เดินมิตรภาพ: ปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายจากเบื้องล่าง

เดินมิตรภาพ: ปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายจากเบื้องล่าง

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม คือ เป็นเรื่องความคิดความเชื่อ และวัตรปฏิบัติของคนในสังคมในปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ในแง่นี้กฎหมายไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้พิพากษา หรือฝ่ายนิติบัญญัติในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความคิดความเชื่อของคนในสังคมเกี่ยวกับกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายด้วย

วัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยม คือ ความคิดความเชื่อที่ว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำกับควบคุมประชาชน กฎหมายไม่ได้มีไว้เป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนแต่อย่างใด กลไกรัฐส่วนใหญ่มองกฎหมายในแง่นี้และพยายามสร้างความคิดความเชื่อเช่นนี้ให้กับสาธารณะผ่านปฏิบัติการต่างๆ การใช้การตีความกฎหมายเช่นนี้มีประสิทธิภาพมากในรัฐอำนาจนิยมที่พื้นที่สำหรับการต่อสู้ โต้แย้งการเผยแพร่ความคิดดังกล่าวถูกจำกัด เช่น ประเทศจีน ประเทศลาว เป็นต้น

วัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตย คือ ความคิดความเชื่อที่ว่ากฎหมายเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน ที่ให้อำนาจรัฐบางเรื่องและในขณะเดียวกันก็จำกัดอำนาจรัฐไว้ด้วยกฎหมายนั้นเอง นอกจากเป็นข้อจำกัดของอำนาจรัฐแล้วกฎหมายยังเป็นเครื่องมือปกป้องประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐด้วย ในแง่นี้กฎหมายจึงเป็นเสมือนกลไกที่สังคมใช้ในการควบคุมรัฐไม่ให้กลายเป็นโจร วัฒนธรรมทางกฎหมายเช่นนี้มักงอกงามในรัฐเสรีประชาธิปไตย เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐมีแนวโน้มที่จะพยายามสลัดตัวเองจากการควบคุมของสังคม เพื่อให้สามารถใช้อำนาจได้ตามที่พวกเขาต้องการ ดังอมตะวาจาของ ลอร์ด แอคตันที่ว่า “อำนาจทำให้คนลุแก่อำนาจ อำนาจที่สมบูรณ์ทำให้คนลุแก่อำนาจอย่างสมบูรณ์” เมื่อกฎหมายถูกใช้ถูกตีความจากรัฐ จึงมีแนวโน้มที่มันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมประชาชน ยิ่งกว่าส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชนและควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ

ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารพยายามสกัดกั้นกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ด้วยการใช้การตีความพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ประกอบกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ในวันที่ 20 ม.ค. ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 22 ม.ค. 2561 เป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทหารในการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การพยายามสกัดกั้นและคุกคามการใช้เสรีภาพดังกล่าวรัฐบาลทหารกำลังพยายามสื่อสารต่อสังคมไทยว่า “กฎหมายมีเนื้อหาสาระอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความเห็นว่ากฎหมายมีความหมายอย่างไร” ซึ่งในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่รัฐมีความเห็นว่ากฎหมายทั้งสองฉบับไม่อนุญาตให้ประชาชนจัดกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ได้ ในแง่นี้กฎหมายถูกอ้างเป็นฐานในการปิดกั้นและกดขี่การใช้เสรีภาพของประชาชน หากยอมรับวัฒนธรรมทางกฎหมายเช่นนี้ย่อมหมายความว่าสังคมไทยยอมรับการปกครองแบบอำนาจนิยมไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐราชการจะพยายามผูกขาดการใช้การตีความกฎหมายเพื่อกดขี่และปิดกั้นการใช้เสรีภาพเพียงใดก็ไม่อาจทำได้โดยปราศจากการต่อต้าน ขัดขืนจากประชาชน เพราะในอีกด้านหนึ่งภาคประชาชนไทยก็พยายามที่จะควบคุมรัฐผ่านกฎหมายเช่นกัน การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่พยายามสถาปนาสิทธิ อ้างอิงถึงสิทธิตามกฎหมาย เรียกร้องให้รัฐเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติต่างๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ ในปี 2475 นั้น อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการพยายามทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นจริงในทางปฏิบัติ เพราะในทางความเป็นจริงแม้การรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ในกฎหมายจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการทำให้สิทธิดังกล่าวได้รับการปกป้องคุ้มครองในความเป็นจริง การที่ประชาชนพยายามใช้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะความสัมพันธ์ของพวกเขากับรัฐ จากที่เคยเป็นเพียงผู้ถูกรัฐใช้กฎหมายกระทำฝ่ายเดียวมาตลอด มาเป็นผู้กระทำการทางกฎหมายและพยายามใช้กฎหมายควบคุมรัฐ เป็นการพยายามสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักเสรีนิยมประชาธิปไตย เป็นการพยายามสื่อสารต่อสังคมว่า “เจ้าหน้าที่รัฐเป็นเพียงผู้รับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นนายเหนือกฎหมายและเหนือประชาชน ประชาชนสามารถใช้กฎหมายจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้ กฎหมายจะไม่ถูกผูกขาดการใช้โดยรัฐอีกต่อไปแต่มันจะเป็นเครื่องมือของสังคมในการควบคุมรัฐด้วย”

การที่ภาคประชาชนยืนยันเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่จะจัดกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ต่อไปแม้จะถูกสกัดกั้นและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะใช้กฎหมายจัดการกับพวกเขา เป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบเสรีประชาธิปไตยโดยประชาชน เพราะด้วยปฏิบัติการนี้พวกเขาได้สื่อสารต่อสังคมว่า “เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่ผู้อยู่เหนือกฎหมาย และไม่ใช่ผู้ผูกขาดการใช้การตีความกฎหมายอีกต่อไป ประชาชนย่อมมีสิทธิในการใช้การตีความกฎหมายเช่นกัน และสังคมจะเป็นผู้ตัดสินว่าการใช้การตีความกฎหมายของใครมีความชอบธรรมมากกว่ากัน” หรืออีกนัยหนึ่ง ภาคประชาสังคมกำลังบอกกับสังคมว่า “ผู้ปกครองที่แท้จริงของประเทศไทย คือกฎหมายและกฎหมายต้องเป็นกฎหมายที่มีความชอบธรรมและมีเหตุมีผล ผู้ปกครองของประเทศนี้ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่ทหาร ตำรวจ รัฐราชการหรือสถาบันอื่นใด แต่เป็นกฎหมายที่สังคมตกลงร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล”

ด้วยปฏิบัติการ “เดินมิตรภาพ” ภาคประชาชนได้กลับหัวกลับหางวัฒนธรรมกฎหมายแบบอำนาจนิยม ด้วยการพยายามใช้กฎหมายควบคุมรัฐและยืนยันสิทธิของพวกเขา ปฏิบัติการเช่นนี้ จึงเป็นตัวอย่างของการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายจากเบื้องล่าง เป็นหนึ่งในความพยายามที่ต่อเนื่องของภาคประชาชนที่ยืนยันว่ากฎหมายไม่ได้เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งมันยังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของสังคมในการควบคุมรัฐด้วย และนี่คือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมมาตราหนึ่งที่ภาคประชาชนไทยได้เพียรพยายามร่วมกันสร้างขึ้น