พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

รายงานเสวนาวิชาการ “เสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์”

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2559 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) ได้จัดเสวนาวิชาการ “เสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยภายในงานเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและหลายหน่วยงานที่ส่งตัวแทนเข้ารับฟังเป็นอย่างมาก นำเสนอการเสวนาโดยผู้ดำเนินรายการ คุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กล่าวถึงความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนจำนวนมากที่มีต่อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในขณะนี้ รวมถึงข้อแตกต่างระหว่างฉบับเดิมและฉบับแก้ไขที่จะทำให้ดีขึ้น แย่ลงหรือกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างไร ทางด้าน พ.ต.อ.ดร.นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ ผู้กำกับสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. คอมฯ ไว้ว่า “เป็นกฎหมายใหม่ ยังไม่มีฎีกาให้ทางพนักงานสอบสวนได้ใช้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ ที่สำคัญคือยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะบอกได้ถึงความถูกต้องชัดเจนในเรื่องของการปฏิบัติงาน ฉะนั้นพนักงานสวบสวนจึงจะต้องใช้ดุลพินิจหลายๆอย่างประกอบรวมทั้งดุลพินิจของพนักงานสอบสวนเองในการทำงาน ประสบการณ์จากการทำงานหลายๆภาคส่วนมาประกอบในการรับเรื่องร้องเรียน โดยแบ่งเป็นหลายๆส่วน อาทิ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ เป็นต้น โดยจะไม่มีการแบ่งพื้นที่กันสามารถรับเรื่องร้องทุกข์ได้ทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้พนักงานสอบสวนจะต้องมีการพิจารณาถึงลักษณะในการกระทำความผิด พฤติการณ์ในการกระทำความผิดเสียก่อน หากมีผู้กระทำความผิดตามพรบ.นี้ พนักงานสอบสวนต้องใช้ดุลพินิจในหลักฐานและพยานตามข้อเท็จจริง พร้อมย้ำว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นปลายเหตุ ดังนั้นประชาชนที่ใช้โลกโซเชียลจะต้องอย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ พร้อมยืนยันหากมีการร้องทุกข์จริง ตำรวจปอท. พร้องผดุงความยุติธรรมในหลักฐานและพยานตามข้อเท็จจริง” คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อธิบายว่า กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้พอสมควร เพราะบางส่วนคิดว่าตัวกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชนมาก โดยเฉพาะมาตรา […]

17 เม.ย. 57 นัดส่งตัวนักข่าวภูเก็ตหวานขึ้นศาล หลังถูกกองทัพเรือฟ้องหมิ่นฯ ลุ้นประกันตัววันนั้น

17 เมษายน 2557 เวลา 9.30 น. อัยการจังหวัดภูเก็ต นัดหมายให้ นายอลัน มอริสัน และนางสาวชุติมา สีดาเสถียร นักข่าวจากสำนักข่าวออนไลน์ “ภูเก็ตหวาน” ไปพบที่ศาลจังหวัดภูเก็ตเพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาล ในคดีที่กองทัพเรือร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 สำนักข่าวภูเก็ตหวานเผยแพร่ “รายงานพิเศษเรื่อง : ทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ” ซึ่งอ้างอิงแหล่งข้อมูลมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานชิ้นนี้มีการกล่าวพาดพิงว่าเจ้าหน้าที่กองทัพเรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2556 กองทัพเรือจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตให้ดำเนินคดีทั้งสองคนฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) คดีนี้ นักข่าวทั้งสองคนยืนยันพร้อมจะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยต้องการให้คดีนี้เป็นกรณีศึกษาการละเมิดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน โดยใช้การดำเนินคดีพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย  เนื่องจากกฎหมายนี้ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่โจรกรรมข้อมูลในคอมพิวเตอร์ หรือการเจาะระบบ เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสองไม่ยอมรับการใช้กฎหมายนี้กับสื่อมวลชน จึงไม่ต้องการใช้หลักทรัพย์ของตัวเองเพื่อยื่นขอประกันตัวและยินยอมที่จะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือโดยขอให้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นผู้ประกันตัว และประสานขอความช่วยเหลือจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล  ล่าสุดศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามันมูลนิธิอันดามันได้ให้ความช่วยเหลือโดยให้ใช้สลากออมสินสำหรับใช้ยื่นประกันตัวในวันที่ 17 เม.ย.นี้ โดยยังต้องรอลุ้นว่าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ ก่อนหน้านี้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)  และสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย และเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องคดีนี้