แอะนอ พุกาด : กฎหมาย วิถีชีวิต และสิทธิชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย

แอะนอ พุกาด : กฎหมาย วิถีชีวิต และสิทธิชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย

นางแอะนอ พุกาด อายุ 40 ปี หญิงชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมติดแผ่นดิน เกิดและตั้งรกรากถิ่นฐานบนพื้นที่บริเวณลำห้วยที้โพ้เปรือ หรือภาษาไทยเรียกว่าห้วยส้ม เป็นบริเวณที่ชาวกระเหรี่ยงดั้งเดิมเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” บรรพบุรุษของเธอตั้งรกรากในพื้นที่นี้มาหลายชั่วอายุคนเป็นเวลานานกว่า 100 ปี

เธอยังไม่มีบัตรประชาชน แต่ถือบัตรเลข 0 และเธอพูดและฟังภาษาไทยไม่ได้

สามีของเธอเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีก่อน เธอมีลูก 4 คน เป็นชาย 3 หญิง 1 คน ปัจจุบันเธอจึงมีภาระเลี้ยงดูลูกที่ยังเรียนอยู่ 2 คน ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ลูกๆทุกคนของเธอเกิดในพื้นที่บริเวณใจแผ่นดินเช่นเดียวกันเธอ และทุกคนถือบัตรเลข 0 อยู่ระหว่างรอสถานะ

เธอเป็นหนึ่งในคนที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับชาวบางกลอย โดยเฉพาะเหตุการณ์ผลักดันและเผาบ้านกะเหรี่ยงเมื่อปี 2554

ปัจจุบันเธอกำลังจะถูกดำเนินคดี เพราะทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตเพื่อการเลี้ยงชีพ

วิถีชีวิตชาติพันธุ์กะเหรี่ยงผูกติดกับที่ดิน

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นไร่ในลักษณะดั้งเดิมในที่ดินที่มีมากกว่าหนึ่งแปลงแล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อที่จะได้มีการพักฟื้นที่ดินเพื่อปรับความสมดุลตามธรรมชาติ การทำไร่แบบเป็นแกนหลักต่อการดำรงชีวิต วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งมีคุณูปการต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดิน ภาวะไร้สารพิษทางการเกษตร และการบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยชาวกะเหรี่ยงจะปลูกข้าวไร่ และพืชสวนครัว อาทิ พริก ฟักทอง ฟักแฟงแตงกวา ถั่ว งา ขมิ้น กล้วย มะละกอ ฯลฯ ไว้ในที่ดินแปลงเดียวกัน แต่จะปลูกข้าวไร่และพริกเป็นหลักเพื่อเก็บบริโภคในครอบครัว

การทำเกษตร “ไร่หมุนเวียน” ถือเป็นจิตวิญาณของชาวกะเหรี่ยงที่ปฏิบัติสืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน ระบบเกษตรแบบ “ไร่หมุนเวียน” ประกอบไปด้วยภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรทางการผลิต และการปรับตัวในหลากหลายลักษณะเพื่อตอบสนองต่อเงื่อนไข ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

“ไร่หมุนเวียน” เป็นระบบเกษตรวัฒนธรรม ที่ผสมระหว่างเกษตรและป่าไม้ โดยมีพลวัตของการจัดการและปรับตัวอย่างต่อเนื่องกับเงื่อนไขของระบบนิเวศ โดยการเปลี่ยนพื้นที่ไร่เหล่าให้เป็นพื้นที่ไร่ ด้วยการตัด ฟัน โค่น และเพาะปลูก และทิ้งพื้นที่ให้มีการพักฟื้นในระยะเวลาที่เหมาะสม การพักฟื้นที่ดินอย่างเป็นระบบเป็นไปเพื่อรักษาดุลยภาพของทรัพยากรดิน น้ำ และป่า เพื่อให้ทำเกษตรได้อย่างต่อเนื่องและครบวงจร [1]

กฎหมายเริ่มรุกวิถีชีวิต

หลังจากมีการประกาศให้บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อปี พ.ศ. 2524 ต่อมาในปี 2535 เริ่มมีการพยายามอพยพชาวกะเหรี่ยงจากบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ลงมาอยู่ข้างล่างบริเวณบ้านโปร่งลึก ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพรชบุรี ซึ่งหัวหน้าอุทยานในตอนนั้นได้มีการเจรจาให้ชาวบ้านลงมาก่อน โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าอยู่ไม่ได้ก็จะให้กลับไปอยู่ที่เดิม และภายใน 3 ปีแรกจะดูแลเรื่องอาหารและที่ดินให้

ต่อมาในปี 2539 ชาวบ้านเริ่มอพยพลงมาแล้วตั้งเป็นหมู่บ้านบางกลอย หมู่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพรชบุรี ชุดแรกลงมา 57 ครอบครัว ได้พื้นที่ทำกินทั้งหมด 55 ครอบครัว ครอบครัวละประมาณ 7 ไร่ แต่ที่ดินบางส่วนก็ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีเดิมได้ เพราะเป็นดินลูกรัง ปัจจุบันที่ดินทั้งหมดได้รับการส่งเสริมให้ทำเป็นนาขั้นบันได แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและกลายมาเป็นนาปลูกกล้วย บางครอบครัวเลิกปลูกไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ถูกอพยพลงมาชุดหลัง ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า ชุดหลังนี้ไม่ได้ที่ดินเลยสักครอบครัว ดังนั้น ปัจจุบันจึงมีชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินอยู่ประมาณ 32 ครอบครัว อันนี้นับเฉพาะครอบครัวหลัก ไม่รวมครอบครัวขยาย เพราะถ้ารวมครอบครัวขยายจะมีครอบครัวที่ไม่ได้รับที่ดินทำกินอยู่ประมาณ 84 ครอบครัว (-ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ)

การประสบปัญหาไม่ได้รับจัดสรรที่ดิน หรือที่ดินที่ได้รับไม่สามารถปลูกข้าวได้ดังเดิม จึงทำให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งต้องอพยพกลับถิ่นฐานเดิม หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำงานอื่นเพื่อหาเงินมาซื้อข้าวจากข้างนอกมาบริโภค

แอะนอเองก็ลงมาเมื่อปี 2539 เช่นเดียวกับคนอื่นๆ โดยมาอาศัยอยู่กับพ่อตา เธอคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่ได้ที่ดินทำกิน เธออยู่ข้างล่างได้ไม่ถึงปี ก็กลับขึ้นไปทำกินข้างบนเช่นเดิม (เรียกบริเวณนั้นว่าห้วยแห้ง)

ปฏิบัติการรุกไล่รุนแรง กับเสียงที่แผ่วเบาของสิทธิชุมชนคนดั้งเดิม

วันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ดำเนิน “โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” หรือ “ยุทธการตะนาวศรี” ในการปฏิบัติการครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาติพันธุ์กะกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่ยังอาศัยและทำกินในพื้นแผ่นดินเดิม (บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน) มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 20 ครอบครัว มีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉาง ถูกจุดไฟเผาราว 100 หลัง

ปฏิบัติการครั้งนั้น เป็นเหตุให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ได้รับความเสียหายจำนวน 6 คน นำโดยนายโคอิ หรือปู่คออี้ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณ ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อศาลปกครองในปี 2555 ซึ่งต่อมาในวันที่ 7 กันยายน 2559 ศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านคนละ 10,000 บาท จากการที่เจ้าหน้าที่เผาทำลายข้าวของเครื่องใช้ (คำพิพากษาฉบับเต็ม)

แม้ในช่วงปฏิบัติการ “ยุทธการตะนาวศรี” บ้านของแอะนอจะไม่ได้ถูกเผา เพราะเจ้าหน้าที่ลาดตะเวนไม่พบ แต่เทอก็ได้รับผลกระทบ ต้องลงมาอยู่ช้างล่างในสภาพที่ไร้ที่ดินทำกิน

แม้ที่บ้านบางกลอย (ล่าง) นอกจากแอะนอจะไม่ได้รับจัดสรรที่ดินทำกินแล้ว ที่ดินที่ตั้งบ้านก็เป็นของคนอื่น

“ถ้าเขาไม่ให้อยู่ในที่ดินวันไหน ก็คงไม่มีที่อยู่” แอะนอกล่าว

เมื่อไม่มีที่ดินทำกิน เธอจึงจำเป็นต้องกลับเข้าไปทำกินในพื้นที่ข้างบนเช่นเดิม เพราะไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ไม่มีสถานะบุคคล จะไปหางานทำข้างนอกก็ค่อนข้างจะยากลำบาก

แอะนอ เข้าไปทำไร่ในพื้นที่ข้างบนตามวิถีไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงในพื้นที่ไม่ถึงไร่ ในบันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่ระบุว่ามี 3 งาน 13 ตารางวา โดยพื้นที่ดังกล่าวเธอใช้ปลูกข้าวไร่ พืชผักหลายชนิดที่กินได้ เพื่อบริโภคในครอบครัว

“ขึ้นไปทำไร่ข้างบน ก็ต้องยืมข้าวจากลุงหมี (หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการเผาบ้านเมื่อปี 2554) ไปกินข้างบนด้วย เพราะข้าวที่ปลูกยังไม่ได้ผลผลิต” แอะนอกล่าว

เมื่อกฎหมาย คือทางเลือกเดียวในการอนุรักษ์ทรัพยากรฯ

วันที่ 9 มิถุนายน เวลาประมาณ 9 โมงเช้า บริเวณห้วยแม่ประเร็ว บ้างบางกลอย พิกัด 0533955 E 1445842 N ระหว่างที่แอะนอกำลังจะออกไปทำไร่ตามปกติ เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ลาดตะเวนผ่านมาในที่ทำกินและที่พักในบริเวณพื้นที่ทำไร่ เธอจึงถูกเจ้าหน้าที่จับกุม เจ้าหน้าที่ตรวจยึดสิ่งที่อ้างว่าผิดกฎหมายหลายรายการ ได้แก่ ปืนแก็บดำ ลูกตะกั่ว ดินประสิว ดินดำ มีด จอบ ค้อน ตะไบ คีม สิ่ว ตะกั่ว ซึ่งปืนและลูกตะกั่วเธอเล่าว่าเป็นทรัพย์สินของสามีเธอ หลังจากสามีเสียก็เก็บไว้ไม่ได้ใช้

“ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่นี้ไม่ล่าสัตว์ และฉันก็ล่าสัตว์ไม่เป็น ยิงปืนไม่เป็น” แอะนอกล่าว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังระบุว่าพบ กะโหลกเก้ง และเนื้อเก้ง ซึ่งในส่วนของกะโหลกเก้ง เธอปฏิเสธว่าไม่ใช่ของเธอ เธอบอกว่าหัวกะโหลกเก้งเป็นกะโหลกที่เก่ามาก ไม่มีขนติดเลย ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่เอามาจากไหน ส่วนเนื้อเก้ง เธอเล่าว่า เป็นของคนผ่านทางมา เขาเอาทิ้งไว้ให้ เพราะเห็นว่าเธอเป็นผู้หญิงที่หาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว

สิ่งที่ยึดไม่ได้ก็จะถูกทำลาย บ้านที่สร้างด้วยไม้ไผ่ของเธอถูกตัดฟันฝาและพื้นบ้านเสียหาย เสื้อผ้าถูกเผา หมอข้าวหายไป ไก่ที่เลี้ยงไว้ถูกเอาไปกิน เกลือถูกเททิ้ง พืชผักที่ปลูกไว้ถูกตัดทำลาย ต้นหมากถูกโค่นลง

ในวันจับกุม มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไปด้วย ทำหน้าที่เป็นล่าม แต่ไม่ใช่คนในพื้นที่บางกลอย เป็นคนกะเหรี่ยงจากพื้นที่อื่น เธอจึงไม่ค่อยมั่นใจในการแปลของล่าม

หลังจับกุม แอะนอถูกนำตัวลงมาที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เธอถูกสอบปากคำโดยไม่มีทนายความหรือผู้ช่วยทางกฎหมาย

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ผู้จับกุม ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่เธอ ยาวเป็นหางว่าว ได้แก่

  1. ฐาน “ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 และ 72 ตรี มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ฐาน “ยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 และ 31 วรรคสอง (2) และ (3) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 2,000,000 บาท
  3. ฐาน “ยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่า ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (1) และ 24 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. ฐาน “เข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (13) และ 27 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  5. ฐาน “ฐานนำสัตว์ป่าออกไป หรือทำด้วยกระการใดๆให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (3) และ 24 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  6. ฐาน “นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ หรือจับสัตว์ หรืออาวุธเข้าไป ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (15) และ 27 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  7. ฐาน “ล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 16 และ 47 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  8. ฐาน “มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 19 และ 47 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  9. และเจ้าหน้าที่อุทยานฯได้กล่าวโทษของให้พนักงานสอบสวน สภ. แก่งกระจาน ดำเนินคดีแก่แอะนอในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ด้วย

หลังจากเธอถูกสอบปากคำที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเสร็จ เธอก็ถูกส่งตัวให้ตำรวจ สภ. แก่งกระจานในเวลาประมาณ 5 ทุ่มของวันที่ 9 มิถุนายน เธอถูกคุมขังไว้ที่ สภ. แก่งกระจาน จนรุ่งเช้า

เช้าวันที่ 10 มิถุนายน ตำรวจ สภ. แก่งกระจาน เริ่มสอบสวนเธอ ในวันนั้นมีลูกและเพื่อนบ้านของเธออยู่ด้วย แต่ไม่มีทนายความ หลังสอบสวนอะไรกันเสร็จ ตำรวจให้เทอพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารอะไรสักอย่าง เธอไม่รู้ว่าเป็นเอกสารอะไร และเธอก็ไม่ได้เอกสารอันนั้นมาด้วย แต่ยังโชคดีที่เธอถูกปล่อยตัวให้กลับบ้าน โดยไม่ต้องประกันตัว

ตอนนี้ คดีของเธออยู่ในชั้นศาลแล้ว โดยพนักงานอัยการฟ้องเธอมาทุกข้อหาตามที่กล่าวมา  โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีประกันในชั้นศาล 200,000 บาท ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

อ้างอิง

[1] ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่รายงานการวิจัย ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน : สถานภาพและความเปลี่ยนแปลง ศ.ดร.อานันท์กาญจนพันธุ์ และคณะ, 2547