หลังจากศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาจากวันที่ 29 มีนาคม 2561 วันนี้ (19 เมษายน 2561) ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง และศาลจังหวัดระนองก็ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่ชาวเมียนมาร์ 4 คน ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่านางสาวอรวี สำเภาทอง หรือน้องแอปเปิ้ล อายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรีระนอง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 เหตุเกิดในซอยสำนักสงฆ์สะพานปลา ข้างโรงเจ หมู่ที่ 5 ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
แรงงานชาวเมียนมาร์ทั้ง 4 คน ถูกแยกฟ้องคดีอาญาเป็น 2 ศาล เนื่องจากมีจำเลย 2 คนมีฐานะเป็นเยาวชนอยู่ โดยแบ่งเป็นคดีศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง คดีหมายเลขดำที่ 7/2559 จำเลยคือ นายโมซินอ่าว และนายจอโซวิน และคดีศาลจังหวัดระนอง คดีหมายเลขดำที่ 115/2559 จำเลยคือนายเมาเซ้น หรือเซกะดอ และนายซอเล
คดีของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระนอง ศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายโมซินอ่าวข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เป็นเวลา 4 ปี พร้อมชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 810,000 บาท และจำคุกนายจอโซวิน ข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตายเป็นเวลา 2 ปี ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 270,000 บาท
ส่วนคดีของศาลจังหวัดระนอง ศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายเมาเซ้น หรือเซกะดอ และนายซอเล คนละ 6 ปี ในข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนแก่ความตาย พร้อมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง 570,000 บาท ส่วนนายเมาเซ้น เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลพิจารณาเห็นว่าไม่หลาบจำจึงเพิ่มโทษจำคุกอีก 2 ปี เป็นต้องจำคุกเป็นเวลา 8 ปี
ทนายความฝ่ายจำเลยท่านหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย โดยฟังจากคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นหลัก เพราะศาลเชื่อว่าเป็นการรับสารภาพโดยสมัครใจ โดยดูได้จากเนื้อหาในคำให้การที่ปรากฏเรื่องส่วนตัว แสดงให้เห็นถึงความไว้ใจ ประกอบกับในวีดีโอที่ตำรวจบันทึกไว้ขณะให้การรับสารภาพก็ดูจำเลยมีท่าทีสมัครใจ ส่วนประเด็นเรื่องที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่ามีการทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพนั้น ศาลไม่ได้หยิบขึ้นมาพิจารณา
หลังจากฟังคำพิพากษา ทนายความกล่างว่าเคารพคำพิพากษา แต่ยังมีประเด็นที่ติดใจอีกหลายประเด็น ไม่ว่าเรื่อง DNA ของจำเลยที่ตรวจไม่พบในเล็บของผู้ตายและไม้ไผ่ที่อ้างว่าจำเลยใช้ตี ประเด็นเรื่องบาดแผลที่ไม่ตรงกับขนาดของมีด รวมถึงประเด็นเรื่องที่มีพยานพบเห็นจำเลยคนหนึ่งที่แพในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ที่ศาลไม่ได้หยิบมาพิจารณา ซึ่งจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อไป
คดีนี้จำเลยให้ข้อมูลแก่ทนายความและองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือว่าถูกซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ปรากฎร่องรอยการถูกทำร้ายให้เห็นตามร่างกาย ซึ่งถูกบันทึกไว้ในเอกสารของแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรวจร่างกายโดยละเอียด
นอกจากร่องรอยการถูกทรมานหรือทำร้ายร่างกายที่ปรากฏแล้ว พยานหลักฐานอื่นของฝ่ายโจทก์ก็ถือว่ายังขาดน้ำหนักอยู่ กล่าวคือ ผลการตรวจสารพันธุกรรมที่ติดอยู่ในเล็บมือของผู้ตายอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ความผิดของจำเลย ผลออกมากลับพบว่าไม่ใช่ของจำเลยทั้งสี่ และข้อมูลจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนได้มาทั้งหมดได้ถูกจัดส่งให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยฝ่ายจำเลยได้ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจส่งข้อมูลกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมต่อศาลเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ทำให้เจ้าพนักงานตำรวจก็ต้องส่งข้อมูลกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมต่อศาล ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวก็ได้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของนายโมซินอ่าวกับความจริงที่ปรากฏในข้อมูลจากกล้องวงจรปิดด้วย
ประเด็นดังกล่าว นำไปสู่คำถามที่สำคัญต่อไปว่า กรณีที่คดีไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ยืนยันการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเท่านั้น ศาลจะอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยลงโทษจำเลยได้หรือไม่เพียงใด โดยเฉพาะหากยังมีข้อโต้แย้งและมีหลักฐานตามสมควรว่าคำให้การรับสารภาพดังกล่าวเกิดจากการถูกทำร้าย
สุดท้ายแล้ว เราหวังเห็นผู้เสียหายได้รับความยุติธรรมและการเยียวยา เราหวังว่าการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถวินิจฉัยข้อโต้แย้งจนครบทุกประเด็นได้อย่างสิ้นสงสัย และสามารถนำผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้
หมายเหตุ*** คดีนี้ เป็นการร่วมกันให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจากองค์กร ได้แก่ สภาทนายความแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation-HRDF) มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation for Education and Development-FED) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Center – MAC) ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี (DISAC) และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) เพื่อให้จำเลยในคดีซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงความยุติธรรมและรณรงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ถูกจับด้วยเหตุความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการห้ามใช้วิธีซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพซึ่งเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง