ว่าด้วยเรื่องการแต่งกายของทนายความหญิง

ว่าด้วยเรื่องการแต่งกายของทนายความหญิง

ทนายคอรีเยาะ  มานุแช   แบ่งปันมุมมองเรื่องการแต่งกายของทนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ข้อที่ 20

ข้อบังคับเรื่องมรรยาททนายความ กำหนดขึ้นเพื่อความเป็นมืออาชีพของการประกอบวิชาชีพทนายความ ให้ได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ  เป็นสิ่งที่ดีและน่าชื่นชมที่สภาวิชาชีพของทนายความมีมาตรฐานในเรื่องกฎกติกามรรยาทของการปฏิบัติวิชาชีพทนายความ  แต่กฎกติกามารยาทบางอย่างก็ต้องปรับตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม  อาทิ เช่นข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมารยาททนายความ ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 หากเทียบกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ข้อบังคับฉบับนี้ก็ถือได้ว่ามีการใช้งานและมีอายุพอสมควร จะต้องถึงคราวชำระทบทวนให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน

ข้อบังคับที่เห็นว่าควรจะต้องมีการทบทวนตอนนี้เป็นเพียงเรื่องปกติวิสัย ที่ไม่ได้สุ่มเสี่ยงต่อกฎระเบียบสากลหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรืออื่นใดที่จะทำให้การประกอบวิชาชีพทนายความต้องมัวหมอง นั้นก็คือ ข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของทนายความผู้หญิง ซึ่งข้อบังคับฯ “ข้อที่ 20  (2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น” และจากข้อบังคับข้อนี้นี่เองทำให้ดิฉันถูกศาล    ติติงไป 2 ครั้ง  เพราะดิฉันเป็นทนายความหญิงที่สวมกางเกงและสูทสากลขึ้นว่าความตลอด เคยชี้แจงกับศาลเหมือนกันว่า สวมกางเกงมันคล่องตัวมากกว่า และการสวมกางเกงก็ไม่ได้รบกวนกระบวนการพิจารณา ศาลท่านก็เข้าใจแต่ด้วยทนายความมีข้อบังคับที่ระบุเรื่องการแต่งการของทนายความผู้หญิงไว้ชัดเจนท่านก็เห็นว่าทนายความก็ควรปฏิบัติตามนั้น  ดิฉันได้แต่รับว่า “ค่ะ” ด้วยถูกกฎหมายปิดปากด้วยประการฉะนั้น

ข้อบังคับว่าด้วยมารยาททนายความ  สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยที่สภาทนายความยังคงความเป็นองค์กรวิชาชีพที่ทรงเกียรติได้   ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของทนายหญิง โดยสามารถที่จะแก้ไขให้ทนายความหญิง สวมกระโปรงหรือกางเกงตามแบบสากลนิยมหรือในอนาคตอาจจะมีเครื่องแต่งกายที่ไม่อยู่ในนิยามของกางเกงหรือกระโปรงได้   การแต่งกายเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์ทุกคนที่จะเสรีภาพในการเลือกด้วยตนเองว่าจะสวมกางเกงหรือกระโปรงหรืออื่นใดก็ได้ แต่แน่นอนว่าในขณะปฏิบัติหน้าที่ทนายความในห้องพิจารณาก็ต้องคำนึงถึงความสุภาพเรียบร้อยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพึงปฏิบัติ

คำถามคือ กางเกง เป็นเครื่องแต่งกายที่ไม่สุภาพเรียบร้อยหรือไม่ ก็อาจจะต้องพิจารณากันเป็นรายประเภทของกางเกงพอสมควร เช่น ทนายความสวมกางเกงยีนส์ขึ้นว่าความ  วิญญูชนทั่วไปก็คงตอบได้ว่าไม่สุภาพ ถ้ากางเกงสเเลคหรือกางเกงที่คล้ายคลึงกับทนายความผู้ชายสวมกันละสุภาพหรือไม่  ก็สุภาพใช่หรือไม่ ? ทนายความชายก็สวมกางเกงสเเลคมาตั้งแต่สภาทนายออกใบอนุญาตว่าความครั้งแรกแล้วกระมัง  ถ้าเช่นนั้นกางเกงแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันเพศหนึ่งสวมได้ สุภาพ แต่ทนายความอีกเพศหนึ่งสวมไม่ได้ ไม่สุภาพ หมายความว่าอย่างไร ? เครื่องแต่งกายเป็นเครื่องมือการกีดกันทางเพศไปหรืออย่างไร  ทนายความหญิงที่พอใจจะแต่งกายด้วยกระโปรงตามข้อบังคับก็สวมไป  ทนายความหญิงที่พอใจจะสวมกางเกงหรืออื่นใดอันสื่อถึงความสุภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น โสร่งพื้นเมืองหรือโสร่งท้องถิ่น ก็ควรทำได้เช่นกัน เรื่องการแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นนี้ชายหญิงก็ควรสวมได้เช่นกัน  ลองจินตนาการภาพทนายความชายมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สวมโสร่งเสื้อโต๊ป (เสื้อแขนยาว ชายเสื้อยาวคลุมถึงประมาณเข่าหรือเลยเข่า คอจีน) แล้วสวมครุย ก็เก๋ดีนะ ชุดแบบนี้สุภาพตามวัฒนธรรมของสามจังหวัดชายแดนใต้ สุภาพบุรุษจะสวมชุดลักษณะนี้ไปละหมาดที่มัสยิด ไปร่วมพิธีการสำคัญและถือเป็นชุดสุภาพในทุกวาระโอกาสก็ควรจะสวมขึ้นว่าความได้

ดิฉันไม่สามารถวิเคราะห์หรือสืบค้นข้อมูลที่จะสามารถยกมาสนับสนุนความเห็นเรื่องการแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยเรื่องการแต่งกายของทนายความหญิงได้ ไม่รู้ว่าผู้หญิงถูกกำหนดมาโดยใครหรือตั้งแต่เมื่อไรว่าต้องสวมกระโปรงจนมันกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นเพศหญิงไป  แต่โลกปัจจุบันเป็นที่เข้าใจโดยง่ายแล้วว่าสัญลักษณ์แสดงความเป็นเพศหญิงหรือเพศชายไม่ได้ถูกกำหนดด้วยกระโปรงหรือกางเกงอีกต่อไปแล้ว และข้อบังคับที่ดีควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย  ดังนั้น  เรามาก้าวข้ามเรื่องสัญลักษณ์ทางเพศด้วยการแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยมารยาททนายความที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมกระโปรงด้วยกันเถอะ

นางสาวคอรีเยาะ  มานุแช