ศาลระนองเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดี 4 แรงงานเมียนมาร์ตกเป็นจำเลยข้อหาร่วมกันฆ่านางสาวอรวี (แอปเปิ้ล) ไป 19 เมษา

ศาลระนองเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดี 4 แรงงานเมียนมาร์ตกเป็นจำเลยข้อหาร่วมกันฆ่านางสาวอรวี (แอปเปิ้ล) ไป 19 เมษา

วันนี้ (29 มีนาคม 2561) เวลาประมาณ 09.30 น. ตามที่ศาลจังหวัดระนอง และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ชาวเมียนม่า 4 คน ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดฐานฆ่านางสาวอรวี สำเภาทอง หรือน้องแอปเปิ้ล โดยศาลจังหวัดระนองให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 19 เมษายน 2561  เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาภาคยังตรวจร่างคำพิพากษาของศาลจังหวัดระนองยังไม่แล้วเสร็จ  ส่วนศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนองก็ให้เลื่อนไปเพื่อรออ่านคำพิพากษาพร้อมกับศาลจังหวัดระนอง

ทนายความจำเลยได้แถลงคัดค้านไม่เห็นด้วยที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนองจะเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป เนื่องจากทนายจำเลยเห็นว่าในส่วนคำพิพากษาของศาลเยาวชนฯนั้น อธิบดีผู้พิพากษาภาคได้ตรวจร่างคำพิพากษาเสร็จแล้ว  ศาลเยาวชนฯมีความอิสระในฐานะเจ้าของสำนวน จึงควรอ่านคำพิพากษาไปเลย เพราะการเลื่อนออกไปย่อมส่งผลต่ออิสรภาพของจำเลย  อย่างไรก็ดี ศาลเยาวชนฯได้ชี้แจงว่าต้องทำตามคำแนะนำของอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 ที่ได้มีคำแนะนำให้รออ่านพร้อมศาลจังหวัดระนอง

คดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำของวันที่ 8 กันยายน 2558 โดยนางสาวอรวี สำเภาทอง หรือน้องแอปเปิ้ล ผู้ตายได้ถูกคนร้ายแทงด้วยอาวุธแหลมคมถึง 17 แผล เสียชีวิต ขณะกำลังเดินเข้าซอยสำนักสงฆ์สะพานปลา ข้างโรงเจ หมู่ 5 ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ตำรวจได้มีการสืบสวนสอบสวน ต่อมาได้มีการจับกุมและดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมาร์ ซึ่งการจับกุมดังกล่าวทำให้สังคมตั้งคำถามพอสมควรว่าทั้ง 4 คนจะใช่ผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแพะรับปาบ

ในการดำเนินคดี ได้มีการแยกฟ้องคดีเป็น 2 ศาล เนื่องจากจำเลย 2 รายยังมีฐานะเป็นเยาวชนอยู่ ได้แก่ คดีของศาลจังหวัดระนอง หมายเลขดำที่ 115/2559 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดระนอง โจทก์ นางมาริษา สำเภาทอง (มารดาผู้ตาย) โจทก์ร่วม และนายเมาเซ้น หรือเซกะดอ ที่ 1 นายซอเล ที่ 2 จำเลย  และคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง คดีหมายเลขดำที่ 7/2559 ระหว่างพนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง โจทก์ นางมาริษา สำเภาทอง (มารดาผู้ตาย) โจทก์ร่วม นายโมซินอ่าว ที่ 1 นายจอโซวิน ที่ 2 จำเลย โดยขณะถูกจับกุม จำเลยที่ 1 อายุ 15 ปี และจำเลยที่ 2 อายุ 14 ปี ในชั้นสอบสวนจำเลยรับสารภาพ

แต่ภายหลังจำเลยให้ข้อมูลแก่ทนายความและองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือว่าถูกซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ปรากฎร่องรอยการถูกทำร้ายให้เห็นตามร่างกาย  ซึ่งถูกบันทึกไว้ในเอกสารของแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรวจร่างกายโดยละเอียด  สำหรับพยานหลักฐานอื่นที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่ว่าจะเป็นผลการตรวจสารพันธุกรรมที่ติดอยู่ในเล็บมือของผู้ตายอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ความผิดของจำเลย ผลออกมากลับพบว่าไม่ใช่ของจำเลยและข้อมูลจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนได้มาทั้งหมดได้ถูกจัดส่งให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยฝ่ายจำเลยได้ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจส่งข้อมูลกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมต่อศาลเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง  ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของนายโมซินอ่าวกับความจริงที่ปรากฏในข้อมูลจากกล้องวงจรปิด

หมายเหตุ*** คดีนี้ เป็นการร่วมกันให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจากองค์กร ได้แก่ สภาทนายความแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation-HRDF) มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation for Education and Development-FED) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Center – MAC) ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี (DISAC) และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) เพื่อให้จำเลยในคดีซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงความยุติธรรมและรณรงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ถูกจับด้วยเหตุความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการห้ามใช้วิธีซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพซึ่งเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง