เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2559 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) ได้จัดเสวนาวิชาการ “เสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยภายในงานเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและหลายหน่วยงานที่ส่งตัวแทนเข้ารับฟังเป็นอย่างมาก
นำเสนอการเสวนาโดยผู้ดำเนินรายการ คุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กล่าวถึงความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนจำนวนมากที่มีต่อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในขณะนี้ รวมถึงข้อแตกต่างระหว่างฉบับเดิมและฉบับแก้ไขที่จะทำให้ดีขึ้น แย่ลงหรือกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างไร
ทางด้าน พ.ต.อ.ดร.นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ ผู้กำกับสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. คอมฯ ไว้ว่า “เป็นกฎหมายใหม่ ยังไม่มีฎีกาให้ทางพนักงานสอบสวนได้ใช้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ ที่สำคัญคือยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะบอกได้ถึงความถูกต้องชัดเจนในเรื่องของการปฏิบัติงาน ฉะนั้นพนักงานสวบสวนจึงจะต้องใช้ดุลพินิจหลายๆอย่างประกอบรวมทั้งดุลพินิจของพนักงานสอบสวนเองในการทำงาน ประสบการณ์จากการทำงานหลายๆภาคส่วนมาประกอบในการรับเรื่องร้องเรียน โดยแบ่งเป็นหลายๆส่วน อาทิ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ เป็นต้น โดยจะไม่มีการแบ่งพื้นที่กันสามารถรับเรื่องร้องทุกข์ได้ทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้พนักงานสอบสวนจะต้องมีการพิจารณาถึงลักษณะในการกระทำความผิด พฤติการณ์ในการกระทำความผิดเสียก่อน หากมีผู้กระทำความผิดตามพรบ.นี้ พนักงานสอบสวนต้องใช้ดุลพินิจในหลักฐานและพยานตามข้อเท็จจริง พร้อมย้ำว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นปลายเหตุ ดังนั้นประชาชนที่ใช้โลกโซเชียลจะต้องอย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ พร้อมยืนยันหากมีการร้องทุกข์จริง ตำรวจปอท. พร้องผดุงความยุติธรรมในหลักฐานและพยานตามข้อเท็จจริง”
คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อธิบายว่า กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้พอสมควร เพราะบางส่วนคิดว่าตัวกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชนมาก โดยเฉพาะมาตรา 14(1)ประเด็นเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท เพราะอาจถูกตีความ ขยายผล เนื่องจากแต่ละมาตรามีขอบเขตของกฎหมายที่ไม่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 14 จึงมักจะถูกนำไปโยงกับความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกม.อาญามาตรา326และมาตรา328 เช่นเดียวกับคดีของ สำนักข่าวภูเก็ตหวานที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทตามกม.อาญาประกอบกับความผิดตามพ.ร.บ.คอมฯมาตรา14 จะเห็นว่าในคดีนี้ศาลได้ตัดสินในเรื่องของเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ขัดแย้งกัน สอดคล้องกับความพยายามในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้และเป็นเหตุผลที่คณะกรรมการการกฤษฎีกาตัดสินใจในการแก้ไขมาตรา14นี้ ขณะเดียวกันเรื่องคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ซึ่ง รมว.ไอซีที เป็นคนตั้งไปเปรียบเทียบปรับความผิดเกี่ยวกับการแฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนหลายคนไม่สบายใจเพราะให้อำนาจรัฐมากเกินไป แต่อีกฝั่งก็คิดว่าดีเหมือนกัน เพราะหากดูในเจตนารมณ์คณะกรรมการการกฤษฎีกาเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบจะใช้ได้ผลดีและลดภาระงานของตำรวจแต่หลายคนเห็นว่าเรื่องนี้จะมีความเป็นอาญาในตัวทันที เพราะผู้มีอำนาจมีสิทธิในการปรับได้ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันในชั้นต่อไป พร้อมแจ้งถึงความคืบหน้าของการยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคณะกรรมาธิการกำลังพิจารณาเป็นรายมาตรา ปัจจุบันถึงมาตรา 17 ของร่าง พ.ร.บ. แล้ว ระหว่างนี้กรรมาธิการเริ่มมีการกำชับในการบังคับใช้กฎหมาย โดยสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 14(1) ผลกระทบของมาตรานี้สอดคล้องกับการปลอมแปลงเอกสารมากกว่าการหมิ่นประมาท ขณะนี้ทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพยายามดำเนินการและทบทวนกฎหมาย พร้อมเห็นด้วยหากมีการจัดเวทีเสวนาแต่อย่าเกินกรอบของกฎหมาย และเสียงสะท้อนเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการพิจารณา ก่อนที่การพิจารณาจะแล้วเสร็จในอีก 2 เดือนนี้
อาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงเสรีภาพบนฐานของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ถือเป็นอีกอำนาจหนึ่งของทุกรัฐบาลที่นำมาใช้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นเว็บไซต์ ซึ่งเป็นคำร้องฝ่ายเดียวของเจ้าพนักงานรัฐ และอีกหลายๆมาตราที่นำมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมาตรา 14(1) ซึ่งหากวิเคราะห์ในรายมาตรา ก็เขียนเอาไว้เป็นลักษณะของการให้สิทธิการฟ้องร้องที่ผู้ฟ้องมุ่งประสงค์ให้ปิดปากหรือที่เรียกว่า SLAPP (Strategic lawsuit against public participation) ทั้งปิดปากสื่อมวลชน หรือกลุ่มคนที่จะสืบสวนหาความจริงในเรื่องสาธารณะ ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใดๆเช่นที่เกิดขึ้นกับการตรวจสอบกองทัพเรือของสำนักข่าวภูเก็ตหวานที่ผ่านมา ทั้งนี้อาจารย์สาวตรีได้นำเสนอปัญหาที่เกิดจากพรบ.คอมฯ ว่าที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไร และมีการแก้ไขมาแล้วอย่างไรบ้าง โดยนำเสนอทั้งหมด 5 ประเด็นคือ
1.) มาตรา 14 (1) อยู่ในหมวดการเผยแพร่เนื้อหา ไม่ใช่การฉ้อโกงหลอกลวง ซึ่งเป็นนิยามที่แท้จริงของกฎหมายที่ต้องการอุดช่องว่างการปลอมแปลงเอกสารหรือทำข้อมูลเท็จ ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการเอาผิดเรื่องหมิ่นประมาทหรือใส่ความผู้อื่น ทำให้ดุลพินิจการตีความของเจ้าหน้าที่อาจจะมีปัญหาได้ ทางแก้ที่ดีที่จะทำให้ไม่สามารถตีความในเรื่องหมิ่นประมาทได้คือควรแยกมาตรา 14 ออกมา และให้ใช้ควบคู่กับความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 เพื่อให้เกิดความชัดเจน
2.) เสนอให้ตัดมาตรา 14(2)ออกไป เพราะ มาตรา 14(3) ครอบคลุมและมีการเชื่อมโยงในเรื่องของการกระทำความผิดที่ขัดต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะฉะนั้นจะไม่มีความคลุมเครือ แต่(2) มีข้อแตกต่างคือปล่อยให้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานว่าอะไรคือการขัดต่อความมั่นคง ทำให้ไม่มีความชัดเจน ไม่เชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญา
3.) มาตรา 15 เป็นเรื่องของการเอาผิดกับสื่อหรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ในวรรคสองกำหนดให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดเรื่องการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลาย ซึ่งหมายรวมถึงการปิดเว็บไซด์ด้วยไม่ใช่เพียงการถอดข้อความออก ซึ่งมีการใช้คำที่เหมือนกันกับมาตรา 20 ที่เป็นเรื่องปิดเว็บไซต์แบบมีขั้นตอน นั่นหมายความว่าต่อไปอาจมีการเลี่ยงที่จะไม่ใช้อำนาจศาลตามมาตรา 20 ดังนั้นการนำเสนอหรือการแจ้งให้มีการปลดออกควรจำกัดขอบเขต เช่นควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในกรณีที่แจ้งไปแล้วให้ปลดออก ไม่ใช่แจ้งไปแล้วอาจมีการระงับการเผยแพร่ได้เลย
4.) มาตรา 16/2 เรื่องกำหนดให้ผู้มีข้อมูลไว้ในครอบครองเป็นความผิด ซึ่งข้อมูลบางอย่างเป็นความผิด โดยที่ไม่ต้องนำข้อมูลออกเผยแพร่ ซึ่งตามมาตรานี้อะไรคือความร้ายแรงถึงขั้นที่การครอบครองจะต้องเป็นความผิดด้วย ปัจจุบันการครอบครองข้อมูลที่เป็นความผิดมีเรื่องเดียวคือ ภาพลามกเด็ก แต่มาตรานี้จะเพิ่มให้การครอบครองข้อมูล อาทิภาพตัดต่อ ภาพล้อเลียนแค่มีในครอบครองไม่ได้เผยแพร่ก็เป็นความผิดได้
5.) เสนอให้ตัดมาตรา 20(4)ออก เพราะเป็นการกำหนดให้กรณีที่แม้ไม่ผิด แต่ไม่เหมาะสม ขัดต่อความสงบ ก็ปิดกั้นได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนในเรื่องของการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากมองในภาพกว้างของหลักการของ พ.ร.บ คอมฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพจะเห็นว่าทั้งมาตรา 14 และมาตรา 20 กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คำถามคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นจำเป็นหรือไม่อย่างไร โดยหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นมีอยู่ 2 ทางคือ
1.) ฝ่ายผู้พูดหรือSpeakerต้องการที่จะแสดงความคิดเห็นหรือข้อมูลอะไรออกไป
2.) ฝั่งผู้รับฟัง สามารถที่จะรับรู้และนำข้อมูลข่าวสารหรือความคิดของผู้อื่นมาประมวลคิดวิเคราะห์พิจารณา และตัดสินว่าตนจะทำอย่างไรต่อไป ในมาตรา 14 และ 20 มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในส่วนของผู้พูดโดยการ censor ทำให้ผู้พูดไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข่าวสารออกไปได้ ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ฟังว่าไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ ไม่สามารถที่จะนำมาปรับใช้หรือคิดวิเคราะห์พิจารณาได้ ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของสื่อเพียงเท่านั้นแต่ยังหมายถึงทุกคนที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย ทั้งนี้ขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องยอมรับว่าไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง นั่นหมายถึงสามารถที่จะถูกกฎหมายมาจำกัดได้ แต่กฎหมายที่จะมาจำกัดได้นั้นจะต้องมีเหตุผลอันชอบธรรมเพียงพอ กล่าวคือเสรีภาพการแสดงความเห็นนั้นหากไปก่ออันตรายต่อคนอื่นก็ต้องจำกัดมันเอาไว้ เพราะมันไปก่อความเสียหายกับบุคคลอื่นๆ และต่อสาธารณะ
“บางอย่างให้เสรีภาพเกินไปอาจสร้างปัญหาใหญ่หลวงตามมา แต่บางอย่างก็ไม่ควรปิดกั้นความเห็นของประชาชนเช่นกัน”
คุณจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่าเรามักมีความเข้าใจว่าสื่ออินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่ไม่มีการควบคุมมีอิสรเสรีภาพ และเปิดกว้าง จะเห็นว่าในทางสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีนั้นใช่ แต่ในทางปฎิบัติแล้วนั้นสื่ออินเตอร์เน็ตในประเทศไทยถูกควบคุมโดยรัฐและเป็นการควบคุมผ่านพ.ร.บ. คอมฯ โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ตที่มักจะถูกจำกัดในการแสดงความคิดเห็นในการนำเสนอข่าวสาร
นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์ จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ได้แสดงความคิดเห็นว่า พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐และร่างฉบับแก้ไขที่อยู่ในการพิจารณาของสนช. ถือว่าเป็นกฎหมายที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ระบุว่าเว็บไซต์ใดที่มีข้อมูลผิดตามมาตรา 14 ก็จะมีความผิดตามมาตรา 16/2 ไปด้วย อย่างไรก็ตาม ที่เห็นปัญหาคือ มาตรา 14 (2) คณะกรรมาธิการกฤษฎีกาที่เขียนกฎหมาย มีความตั้งใจไม่ให้การนำเข้าข้อมูลเท็จหรือไม่ดีเข้าสู่ระบบ และผลทำให้ระบบสาธารณูปโภคของประเทศเสียหายจะต้องเป็นความผิดร้ายแรง แต่เมื่อมาดูในตัวบทกฎหมายแล้วมันไม่ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจอีก หากจะให้เป็นเรื่องกระทบโครงสร้างพื้นฐานจริงๆ อาจจะใช้ตัวแบบกฎหมายของต่างประเทศที่พูดถึงเรื่องระบบการควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐมาประยุกต์ใช้ก็น่าจะเป็นไปได้ และสร้างความชัดเจนไปว่าสิ่งใดผิดเพราะอะไร เช่น
– กรณีประเทศอังกฤษ ที่ให้ความสำคัญต่อเสรีภาพทางการเมืองมาก อย่างไรก็ตามหากการแสดงความคิดเห็นไปกระทบต่อรัฐ แต่เป็นประโยชน์สาธารณะ หากเกิดการฟ้องร้องขึ้น ศาลก็จะยกฟ้อง หรือสามารถที่จะไปฟ้องศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้
– แต่ละประเทศให้ความสำคัญในเรื่องของการหมิ่นประมาท แต่จะให้ความสำคัญในระดับที่ต่างกัน ในกรณีของการปิดกั้นก็จะระบุไว้ชัดเจน ต่างจากไทยที่เขียนไว้คลุมเครือ ซึ่งการปิดกั้นนั้นทำได้แต่จะต้องอธิบายให้สังคมทราบด้วยว่าอะไรคือเหตุผลที่เข้าใจได้
– เช่นกันกับเยอรมนีที่มีการปิดกั้นในหลายครั้ง แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อรัฐมีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐแล้ว ประชาชนสามารถฟ้องได้ และเมื่อรัฐมีการปิดกั้นแล้วรัฐก็จะฟ้องด้วยเช่นกันเพื่อพิสูจน์ว่าเนื้อหานั้นผิดจริงหรือไม่ เมื่อมีการพิสูจน์แล้ว รัฐก็จะเลิกปิดกั้นและเยียวยา ทำให้การปิดกั้นเว็ปไซต์ไม่เกิดขึ้นบ่อยเกินไป
แสดงให้เห็นว่าการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐนั้นจะต้องมีความชัดเจน และเมื่อได้ปิดแล้วต้องมีความรับผิดชอบ แต่ปัจจุบันนั้นในประเทศไทยรัฐปิดกั้นได้ในทันที โดยไม่มีมาตรการในการเยียวยา ดังนั้นควรที่จะมีการแก้ไขในส่วนนี้ เช่นต้องเปิดช่องในการอุทธรณ์ และการเยียวยาด้วย ขณะที่มาตรา 15 และมาตรา 20 ที่คนสนใจอย่างมาก คือ ให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศเพิ่มเติมได้ในการระงับข้อมูล ลบข้อมูล จะมีข้อน่ากังวลอยู่ เพราะใครคือคณะกรรมการ ใครคือเจ้าหน้าที่ ตรงนี้ไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังมีโอกาสเหมือนกันในการออกประกาศเพิ่มเติม และจะทำให้อำนาจของกฎหมายขยายออกไปมากขึ้นอีกจากกฎหมายหลักที่ให้อำนาจเอาไว้ จึงเสนอให้ประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นและจำเป็นต้องมีมาตรการในการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถยื่นอุทธรณ์และฟ้องร้องได้