่คืบหน้าและความไม่ชัดเจนในการดำเนินคดีบิลลี่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะช่วงต้นปี 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีหนังสือแจ้งมายังมึนอว่าว่าคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติไม่รับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยมติดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมวันที่ 10 มิถุนายน 2559 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปีบิลลี่ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ประเทศไทย: ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆในวันครบรอบ 4 ปี ที่“บิลลี่”ถูกบังคับให้สูญหาย ระบุว่าการสืบสวนสอบสวนคดีบิลลี่ไม่มีความคืบหน้าและและดีเอสไอปฏิเสธไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ  ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ออกมาชี้แจงอย่างรวดเร็วว่าคดีบิลลี่ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่มีมติไม่รับเป็นคดีพิเศษแล้วตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

การเข้าพบครั้งนี้ มีพ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมคณะให้การตอนรับและร่วมพูดคุย

พ.ต.ท.กรวัชร์ อธิบายว่า ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษห่วงใย ไม่ได้ปฏิเสธที่จะรับดคีและมุ่งมั่นที่จะทำคดีนี้อย่างเต็มที่ ทางคณะทำงานได้เข้าไปสืบสวนตั้งแต่เริ่มต้น และได้มีการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณารับเป็นคดีพิเศษมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังติดปัญหาข้อกฎหมายบางประการว่า มึนอ ผู้ร้องไม่ใช่ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของบิลลี่ คณะกรรมการจึงให้คณะทำงานไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งคณะทำงานก็ได้มีการไปสอบปากคำจากแม่ของบิลลี่เพิ่มเติมเสร็จแล้ว ประเด็นนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

พ.ต.ท.กรวัชร์ ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า คดีนี้เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว คือกระทำครั้งเดียว แต่มีการแยกดำเนินคดีเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นการดำเนินคดีกรณีที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมาอาญามาตรา 157 ซึ่งอยู่ในอำนาจ ป.ป.ท. ที่กำลังดำเนินการอยู่  ในส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ เราก็รับมาทำคดีอีกส่วนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจ ป.ป.ท. พูดเข้าใจง่ายๆก็คือประเด็นว่าบิลลี่อยู่ที่ไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็พยายามทำมาโดยตลอด แต่เพียงคดีในส่วนที่เราทำอย่างเดียวก็อาจจะยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับเป็นคดีพิเศษได้ เพราะเงื่อนไขการรับเป็นคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษต้องเป็นคดีร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ คดีอาชญากรรมข้ามชาติ หรือไม่ก็เป็นคดีที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ หากมีการนำคดีในส่วนของ ป.ป.ท. มารวมด้วยก็จะทำให้คดีบิลลี่มีน้ำหนักที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษมากขึ้น

นาวสาวพิณภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ ได้กล่าวขอบคุณกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีความตั้งใจที่จะทำคดีนี้ และก็อยากขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งความคืบหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตนรับรู้เป็นระยะ อยากให้สื่อสารกับตนโดยตรง เพราะที่ผ่านมาตนทราบข่าวคดีบิลลี่จากคนอื่นตลอด

พ.ต.ท.กรวัชร์ รับปากว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษอีกครั้ง คณะทำงานก็จะมีการนำเสนอคดีบิลลี่ให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาอีกครั้ง โดยในระหว่างนี้จะให้หัวหน้าคณะทำงานติดต่อประสานงานกับมึนอเป็นระยะ

คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แสดงความกังวลเรื่องการคุ้มครองพยานของมึนอ ที่ไม่มีการดำเนินการต่อแล้ว  จะเป็นไปได้หรือไม่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย อีกประเด็นเรื่องการเยียวยา เนื่องจากคดีบังคับสูญหายยังไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายไทย การเข้าถึงการเยียวยาต่างๆจากหน่วยงานรัฐจึงค่อยข้างยาก เพราะมักจะบอกว่าตนเองไม่มีอำนาจ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะช่วยประสานและชี้แจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือจังหวัด ได้เข้าใจ เพื่อให้เกิดการเยียวยาแก่ครอบครัวบิลลี่

ตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบายว่า การคุ้มครองพยาน เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของแต่ละหน่วยงาน  ในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีระเบียบกำหนดไว้เช่นกัน หากต้องการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำหน้าที่คุ้มครองก็สามารถเสนอเรื่องมาได้ แต่ก็ต้องเข้าเงื่อนไขตามระเบียบ คือ การคุ้มครองเมื่อรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ส่วนในเรื่องการประสานงานช่วยเหลือเยียวยานั้น จะไม่ได้อยู่ในอำนาจที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะสามารถดำเนินการได้