สถาบันตุลาการ

แถลงการณ์ : เรียกร้องสถาบันตุลาการให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมาย โดยคำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แถลงการณ์สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เรียกร้องสถาบันตุลาการให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมาย โดยคำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอุดมการณ์ของผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ตลอดระยะเวลาของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในกระบวนการยุติธรรมอันเนื่องมาจากความเห็นต่างทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบถูกใช้เป็นกลไกเพื่อสนองนโยบายรัฐในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การปล่อยชั่วคราวถูกใช้เป็นกลไกสำคัญในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผ่านการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ห้ามไปกระทำการในลักษณะเดียวกันกับคดีเดิมอีก การกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานในบางช่วงเวลาร่วมกับการใส่กำไล EM การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ใส่กำไลติดตามตัว (EM) ร่วมกับคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่เข้มงวดกว่าอาชญากรที่ก่ออาชญากรรม และการมีคำสั่งถอนประกันได้โดยง่าย เหล่านี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ถูกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไร้ซึ่งมนุษยธรรม ทั้งนี้ยังสะท้อนถึงความพยายามของศาลในการเข้ามามีบทบาทในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเสียเองทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของศาล เพราะมีองค์กรอื่นทำหน้าที่อยู่แล้ว ศาลมีหน้าที่รักษาและดำรงความยุติธรรมในสังคมอย่างเป็นอิสระโดยอาศัยหลักกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคนจะได้รับความยุติธรรมแม้จะมีข้อพิพาทกับรัฐหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐก็ตาม   แต่ปรากฏว่ากรณีที่ไม่ใช่คดีการเมือง เช่นกรณีของ พ.ต.อ.หญิงวัทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ จำเลยที่ 8 ภรรยานายตู้ห่าว ชาวจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพยานหลักฐานว่ามีพฤติการณ์ข่มขู่พยาน เป็นการผิดเงื่อนไขการประกันของศาล ศาลกลับไม่ถอนประกัน โดยอ้างว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปเเล้ว แต่พนักงานสอบสวนมายื่นเอกสารแบบกระชั้นชิด ทำให้การยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัว พ.ต.อ.หญิง วัทนารีย์ ดังกล่าวจึงเป็นเพียงคำร้องที่ประกอบการพิจารณา กรณีที่แตกต่างกันดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นและปัญหาการปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมือง   การถูกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไร้ซึ่งมนุษยธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวนำมาสู่การอดอาหารและน้ำของตะวันและแบมเพื่อทวงถามหาความยุติธรรม และเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันร่างกายของทั้งสองเข้าขั้นวิกฤติและสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตอย่างมาก   สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันศาลจะพิจารณาทบทวนบทบาทในการใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย […]

ถกถามเรื่องการปฏิรูปศาลในฐานะเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม

บันทึกเสวนาวิชาการ “เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์ : บทบาทศาลท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน”   ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เมื่อมีผู้คนมากมายแสดงออกทางการเมือง ออกมาชุมนุมบนท้องถนนหรือสถานที่ต่างๆ และการชุมนุมทางการเมืองกลายมาเป็นความผิดทางกฎหมาย หรือในสถานการณ์ที่มีการออกหมายจับหรือหมายค้นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรณีต่างๆ และการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมการแสดงออกบริเวณศาล หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ทำให้ตุลาการหรือศาลเข้ามามีบทบาทในสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการถกเถียงกันโดยทั่วไปว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองนี้ ศาลควรจะมีบทบาทอย่างไร ในฐานะเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม   สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จัดงานเสวนาวิชาการ “เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์ : บทบาทศาลท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 เพื่อวิเคราะห์ แลกเปลี่ยน และทบทวนบทบาทของอำนาจตุลาการในฐานะเป็นเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน และขอบเขตของฐานความผิดละเมิดอำนาจศาล ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองของ ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) และรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน   คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวเปิดงาน พร้อมตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันตุลาการท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน “ในปัจจุบัน ประชาชนมีความตื่นตัวในการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อเรียกร้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ถ้านับช่วงอายุของตนเอง (30+) ช่วงระหว่างปี […]

เปิดหนังสือถึงประธานศาลฎีกา : “ศาล” บทบาทสำคัญ แก้ไขวิกฤติศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 24 สิงหาคม 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ส่งหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ขอให้สถาบันตุลาการดำรงไว้ซึ่งบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เสริมสร้างนิติธรรมให้เข้มแข็ง การออกจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีการชุมนุมสาธารณะของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563  โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ประการ คือ 1. ประกาศยุบสภา 2. รัฐหยุดคุกคามประชาชน 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งในวันดังกล่าวมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับเข้าจับกุม นายอานนท์ นำภา และ นายภานุพงศ์ จาดนอก ผู้ที่เข้าร่วมปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยไม่มีการออกหมายเรียกบุคคลดังกล่าวมาก่อน ด้วยอ้างเหตุว่าโทษสูงสุดของความผิดที่ระบุในหมายจับ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งมีโทษเกินกว่า 3 ปี อันสามารถเป็นเหตุให้ออกหมายจับได้โดยที่ไม่ต้องออกหมายเรียกก่อน ต่อมานายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ก็ถูกจับกุมตามหมายจับ จากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเช่นเดียวกัน และภายหลังยังมีการจับกุมนักกิจกรรมประชาธิปไตยอีกหลายคนจากการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ อีกทั้งในกรณีการออกหมายจับนายอานนท์ นายภานุพงศ์ […]

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เรียกร้องสถาบันตุลาการย่อมอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อันเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชน

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการ หนึ่งในอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตย เผยแพร่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับแต่มีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการออกประกาศ คำสั่ง และกฎหมายที่จำกัดลิดรอน ตลอดจนละเมิดสิทธิประชาชนจำนวนมาก และเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่ารัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้ คสช. พยายามอาศัยอำนาจศาล ผลักภาระให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งต่างๆ ออกมาในทางจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ในหลายกรณีพนักงาสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีประกันได้ แต่พนักงานสอบสวนกลับเลือกที่จะใช้ดุลพินิจนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาล อันเป็นการผลักภาระให้ศาล รวมถึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่จะต้องหาหลักประกันมายื่นต่อศาลเพื่อให้ตนเองได้รับอิสรภาพระหว่างการสอบสวนและต่อสู้คดี หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจศาลในการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม โดยมีความมุ่งหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหารซึ่งครองอำนาจมาเกือบสี่ปีแล้ว รวมถึงเรียกร้องสิทธิและการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเอาผิดดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก และขั้นตอนอันดับแรกที่ถือได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือโดยมีเจตนาเพื่อสร้างภาระให้กับประชาชน คือการนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงมีความห่วงกังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้ฝากขังของศาล ตลอดจนดุลพินิจในการกำหนดวงเงินประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ซึ่งให้ศาลใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก และการเรียกหลักประกันให้เป็นไปตามความเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งพึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ได้เข้าถึงความยุติธรรมและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่บางกรณีมีข้อมูลปรากฏว่าศาลบางแห่งกลับใช้ดุลพินิจในการกำหนดวงเงินประกันตัวสูงกว่าที่ข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ให้อำนาจไว้ นอกจากนี้กรณีที่ใช้ตำแหน่งบุคคลเป็นประกัน ศาลส่วนใหญ่กลับวางแนวปฏิบัติว่าผู้ใช้ตำแหน่งประกันตัวต้องเป็นบิดา มารดา หรือญาติพี่น้องของผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งที่โดยความเป็นมนุษย์แล้วมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ซับซ้อนกว่านั้น แต่แนวปฏิบัติส่วนใหญ่ของศาลกลับปฏิเสธไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ซึ่งกรณีดังกล่าวผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การใช้ตำแหน่งบุคคลเป็นช่องทางหรือโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนหรือไม่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะประกันตัวสามารถได้รับการปล่อยชั่วคราวได้ ดังนั้น […]