ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความด้านสิทธิฯ ผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความถึง 3 คดีสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความด้านสิทธิฯ ผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความถึง 3 คดีสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ

ภายหลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากจะมีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีความพิเศษผิดไปจากระบบปกติแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ตกอยู่ในสภาวะยากลำบากด้วยเช่นกัน  การแจ้งความดำเนินคดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คือหนึ่งในทนายความที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่

ศิริกาญจน์ ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าจะทำการตรวจค้นหาหลักฐานของ 14 นักศึกษาจากรถยนต์ของเธอ เมื่อช่วงกลางดึกวันนี้ 27 มิถุนายน 2558 แต่เธอและทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ยินยอม เนื่องจากการตรวจค้นวัตถุพยานตามกฎหมายจะต้องกระทำในที่เกิดเหตุ หรือต้องมีหมายศาล และเธอได้เข้าแจ้งความฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นี้จึงเป็นเหตุให้ต่อมาเธอถูกดำเนินคดี โดยปัจจุบัน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 3 คดี ได้แก่

คดีที่ 1 พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหากระทำความผิดฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา จากการที่ .ศิริกาญจน์ทำหน้าที่ทนายความปกป้องสิทธิของลูกความโดยการไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นรถของตนโดยไม่มีหมายค้นเพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาทั้ง 14 คน ซึ่งฝากทีมทนายความไว้ก่อนเข้าเรือนจำในคืนวันที่ 26 มิ.ย. 2558 คดีนี้มีนัดฟังคำสั่งอัยการว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตหรือไม่ในวันที่ 17 ม.ค. 2560 ซึ่นี้เป็นการเลื่อนรอบที่ 4 แล้ว

คดีที่ 2 เกิดจากกรณีภายหลังถูกยึดรถไว้ข้ามคืน ศิริกาญจน์ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดชและพวกเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาในการยึดรถไว้ ตำรวจจึงแจ้งความกลับว่าศิริกาญจน์แจ้งความเท็จตามมาตรา 172 และมาตรา 174 ประมวลกฎหมายอาญา คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน

และล่าสุดคดีที่ 3 ปลายเดือนกันยายน  ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ถูกหมายเรียกและถูกพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์แจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่าเหตุจากเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2558 มีการชุมนุมของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และมีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายรังสิมันต์ โรม และพวก จากการกระทำดังกล่าวในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยั่วยุปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12  คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งเป็นฐานความผิดที่อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารตามประกาศฉบับที่ 37/2557 และเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ก่อนมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 55/2559 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร  ทำให้คดีนี้หากมีการส่งฟ้องแล้วจะอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหาร

ทนายความมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม (the right to access to justice) และการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (the right to a fair trial) อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR)

การปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในการปกป้องรักษาประโยชน์ของลูกความตามหลักวิชาชีพ จึงต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ เพื่อประกันว่าสิทธิของประชาชนจะได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม โดยทนายความจะต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้อย่างเป็นอิสระและปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง การแทรกแซงที่ไม่ชอบธรรม และการเผชิญกับการถูกดำเนินคดีหรือจากการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาชีพตามมาตรฐานและจริยธรรมที่ได้รับการรับรองไว้ ซึ่งในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 11 และข้อ 12 ก็บัญญัติให้การคุ้มครองความเป็นอิสระดังกล่าวไว้ด้วย

 

ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน