แถลงการณ์ เรียกร้องสภาทนายความแสดงบทบาทในการพิทักษ์ความเป็นอิสระแห่งวิชาชีพ

แถลงการณ์ เรียกร้องสภาทนายความแสดงบทบาทในการพิทักษ์ความเป็นอิสระแห่งวิชาชีพ

แถลงการณ์ เนื่องในวันทนายความ
สภาทนายความต้องแสดงบทบาทอย่างเข็มแข็งในการพิทักษ์ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของทนายความ รวมทั้งร่วมปกป้องหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน


ภายหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา พบว่ามีการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีความพิเศษผิดไปจากระบบปกติเพื่อจัดการกับผู้เคลื่อนไหวที่เห็นต่างจากคณะรัฐประหาร หรือจัดการกับชาวบ้านหรือบุคคลที่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วม เรียกร้องและตรวจสอบรัฐ โดยมีการเลือกใช้กฎหมายหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร อาทิ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ หรืออื่นๆ เพื่อจัดการกับประชาชนที่ไม่ยอมเชื่อฟัง และที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการให้ความเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้การบังคับใช้กฏหมายค่อนข้างเป็นไปโดยอำเภอใจและไร้เหตุผลที่ถูกต้อง ดังเราจะเห็นการเรียกคนเข้าค่ายทหารหรือสถานีตำรวจโดยปราศจากความผิด การตั้งข้อหาแปลกประหลาดพิศดารเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

ร้ายกว่านั้น การปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีทนายความอย่างน้อย 2 รายเท่าที่เรามีข้อมูล ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี คือ กรณีทนายเบญจรัตน์ มีเทียน ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อตอบโต้กลับจากการที่เธอได้รับมอบอำนาจจากลูกความซึ่งตกเป็นจำเลยในกรณี “ขอนแก่นโมเดล” ให้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารเหล่านั้ และกรณีทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความให้กับนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ที่ถูกข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งเธอถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าจะทำการตรวจค้นหาหลักฐานของ 14 นักศึกษาจากรถยนต์ของเธอ เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 27 มิถุนายน 2558 แต่เธอและทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ยอม เพราะการใช้อำนาจตรวจค้นไม่ชอบด้วยกฏหมาย และเธอได้เข้าแจ้งความฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 3 คดี ได้แก่ 1) คดีข้อหากระทำความผิดฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา 2) คดีข้อหาแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 และมาตรา 174 ประมวลกฎหมายอาญา และ3) คดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ทนายความมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม (the right to access to justice) และการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (the right to a fair trial) อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) การปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในการปกป้องรักษาประโยชน์ของลูกความตามหลักวิชาชีพ จึงต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ เพื่อประกันว่าสิทธิของประชาชนจะได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม โดยทนายความจะต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้อย่างเป็นอิสระและปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง การแทรกแซงที่ไม่ชอบธรรม และการเผชิญกับการถูกดำเนินคดีหรือจากการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาชีพตามมาตรฐานและจริยธรรมที่ได้รับการรับรองไว้

ดังนั้น เนื่องในวันทนายความนี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยนักกฏหมายและทนายความจำนวนหนึ่ง จึงขอเรียกร้องให้สภาทนายความ ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการประกอบวิชาชีพทนายความและผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความ ได้แสดงจุดยืนอย่างเข็มแข็งเพื่อพิทักษ์ความเป็นอิสระในการประกอบวิชาชีพ ว่าไม่เห็นด้วยต่อการกระทำใดๆ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมในการแทรกแซง ขัดขวางหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ทั้งนี้ เพื่อให้สิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมและการดำเนินคดีที่เป็นธรรมอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ถูกรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองเป็นผลขึ้นจริง

นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบกฎหมายของประเทศ ทั้งการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายเป็นไปในทางที่ไม่สอดคล้องกับหลักการนิติรัฐ/นิติธรรมและสิทธิมนุษยชน และค่อนข้างเป็นไปโดยอำเภอใจและสนับสนุนการใช้อำนาจที่ไร้ขอบเขตและขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ด้วยเหตุนี้ เราจึงคาดหวังอย่างยิ่งว่าเพื่อนนักกฎหมาย ทนายความ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกฏหมายเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน น่าจะมีบทบาทหรือแสดงท่าทีในการปฏิเสธกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ถูกต้อง เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ/นิติธรรมและสิทธิมนุษยชน อันจะส่งผลต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาตามมาในภายหน้า 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)