การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นปรากฏการที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า จากการรวบรวมข้อมูลการร้องเรียนของคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2523 ถึงปี 2559 ระบุว่าประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 82 กรณี ทั้งหมดยังไม่ได้รับการแก้ไข
กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่เห็นต่างกับแนวทางพัฒนาของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง ชุมชน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง พวกเขาเหล่านี้ต้องเผชิญกับการข่มขู่ การคุกคามจากอำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง ทั้งการใช้กำลังทำร้าย การเข็นฆ่า การบังคับสูญหาย หรือแม้แต่ใช้กลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเล่นงาน
19 มิถุนายน 2534 คุณทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน ที่ต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ถูกทำให้หายไป
12 มีนาคม 2547 ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ ถูกชายฉกรรจน์อุ้มขึ้นรถและหายไป การต่อสู้คดีกว่า 12 ปีเพื่อพิสูจน์ความจริงและความยุติธรรม จบลงด้วยศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558
17 เมษายน 2557 บิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งบางกลอย ถูกทำให้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผ่านไป 3 ปีแล้ว การค้นหาความจริงยังไม่คืบหน้า กรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิเสธไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ
16 เมษายน 2559 พ่อเด่น คำแหล้ แกนนำการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินในชุมชนโคกยาว ได้หายไป หลังเดินทางไปเก็บหน่อไม้บริเวณสวนป่าโคกยาว ชาวบ้านครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสานและญาติของพ่อเด่นที่ได้ร่วมกันเดินเท้าค้นหานับเดือน จนพบสิ่งของมากมายที่อาจเชื่อมโยงไปสู่การหาย แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ตอบสะนองอะไรมามากนัก
นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบังคับสูญหายในประเทศไทย ยังมีอีกหลายคนที่สูญหายไปพร้อมกับความจริงและความยุติธรรม การบังคับให้บุคคลสูญหายถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักเข้าถึงความจริงและความยุติธรรม เพราะมีอำนาจของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง
ดังตัวอย่างที่เห็นชัด ในกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิเสธไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ หรือการละเลยไม่ใส่ใจในการสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกรณีของพ่อเด่น แสดงให้เห็นความยุติธรรมตามยะถากรรม ที่ผลักภาระให้แก่ครอบครัวของผู้สูญหายต้องดิ้นรนตามหาความจริงกันเอง สุดท้ายผู้กระทำความผิดก็ลอยนวลพ้นผิด ทำให้การบังคับสูญหายวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ข้อจำกัดทางกฎหมายและการขาดกลไกการค้นหาความจริงที่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระ และสนใจที่จะสืบสวนสอบสวนโดยทันที ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การค้นหาความจริงกรณีการบังคับสูญหายไม่ประสบความสำเร็จ
แม้ประเทศไทยจะได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 และกระทรวงยุติธรรม และภาคประชาสังคมได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ….” ขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อร่างพระราชบัญญัติถูกเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับส่งคืนร่างพระราชบัญญัติกลับมา โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ชัดเจน มีเพียงการให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีการรับฟังความเห็นที่รอบด้านตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
เนื่องในโอกาสครบรอบวันผู้สูญหายสากลนี้ ในนามของภาคประชาสังคม ที่ห่วงใยในชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย และเห็นว่ารัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างจริงจังและเร่งด่วนทั้งในเชิงป้องกันและการสืบสวนหาความจริง เพื่อคืนความยุติธรรมแก่เหยื่อและป้องกันการลอยนวลพ้นผิด จึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. สิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายเป็นสิทธิที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะองค์กรสอบสวนที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษและถูกคาดหวังให้สืบสวนสอบสวนในคดียุ่งยากซับซ้อน ต้องให้ความสำคัญ และดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เร่งด่วน และเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะในคดีการบังคับสูญหายที่มีการร้องขอ จนทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม
2. สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาเป็นสิทธิประการสำคัญ รัฐมีหน้าที่ต้องเยียวยาครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างเป็นธรรม เพียงพอ โดยทันทีและมีประสิทธิผล และนอกจากจะต้องมีการเยียวยาเป็นตัวเงินแล้ว ต้องมีการทำให้กลับคืนสภาพเดิม การบำบัดฟื้นฟู การคืนศักดิ์ศรีและชื่อเสียง รวมทั้งการประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก
3. รัฐต้องยกเลิกกฎหมายใดๆก็ตามที่เอื้อให้มีการควบคุมตัวบุคคลได้โดยอำเภอใจ ควบคุมเป็นระยะเวลานานและไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบังคับสูญหาย อาทิ กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงต่างๆ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
4. รัฐต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการบังคับสูญหาย รวมทั้งการค้นหาความจริงและเยียวยาเหยื่ออย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน และครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายดังกล่าว
ด้วยความระลึกถึงผู้สูญหาย และเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
สหพันเกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคตะวันตก
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove )
กลุ่มเพื่อนหญิงอำนาจเจริญ